ปราสาทดำเร็ยกรับ (Damrei krap) ร่องรอยอิทธิพลศิลปะจาม ที่พนมกุเลน

“มเหนทร -บรรพต” (Mahendraparvata) หรือเทือกเขา “พนมกุเลน” ภูเขาศักดิ์สิทธิ์แห่งอาณาจักรยุคแรก หรือยุคก่อนเมืองพระนคร ในอดีตพนมกุเลน เป็นที่ประทับของพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 แต่ไม่มีหลักฐานปรากฏว่าพระองค์ทรงประทับที่พนมกุเลนนานเท่าไหร่ และเมื่อพระเจ้าชัยวรมันที่ 2 ก็เสด็จกลับมาครองราชย์ที่หริหราลัย หลังจากนั้นมาอีก 300 ปี จึงมีการสร้างปราสาทนครวัดขึ้น ร่องรอยของปราสาทบนเขาพนมกุเลนจึงพบเป็นปราสาทหลังเล็ก ๆ และมีสภาพทรุดโทรม มีเพียงแต่ศิวลึงค์ที่ถูกแกะสลักอยู่ใต้น้ำนับพันอันที่ยังคงสภาพดีอยู่ ซึ่งศิวลึงค์นับพันองค์ที่อยู่ใต้น้ำนั้น เป็นของศาสนาฮินดู ลัทธิไศวนิกาย นอกจากนี้ชาวฮินดูยังมีความเชื่อว่าพนมกุเลนเป็นที่ตั้งของมเหนทรบรรพต มเหนทร หมายถึง พระศิวะ ส่วนบรรพตนั้นหมายถึง ภูเขา

    ศาสนสถานในศิลปะขอม กับศาสนสถานในศิลปะจามนั้น มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน แม้ว่าทั้ง 2 อาณาจักร จะได้รับอิทธิพลมาจากอินเดียเช่นเดียวกันก็ตาม อาทิ รูปแบบของเรือนชั้นซ้อน เสาติดผนัง กรอบหน้าบรรพ์ เป็นต้น

   ศาสนสถานที่มีความพิเศษกว่าศาสนสถานหลังอื่นที่พบบนเขาพนมกุเลน คือ ปราสาทดำเร็ยกรับ ซึ่งเป็นกลุ่มปราสาทอิฐสามหลังทางทิศใต้ของเทือกเขาพนมกุเลน

ปราสาทดำเร็ยกรับ

   ปราสาทดำเร็ยกรับ มีลักษณะโดยรวมใกล้เคียงกับปราสาทที่สร้างในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน แต่กลับมีลักษณะบางประการที่แตกต่างจากปราสาทในศิลปะขอมอย่างเด่นชัด คือ เสาติดผนัง เนื่องจากรูปแบบเสาติดผนังของปราสาทในศิลปะขอมนั้นจะไม่นิยมเซาะร่องตรงด้านกึ่งกลางของเสา แต่ลักษณะการทำเสาติดผนังที่กึ่งกลางด้านของเสามีการเซาะร่องนั้นกลับพบในปราสาทแบบจาม ลักษณะการเซาะร่องที่กึ่งกลางเสาติดผนังที่ปราสาทดำเร็ยกรับนั้น มีรูปแบบที่ใกล้เคียงกับรูปแบบของเสาติดผนังของปราสาทหัวล่าย จะต่างกันเพียงที่กลางของเสาติดผนังปราสาทหัวล่ายนั้นมีลวดลายแกะสลักประดับตลอดเสา แต่เสาติดผนังที่ปราสาทดำเร็ยกรับไม่มีลวดลายประดับ

ลวดลายประดับกึ่งกลางเสาติดผนังปราสาทหัวล่าย

เสาติดผนังปราสาทดำเรยกรับ กึ่งกลางมีการเซาะเป็นร่อง ไม่มีลวดลายประดับ

นอกจากเสาติดผนังที่มีความใกล้เคียงกับเสาติดผนังในศิลปะจามแล้ว ยังพบว่าที่ส่วนยอดของเสาติดผนังมีการแกะสลักรูปคล้ายยักษ์แบกลวดบัว ซึ่งลักษณะเช่นนี้พบเช่นกันที่ปราสาทหัวล่าย จะต่างกันเพียงที่ปราสาทหัวล่ายนั้นลักษณะคล้ายกับว่าจะเป็นรูปครุฑ (?)

ภาพสลักคล้ายรูปยักษ์แบก บนยอดเสาติดผนังปราสาทดำเร็ยกรับ

ภาพสลักคล้ายรูปครุฑ บนยอดเสาติดผนังปราสาทหัวล่าย

  นอกจากเสาติดผนังแล้ว ยังพบว่ามีซุ้มหน้าบรรพ์ด้านข้างของปราสาทดำเรยกรับ มีการใช้รูปแบบซุ้มที่เรียกว่า ซุ้มทรงพิณผรั่ง ซึ่งเป็นรูปแบบของซุ้มที่พบในปราสาทหัวล่ายเช่นเดียวกัน

ซุ้มทรงพิณฝรั่ง ปราสาทดำเร็ยกรับ

ซุ้มทรงพิณฝรั่ง ปราสาทหัวล่าย

  กล่าวโดยสรุป ปราสาทดำเรยกรับนั้นมีรูปแบบบางประการที่คล้ายคลึงกับปราสาทในศิลปะจามสมัยหัวล่าย ซึ่งสร้างประมาณพุทธศตวรรษที่ 14 แต่ก็ยังคงรูปแบบดั้งเดิมของปราสาทแบบขอมไว้ ดังนั้นจึงเป็นการผสมผสานระหว่างปราสาทขอม และปราสาทจาม
จะเป็นไปได้ไหมว่า อาจเคยมีร่องรอยการเข้ามาของจามในอาณาจักรขอม ในช่วงเวลาดังกล่าว

ปล. ข้อมูลยังมีค่อนข้างน้อยมาก จึงอาจวิเคราะห์ได้ไม่ละเอียดเท่าที่ควร ทั้งนี้ฝากสำหรับผู้สนใจ สามารถนำไปศึกษาค้นคว้า ขยายผลต่อไป บางทีเราอาจพบร่องรอยเส้นทางการเข้ามาของจามในอาณาจักรขอมก็เป็นได้

**กระทู้นี้เป็นเพียงข้อคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น หากมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติม ยินดีปรับปรุงแก้ไขครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่