จิตวิทยาของการเปิดร้านกาแฟ

เมื่อเร็วๆ นี้ เจอร้านกาแฟเปิดใหม่แถวบ้าน เป็นร้านที่ 3 ที่เปิดใหม่ในรอบ 6 เดือน ในรัศมี 3 กิโลเมตรจากบ้านผม เลยนึกอยากคุยเรื่องร้านกาแฟขึ้นมา เห็นชัดเจนอยู่ว่าร้านกาแฟเป็นหนึ่งในธุรกิจยอดนิยมของคนไทย ไม่ว่าเศรษฐกิจดีหรือเศรษฐกิจแย่ อย่างที่เป็นอยู่ตอนนี้ แต่ผมว่าร้านกาแฟไม่ได้มีจำนวนลดลงเลย 
 


 ในมุมคนที่ไม่เคยทำร้านกาแฟ ผมอยากแบ่งต้นทุนเป็น 2 ส่วนหลักคือต้นทุนทางตรง คือ วัตถุดิบในการทำกาแฟ เช่นนมสด เมล็ดกาแฟ วิปครีม ไซรัป  ....และต้นทุนทางอ้อม คือค่าสถานที่ ค่าไฟ ค่าจ้างพนักงาน ..... ผมเคยอ่านบทวิเคราะห์เกี่ยวกับเรื่องนี้ ถ้าเผลอมองแต่ต้นทุนทางตรงอย่างเดียว กำไรจะสูงน่าตกใจเลย เช่นถ้าขายแก้วละ 60 บาท อาจจะได้กำไรเกินครึ่ง แต่พอเอาต้นทุนทางอ้อมมารวมคิดด้วย เออ ทีนี้จะซับซ้อนขึ้น เช่นวางจุดคุ้มทุนไว้กี่ปี ประเมินยอดขายยังไง มีภาระเรื่องดอกเบี้ยมั้ย ตรงนี้จะไปสะท้อนที่การตั้งราคาขายด้วย



เมื่อก่อน เคยมีคนวิเคราะห์ว่างานบางอย่างที่คนไทยไม่ทำ มักจะเป็นงานที่ 
1.    งานหนัก เหนื่อย
2.    งานสกปรก 
3.    ร้อน
ลองมาพิจารณาดู เอ้อ ร้านกาแฟนี่เข้าข่ายเลย คือไม่หนัก ไม่สกปรก ไม่ร้อน จริงๆ ก็อาจจะมีเลอเทอะบ้าง แต่ก็ไม่เท่าร้านอาหารที่มีเศษอาหารต้องทิ้ง มีถ้วยชามต้องล้าง 



มาถึงร้านที่ 3 ที่ผมไปคุยด้วย คุณน้าแกดูแลร้านเอง ชงกาแฟเอง ไม่ได้จ้างลูกจ้าง ก็เลยพอพูดคุยสอบถามได้บ้าง บอกว่าลูกชายช่วยจัดการเปิดร้านให้ คาดว่าลูกชายคงจะฐานะดี ร้านนี้อยู่ใกล้ตลาด แกบอกว่ามาเปิดร้านตอน 7 โมง เลิก 6 โมงเย็น ยังไม่ได้ถามว่าขายได้วันละกี่แก้ว แต่ประเมินแล้ว ผมคิดว่าแกคงไมได้เน้นทำรายได้เพื่อการเลี้ยงชีพจากตรงนี้มากนัก ว่าแต่ว่า แล้วร้านอื่นๆ ล่ะ ทำไมยังมีคนพร้อมจะเอาเงินมาละลายไปกับการเปิดร้านกาแฟอยู่เรื่อยๆ น่าคิดว่าคนที่คิดจะเปิดร้านกาแฟมองร้านตัวเองอย่างไร มีจุดเด่นอะไรหรือเปล่าเทียบกับร้านอื่นที่มีอยู่เต็มไปหมดแล้ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่