[Review] Black Mirror กระจกสะท้อนด้านมืดของเทคโนโลยี (Season 1)



Black Mirror คือซีรีส์ทางฝั่งอังกฤษ ซึ่งผู้เขียนบทหลักคือ Charlie Brooker แต่ละตอนจะประกอบด้วยทีมนักแสดงต่างกันไป รวมถึงฉากของเรื่องก็ต่างกันด้วย

เนื้อหาของเรื่องจะสะท้อนด้านมืดของเทคโนโลยี รวมถึงสำรวจจิตใจของมนุษย์และสังคม ซีรีส์นี้จะเล่าเรื่องสมมุติว่าถ้าเทคโนโลยีได้พัฒนาไปถึงจุดหนึ่งแล้ว จะส่งผลกระทบอะไรต่อมนุษย์บ้าง หากมนุษย์คิดค้นนวัตกรรมอะไรออกมาใหม่เพื่อช่วยอำนวยประโยชน์แก่มนุษยชาติ จะเป็นไปได้ไหมว่าอาจจะมีโทษที่เราคาดไม่ถึง เนื้อหาส่วนใหญ่จะเล่าถึงโลกอนาคต แต่บางครั้งก็เป็นเรื่องเสมือนปัจจุบัน แต่ละเรื่องนั้นค่อนข้างสนุกและทำให้เราทึ่งกับไอเดียพอสมควร มีหลายประเด็นที่สามารถเก็บมาขบคิดหลังจากดูจบ หรือถกกับเพื่อนคนอื่นๆ ที่ชมด้วยได้อย่างสนุก หากใครชอบเรื่องราวแนวไซไฟ ซีรีส์เรื่องนี้จะเหมาะกับคุณมาก

นอกจากไซไฟที่เป็นโทนหลักของเรื่อง แต่ละตอนยังประกอบไปด้วยหลายๆ แนว ได้แก่ ดราม่า ลึกลับ ลุ้นระทึก ตลกร้าย หรือกระทั่งโรแมนติก ทั้งนี้ แต่ละตอนจะเป็นเรื่องราวหนึ่ง ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน นั่นหมายความว่าเราจะดูแบบไม่เรียงลำดับตามตอนก็ได้ นอกจากนั้น วิธีการนำเสนอค่อนข้างรวดเร็ว และเน้นการแสดงให้เห็นมากกว่าการบอกเล่าด้วยคำพูด กล่าวคืออาจแทบไม่มีการเกริ่นนำอะไรให้คนดูเข้าใจ เปิดเรื่องมาก็เล่าทันทีเลย ทำให้ผู้ชมอาจจะงงในช่วงต้นว่าตัวละครมันพูดถึงอะไรกัน แต่พอดูไปสักพักก็จะตามทันเอง

ขณะนี้ (มกราคม 2017) ได้นำเสนอออกมา 3 ซีซั่นแล้ว ทั้งหมดสามารถรับชมได้ในช่อง Netflix (มีซับไทยแล้วด้วย) ในบทความนี้ ผู้เขียนจะกล่าวถึงซีซั่นแรกก่อน และพยายามที่จะวิเคราะห์โดยไม่เปิดเผยส่วนสำคัญของเรื่อง แต่อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมองว่าถ้าไม่อยากเสียอรรถรสในการชมใดๆ เลย ผู้อ่านสามารถอ่านเฉพาะเรื่องย่อแล้วค่อยมาอ่าน ความเห็นหลังชม ได้ภายหลังเมื่อดูจบ ทั้งนี้ ซีซั่นที่ 1 จะมีทั้งหมด 3 ตอนดังนี้

Black Mirror Season 1 (2011)



Episode 1: The National Anthem

เรื่องราวเกิดขึ้นในประเทศอังกฤษ เริ่มต้นด้วยนายกรัฐมนตรีได้รับแจ้งว่าเจ้าหญิงแห่งราชวงศ์อังกฤษถูกลักพาตัว ผู้ร้ายได้ส่งภาพวิดีโอเจ้าหญิงถูกมัดมาให้ เงื่อนไขการปล่อยตัวมีเพียงนายกฯ เท่านั้นที่จะทำได้ กล่าวคือ ให้นายกฯ “กระทำการบางอย่าง” แล้วถ่ายทอดสดออกอากาศทั่วโลก หากถึงเวลาแล้วไม่ทำจะฆ่าเจ้าหญิงทันที เมื่อนายกฯ ได้ยินหน้าซีดทันที เนื่องจากมันเป็นเงื่อนไขที่วิปริต น่ากระอักกระอ่วน และเสื่อมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในแง่หนึ่ง ทางรัฐบาลจึงพยายามหาทางแก้ไข ทั้งโดยการหาคนร้าย และหาทางออกทางอื่นเพื่อไม่ให้ประชาคมโลกเห็นภาพนายกรัฐมนตรีของประเทศต้องทำเรื่องน่าอับอาย

ความเห็นหลังชม

เนื้อหาเรื่องนี้อาจจะไม่ค่อยเป็นแนวไซไฟล้ำยุคมากนัก แต่ก็น่ากลัวตรงที่มันดูเหมือนสามารถเกิดขึ้นจริงได้ในปัจจุบัน ผู้เขียนแสดงให้เห็นถึงอำนาจของอินเทอร์เน็ตที่แม้กระทั่งรัฐบาลหรือองค์กรใดๆ ยังอาจสู้ไม่ได้ เห็นได้ชัดเมื่อนายกฯ ต้องการปิดข่าว ก็ทำไม่ได้เพราะผู้ร้ายได้อัพโหลดคลิปวิดีโอดังกล่าวลงในเว็บ YouTube เสียแล้ว แม้กระทั่งเมื่อทางรัฐสั่งให้เว็บ YouTube ลบคลิปเจ้าหญิงออก แต่ว่าคลิปดังกล่าวก็ยังเผยแพร่ไปในทางอื่นได้อยู่ดี นี่แปลว่าอะไร แปลว่าผู้ที่มีอำนาจสูงสุดของประเทศก็ยังไม่สามารถควบคุมอำนาจของเทคโนโลยีได้เลย ทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปรวดเร็วมากจนกระทั่งกฎหมายเองยังตามไม่ทัน แม้รัฐบาลจะออกคำสั่งเอาผิดต่อผู้ที่ครอบครองหรือเผยแพร่คลิปของนายกฯ แต่ว่าเอาเข้าจริงในทางปฏิบัติ กฎหมายจะเอาผิดคนเหล่านั้นได้อย่างไร หากคลิปดังกล่าวเผยแพร่และส่งต่อไปให้คนหลายล้านคนแล้ว

นอกจากนี้ยังแทรกประเด็นว่าสื่อในสมัยนี้เริ่มอ่อนกำลังลง เมื่อประชาชนแต่ละคนสามารถเผยแพร่ข้อมูลได้เอง (แม้กระทั่งคนร้าย) แต่ละคนสามารถแสดงความเห็นของตนเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งสื่ออีกต่อไป ทั้งยังมีพลังกดดันรัฐบาลได้ด้วย จึงทำให้ทุกวันนี้ เราอยู่ในยุคที่ต้องเสพข้อมูลจำนวนมาก เพราะไม่ได้มีเพียงสื่อทางทีวี หรือวิทยุ หรือหนังสือพิมพ์เท่านั้น เราสามารถอ่านข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตซึ่งมาจากประชาชนทั่วไป ความเห็นในเว็บต่างๆ กระทู้คำถาม หรือฟีดในเฟสบุ๊ก อาจกล่าวได้ว่าด้วยข้อมูลจำนวนมหาศาลทำให้คนเราส่วนใหญ่เสพติดหน้าจอ ไม่ว่าจะหน้าจอทีวี มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ก็ตาม เราจำเป็นต้องตามข่าวให้ทัน เราจำเป็นต้องรู้เรื่องดราม่าในกระทู้ต่างๆ ไม่เช่นนั้นเราจะคุยกับคนอื่นไม่รู้เรื่อง เพราะฉะนั้น ฉากที่น่าสะเทือนใจมากฉากหนึ่งในตอนนี้ คือฉากที่ประชาชนทุกคนรออยู่หน้าจอทีวีเพื่อดูการถ่ายทอดสด จนไม่ทันรับรู้ว่าในขณะเดียวกันนั้นเอง ร่างของเจ้าหญิงถูกทิ้งอยู่กลางเมืองใหญ่โดยไม่มีผู้ใดสังเกตเห็น

เราว่าตอนนี้มีหลายประเด็นในขบคิดเยอะ เสียดสีทั้งการเมือง สื่อ และประชาชน แม้กระทั่งบทสรุปไปจนถึงฉากจบก็เปิดกว้าง ทำให้คนดูสามารถตีความและคิดต่อได้อีกมากมาย

* * * * *



Episode 2: Fifteen Million Merits

เรื่องราวของสังคมแห่งหนึ่งในอนาคตที่มีระบบหน่วยเงินเรียกว่า “Merit” ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเงินเครดิต กล่าวคือ ไม่ได้มีเหรียญหรือธนบัตรเป็นชิ้นเป็นอัน ทุกครั้งที่จะใช้จ่ายอะไร จะมีภาพหน้าจอเป็นตัวเลขบอกจำนวนเงินที่แต่ละคนมี และทุกสิ่งทุกอย่างก็ต้องใช้เงิน ไม่ว่าจะเป็นยาสีฟัน น้ำ เพลง อาหารการกิน ในสังคมแห่งนี้ทุกคนต้องปั่นจักรยานเพื่อให้ได้เงินมา ในขณะที่ปั่นจักรยาน ก็จะมีหน้าจอเพื่อให้ความบันเทิง เช่น มีเกม หรือรายการทีวีต่างๆ ให้คุณเพลิดเพลินได้ เรื่องราวโฟกัสไปที่ บิง ชายหนุ่มผิวดำที่มีสีหน้าเบื่อหน่าย ราวกับใช้ชีวิตในสังคมนี้ไปวันๆ อยู่มาวันหนึ่ง บิง ได้พบกับ แอบบี้ หญิงสาวหน้าตาดีที่ย้ายมาใหม่กำลังร้องเพลงอยู่ในห้องน้ำ เขารู้สึกสนใจเสียงร้องของเธอ จนเริ่มทำความรู้จัก และยินดีมอบเงินจำนวน 15 ล้านซื้อตั๋วเพื่อให้แอบบี้เข้าร่วมรายการโชว์เพื่อเป็นนักร้องและก้าวไปสู่สังคมคนดัง แต่ทว่าผลลัพธ์อาจไม่เป็นเช่นนั้น

ความเห็นหลังชม

ตอนที่สองนี้เริ่มเข้าสู่โลกอนาคตแล้ว ฉากและเทคโนโลยีทุกอย่างดูล้ำและทันสมัยมาก เราชอบไอเดียเรื่องการใช้เงินในการทำทุกอย่างในชีวิตประจำวัน แม้กระทั่งบีบยาสีฟัน ซึ่งจำนวนเงินจะลดลงตามการบีบ รวมถึงลักษณะการโฆษณาที่เราสามารถเลือกกดข้ามไม่ดูก็ได้ แต่ก็ต้องเสียเงิน ทำให้นึกถึงโฆษณาที่พวกเราเห็นกันในเว็บ YouTube ทุกวันนี้ แต่โฆษณาในเรื่องนี่น่ารำคาญกว่ามาก เพราะถ้าเงินหมดจะกดข้ามไม่ได้ ถ้าหลับตา มันจะส่งเสียงเตือน บังคับให้เราลืมตาเพื่อดูต่อ!

แม้ฉากจะอยู่ในโลกอนาคตที่แปลกตา แต่ประเด็นหลักของเนื้อหาก็ยังไม่ได้เป็นเรื่องที่แปลกใหม่นัก กล่าวคือโดยหลักจะพูดเรื่องชนชั้นในสังคม จากฉากในเรื่องที่แสดงให้ผู้ชมเห็น เราไม่อาจทราบได้ว่าสถานที่ที่พระเอกอยู่คือที่ใด เราจะเห็นแค่เพียงภาพว่าทุกคนต้องทำงานโดยการปั่นจักรยาน มีบางฉากที่เหมือนจะบอกกลายๆ ว่าการปั่นจักรยานนี้เป็นการผลิดไฟฟ้า ซึ่งก็อาจตีความได้ว่านี่คือสังคมแรงงาน และสังคมนี้ให้ความสำคัญกับรูปร่างและสุขภาพมาก หากคุณอ้วนและไม่สามารถปั่นจักรยานต่อไปได้ คุณจะถูกลดชนชั้นไปเป็นคนเก็บขยะ เราจะเห็นว่าเหล่าคนเก็บขยะในชุดเหลืองจะโดนด่าและตอบโต้อีกฝ่ายไม่ได้ กระทั่งในเกมซีมูเลเตอร์ที่ยิงๆ กัน ก็เอาตัวละครคนอ้วนในชุดเหลืองมาเป็นเป้า ในรายการทีวีก็นำคนอ้วนมาล้อเลียนเป็นที่สนุกสนาน ชนชั้นของคนอ้วนในชุดเหลืองดูเหมือนจะไร้ศักดิ์ศรี เป็นตัวตลกที่ให้คนดูถูกและล้อเลียน นอกจากนั้น เรายังเห็นสังคมในอีกระดับเหนือขึ้นไป คือการเป็นคนเด่นคนดัง กฎในเรื่องคือคุณสามารถซื้อตั๋วเข้าร่วมรายการทีวี Hot Shot ได้ (คล้ายกับรายการ Got Talent ในบ้านเรากระมัง) ผู้เข้าร่วมจะมาแสดงความความสามารถพิเศษต่อหน้ากรรมการและคนดู เมื่อคุณได้เป็นดาราสมใจ คุณก็ก้าวพ้นชนชั้นแรงงานไปสู่อีกชนชั้นหนึ่งได้และไม่ต้องมาปั่นจักรยานอีกต่อไป

เมื่อดูไปเรื่อยๆ เราจะพบว่าสังคมนี้ปฏิบัติต่อคนเหมือนหุ่นยนต์ การให้สวมเสื้อผ้าสีเทาเหมือนกันไปหมด ห้องนอนก็คับแคบ ไม่มีหน้าต่าง มีแต่วิวที่เสมือนหน้าต่าง แต่ก็แทนกันไม่ได้ แต่ละคนแทบไม่ปฏิสัมพันธ์กัน ดูไร้ชีวิตชีวา จึงไม่แปลกใจเมื่อตัวเอกของเรื่องได้พบกับคนที่เขารู้สึกว่า “จริงแท้” ขึ้นมา ถึงขั้นรู้สึกอยากผลักดันให้อีกฝ่ายได้ไปสู่โลกที่ดีขึ้น ทั้งนี้เราอาจจะมองว่า บิง หลงรัก แอบบี้ก็ได้ หรืออาจจะมองว่า แอบบี้คือตัวแทนของความหวังของบิงที่ทำให้เขาใช้ชีวิตต่อไปก็ได้ อย่างไรก็ตาม ฉากที่สองคนคุยกันก็มีบรรยากาศน่ารักทำให้เราอมยิ้มได้พอสมควร

ในช่วงตอนท้ายนั้น เราว่าเรื่องค่อนข้างเสียดสีชีวิตจริงมากเลยทีเดียว ผลสุดท้ายมนุษย์เราก็อาจเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ตัวหนึ่งในสังคมใหญ่ เราอาจไม่สามารถต่อกรกับคนที่อยู่ข้างบนสุดของชนชั้นได้ หรือบางครั้งเราก็อาจไม่มีทางรู้เลยด้วยซ้ำว่าข้างบนสุดนั้นเป็นใคร หากแต่ละฟันเฟืองเกิดพยศขึ้นมาพร้อมกันแน่ล่ะว่าสังคมอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลง และความน่ากลัวจึงอยู่ตรงนี้ ยิ่งโลกเทคโนโลยีไปไกลมากเท่าไร การควบคุมประชากรให้อยู่ในกรอบบางอย่างก็ง่ายขึ้น หน้าต่างในตอนจบอาจเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งแสดงถึงอิสรภาพที่ถูกปิดกั้น แต่เราก็ไม่อาจรู้เลยว่าหน้าต่างที่พระเอกเห็นเป็นของจริง หรือเป็นเพียงแค่หน้าจอสกรีนเท่านั้น

นอกจากนี้ ในเรื่องยังมีกิมมิคหลายอย่าง แต่เล่าผ่านคำพูดของตัวละคร ถ้าเราตั้งใจฟังบทสนทนาของบิงกับแอบบี้ดีๆ จะพบว่ามีการพูดถึงเทคโนโลยีบางอย่างที่น่าสนใจ เช่น การเพาะอาหารจากจานเชื้อ (แสดงว่าอยู่ในยุคที่ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมไม่ค่อยดีหรืออย่างไร?) การใช้แอพไกด์นำทางให้เรากินอาหารเพื่อสุขภาพโดยการสะกดจิต และอีกหลายอย่าง แม้กระทั่งเกมต่างๆ ถ้าพิจารณาดีๆ ก็มีการเสียดสีอะไรพอสมควร เพลงที่แอบบี้ร้องนั้นก็ช่างเข้าใจเลือกมา เราว่ามันเพราะแบบแปลกๆ บอกไม่ถูก ถ้าใครสนใจลองฟังดู ชื่อเพลงว่า “Anyone Who Knows What Love Is”

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่