ทดลองเขียนสืบเนื่องจาก.. ตอนที่ 3 Inflation (เพื่อน Inception)

ห่างหายไปนาน (ความจริงก็ไม่น่ามีใครรอ)
ย้อนไปดูตอนที่หนึ่ง [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
และตอนที่สอง [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

เนื่องจากปีใหม่นี้มีข่าวดี ได้งานทำแก้เครียดกะเค้าซักที
ส่วนสิ่งที่เริ่มไว้แล้ว ก็ตั้งใจว่าจะทำให้ดีที่สุด

ตอนนี้เป็นตอนที่ (หลงตัวเอง) คิดว่าทำได้ดี ไม่คิดว่าตัวเองจะเขียนได้วิชาการขนาดนี้
คงต้องให้คนอื่นช่วยพิสูจน์

human1year - ตอนที่ 3 INFLATION

เราคงเคยได้ยินพ่อๆแม่ๆ พูดกันอยู่ว่าสมัยก่อนก๋วยเตี๋ยวชามละสลึง
ส่วนที่ผู้เขียนนึกถึงประจำคือรถเมล์สามบาทห้าสิบตลอดสาย แถมยังรู้สึกว่ามันเพิ่งผ่านมาไม่นานมานี้เอง
นึกแล้วก็ใจหายทำไมราคาข้าวของต่างๆต้องค่อยๆปรับขึ้นด้วย
นึกอีกทีก็เห็นจะมีบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปที่ยืนหยัดยืนราคาเป็นเพื่อนยากให้เรา (แต่ปริมาณบรรจุอาจจะลดลง)
เหตุการณ์เหล่านี้เรียกว่า Inflation หรือภาวะเงินเฟ้อ เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ยังมีภาวะเงินฝืด (Deflation) ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ตรงข้ามกับเงินเฟ้อ

ทำไมราคาของสินค้าหรือบริการจึงเพิ่มขึ้น ให้เราลองนึกว่ากระบวนการต่างๆที่ใช้ในการผลิตสินค้า
ตั้งแต่ราคาวัตถุดิบ พลังงาน ค่าแรง หรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการต่างๆตามกฎหมาย
ถ้ามีส่วนใดส่วนหนึ่งเพิ่มขึ้น ก็ทำให้ผู้ประกอบการต้องคอยเคาะตัวเลขต้นทุน-กำไร-ราคาขาย
ตามหลักวิชาการแล้วภาวะเงินเฟ้อมีสาเหตุหลัก 2 ประการคือ
    Cost-push inflation คือการเกิดเงินเฟ้อจากต้นทุนที่สูงขึ้น หรือการมีอุปทานที่ลดลง เช่น ผลผลิตทางเกษตรที่ลดลงจากภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตที่ได้เป็นที่ต้องการ
    Demand-pull inflation คือการเกิดเงินเฟ้อจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น หรือมีอุปสงค์มากกว่าอุปทานทำให้ผู้ซื้อพร้อมจ่ายในราคาที่สูงขึ้นเพื่อให้ได้ของที่ต้องการ
    ส่วนอื่นๆ เช่น จากการที่มีเงินในระบบมากเกินไป การคาดการณ์การเกิดเงินเฟ้อของผู้ผลิตและผู้บริโภค หรือการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ เป็นต้น

ถึงแม้เงินเฟ้อทำให้เงินของเรามีความสามารถในการใช้จ่ายได้ลดลง แต่ก็ไม่ได้เป็นผู้ร้ายเสมอไป
เพราะเงินเฟ้อจะช่วยกระตุ้นให้มีการใช้จ่ายหรือการลงทุนมากกว่าที่จะเก็บรักษาเงินไว้
และถ้าเราเป็นลูกหนี้การชำระหนี้ของเราแต่ละครั้งในจำนวนเงินที่เท่ากันแต่มูลค่าของเงินลดลงก็จะถือว่าเราเป็นฝ่ายได้ประโยชน์จากเจ้าหนี้
แบบนี้ก็นึกถึงการผ่อนจ่ายแบบบอลลูน คงจะเป็นการผ่อนจ่ายที่เจ้าหนี้คำนวณมาแล้วจากแนวคิดอัตราเงินเฟ้อหรือเปล่านะ
สำหรับภาครัฐก็สามารถได้รับประโยชน์จากเงินเฟ้อ เมื่อมีการปรับขึ้นอัตราเงินเดือน (การขึ้นค่าแรงก็เป็นส่วนหนึ่งของเงินเฟ้อ)
ซึ่งทำให้เรามีรายรับที่เพิ่มขึ้น รัฐก็จะสามารถเก็บภาษีจากเราได้เพิ่มขึ้น

แต่สิ่งสำคัญคือภาวะเงินเฟ้อจะต้องเกิดในอัตราที่ไม่สูงเกินไปและอยู่ในระดับที่สม่ำเสมอ
ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ควบคุมภาวะเงินเฟ้อ คือ กระทรวงพาณิชย์ทำหน้าที่ควบคุมราคาสินค้า
และธนาคารแห่งประเทศไทยทำหน้าที่ดูแลอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และธปท.ยังกำหนดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของประเทศไทยไว้ที่ 2.5 ± 1.5%
ส่วนข้อมูลล่าสุดของปี 2559 นี้ อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 0.3% ซึ่งค่อนข้างต่ำมาก
ทำให้เราเห็นภาครัฐต้องคอยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการใช้จ่ายของประเทศเป็นระยะ
ไม่เช่นนั้นอาจจะเกิดภาวะเงินฝืดแบบที่หลายๆประเทศกำลังประสบอยู่ (การช้อปจึงถือเป็นการช่วยชาติได้นั่นเอง)

สำหรับการประเมินผลการลงทุนก็ควรจะคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อในช่วงนั้นๆ
ยกตัวอย่างเช่น เราออมเงินในรูปแบบเงินฝากธนาคาร ได้ดอกเบี้ยเงินฝาก 2% แต่ปีนั้นเงินเฟ้อ 1.5%
(ข้อมูลอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยของประเทศไทยปี 2459 – 2556 มีค่า 3.11% ต่อปี )
เมื่อคิดหลังหักภาษี ณ ที่จ่ายของดอกเบี้ยที่ได้รับแล้ว..
ก็เท่ากับว่าการลงทุนโดยฝากเงินในธนาคารสำหรับปีนั้นเป็นเพียงการฝากเงินอย่างอุ่นใจไว้กับธนาคาร

ขอขอบคุณแหล่งข้อมูลที่ช่วยให้เราวิชาการได้อย่างคาดไม่ถึง (ชมตัวเองอีกซักหลายๆรอบ)
www.thaigov.go.th
www.set.or.th
www.bot.or.th
www.bbc.com
www.th.wikipedia.org
หนังสือ cartoonomics (เศรษฐศาสตร์ฉบับการ์ตูน)


สุดท้ายจะขอโฆษณาเพจ https://www.facebook.com/human1year/
เพราะเราอาจจะง่วนกับงาน (จนกว่าเจ้านายจะถูกใจ)
มีอะไรก็แนะนำกันได้เสมอนะคะ ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านค่ะ
เม่าปัดรังควาน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่