Post-Truth จะดึงคนอยู่ในโลกมโนแบบผิดๆ เข้าสู่โลกความจริงได้อย่างไร?

จะดึงคนช่างมโนแบบผิดๆจนเลอะเทอะ เข้าสู่โลกความจริงได้อย่างไร?

" แทนที่จะขอให้เขาเปลี่ยนใจเปลี่ยนความคิด ซึ่งกดดันให้รู้สึกพ่ายแพ้อ่อนแอ จงปล่อยให้เขาตัดสินใจใหม่อีกครั้งจากข้อมูลที่เราให้เพิ่มขึ้น พวกนักการเมืองชอบใช้วิธีนี้ เพราะไม่อยากให้ใครมองว่าเป็นพวกโลเลไร้จุดยืน"

  "Don’t confuse me with facts”  อย่าเอาข้อเท็จจริงมาทำให้ฉันสับสน เพราะฉันกำลังเพลินกับการมโน...ไหนว่าความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย แต่ทำไมคนเราถึงเลือกเชื่อในสิ่งที่อยากจะเชื่อ ทั้งๆที่รู้อยู่เต็มอกว่ามันไม่จริง!! เรากำลังเข้าสู่ สังคมยุค “Post–Truth” เต็มตัว เป็นยุคที่ความจริงสำคัญน้อยกว่าความเชื่อส่วนตัว นี่คือปรากฏการณ์ของสังคมยุคนี้ ยุคที่ข้อเท็จจริงมีอิทธิพลกำหนดความคิดเห็นของสังคมน้อยกว่าอารมณ์ความรู้สึกส่วนตัว และความเชื่อของพวกพ้องในโลกโซเชียล

  “Post-Truth” ถูกยกให้เป็นคำแห่งปี 2016 โดยพจนานุกรมออกซ์ฟอร์ด คำนี้ไม่ได้เพิ่งจะเกิดขึ้น แต่ที่กลายเป็นคำแห่งปี เพราะมีการหยิบยกมาใช้คึกคักขึ้นถึง 2,000% ในปีนี้ โดยใช้อธิบาย 2 ปรากฏการณ์ทางการเมืองสำคัญ ที่ค้านสายตาคนทั้งโลก นั่นคือการที่คนอังกฤษลงประชามติ Brexit ให้สหราชอาณาจักรถอนตัวออกจากอียู และชาวมะกันเทคะแนนโหวตเลือก “โดนัลด์ ทรัมป์” เป็นประธานาธิบดีแบบพลิกล็อกถล่มทลาย

“มนุษย์สะดุดล้มเพราะความจริงบ้างเป็นครั้งคราว แต่ส่วนใหญ่ก็ลุกขึ้นยืนและรีบเดินจากไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น” นี่เป็นคำพูดของ “วินสตัน เชอร์ชิลล์” ที่พูดไว้เมื่อนานมาแล้ว แต่ยังสะท้อนถึงพฤติกรรมของมนุษย์ยุคนี้ได้ถึงแก่น

  ถ้าเราเลือกเชื่อตามที่ตัวเองอยากจะเชื่อเท่านั้น และผลักไสให้คนที่คิดต่างไม่เห็นด้วยกับตัวเองเป็นฝ่ายผิด โดยไม่สนความจริง สังคมนี้ก็คงอยู่ยาก และเต็มไปด้วยความขัดแย้งแบ่งฝักแบ่งฝ่ายไม่เลิก

  “ดร.เดวิด เจ. ไลเบอร์แมน” นักจิตวิทยาด้านพฤติกรรมมนุษย์ชื่อดังของโลก อธิบายถึงแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้คนเราเลือกเชื่อในสิ่งที่อยากเชื่อ มากกว่าจะสนใจข้อเท็จจริง พร้อมเสนอแนะวิธีเค้น-คั้น-ค้นหาความจริงจากพวกช่างมโน

  ตามตำราว่าด้วยพฤติกรรมมนุษย์ การตัดสินใจของคนเรา 90% ขึ้นอยู่กับความรู้สึก เมื่อตัดสินใจไปแล้ว เราค่อยนำเหตุผลมาสนับสนุนการกระทำของเรา ถ้าคุณร้องขอให้ใครยอมรับความจริงสักอย่างด้วยการอ้างเหตุผล ย่อมมีโอกาสน้อยมากที่จะชักจูงเขาสำเร็จ ต้องแปลงความคิดเชิงเหตุผลให้เป็นคำพูดที่แสดงออกถึงความรู้สึกซะก่อน และทำให้เขาเห็นถึงข้อดีของการยอมรับความจริง จึงจะโน้มน้าวสำเร็จ

  ไม่มีอะไรน่ากลัวไปกว่า “การหลอกตัวเอง” โรคนี้แก้ไม่หายจริงๆ!! คนเรามักบิดเบือนความจริง โดยเฉพาะเวลาประสบเหตุการณ์ร้ายๆ หลายคนบีบคั้นตัวเองให้รู้สึกเศร้าอย่างรุนแรง วิตกกังวล และท้อแท้เกินจริง เพราะมโนไปเองว่าเหตุการณ์นั้นเป็นความสูญเสียถาวร มโนว่าเหตุการณ์นั้นเป็นเรื่องร้ายแรง ทั้งที่จริงๆแล้วไม่ได้รุนแรงขนาดนั้น และรู้สึกว่าเหตุการณ์นั้นมีผลกระทบต่อทุกด้านในชีวิต ปานว่าโลกจะแตกดับให้ได้...คิดดูว่าถ้าการบิดเบือนความจริงแพร่ระบาดไปทั้งสังคมจะเกิดอันตรายขนาดไหน

  ถ้าเจอคนช่างมโนแบบผิดๆจนเข้าข่ายเลอะเทอะ เราควรจะดึงพวกเขากลับสู่โลกความเป็นจริงยังไง (พี่คะๆ ตื่นได้แล้ว!!) แทนที่จะขอให้เขาเปลี่ยนใจเปลี่ยนความคิด ซึ่งกดดันให้รู้สึกพ่ายแพ้อ่อนแอ “ดร.เดวิด” แนะนำว่า จงปล่อยให้เขาตัดสินใจใหม่อีกครั้งจากข้อมูลที่เราให้เพิ่มขึ้น พวกนักการเมืองชอบใช้วิธีนี้ เพราะไม่อยากให้ใครมองว่าเป็นพวกโลเลไร้จุดยืน พวกเขาจะไม่พูดว่า ได้เปลี่ยนใจในประเด็นใดไปแล้ว แต่มักพูดว่า สถานการณ์ของเขาเปลี่ยนไปแล้ว

  เมื่อเราอยากให้ใครช่วยทำอะไร สามัญสำนึกบอกว่าเราต้องขอร้องเขาในเวลาที่อารมณ์ดี ตรงกันข้ามถ้าเราอยากคาดคั้นให้ใครสักคนยอมรับความจริง ต้องจู่โจมตอนที่เขากำลังเหนื่อย หิว และกระหาย เพราะเขาจะคิดอะไรไม่ออก และอยากจะจบการสนทนาให้เร็วที่สุด


  เหนืออื่นใดแล้ว เบื้องหลังการกระทำทุกอย่างของคนเรา ก็ล้วนมาจาก 2 แรงจูงใจ คือหลีกหนีความเจ็บปวด และอยากได้มาซึ่งความพึงพอใจ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก:  http://www.thairath.co.th/content/806162


โลกยุคไร้พรมแดนที่การสื่อสารสามารถส่งถึงกันได้อย่างรวดเร็วทั่วทั้งโลก แต่สภาพจิตใจของคนกลับอ่อนแอลง ความอดทนต่อการแก้ปัญหาถดถอย กลับเข้าสู่โลกแห่งความฝันตามแต่ที่ตัวเองต้องการเพราะไม่สามารถยอมรับความจริงที่เจ็บปวดได้
ถึงเวลาที่เราควรกลับมามองความจริง  ยอมรับต่อปัญหาที่เกิดขึ้นและพยายามหาทางแก้ไขปัญหาเหล่านั้นด้วยสติได้หรือยัง ??

ทางเลือกที่ดีที่สุดนอกเหนือจากการหาที่ปรึกษาแล้ว ธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และการปฏิบัติธรรมยังเป็นที่พึ่งที่ดีที่สุดสำหรับเป็นหลักให้จิตใจได้เกาะเกี่ยวอยู่เสมอ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่