http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1486023284
คอลัมน์ มายาการเงิน โดย สันติธาร เสถียรไทย santitarn.sathirathai@gmail.com
เวลาถามนักลงทุนหรือนักธุรกิจ ว่านโยบายเศรษฐกิจอะไรของรัฐบาลทรัมป์อันตรายที่สุดสำหรับเศรษฐกิจ ตลาดการเงินของไทย ทุกคนมักจะตอบว่านโยบายกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะที่อาจใช้กับสินค้าจากจีน หรือการคุมเข้มแรงงานคนต่างด้าว โดยเฉพาะกับเม็กซิโก หรือนโยบายต่างประเทศที่มีต่อจีนและไต้หวัน ที่อาจบานปลายจนก่อให้เกิดความรุนแรงและส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจได้
แต่พอพูดถึงประเด็นเรื่องนโยบายการคลังโดยเฉพาะการลดภาษีเรามักจะมองว่านี่เป็นโอกาสมากกว่าความเสี่ยง หากการลดภาษีทั้งในส่วนของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอเมริกาให้มีการใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น ก็จะทำให้การส่งออกของเราไปอเมริกาดีขึ้น
นี่เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นอเมริกาและแม้แต่เอเชียปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นปีที่ผ่านมาราวกับว่าจะลืมเรื่องความเสี่ยงต่างๆ ที่พูดไปข้างต้น
เฉกเช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า "ในวิกฤตย่อมมีโอกาส" บางครั้งในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นโอกาสก็อาจมีวิกฤตซ่อนอยู่ได้เช่นกัน
สิ่งแรกที่เราต้องทำความเข้าใจก็คือการปรับภาษีของอเมริกาครั้งนี้ไม่ใช่การลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้นแต่มีแผนการยกเครื่องปฏิรูประบบภาษีทั้งหมด ที่จะมีผลกระทบต่อโลกมากมายมหาศาล ถ้าข้อเสนอหลายข้อภายใต้แผนของ พอล ไรอัน นี้กลายเป็นกฎหมายจริงขึ้นมา
ภาษี BAT "ค้างคาว"
ที่ต้องทำความรู้จัก
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่หลายคนมองว่าอเมริกายังไม่ได้ให้ความสนใจมากนักคือการนำวิธีการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลแบบใหม่ที่เรียกว่า Border Adjustment Tax มาใช้ หรือผมขอเรียกย่อ ๆ ว่า BAT ซึ่งนอกจากจะเป็นชื่อย่อที่ลงตัวแล้ว ยังสื่อความหมายได้ดีว่าเสมือนเป็น "ค้างคาว" ที่บินอยู่อย่างลึกลับ และมีภัยซ่อนอยู่ในตัวไม่เบา
โดยเคล็ดลับที่สำคัญของค้างคาวตัวนี้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงคำนิยามของ "กำไร" ของบริษัทที่จะถูกจัดเก็บภาษี ที่อาจจะมีผลทำให้อเมริกาลดการนำเข้าจากทั่วโลก พร้อมกับเพิ่มการส่งออกและการจัดเก็บภาษี BAT นี้ ก็ไม่ได้โดนต่อต้านอย่างรุนแรงจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แบบการขึ้นภาษีศุลกากรอีกด้วย จึงราวกับจะเป็นมนตราที่ทำให้คำสัญญาของทรัมป์ใกล้เป็นความจริงขึ้นมาได้
ก่อนจะมารู้จักเคล็ดลับของภาษีตัวนี้เราต้องมาทำความเข้าใจกับระบบภาษีที่อเมริกาใช้อยู่เสียก่อนในระบบปัจจุบัน บริษัทอเมริกันจะต้องเสียภาษีจากรายได้ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าที่ไหนก็ตามในโลก (Global Income) เพียงแต่รายได้ที่เกิดขึ้นนอกประเทศจะยังไม่ถูกเก็บภาษีจนกว่าจะโยกเงินเหล่านั้นกลับเข้ามาในประเทศ ทำให้บริษัทส่วนมากหาทางเก็บเงินไว้นอกประเทศ และมีการโยกย้ายรายได้รายจ่ายทางบัญชีเพื่อลดภาระภาษีลง
เช่น การให้สาขาของบริษัทที่อยู่ในอเมริการับรายจ่ายไปมาก ๆ ส่วนรายได้โยกไปโปะไว้ในหมู่เกาะที่เป็นดินแดนปลอดภาษี ผลก็คือรายได้ของบริษัทอเมริกันที่ควรจะนับเป็นการ "ส่งออก" จากอเมริกา อย่างเช่น แอปเปิล ไนกี้ ก็ไปอยู่ในบัญชีต่างประเทศ (นี่คือเรื่องการโยกย้ายเงินทางบัญชีเพื่อลดภาษีเท่านั้น ยังไม่รวมถึงเรื่องการไปตั้งโรงงานในต่างประเทศเพื่อใช้แรงงานราคาถูก) ส่วนอเมริกาก็รับรายจ่ายเช่นพวกการนำเข้าไปเต็ม ๆ
ยกเครื่อง
วิธีคิดภาษีเงินได้นิติบุคคล
ในระบบของ BAT อเมริกาจะเปลี่ยนแนวคิดเรื่องกำไรที่ควรถูกเก็บภาษีแบบใหม่โดยสิ้นเชิง โดยรัฐบาลจะตั้ง 2 คำถามว่า "นี่เป็นรายได้จากการขายของให้ใคร ?" และ "รายจ่ายให้ใคร ?" รายได้ที่เกิดจากการขายของให้ประเทศอื่นหรือการ "ส่งออก" นั้น จะไม่ถูกเรียกเก็บภาษี ในขณะที่รายจ่ายที่มาจากการนำเข้าจากต่างประเทศ จะไม่ถูกนับว่าเป็น "รายจ่าย" และต้องถูกบวกกลับเข้าไปในกำไรและโดนนำมาคิดคำนวณเพื่อเสียภาษี
ขอยกตัวอย่างให้เห็น 2 บริษัท บริษัทหนึ่งขายเสื้อผ้าในอเมริกาที่มียอดขายในอเมริกา 100 ดอลลาร์ ด้านรายจ่ายมี 2 อย่างคือ ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า 40 ดอลลาร์ และค่าแรงอีก 40 ดอลลาร์ กำไรของเราก็คือ 100-40-40 = 20 ดอลลาร์ อีกบริษัทหนึ่งขายอาหารสำเร็จรูป ยอดขายในประเทศอเมริกา 50 ดอลลาร์ ส่งออกอีก 50 ดอลลาร์ รวม 100 เหรียญ ต้นทุนค่าแรงและวัตถุดิบเหมือนในกรณีบริษัทแรก แต่ไม่นำเข้าเลยใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด
ในระบบปัจจุบันภาษีเงินได้นิติบุคคล จะคิดจากกำไร 20 ดอลลาร์เหมือนกันทั้ง 2 บริษัท หากคิดง่าย ๆ ว่าอัตราภาษีปัจจุบันอยู่ที่ 35% ทั้ง 2 บริษัทก็ต้องจ่ายภาษี 35% คือ 35X20 หาร 100 = 7 ดอลลาร์ แต่ในระบบ BAT บริษัทเสื้อผ้าที่นำเข้าวัตถุดิบมาผลิตและขายในประเทศมากกว่า จะถูกปรับให้ต้องจ่ายภาษีมากขึ้น โดยรายได้ที่จะถูกจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้นด้วยการบวกยอดนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด 40 ดอลลาร์ กลายเป็น 20+40 = 60 ดอลลาร์
ดังนั้น ในระบบใหม่ บริษัทเสื้อผ้าจะต้องจ่ายภาษี 35%X60 = 21 ดอลลาร์ หรือรายจ่ายภาษีมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า ! ในขณะที่บริษัทอาหารสำเร็จรูปที่เน้นส่งออกและไม่นำเข้าเลยในตัวอย่าง จะได้รับโบนัสลดภาษี เพราะรายได้จากส่งออก 50 ดอลลาร์ จะถูกหักออกไปไม่นำมาคิดภาษี กำไรที่ต้องโดนภาษีกลายเป็น 50-40-40 = -30 คือถือว่าขาดทุน ไม่ต้องเสียภาษีเลย จากเดิมที่ต้องจ่ายภาษี 7 ดอลลาร์ในระบบภาษีปัจจุบัน
รักส่งออกชังนำเข้า ?
หากโครงสร้างภาษีใหม่นี้เกิดขึ้นจริง จะมีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของอเมริกา และส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจและการค้าโลกด้วย เพราะในระบบเช่นนี้การส่งออกจะได้รับการ สนับสนุน ส่วนการนำเข้าจะถูก "ทำโทษ" เพราะฉะนั้น ธุรกิจต่าง ๆ ก็จะพยายามใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้มากขึ้น และส่งออกให้มากขึ้น ภาคธุรกิจที่นำเข้าวัตถุดิบปริมาณมาก และไม่สามารถหาวัตถุดิบภายในประเทศในราคาถูกได้ ย่อมต้องเสียเปรียบจากการที่ต้องเสียภาษีมากขึ้น เช่น พวกเสื้อผ้า สิ่งทอ อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์
บริษัทที่เคยลงบัญชีรายจ่ายจากการนำเข้าในอเมริกาสูง ๆ เพื่อลดกำไรของสาขาในอเมริกาและลดภาษีที่จะต้องจ่าย ระบบ BAT ตัวนี้ จะเหมือนรู้ไต๋และบวกรายจ่ายทั้งหมดตรงนั้นกลับเข้าไปเป็นกำไร ทำให้หลบภาษีไม่สำเร็จ บริษัทที่ส่งออกในระบบ BAT ก็ไม่ต้องไปลงบัญชีรายได้ในประเทศอื่น เพราะกำไรจากการส่งออกไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว BAT จึงอาจช่วยทำให้ดุลการค้าของอเมริกาปรับตัวดีขึ้น เงินไหลกลับมาในประเทศมากขึ้น ดังที่ทรัมป์ได้สัญญาไว้ แถมยังเป็นระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเก่าอีกด้วย
ค่าเงินดอลลาร์
อีก 1 ความเสี่ยงที่เชื่อมโยง
แต่ก่อนที่เราจะสรุปว่าภาษี BAT จะทำให้การส่งออกของอเมริกาก้าวกระโดดขึ้น ส่วนการนำเข้าทรุดหนักลงหรือไม่นั้น ยังมีอีก 1 ตัวแปรสำคัญที่จะชี้ชะตาอเมริกาและการค้าโลกอย่างแท้จริง นั่นคือ "ค่าเงินดอลลาร์"
นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำหลายคนมองว่าผลของ BAT ต่อดุลการค้าของอเมริกาและการค้าโลกจะไม่รุนแรงขนาดนั้น เพราะค่าเงินดอลลาร์จะแข็งตัวขึ้นทันทีที่คนคิดว่าระบบ BAT จะเกิดขึ้น เพราะทั้งธุรกิจ ทั้งนักลงทุน และนักเก็งกำไร ต่างก็รู้ว่า "ถ้า BAT มา เงินดอลลาร์ก็มาแน่ ๆ" จึงจะเข้าซื้อเงินดอลลาร์มาตุนไว้ ทำให้ค่าเงินแข็งขึ้นทันทีอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น บริษัทที่นำเข้าจำนวนมากจะได้อานิสงส์จากค่าเงินที่แข็งขึ้น ทำให้วัตถุดิบนำเข้าถูกลงทันที มาร์จิ้นก็ดีขึ้น ช่วยลดทอนความเจ็บปวดที่เกิดจากภาระภาษีที่สูงขึ้นได้ ในขณะที่บริษัทส่งออกก็จะโดนค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นมาหักล้างกับภาระภาษีที่ลดลง
ในทางทฤษฎีแล้ว การปรับตัวของค่าเงินดอลลาร์จะเกิดขึ้นทันที และมากเพียงพอที่จะทำให้ดุลการค้าของอเมริกาไม่ถูกกระทบจาก BAT แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจไม่แน่เสมอไปว่าค่าเงินดอลลาร์จะปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้เร็วและเต็มที่เช่นในทางทฤษฎี แต่สิ่งที่เราต้องเตรียมรับมือก็คือความเป็นไปได้ที่ค่าเงินดอลลาร์อาจปรับตัวสูงขึ้นไปอีกในอนาคต หากอเมริกานำระบบ BAT มาใช้จริง ซึ่งในกรณีนี้ผลกระทบจะไม่ได้เกิดกับการส่งออกของเราสักทีเดียว แต่จะส่งผลต่อการไหลเวียนของเงินทุนที่มักจะหนีจากตลาดเงินเกิดใหม่อย่างเราในยามที่ค่าเงินดอลลาร์แข็ง
เกิดขึ้นจริงไหม
ผิดหลักWTOหรือไม่
ทั้งนี้ BAT ยังไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะในอเมริกาเองภาษี BAT ตัวนี้ ก่อให้เกิดความเห็นโต้แย้งกันอย่างรุนแรงมาก และมีภาคธุรกิจที่นำเข้าจำนวนมากและกลัวจะเสียประโยชน์ กำลังล็อบบี้ไม่ให้นโยบายนี้ผ่านและประกาศใช้เป็นกฎหมาย
ทั้งยังมีประเด็นอีกว่า BAT ตัวนี้ ขัดกับกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) หรือไม่ เพราะเป็นการไปขึ้นภาษีใส่การนำเข้า และหักภาษีเพื่อสนับสนุนการส่งออก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายท่านบอกว่ามันไม่ควรขัด เพราะหลักการของ BAT นั้นคล้ายกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จะมีการทำ Border Adjustment หรือหักรายได้การส่งออกและรวมต้นทุนนำเข้าในแบบเดียวกัน แต่หากดูในรายละเอียดแล้วนั้น ภาษี BAT กับ VAT นั้นแตกต่างกันทีเดียว
เพราะภาษี VAT เก็บที่ "มูลค่าเพิ่ม" หรือในตัวอย่างข้างบน มูลค่าเพิ่มก็คือ (ยอดขาย-ต้นทุนวัตถุดิบในประเทศ) ในขณะที่ BAT จะหักรายจ่ายค่าแรงออกด้วย เป็น (ยอดขาย-ต้นทุนวัตถุดิบในประเทศ-ต้นทุนแรงงาน) จึงเรียกได้ว่า "ใจดี" ยิ่งกว่า VAT เพราะหักค่าแรงในประเทศออกจากรายได้ที่ต้องเสียภาษีไปด้วย เราจึงยังไม่รู้แน่ว่า BAT ขัดกับ WTO หรือไม่
กล่าวโดยสรุปคือ ยังมีอีกหลายด่านกว่า BAT จะเกิดขึ้นได้จริง และสุดท้ายกฎหมายตัวนี้อาจจะไม่ผ่านก็ได้ แต่พอเรารู้จัก "ค้างคาว" ตัวนี้ดีขึ้นแล้ว เราทุกคนคงเห็นตรงกันว่า มันอาจเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่อันตรายที่สุดของรัฐบาลทรัมป์ตัวหนึ่งก็เป็นได้ และเราคงต้องลุ้นกันหนักว่าค้างคาวตัวนี้ จะได้ออกมาบินโฉบเฉี่ยวทำให้โลกวุ่นวายได้หรือไม่
ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat
รู้จัก "BAT" (Border Adjustment Tax) นโยบายอันตรายของ "ทรัมป์" ที่ถูกมองข้าม
คอลัมน์ มายาการเงิน โดย สันติธาร เสถียรไทย santitarn.sathirathai@gmail.com
เวลาถามนักลงทุนหรือนักธุรกิจ ว่านโยบายเศรษฐกิจอะไรของรัฐบาลทรัมป์อันตรายที่สุดสำหรับเศรษฐกิจ ตลาดการเงินของไทย ทุกคนมักจะตอบว่านโยบายกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะที่อาจใช้กับสินค้าจากจีน หรือการคุมเข้มแรงงานคนต่างด้าว โดยเฉพาะกับเม็กซิโก หรือนโยบายต่างประเทศที่มีต่อจีนและไต้หวัน ที่อาจบานปลายจนก่อให้เกิดความรุนแรงและส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจได้
แต่พอพูดถึงประเด็นเรื่องนโยบายการคลังโดยเฉพาะการลดภาษีเรามักจะมองว่านี่เป็นโอกาสมากกว่าความเสี่ยง หากการลดภาษีทั้งในส่วนของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล มีผลช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของอเมริกาให้มีการใช้จ่ายและการลงทุนมากขึ้น ก็จะทำให้การส่งออกของเราไปอเมริกาดีขึ้น
นี่เองเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดหุ้นอเมริกาและแม้แต่เอเชียปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในช่วงต้นปีที่ผ่านมาราวกับว่าจะลืมเรื่องความเสี่ยงต่างๆ ที่พูดไปข้างต้น
เฉกเช่นเดียวกับคำกล่าวที่ว่า "ในวิกฤตย่อมมีโอกาส" บางครั้งในสิ่งที่เราคิดว่าเป็นโอกาสก็อาจมีวิกฤตซ่อนอยู่ได้เช่นกัน
สิ่งแรกที่เราต้องทำความเข้าใจก็คือการปรับภาษีของอเมริกาครั้งนี้ไม่ใช่การลดภาษีเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเท่านั้นแต่มีแผนการยกเครื่องปฏิรูประบบภาษีทั้งหมด ที่จะมีผลกระทบต่อโลกมากมายมหาศาล ถ้าข้อเสนอหลายข้อภายใต้แผนของ พอล ไรอัน นี้กลายเป็นกฎหมายจริงขึ้นมา
ภาษี BAT "ค้างคาว"
ที่ต้องทำความรู้จัก
สิ่งที่น่ากลัวที่สุดที่หลายคนมองว่าอเมริกายังไม่ได้ให้ความสนใจมากนักคือการนำวิธีการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลแบบใหม่ที่เรียกว่า Border Adjustment Tax มาใช้ หรือผมขอเรียกย่อ ๆ ว่า BAT ซึ่งนอกจากจะเป็นชื่อย่อที่ลงตัวแล้ว ยังสื่อความหมายได้ดีว่าเสมือนเป็น "ค้างคาว" ที่บินอยู่อย่างลึกลับ และมีภัยซ่อนอยู่ในตัวไม่เบา
โดยเคล็ดลับที่สำคัญของค้างคาวตัวนี้ก็คือ การเปลี่ยนแปลงคำนิยามของ "กำไร" ของบริษัทที่จะถูกจัดเก็บภาษี ที่อาจจะมีผลทำให้อเมริกาลดการนำเข้าจากทั่วโลก พร้อมกับเพิ่มการส่งออกและการจัดเก็บภาษี BAT นี้ ก็ไม่ได้โดนต่อต้านอย่างรุนแรงจากนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์แบบการขึ้นภาษีศุลกากรอีกด้วย จึงราวกับจะเป็นมนตราที่ทำให้คำสัญญาของทรัมป์ใกล้เป็นความจริงขึ้นมาได้
ก่อนจะมารู้จักเคล็ดลับของภาษีตัวนี้เราต้องมาทำความเข้าใจกับระบบภาษีที่อเมริกาใช้อยู่เสียก่อนในระบบปัจจุบัน บริษัทอเมริกันจะต้องเสียภาษีจากรายได้ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าที่ไหนก็ตามในโลก (Global Income) เพียงแต่รายได้ที่เกิดขึ้นนอกประเทศจะยังไม่ถูกเก็บภาษีจนกว่าจะโยกเงินเหล่านั้นกลับเข้ามาในประเทศ ทำให้บริษัทส่วนมากหาทางเก็บเงินไว้นอกประเทศ และมีการโยกย้ายรายได้รายจ่ายทางบัญชีเพื่อลดภาระภาษีลง
เช่น การให้สาขาของบริษัทที่อยู่ในอเมริการับรายจ่ายไปมาก ๆ ส่วนรายได้โยกไปโปะไว้ในหมู่เกาะที่เป็นดินแดนปลอดภาษี ผลก็คือรายได้ของบริษัทอเมริกันที่ควรจะนับเป็นการ "ส่งออก" จากอเมริกา อย่างเช่น แอปเปิล ไนกี้ ก็ไปอยู่ในบัญชีต่างประเทศ (นี่คือเรื่องการโยกย้ายเงินทางบัญชีเพื่อลดภาษีเท่านั้น ยังไม่รวมถึงเรื่องการไปตั้งโรงงานในต่างประเทศเพื่อใช้แรงงานราคาถูก) ส่วนอเมริกาก็รับรายจ่ายเช่นพวกการนำเข้าไปเต็ม ๆ
ยกเครื่อง
วิธีคิดภาษีเงินได้นิติบุคคล
ในระบบของ BAT อเมริกาจะเปลี่ยนแนวคิดเรื่องกำไรที่ควรถูกเก็บภาษีแบบใหม่โดยสิ้นเชิง โดยรัฐบาลจะตั้ง 2 คำถามว่า "นี่เป็นรายได้จากการขายของให้ใคร ?" และ "รายจ่ายให้ใคร ?" รายได้ที่เกิดจากการขายของให้ประเทศอื่นหรือการ "ส่งออก" นั้น จะไม่ถูกเรียกเก็บภาษี ในขณะที่รายจ่ายที่มาจากการนำเข้าจากต่างประเทศ จะไม่ถูกนับว่าเป็น "รายจ่าย" และต้องถูกบวกกลับเข้าไปในกำไรและโดนนำมาคิดคำนวณเพื่อเสียภาษี
ขอยกตัวอย่างให้เห็น 2 บริษัท บริษัทหนึ่งขายเสื้อผ้าในอเมริกาที่มียอดขายในอเมริกา 100 ดอลลาร์ ด้านรายจ่ายมี 2 อย่างคือ ต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า 40 ดอลลาร์ และค่าแรงอีก 40 ดอลลาร์ กำไรของเราก็คือ 100-40-40 = 20 ดอลลาร์ อีกบริษัทหนึ่งขายอาหารสำเร็จรูป ยอดขายในประเทศอเมริกา 50 ดอลลาร์ ส่งออกอีก 50 ดอลลาร์ รวม 100 เหรียญ ต้นทุนค่าแรงและวัตถุดิบเหมือนในกรณีบริษัทแรก แต่ไม่นำเข้าเลยใช้วัตถุดิบในประเทศทั้งหมด
ในระบบปัจจุบันภาษีเงินได้นิติบุคคล จะคิดจากกำไร 20 ดอลลาร์เหมือนกันทั้ง 2 บริษัท หากคิดง่าย ๆ ว่าอัตราภาษีปัจจุบันอยู่ที่ 35% ทั้ง 2 บริษัทก็ต้องจ่ายภาษี 35% คือ 35X20 หาร 100 = 7 ดอลลาร์ แต่ในระบบ BAT บริษัทเสื้อผ้าที่นำเข้าวัตถุดิบมาผลิตและขายในประเทศมากกว่า จะถูกปรับให้ต้องจ่ายภาษีมากขึ้น โดยรายได้ที่จะถูกจัดเก็บภาษีจะเพิ่มขึ้นด้วยการบวกยอดนำเข้าวัตถุดิบทั้งหมด 40 ดอลลาร์ กลายเป็น 20+40 = 60 ดอลลาร์
ดังนั้น ในระบบใหม่ บริษัทเสื้อผ้าจะต้องจ่ายภาษี 35%X60 = 21 ดอลลาร์ หรือรายจ่ายภาษีมากกว่าเดิมถึง 3 เท่า ! ในขณะที่บริษัทอาหารสำเร็จรูปที่เน้นส่งออกและไม่นำเข้าเลยในตัวอย่าง จะได้รับโบนัสลดภาษี เพราะรายได้จากส่งออก 50 ดอลลาร์ จะถูกหักออกไปไม่นำมาคิดภาษี กำไรที่ต้องโดนภาษีกลายเป็น 50-40-40 = -30 คือถือว่าขาดทุน ไม่ต้องเสียภาษีเลย จากเดิมที่ต้องจ่ายภาษี 7 ดอลลาร์ในระบบภาษีปัจจุบัน
รักส่งออกชังนำเข้า ?
หากโครงสร้างภาษีใหม่นี้เกิดขึ้นจริง จะมีผลกระทบอย่างมหาศาลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจของอเมริกา และส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจและการค้าโลกด้วย เพราะในระบบเช่นนี้การส่งออกจะได้รับการ สนับสนุน ส่วนการนำเข้าจะถูก "ทำโทษ" เพราะฉะนั้น ธุรกิจต่าง ๆ ก็จะพยายามใช้วัตถุดิบภายในประเทศให้มากขึ้น และส่งออกให้มากขึ้น ภาคธุรกิจที่นำเข้าวัตถุดิบปริมาณมาก และไม่สามารถหาวัตถุดิบภายในประเทศในราคาถูกได้ ย่อมต้องเสียเปรียบจากการที่ต้องเสียภาษีมากขึ้น เช่น พวกเสื้อผ้า สิ่งทอ อุปกรณ์ไฟฟ้า ยานยนต์ และเฟอร์นิเจอร์
บริษัทที่เคยลงบัญชีรายจ่ายจากการนำเข้าในอเมริกาสูง ๆ เพื่อลดกำไรของสาขาในอเมริกาและลดภาษีที่จะต้องจ่าย ระบบ BAT ตัวนี้ จะเหมือนรู้ไต๋และบวกรายจ่ายทั้งหมดตรงนั้นกลับเข้าไปเป็นกำไร ทำให้หลบภาษีไม่สำเร็จ บริษัทที่ส่งออกในระบบ BAT ก็ไม่ต้องไปลงบัญชีรายได้ในประเทศอื่น เพราะกำไรจากการส่งออกไม่ต้องเสียภาษีอยู่แล้ว BAT จึงอาจช่วยทำให้ดุลการค้าของอเมริกาปรับตัวดีขึ้น เงินไหลกลับมาในประเทศมากขึ้น ดังที่ทรัมป์ได้สัญญาไว้ แถมยังเป็นระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเก่าอีกด้วย
ค่าเงินดอลลาร์
อีก 1 ความเสี่ยงที่เชื่อมโยง
แต่ก่อนที่เราจะสรุปว่าภาษี BAT จะทำให้การส่งออกของอเมริกาก้าวกระโดดขึ้น ส่วนการนำเข้าทรุดหนักลงหรือไม่นั้น ยังมีอีก 1 ตัวแปรสำคัญที่จะชี้ชะตาอเมริกาและการค้าโลกอย่างแท้จริง นั่นคือ "ค่าเงินดอลลาร์"
นักเศรษฐศาสตร์ชั้นนำหลายคนมองว่าผลของ BAT ต่อดุลการค้าของอเมริกาและการค้าโลกจะไม่รุนแรงขนาดนั้น เพราะค่าเงินดอลลาร์จะแข็งตัวขึ้นทันทีที่คนคิดว่าระบบ BAT จะเกิดขึ้น เพราะทั้งธุรกิจ ทั้งนักลงทุน และนักเก็งกำไร ต่างก็รู้ว่า "ถ้า BAT มา เงินดอลลาร์ก็มาแน่ ๆ" จึงจะเข้าซื้อเงินดอลลาร์มาตุนไว้ ทำให้ค่าเงินแข็งขึ้นทันทีอย่างก้าวกระโดด ดังนั้น บริษัทที่นำเข้าจำนวนมากจะได้อานิสงส์จากค่าเงินที่แข็งขึ้น ทำให้วัตถุดิบนำเข้าถูกลงทันที มาร์จิ้นก็ดีขึ้น ช่วยลดทอนความเจ็บปวดที่เกิดจากภาระภาษีที่สูงขึ้นได้ ในขณะที่บริษัทส่งออกก็จะโดนค่าเงินที่แข็งค่าขึ้นมาหักล้างกับภาระภาษีที่ลดลง
ในทางทฤษฎีแล้ว การปรับตัวของค่าเงินดอลลาร์จะเกิดขึ้นทันที และมากเพียงพอที่จะทำให้ดุลการค้าของอเมริกาไม่ถูกกระทบจาก BAT แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาจไม่แน่เสมอไปว่าค่าเงินดอลลาร์จะปรับตัวแข็งค่าขึ้นได้เร็วและเต็มที่เช่นในทางทฤษฎี แต่สิ่งที่เราต้องเตรียมรับมือก็คือความเป็นไปได้ที่ค่าเงินดอลลาร์อาจปรับตัวสูงขึ้นไปอีกในอนาคต หากอเมริกานำระบบ BAT มาใช้จริง ซึ่งในกรณีนี้ผลกระทบจะไม่ได้เกิดกับการส่งออกของเราสักทีเดียว แต่จะส่งผลต่อการไหลเวียนของเงินทุนที่มักจะหนีจากตลาดเงินเกิดใหม่อย่างเราในยามที่ค่าเงินดอลลาร์แข็ง
เกิดขึ้นจริงไหม
ผิดหลักWTOหรือไม่
ทั้งนี้ BAT ยังไม่แน่ว่าจะเกิดขึ้นได้จริง เพราะในอเมริกาเองภาษี BAT ตัวนี้ ก่อให้เกิดความเห็นโต้แย้งกันอย่างรุนแรงมาก และมีภาคธุรกิจที่นำเข้าจำนวนมากและกลัวจะเสียประโยชน์ กำลังล็อบบี้ไม่ให้นโยบายนี้ผ่านและประกาศใช้เป็นกฎหมาย
ทั้งยังมีประเด็นอีกว่า BAT ตัวนี้ ขัดกับกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) หรือไม่ เพราะเป็นการไปขึ้นภาษีใส่การนำเข้า และหักภาษีเพื่อสนับสนุนการส่งออก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญหลายท่านบอกว่ามันไม่ควรขัด เพราะหลักการของ BAT นั้นคล้ายกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จะมีการทำ Border Adjustment หรือหักรายได้การส่งออกและรวมต้นทุนนำเข้าในแบบเดียวกัน แต่หากดูในรายละเอียดแล้วนั้น ภาษี BAT กับ VAT นั้นแตกต่างกันทีเดียว
เพราะภาษี VAT เก็บที่ "มูลค่าเพิ่ม" หรือในตัวอย่างข้างบน มูลค่าเพิ่มก็คือ (ยอดขาย-ต้นทุนวัตถุดิบในประเทศ) ในขณะที่ BAT จะหักรายจ่ายค่าแรงออกด้วย เป็น (ยอดขาย-ต้นทุนวัตถุดิบในประเทศ-ต้นทุนแรงงาน) จึงเรียกได้ว่า "ใจดี" ยิ่งกว่า VAT เพราะหักค่าแรงในประเทศออกจากรายได้ที่ต้องเสียภาษีไปด้วย เราจึงยังไม่รู้แน่ว่า BAT ขัดกับ WTO หรือไม่
กล่าวโดยสรุปคือ ยังมีอีกหลายด่านกว่า BAT จะเกิดขึ้นได้จริง และสุดท้ายกฎหมายตัวนี้อาจจะไม่ผ่านก็ได้ แต่พอเรารู้จัก "ค้างคาว" ตัวนี้ดีขึ้นแล้ว เราทุกคนคงเห็นตรงกันว่า มันอาจเป็นนโยบายเศรษฐกิจที่อันตรายที่สุดของรัฐบาลทรัมป์ตัวหนึ่งก็เป็นได้ และเราคงต้องลุ้นกันหนักว่าค้างคาวตัวนี้ จะได้ออกมาบินโฉบเฉี่ยวทำให้โลกวุ่นวายได้หรือไม่
ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat