วิถีใหม่ ไลฟ์สไตล์เปลี่ยน"อิสระ-การศึกษา-เเพง"คนเจนวายไม่อยากมีลูก?ท่ามกลางกระเเสรักเด็กฟีเว่อร์

http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1479509218

คนยุคใหม่ไม่อยากหรือไม่กล้าที่จะมีลูก ?

ประชากรผู้มีอายุน้อยกว่า 35 ปี ผู้เกิดระหว่างปี 2523-2546 หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า "คนเจนวาย" (Generation Y) ส่วนใหญ่มักให้ความสำคัญกับการจัดสมดุลของชีวิต รูปเเบบการทำงานที่ "ไม่บีบบังคับ" "เงินดี"  เเละ "มีเวลา" ออกไปเผชิญโลกด้วยการท่องเที่ยว...เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้คนถวิลหา

การศึกษาที่ไม่ได้มีเเค่ "ปริญญาตรี" เเล้วจะรอด...หนุ่มสาวบ่าวนางทั้งหลาย เลือกที่จะอยู่ในระบบการศึกษานานขึ้น เพื่อเสริมความก้าวหน้าของหน้าที่การงานเเละอยากเรียนต่อพิชิตความฝันชีวิต ขณะที่ระยะเวลาการเจริญพันธุ์นั้นหายไปเเล้วกว่าครึ่ง

พร้อมกับสิ่งที่เรา "ต้องจ่าย" ทุกวันนี้เหมือนจะ "เเพง" ไปเสียหมด คำกล่าวที่เรามักได้ยินบ่อยๆว่ากว่าที่จะเลี้ยงลูกโตมาได้คนหนึ่ง...พ่อเเม่เสียเงินไปเป็นล้าน กลายเป็นเรื่องจริงขึ้นมา

"ช่วง 30-40ปีที่ผ่านมา มุมมองคนเราเริ่มเปลี่ยน...เราไม่ได้หวังจะมีลูกเพื่อสืบสกุลหรือหวังให้ลูกมาดูเเลยามเเก่เฒ่า เวลาผมลงไปเก็บข้อมูลทีไรก็มักจะเจอคำตอบที่ว่า...มีลูกให้มันครบๆ งั้นถ้าอยากได้ครอบครัวสมบูรณ์ก็มีคนเดียวก็พอ

เเล้วหลายครอบครัวเเต่งงานเพื่อมีลูก เเต่ทำยังไงก็ไม่มีลูกสักที เพราะเมื่อจะพร้อมทั้งการเงินเเละสถานะอายุก็ปาเข้าไปสามสิบปลายๆ โอกาสจะตั้งครรภ์ก็น้อยลง นำไปสู่การพึ่งพาทางการเเพทย์ที่ต้องใช้เงินสูงอีก การจะมีลูกก็ยิ่ง "เเพง"ไปกันใหญ่"

ผศ.ดร. ภูเบศร์ สมุทรจักร รองผอ.ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงทัศนะของคนรุ่นใหม่ที่ส่งผลต่ออัตราการมีเกิดน้อยในปัจจุบัน พร้อมระบุว่า ประเด็นใหญ่ของสังคมในตอนนี้คือโอกาสที่จะทำให้คนมีลูกกันเยอะขึ้นนั้นเป็นไปได้ยากถึงขั้นเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ประมาณ 1.6 เเละคาดว่าอีก 20 ปีข้างหน้าจะลดลงเหลือเพียง 1.3 เท่านั้น

โดยหมายความว่า อัตราของสุภาพสตรีที่จะมีลูกได้ เฉลี่ย 1.6 ต่อคน ซึ่งต่ำกว่าสมัยก่อนที่คนมักจะมีลูกสองคนขึ้นไปเเละอยู่ในระดับทดเเทนได้ คือเเทนพ่อหนึ่งคน ทดเเทนเเม่หนึ่งคน เเต่ปัจจุบันเราตกต่ำกว่าระดับทดเเทน นโยบายสำคัญจึงควรไม่ใช่ "การเพิ่ม" เเต่คือต้องทำอย่างไร "ไม่ให้ตก" ไปกว่านี้

"ประชากรรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาน้อย เเละในอีก 20 ปีข้างหน้ากลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นเเรงในการเพิ่มจีดีพี พยุงสังคมทั้งหมด เเต่ถ้าเกิดยังไม่มีประสิทธิภาพ  อนาคตของประเทศไทย ไม่ใช่เเค่เรื่องเศรษฐกิจ เเต่รวมไปถึงสังคมเเละความเป็นอยู่จะตกอยู่ในความไม่น่าไว้วางใจ" ผศ.ดร. ภูเบศร์กล่าว


ทำไมคนเจนวาย ถึงไม่อยากมีลูก ?

"สำหรับคนโสด การแต่งงานไม่ใช่สิ่งสำคัญ แต่ไม่ปฏิเสธการมีคู่ ผู้เข้าร่วมสนทนาทั้งชายและหญิง ทั้งเจนเอกซ์และเจนวายที่ยังโสด ไม่ได้มองว่าการแต่งงานเป็นสิ่ง สำคัญในชีวิต โดยส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการสร้างเนื้อสร้างตัว การมีธุรกิจ การผ่อนคอนโดหรือบ้าน การได้ดูแลพ่อแม่ การได้ดูแลสุขภาพตนเอง และการได้ท่องเที่ยว การตั้งเป้าหมายชีวิตในช่วง 5 - 10 ปี ส่วนใหญ่จึงพบว่าเป็นเรื่องการสร้างความมั่นคงทางการเงินและการงาน น้อยคนที่จะพูดถึงการสร้างครอบครัว"

รายงานจากงานวิจัยเรื่อง "การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ" (2559) โดย ผศ. ดร. มนสิการ กาญจนะจิตรา และคณะ หนึ่งในโครงการวิจัย "ความอยู่ดีมีสุขของครอบครัวไทย"  ของ ผศ. ดร. ภูเบศร์ สมุทรจักรและคณะ จากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เเบ่ง 4 ปัจจัยหลักที่ทำให้คนเจนวาย ไม่อยากมีลูกไว้ดังนี้

ปัจจัยมหภาค : บทบาทของชายหญิงที่เเตกต่างกัน

ผลสำรวจกลุ่มผู้หญิงที่ยังไม่ได้แต่งงานหรือมีคู่ มองว่าผู้ชายโดยมากมักไม่ช่วยเหลือเรื่องการเลี้ยงดูลูก โดยยกตัวอย่างที่เห็น หรือได้ยินจากญาติพี่น้อง หรือเพื่อนผู้หญิงที่สามีไม่ช่วยเหลืออะไรเลย และภาระเกือบทั้งหมดในการเลี้ยงดูลูกตกอยู่ที่ผู้หญิง คนกลุ่มนี้จึงมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อการคิดมีบุตรในอนาคต

สำหรับกลุ่มผู้ชาย พบว่าทั้งเจนเอกซ์และเจนวายมีความตั้งใจที่จะช่วยเหลือแบ่งเบาภาระในครอบครัว โดยไม่ได้คาดหวังว่าจะต้องเป็นหน้าที่ของผู้หญิงเพียงอย่างเดียว ในเรื่องการเลี้ยงลูก กลุ่มผู้ชายที่ยังไม่ได้แต่งงานมองว่าไม่ได้เป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของผู้หญิงเพียงฝ่ายเดียว เพียงแต่ผู้หญิงมักทำหน้าที่นี้ได้ดีกว่าผู้ชาย จึงคิดว่าทางเลือกแรกควรจะให้ผู้หญิงเลี้ยงเป็นหลัก



ส่วนกลุ่มที่แต่งงานแล้ว โดยมากจะบอกว่าตนมีส่วนช่วยเหลืองานบ้านและการเลี้ยงดูลูกเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีสถานะทางเศรษฐกิจต่ำถึงปานกลาง

สำหรับกลุ่มที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสูงมักจะมีแม่บ้านช่วยเหลือจึงมองว่าภรรยามีคนช่วยแบ่งเบาภาระแล้วหน้าที่ตนจึงเป็นการหาเงินเป็นหลักในแง่ของงาน

ทั้งนี้หากคู่สามีภรรยาประกอบอาชีพค้าขายหรือมีธุรกิจส่วนตัวร่วมกันจะพบว่าความเหลื่อมล้ำทางเพศจะน้อยกว่าเนื่องจากจะช่วยกันทั้งทำมาหากินและจัดการกับภาระต่างๆในครอบครัว

"ในระยะหลังผู้ชายมีส่วนร่วมในการดูเเลบ้านมากขึ้นเเต่โดยพื้นฐานเเล้วชายไทยอาจจะยังไม่ได้ถูกฝึกหรือเห็นตัวอย่างจากการที่เเสดงการเอื้อเฟื้อเเละเข้าไปมีบทบาทในการเลี้ยงลูกผู้หญิงมักจะมีความรู้สึกอยู่เสมอว่าต้องเป็นฝ่ายรับภาระการตั้งท้องมาตลอดเก้าเดือนกระบวนการคลอดก็เสี่ยงภัยต่อชีวิตเเละหลังจากนั้นด้วยความจำเป็นทางสรีระลูกน้อยก็ต้องดื่มนมจากนมเเม่...ผู้ชายไทยหลายท่านอาจจะคิดว่าทำได้ดีเเล้วนะเเต่อยากจะบอกว่าถ้าทำได้เยอะขึ้น ผู้หญิงก็จะมีความสุขขึ้น" ผศ.ภูเบศร์กล่าวเสริม



ปัจจัยด้านบุคคล : การเลี้ยงลูกมีราคาเเพงเเละกลัวเสียโอกาสชีวิต

คนหนุ่มสาวอาจกลัวเสียโอกาสการทำงานเเละใช้ชีวิตตามต้องการ เช่นอุปสรรคในการท่องเที่ยว เรียนต่อเเละใช้ชีวิตส่วนตัว

สมัยนี้ผู้หญิงจะใช้เวลาเรียนในสถานการศึกษานานขึ้น จนเกิดการ "ชะลอเวลาการเเต่งงาน" จากสมัยก่อนที่เคยมีลูกกันตั้งเเต่ 15 ปี เเต่วันนี้ใครมีลูกตอน 15 ปีจะกลายเป็นคุณเเม่วัยใสที่มีลูกตอนที่ยังไม่พร้อม เเต่เมื่อก่อนเขาพร้อมในสถานะของเขา ที่สามารถมีลูก 5-6คนได้ ทำให้สมัยก่อนมีอัตราการเจริญพันธุ์ที่ค่อนข้างสูง เเต่ทุกวันนี้อายุเฉลี่ยของผู้หญิงที่เเต่งงานนั้นอยู่ที่ 27-28 ปี ขณะที่ผู้ชายจะอยู่ที่ประมาณ 33-34 ปี

"พอเรียนปริญญาตรีจบก็ต้องต่อปริญญาโท สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือระยะเวลาการเจริญพันธุ์นั้นหายไปเเล้วกว่าครึ่งหนึ่ง"


เเล้วเรียนไปด้วย เจริญพันธุ์ไปด้วยไม่ได้หรือ?

"ผมเคยตั้งคำถามเช่นนี้เหมือนกัน ตอนที่ทำกรณีศึกษาที่ต่างประเทศ เพื่อนชาวฟิลิปปินส์ที่เติบโตที่นั่น พาลูกนั่งรถเข็นไปเรียนด้วย เเล้วเพื่อนๆก็ช่วยกันเลี้ยงลูก เเต่เรื่องเเบบนี้มักไม่เกิดขึ้นกับสังคมไทย เพราะอาจจะยังไม่มีความพร้อม หรืออาจจะมีสายตาเเปลกๆ ที่มองลงไป เเล้วรู้สึกว่ามันยังไม่ถึงเวลานะอีกประเด็นคือสังคมไทยยังเตรียมความพร้อมให้คนรุ่นนี้ที่จะมีชีวิตลำบากลำบนขนาดนั้นไม่ได้" ผศ.ภูเบศร์ระบุ

ด้านความกังวลเมื่อต้องมีลูกงานวิจัยชี้ว่าคนเจนวายฐานะปานกลางขึ้นไปเป็นกังวลถึงค่าใช้จ่ายในการศึกษาของลูกส่วนคนที่มีฐานะยากจนมักกังวลเรื่องค่าที่อยู่อาศัยพร้อมกันนั้นมาตรฐานของสถานรับเลี้ยงเด็กในเมืองไทยยังไม่เป็นที่น่าไว้วางใจ

"ปัจจัยทางเศรษฐกิจมีผลอย่างมาก ค่าเฉลี่ยเงินที่ต้องใช้เลี้ยงลูกต่อคนอยู่ที่ 1.9 ล้านบาท ส่วนการจ้างเลี้ยงลูกอย่างน้อยต้องใช้เงินกว่า 10,000-15,000 บาทต่อเดือน เเละหากคุณเป็นครอบครัวขยายที่มีผู้สูงอายุอย่าง ปู่ย่าตายายที่ต้องดูเเลอีก ซึ่งก็ตก 10,000-15,000 ต่อเดือนเช่นเดียวกัน ค่าใช้จ่ายตรงนี้ถือว่าเเพงมาก ตามความหลากหลายตามสถานะทางสังคม โดยสถานรับเลี้ยงเด็กที่ได้มาตรฐานเเละวางใจได้ก็ยิ่งจะมีราคาสูงตามไปด้วยถึง 15,000-20,000 บาทต่อเดือนเลยทีเดียว" ผศ.ภูเบศร์กล่าว

ปัจจัยด้านสังคม : ค่านิยมของสังคมมีผลต่อการตัดสินใจ

ลูกเราต้องเจ๋งที่สุด หากไม่พร้อมที่จะมีก็อย่ามี...ค่านิยมที่มาพร้อมกับการพึ่งพาตนเอง ที่ไม่ได้หวังให้ลูกมารับภาระดูเเลยามเเก่เฒ่า เเละหากจะมีลูกก็อยากให้ลูกมีอิสระ

ขณะที่ความคาดหวังจะให้พ่อเเม่มาช่วยเลี้ยงลูกให้ก็มีมากขึ้น เนื่องจากทั้งคู่สามีเเละภรรยาต้องยุ่งกับการทำงาน การให้พ่อเเม่ตัวเองเลี้ยงย่อม "ดีต่อใจเเละหายห่วง" มากกว่าการไปจ้างพี่เลี้ยงหรือสถานรับเลี้ยงเด็ก

เเต่ถ้าหากพ่อเเม่ทั้งฝ่ายชายหญิง "ไม่พร้อม" ก็เป็นหนึ่งปัจจัยที่คนเจนวายคิดหนัก เพราะมีลูกเเล้วก็ไม่รู้จะให้ใครช่วยเลี้ยง

ปัจจัยด้านนโยบาย : สภาพเเวดล้อมเเละนโยบายของบริษัทมีส่วนสำคัญ

หากเราต้องทำงานอยู่ในบริษัทที่มีทรัพยากรไม่เพียงพอเเละไม่มีสวัสดิการรองรับที่เอื้อให้พนักงานมีลูกเช่นความยืดหยุ่นของวันลาคลอดเเละเลี้ยงลูกเเน่นอนว่าพนักงานก็ต้องชั่งใจเเล้วถามใจอีกว่าการมีลูกจะกระทบต่อหน้าที่การงานหรือไม่นั่นส่งผลให้การตัดสินใจมีลูกช้าลงเช่นเดียวกัน

โดยงานวิจัยเรื่อง"การส่งเสริมการมีบุตรผ่านการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการสร้างครอบครัวที่มีคุณภาพ"ได้เสนอเเนวทางเชิงนโยบายเพื่อสร้างความพร้อมกระตุ้นให้คนเจนวายมีลูก6ข้อดังนี้1)ขยายวันลาคลอดของเเม่เเบบได้รับค่าจ้าง2)ส่งเสริมการลาของพ่อเพื่อช่วยภรรยาดูเเลลูกหลังคลอด 3)เพิ่มการลาเพื่อดูเเลบุตร 4)จัดศูนย์ดูเเลเด็กเล็กที่มีคุณภาพเเละครอบคลุมทุกพื้นที่ 5)สร้างเเรงจูงใจให้เอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินนโยบาย เเละ 6) จัดตั้งกองทุนครอบครัว




เสียงจริงส่งตรงจาก "คนเจนวาย" ใกล้ตัว

"ปีหน้าคงวางแผนจะมีลูก เพราะถึงวัยที่ต้องมี ตอนนี้ก็เริ่มเก็บเงิน" หนุ่มออฟฟิศวัย 31 ผู้เเต่งงานได้เกือบหนึ่งปีกล่าว เมื่อถูกถามว่าอยากมีลูกเมื่อไหร่

ด้านนักข่าวสาวเจนวายวัย 26 ปี ระบุว่า "อยากเก็บเงินไปเที่ยวต่างประเทศให้เยอะๆก่อน อยากทำงานที่หลากหลาย ใจจริงอยากเรียนต่อด้วย ตอนนี้ไม่คิดเรื่องเเต่งงานเลย เรื่องมีลูกเหรออย่าหวัง...เพราะต้องคิดเรื่องหาเเฟนก่อน ฮ่าๆๆ"

"ผมไม่ได้กลัวเรื่องไปเที่ยวนะ คิดว่าการพาลูกไปเที่ยวด้วยก็น่าสนุกดี เเต่ที่บ้านมีหลานเยอะเเล้ว น่าจะมีคนสืบนามสกุลเเล้วมั้ง พ่อเเม่ก็เลยไม่อะไรกับเรามาก รอดตัวไป รอเลี้ยงเเต่หลาน"  ความเห็นจากโปรเเกรมเมอร์หนุ่มวัย 28 ปี

"อยากมีลูก อยากเลี้ยงใครให้ได้ดีสักคน อยากมีโดยที่ยังไม่ได้คิดเรื่องเงิน เป็นเรื่องเเฟนตาซีที่อยากมีลูก  คือเราอยากสร้างพลเมืองที่ใจกว้าง รับฟังคนอื่น เชื่อว่ามันอยู่ที่การเลี้ยงดู บอกเลยว่าจะเป็นเเม่ที่ไม่ตีลูก บางทีถ้าเราไม่มีลูกตัวเอง ก็อาจรับเด็กมาเลี้ยงก็ได้ เเต่ยังไงตอนนั้นตัวเองก็ต้องพร้อมก่อน" นักศึกษาปริญญาโทหญิง วัย 25 ปี ท่านหนึ่งกล่าว

"ส่วนตัวคิดว่าตอนนี้ตัวเองอยู่คอนโดชั้นยี่สิบกว่า ไม่เหมาะกับการมีลูก เพราะอันตราย เห็นใจเด็กนะ เเบบเป็นเด็กคงอยากวิ่งเล่นไรงี้ ก็เลยคิดว่าถ้ามีลูกคงต้องขายคอนโดไปซื้อบ้าน เเค่คิดก็เหนื่อยเเล้วป่ะ" มิตรสหายหนุ่มเพื่อนบ้านวัย 27 ปีกล่าว  



เสนอเเนวคิด "ลูกของชาติ"

ผศ.ดร.ภูเบศร์ กล่าวถึงกระเเสรักเด็กฟีเวอร์ อย่างรายการเรียลลิตี้โชว์กิจกรรมต่างๆของเด็ก เช่น รายการ the return of superman ของเกาหลีใต้ที่ฮิตติดกันทั่วบ้านทั่วเมือง หรือจะเป็นการติดตามอินสตาเเกรมของเหล่าลูกดาราว่า

เเม้จะมีส่วนปัจจัยกระตุ้นให้คนอยากมีลูกก็จริง เเต่ปัญหาคนเจนวายไม่อยากมีลูกจะคงเป็นปัญหาใหญ่ด้านโครงสร้าง โดยยกตัวอย่างประเทศที่ประสบปัญหาการขาดเเคลนประชากรวัยเด็กอย่างสิงคโปร์ ว่ามีการรณรงค์เรื่อง "ลูกของชาติ" เช่นการเเจกหมวกสีเหลืองให้เด็กสวมใส่ เพื่อบ่งชี้ให้ผู้ใหญ่จะได้เเนะนำเเละช่วยเหลือ โดยคนในประเทศต้องตระหนักว่าเด็กเป็นอนาคตของชาติที่ต้องดูเเล

"ในอาเซียนประเทศที่มีอัตราการเกิดสูงที่สุดคือลาว เพราะอัตราความเเร้นเเค้นของลาวยังไม่มาก สิ่งต่างๆยังไม่เเพง ปัจจุบันเราใช้ทรัพยากรในประเทศที่มันเเพง หากเราจัดการทรัพยากรเหล่านี้โดยเฉพาะการเลี้ยงลูก ที่ไม่ใช่เเค่ลูกของเรา เเต่เป็น "ลูกของชาติ" เพราะในอนาคตถ้าลูกไม่พอ คนไม่พอจะพยุงชาติไม่ได้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่