ทางมนุษย์

กระทู้สนทนา


คน 5 ประเภท ตามหลักขงจื้อ
.
ในเส้นทางการพัฒนาตัวเองตามทัศนะของขงจื๊อนั้น ขงจื๊อได้จำแนกคนออกเป็น 5 ประเภท คือ สามัญชน บัณฑิต ปราชญ์ วิญญูชน และอริยบุคคล โดยเรียงลำดับจากขั้นต่ำมาขั้นสูง ซึ่งสะท้อน วิวัฒนาการทางจิตของคนผู้นั้นด้วย กล่าวคือ
.
ระดับที่ 1 "สามัญชน"
คือคนที่ไม่ค่อยเคารพปฏิบัติตามกฎระเบียบ ไม่สามารถกล่าวเขียนวาจาที่สะท้อนความมีสติปัญญา ไม่เคยคิดที่จะคบนักปราชญ์ ชีวิตไม่มีเป้าหมาย รู้แต่เรื่องเฉพาะหน้า ไม่มีอุดมคติที่ลึกซึ้งกว้างไกล ไม่มีความเป็นตัวของตัวเองในเชิงปณิธาน ชอบเปลี่ยนความคิดไปตามกระแสที่เข้ามากระทบ และไม่ยืนหยัดในหลักการ
.
ระดับที่ 2 "บัณฑิต"
คือบุคคลที่แม้ไม่เข้าใจเหตุผลที่ลึกซึ้ง ไม่สามารถบำเพ็ญคุณธรรมอย่างหมดจด แต่ก็มีความรู้และความเชื่อบางอย่าง ทำงานและประพฤติตัวตามหลักการบางอย่าง เพราะฉะนั้นถึงระดับความรู้ความเข้าใจจะมีข้อจำกัดก็ยึดกุมความรู้ความเข้าใจได้ในระดับจำกัดนั้นอย่างแม่นยำ ถึงระดับความสามารถในการพูดจะมีข้อจำกัด ก็เข้าใจเหตุผลที่กำลังพูดอย่างแท้จริง ถึงระดับความสามารถในการสื่อด้วยความประพฤติจะมีจำกัด ก็ระมัดระวังความประพฤติของตัวเองเสมอ พวกเขาจึงสามารถเผชิญความจริงภายใต้ข้อจำกัดของตัวเอง
.
ระดับที่ 3 "ปราชญ์"
คือบุคคลที่ประพฤติตัวอยู่ในทำนองคลองธรรมมีวาจาเที่ยงแท้เป็นที่น่าเชื่อถือ มีความรู้และคุณธรรมมากพอที่จะเป็นแบบอย่างแก่ราษฎรทั่วแผ่นดินได้
.
ระดับที่ 4 "วิญญูชน"
คือบุคคลที่ศึกษาความรู้บ่มเพาะคุณธรรมอย่างทุ่มเท พูดจริงทำจริง ไม่บ่นโทษ ไม่นินทา ไม่พยาบาท มีคุณธรรมสูงส่ง แต่ไม่เย่อหยิ่งทะนงตน มีสติปัญญาเลิศล้ำ แต่กลับมีท่าทีอบอุ่น นอบน้อม จนดูคล้ายไร้สติปัญญา ทั้งๆ ที่แท้ที่จริงแล้วมีความสามารถอันลึกล้ำหาผู้ใดเสมอยาก
.
ระดับที่ 5 "อริยบุคคล"
คือบุคคลที่มีจิตใจสูงส่งน่าบูชาดุจฟ้าดิน แต่สามารถปรับตัวให้กลมกลืนกับสภาพแวดล้อม มีสติปัญญาแจ่มจ้าดุจแสงแห่งสุริยันจันทรา สามารถหยั่งรู้รากเหง้าของสรรพสิ่ง ยามดำเนินมรรคธรรมจะประหนึ่งฟ้าดินหล่อเลี้ยงสรรพชีวิตโดยไม่ลำเลิก และเหล่าราษฎรทั้งปวงก็หารู้ไม่ว่ารับบุญคุณท่านแล้ว คนทั่วไปจึงไม่ทราบว่า ท่านได้ทำอะไรบ้าง ไม่ทราบว่าท่านมีคุณธรรมสูงส่งเพียงใด ดุจเดียวกับที่ไม่เข้าใจความลับของฟ้าดิน
.
การรุดหน้าไปสู่ สังคมความรู้ และ สังคมปัญญา โดยที่สามารถแก้ไขปัญหาการตกต่ำทางศีลธรรมได้ด้วยนั้น แท้ที่จริงก็คือ กระบวนการขัดเกลาประชาชน และให้การศึกษาประชาชนอย่างรอบด้านในทุกมิติอย่างบูรณาการ โดยไม่ละเลยด้านใดด้านหนึ่งหรือเน้นด้านใดด้านหนึ่งจนเสียสมดุล ซึ่งต้องกระทำอย่างต่อเนื่อง และยาวนานพอที่สามัญชนส่วนใหญ่จะเริ่มกลายเป็นบัณฑิต ขณะที่บัณฑิตก็เริ่มกลายเป็นปราชญ์ และปราชญ์ก็เริ่มกลายเป็นวิญญูชน โดยที่วิญญูชนก็เริ่มกลายเป็นอริยบุคคลนั่นเอง แต่กระบวนการขัดเกลาประชาชนเช่นข้างต้นนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากผู้มีอำนาจยังคงหลงผิดแลเห็นกงจักรเป็นดอกบัวอยู่

Cr : dhammajak
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่