ความลำเอียงในการตัดสินใจลงทุน: เจ็บแต่จบ (Duration neglect)

กระทู้คำถาม
นักลงทุนทุกคน ไม่ใช่สิ ต้องบอกว่า นัก “เล่นหุ้น” ทุกคนก็คงผ่านการขาดทุนมาไม่มากก็น้อย
และผมก็เชื่อว่า หลายท่านน่าจะจำการขาดทุนที่เจ็บปวดที่สุดของตัวเองได้

เอ้า ให้เวลาเช็ดน้ำตา 1 นาทีครับ 55555

มาคุยกันต่อครับ
จริง ๆ การขาดทุนมันก็มีข้อดีนะครับ เพราะเป็นสร้างประสบการณ์ และทำให้เราได้เรียนรู้

แต่ประเด็นที่อยากกล่าวถึงในเรื่องนี้คือนักลงทุนเรามักจะจำ (และอาจจะเรียนรู้) จากการขาดทุนครั้งสำคัญ แต่เรามักจะละเลยการ “ค่อย ๆ ขาดทุน” ที่ใช้ระยะเวลานาน
อาการแบบนี้มีชื่อเรียกว่า “Duration neglect” ครับ

ในปี 1993 นักวิจัยชื่อดังในเรื่องของการตัดสินใจ Daniel Kahneman และ Barbara Fredrickson ได้ทำการศึกษาโดยให้ผู้เข้าร่วมการทดลองดูภาพยนตร์ ที่เป็นภาพยนตร์ที่น่าดู กับภาพยนตร์ที่น่ารังเกียจ และหลังจากดูเสร็จแล้ว ก็ให้ผู้เข้าร่วมการทดลอง Review ภาพยนตร์นั้น

สิ่งที่สังเกตเห็นคือผู้เข้าร่วมการทดลองเหล่านั้น มักจะละเลยเรื่องของความยาวของภาพยนตร์หรือแปลความหมายได้ว่า คนเรามักจะไม่สนใจระยะเวลา !!!

มีอีกการทดลองหนึ่ง ซึ่งทำโดยทีมวิจัยของ Daniel Kahneman ในปี 1993 เช่นเดียวกัน
เขาแบ่งคนเป็น 2 กลุ่ม โดยทั้ง 2 กลุ่มต้องเอามือจุ่มลงในน้ำเย็นจัดในระยะเวลาหนึ่ง หลังจากนั้นกลุ่มแรก ให้เอามือออก และจุ่มลงในน้ำที่ค่อย ๆ ทำให้อุ่นขึ้น แต่ก็ยังถือว่าเย็นมากอยู่เหมือนกัน
โดยให้จุ่มต่อไปอีก 30 วินาที กับอีกกลุ่มหนึ่ง ให้เอามือออกทันที

ผลการศึกษาพบว่าทั้ง 2 กลุ่มบอกว่ามีความรู้สึกโดยรวมไม่ได้แตกต่างกัน !!!

แถมที่น่าสนใจมากกว่านั้นคือพอถามว่าอยากทำอีกครั้งไหม กลุ่มที่ต้องเอามือจุ่มน้ำเย็น (ที่ค่อย ๆ อุ่นขึ้น) อีก 30 วินาที มีความต้องการที่จะทำการทดลองนี้อีกมากกว่ากลุ่มที่เอามือออกจากน้ำเย็นทันที ทั้ง ๆ ที่การเอามือออกจากน้ำเย็นจัดทันทีนั้น คือการหยุดความเจ็บปวดได้เร็วกว่า การต้องเอามือไปแช่น้ำเย็น(ที่ค่อย ๆ อุ่นขึ้น) อีกตั้ง 30 วินาที นะ

งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่าคนส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับความเจ็บปวดที่สูงสุด (Peak) และประสบการณ์ตอนสุดท้าย (เหมือนน้ำที่ค่อย ๆ อุ่น) มากกว่าระยะเวลาที่เกิดความเจ็บปวด !!!

เล่นหุ้นก็เหมือนกันครับ บางที มันเจ็บมาก ๆ เราก็จำได้นะครับ และเราได้เรียนรู้แต่ค่อย ๆ เจ็บไปนาน ๆ บางทีมันไม่รู้ตัว แต่ไม่รู้ตัว นี่ไม่ได้หมายความว่าไม่ขาดทุนนะครับ

บางทีการเจ็บหนัก ๆ สักที เรายังได้ความรู้กลับมานะครับ เหมือนที่หลาย ๆ คนเรียกกันว่า “เจ็บแต่จบ” ไงครับ

ติดตามอ่านบทความอื่น ๆ เกี่ยวกับความลำเอียงในการตัดสินใจได้ที่ https://www.facebook.com/DataAnalysisforDecisionMaking/
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่