ปัญหาครอบครัว กับความรู้สึกของคนเป็นลูก

กระทู้ปัญหาความรัก มือที่สาม หรือครอบครัวแตกแยก ดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่เราพบได้บ่อย และบางคนก็คงคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติเสียด้วยซ้ำ ซึ่งผมเองก็ยอมรับนะครับว่า มันเป็นปัญหาทั่วไป ที่ผมเองก็เคยเจอ

      แต่สิ่งที่ผมอยากจะแชร์ในวันนี้ มันเกี่ยวกับความรู้สึกของคนเป็นลูก ซึ่งผมต้องออกตัวก่อนเลยนะครับว่า ครอบครัวผม พ่อแม่ก็เคยทะเลาะกันบ้าง แต่ก็ไม่ได้หนักหนาอะไร ไม่ถึงกับบ้านแตก ครอบครัวผมค่อนข้างที่จะเป็นครอบครัวอบอุ่น ซึ่งผมถือว่าเป็นโชคดีของผมและน้องๆของผมมาก

      ผมเป็นครูสอนใน รร. แห่งหนึ่งใน กทม และเทอมนี้มีโอกาสได้สอนวิชาแนะแนว นักเรียนชั้น ม.ปลาย จำนวน 1 ห้อง (เพิ่งจะได้สอนวิชานี้เทอมเดียว ก่อนหน้านี้สอนวิชาอื่น)  

      เมื่อเร็วๆนี้ ผมได้ให้เด็กทำใบงานเกี่ยวกับหัวข้อ "....ที่สุดของชีวิต" ซึ่งเมื่อผมได้อ่านใบงานที่ นร ส่งมา มันทำให้ผมแปลกใจและตกใจมาก เมื่อหัวข้อย่อยเรื่อง "สิ่งที่เสียใจที่สุดในชีวิต" ของเด็กจำนวน 34 คน มีเด็กจำนวน 21 คนระบุคล้ายๆกันว่า สิ่งที่เสียใจที่สุดในชีวิตคือ ทำให้พ่อแม่เสียใจ (แต่ละคนมีเหตุผลต่างกัน)/ และพ่อแม่ทะเลาะกัน และอีก11 คนระบุว่า สิ่งที่เสียใจที่สุดในชีวิต คือ พ่อแม่แยกทางกัน
      
      จะเห็นว่า เด็กจำนวน 32 คนจาก 34 คน ให้ความสนใจต่อปัญหาครอบครัว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิดมาก

     ***หลายคนอาจจะมองว่า มันเป็นเรื่องปกติที่เด็กต้องรู้สึก แต่ในทางกลับกัน เด็กทั้ง 34 คน ตอบในหัวข้อ "สิ่งที่อยากทำที่สุดในชีวิต" และ "สิ่งที่ต้องทำให้ได้" โดยตอบคล้ายๆกันว่า ...อยากทำให้พ่อแม่มีความสุข/อยากทำให้พ่อแม่ภูมิใจ/อยากได้งานดีๆเงินเดือนเยอะๆเพื่อที่จะได้เลี้ยงดูพ่อแม่/และคำตอบอื่นๆที่ทำเพื่อครอบครัว) ....นี่คือคำตอบของเด็ก ม.ปลาย ที่น่าจะโตในระดับหนึ่งแล้ว

      นั่นหมายความว่า เด็กส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับครอบครัวค่อนข้างมาก มีความคาดหวัง และแนวโน้มที่ดีในการเป็นคนดี มีความกตัญญู ตามคุณลักษณะของเด็กไทย ที่เราคาดหวังให้เป็นเช่นนั้น

       แต่ในทางกลับกัน ปัญหาครอบครัว ก็เป็นเรื่องที่ทำให้พวกเขาต้องเสียใจอยู่ไม่น้อย

      เราจะเห็นว่า ปัญหาการหย่าร้าง เป็นปัญหาที่เพิ่มขึ้น และดูเหมือนจะเป็นเรื่องปกติสำหรับพ่อแม่สมัยใหม่ด้วยซ้ำ ที่เอาความสุขของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งสาเหตุก็อาจจะมาจาก ปัญหาการนอกใจ มือที่สาม การทะเลาะกัน การเข้ากันไม่ได้ หรือปัญหาอื่นๆ แล้วแต่บุคคล

       คำถามโปรยทางก็คือ
       จากเปอร์เซ็นต์ของเด็กที่มีปัญหาครอบครัวที่ค่อนข้างสูง (ในความรู้สึกผม) มีความเป็นไปได้แค่ไหน ที่ปัญหาวัยรุ่น (ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเด็กใจแตก ติดยา เด็กเสเพล ฯลฯ) จะเกิดจากปัญหาครอบครัวเป็นหลัก???

       และคำถามที่ตามมาคือ

       แล้วคนเป็นพ่อเป็นแม่ ที่แยกทางหรือมีปัญหากัน มีความคาดหวังอย่างไรกับอนาคตของลูกๆ ทั้งที่ตัวเองทำให้เด็กๆเหล่านั้นกลายเป็นเด็กที่ขาดความอบอุ่น หรือกำพร้า?????
        
       สังคมเราค่อนข้างเปลี่ยนไปนะครับ

       บางทีกระทู้นี้ก็เหมือนเป็นกระทู้ เสือ.ก
       ผมแค่อยากแชร์ความรู้สึกของเด็กๆที่ผมได้รับรู้มา ที่เขาได้พูดถึงครอบครัวของเขาผ่านตัวหนังสือ

       ปล. ข้อมูลการตอบคำถามจากเด็กๆอาจไม่ตรง 100% ตามความรู้สึกของตัวเด็ก แต่ผมมั่นใจว่า เด็กไทยมีพื้นฐานจิตใจที่ดีต่อครอบครัว ซึ่งถ้าพื้นฐานครอบครัวที่ดี มีความอบอุ่น มันอาจสามารถพัฒนาสู่สังคมให้กลายเป็นสังคมที่ดีได้ค่อนข้างเยอะทีเดียว
แก้ไขข้อความเมื่อ
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 2
พ่อแม่บางคน เมื่อมีปัญหามือที่สาม
ถ้าเป็นสาวมั่น หรือ ชายมั่น ก็จะ เลิกลากัน
นัดเจอกันเมื่อลูกต้องการ (คิดเอาเองว่าตอนนั้นลูกต้องการ)
บางคนบอก อยู่กันเพราะหน้าที่พ่อแม่

ไม่นึกถึงวันที่รักกัน
ไม่นึกถึงวันที่ลำบากด้วยกัน

นึกถึงสมัยโบราณที่รุ่นพ่อ รุ่นแม่เรา ต้องมีความอดทน เมื่ออีกฝ่ายเพลี้ยงพล้ำต่อนารีพิฆาต
เค้าทนอยู่ไม่ใช่เพราะหน้าที่ แต่เพราะความรักที่มีต่อสามี ต่อลูก

คนสมัยก่อน เวลาทะเลาะกัน จะไม่ทะเลาะให้ลูกเห็น เพราะกลัวว่าลูกจะรับสิ่งไม่ดีเข้าไป

บ้านพี่ เป็นตัวอย่างนั้น ไม่เคยเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันเลย เคยถาม แม่บอกมี แต่ปิดห้อง ทะเลาะเบา ๆ
เคยเห็นพ่อเพลี้ยงพล้ำ แต่แม่ให้อภัย ไม่ใช่แม่ไม่มีหนทางไป ไม่ใช่แม่เป็นแม่บ้านแล้วกลัวไม่มีใครเลี้ยง
แต่แม่บอกว่า ไม่อยากให้บ้านแตก สาแหรกขาด ไม่อยากให้ลูกขาดความอบอุ่น แล้วมีปัญหาทางจิต (พ่อแม่พี่จบแค่ ป2 ป4 )

บางทีเข้ามาอ่าน เจอหลาย ๆ คนที่มีปัญหามือที่สาม บางคนก็แนะนำให้เลิกลากัน เพราะถ้ายืนด้วยตัวเองได้ ก็ให้เลิก ๆ กันไป
แต่บางทีนะ พี่ก็อยากถามเหมือนกันว่า คุณถามลูกคุณแล้วหรือยัง เค้าต้องการแบบนั้นรึเปล่า
ทุกวันนี้ ลูกสาวพี่ โตเป็นสาวแล้ว ก็ยังกอดพ่อ กอดแม่ อยู่ แฟนพี่ก็เคยเพลี้ยงพล้ำนะ แต่พี่ถือว่า ถ้าเราไม่เป็นหลัก แล้วใครจะเป็นหลัก
อดทนเพื่อลูก ไม่ใช่เพื่อตัวเอง อยู่คนเดียวได้มั้ย อยู่ได้ค่ะ เราเป็นคนทำงาน จะกลัวอะไร
ถ้าเลิกกัน ก็ดีนะคะ เราก็สบาย ไม่ต้องเป็นรีดผ้า ซักผ้า ให้เค้า อยู่กันสองคนแม่ลูกสบายออก
แล้วลูกเราหละคะ ไม่ใช่ตุ๊กตานะคะ เค้าก็มีชีวิต จิตใจ เค้าก็คงอยากให้ทั้งพ่อแม่อยู่ด้วยกัน
แฟนพี่ก็เพลี้ยงพล้ำ แค่ 2-3 เดือน แล้วก็กลับมาเหมือนเดิม จะมีใครดีเท่าเรา (เพราะเราคุ้นเคยกันแล้ว รู้นิสัยกันแล้ว)
บางที มือที่ 3 แค่มายา เล่นละครได้ไม่เกิน 3 เดือน นิสัยจริง ก็โผล่ เพราะถ้าเค้าดีจริง ไม่มายุ่งกับสามีชาวบ้านหรอกค่ะ

เคยมีคนถามพี่ว่า ถ้ามีคนมาบอกว่า เค้าเสียตัวให้แฟนเราแล้ว เราจะทำอย่างไร

พี่ก็ตอบว่า น้องเพิ่งเสียครั้งเดียว จะเรียกร้องให้พี่หย่าเนี่ยนะ พี่เสียเป็นสิบครั้ง ไม่ขาดทุนเหรอคะ งั้นเอาตังค์ไป สามพันพอมั้ยคะ
สำหรับคุณตัวไซด์ไลน์ เพราะถ้าผู้หญิงดี ๆ เค้าก็เก็บไว้ให้สามีวันแต่งงาน ไม่ใช่ ไล่จับสามีชาวบ้าน แล้วมาเรียกร้องทะเบียนสมรส

วัคซีนที่จะทำให้ลูกเราเติบโตและเข้มแข็ง คือคู่สามีภรรยา ที่ไม่นอกลู่นอกทางค่ะ
ความคิดเห็นที่ 12
ทำไมผมอ่านแล้วคิดไปถึงอีกประเด็นหนึ่ง คือสังคมไทยบ่มสอนเด็กให้มีทัศนะคติไปในเส้นทางแปลกๆ

"สิ่งที่อยากทำที่สุดในชีวิต" และ "สิ่งที่ต้องทำให้ได้" โดยตอบคล้ายๆกันว่า ...อยากทำให้พ่อแม่มีความสุข/อยากทำให้พ่อแม่ภูมิใจ/อยากได้งานดีๆเงินเดือนเยอะๆเพื่อที่จะได้เลี้ยงดูพ่อแม่/และคำตอบอื่นๆที่ทำเพื่อครอบครัว

ผมว่าสิ่งที่อยากทำที่สุดในชีวิตของเด็กหนุ่มสาวมันควรจะเป็นสิ่งที่ตัวเองชอบจริงๆ เป็นความใฝ่ฝัน เป็นสิ่งที่จะเป็นแก่นของชีวิตของตัวเอง
ครอบครัวควรสอนให้เด็กมีชีวิตอย่างมีความสุขได้ด้วยตัวเอง มีชีวิตอยู่ตามความเป็นจริง ไม่ใช่โลกในอุดมคติ
เพราะสุดท้ายพ่อแม่ก็ไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า ไม่ได้มาคอยดูแลตลอดชีวิต ถ้าหากสอนให้เขายืนได้ด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในภายภาคหน้า
เขาก็จะได้เรียนรู้ชีวิตด้วยพื้นฐานจิตใจที่เข้มแข็ง และไม่ต้องห่วง เมื่อเขาเติบโตและเจริญขึ้นในชีวิต ครอบครัวก็จะดีขึ้นไปด้วย
ไม่ใช่ทำให้เขามาคอยห่วง คอยพะวงกับเรื่องครอบครัว จนลืมคิดถึงชีวิต ลืมความฝันของตัวเอง สุดท้ายจะกลายเป็นคนไม่รู้จักโต
ความคิดเห็นที่ 15
ในความเห็นเรา นอกจากภรรยาควรอดทนแล้ว สามีก็ควรอดทนต่อกิเลสยั่วยุด้วยค่ะ

ครอบครัวจะสมบูรณ์ พ่อแม่ต้องช่วยกันสองฝ่าย เพราะเราคือครอบครัว

คำว่าอดทน หมายถึงร่วมกันประคับประคองในยามทุกข์-สุข "ร่วมกัน" เช่นสภาวะเศรษฐกิจผกผัน หรือปัญหา "ร่วมกัน" อื่นๆ

ไม่ใช่คนนึงสร้างทุกข์แล้วอีกคนต้องทนทุกข์ เพื่อคำว่าครอบครัว

ไม่ใช่การผลักภาระหน้าที่ในการรักษาครอบครัว ให้ฝ่ายใด ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งยังคำนึงถึงแต่ตัวเอง เห็นแก่ตัว

ในยามเห็นแก่ตัว นอกใจ ก็ไม่นึกถึงวันที่รักกันมา
ในยามเห็นแก่ตัว นอกใจ ก็ไม่นึกถึงวันที่ลำบากร่วมกันมา

มันไม่ใช่นิยามคำว่าครอบครัวเลยสำหรับเรา มันคือการเหนี่ยวรั้ง "สถานภาพ" เอาไว้ให้องค์ประกอบครบถ้วนสวยงามภายนอกเท่านั้น ใจต้องทนทุกข์ ลูกก็สัมผัสได้

ไม่ใช่ความเห็นของสาวมั่นหรอกค่ะ เป็นความเห็นของคนที่ศรัทธาในสถาบันครอบครัวอย่างที่สุด และให้คุณค่ากับความซื่อสัตย์ของมนุษย์ในฐานะ "สัตว์ประเสริฐ" ผู้สามารถระงับกิเลสได้และรู้ผิดชอบชั่วดี
ความคิดเห็นที่ 7
ในความคิดของเรา เราไม่ค่อยเห็นด้วยกับการทนๆกันไป(ทะเลาะกันไป)เพื่อลูกซักเท่าไหร่

เราเป็นคนนึงที่ผ่านชีวิตครอบครัวที่พ่อมีเมียน้อย ได้เห็นพ่อแม่ทะเลาะกัน ตั้งแต่ไม่รุนแรงมาก รุนแรง ไปจนถึงรุนแรงมาก

แต่ไม่ถึงขั้นลงไม้ลงมือหรือเลิกกัน มีบ้างที่พ่อหายไปเป็นพักๆแล้วก็กลับมา

อยากจะบอกว่า บางทีให้เลิกกันไปเลยซะดีกว่ามาทะเลาะกันให้ลูกเห็นทุกๆวันเป็นสิบๆปี

น้องเราปัจจุบันเป็นคนก้าวร้าวมากเพราะเค้าจะอยู่ใกล้ชิดกับพ่อแม่มากกว่าเรา เค้าจึงเห็นพ่อแม่ทะเลาะกันทุกวัน

เราเลยไม่ค่อยเห็นด้วยที่จะให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องมากล้ำกลืนฝืนทนโดยเอาลูกมาอ้าง

อย่างแม่เราต้องเก็บความทุกข์ไว้กับตัวจนนานๆเข้าก็ไม่ทะเลาะ ไม่เถียง เลือกที่จะเงียบ

เราบอกตรงๆว่าเราสงสารแม่ เลิกกันไปแล้วค่อยอธิบายให้ลูกฟังถึงเหตุผล แล้วก็ใหความรักกับลูกเหมือนเดิม

สำหรับเรา มันโอเคกว่าค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่