ออมทั้งที่ ต้องมีเป้าหมาย(2/2)

เมื่อเรามีแผนการออม แผนการลงทุนที่ดีแล้ว ต่อไปเราก็จะมาหาเครื่องมือทางการเงินที่จะตอบโจทย์ของเราให้ได้กันครับ

          ผลิตภัณฑ์ หรือ เครื่องมือทางการเงิน หรือ พูดเข้าใจง่ายๆว่า เราจะฝากเงินหรือลงทุนในอะไร ให้เหมาะสมกับแผนที่เราวางไว้

          เช่นเดียวกับการวางแผนการออมเงิน ในเมื่อเราวางแผนระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาว เราก็มีเครื่องมือทางการเงินที่เหมาะสมตามช่วงเวลาของการออมเงินของเราเช่นกันครับ ก่อนอื่นเรามาทำเข้าใจกันสองเรื่องก่อน คือ

          1. ผลตอบแทน หรือ ดอกเบี้ย หรือ เงินปันผล หรือเงินกำไรอื่นๆ
          2. ความเสี่ยงจากการลงทุน 

          ผลตอบแทน และ ความเสี่ยงของการลงทุน จะไปในทิศทางเดียวกัน พูดง่ายๆคือ

           ถ้าเราฝากหรือลงทุนอะไรเสี่ยงน้อยๆ ผลตอบแทนก็มักจะไม่มากมาย เช่น เงินออม พันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้
    
          ถ้าเราฝากหรือลงทุนอะไรเสี่ยงๆ ผลตอบแทนที่มันได้ก็มักจะคุ้มค่าเหนื่อย  แต่อย่าลืมนะครับ มันมีความเสี่ยง เสี่ยงมาก ผลตอบแทนมาก โอกาสขาดทุนเยอะๆก็มาก

เช่น การลงทุนในความเสี่ยงสูง เช่น ทองคำ น้ำมัน คริปโตเคอเรนซี่ คนที่รวยก็เหมือนถูกหวย คนที่พลาดก็เกือบหมดตัว ประมาณนั้นเลย 

กลับมาเรื่องของเรา เราจะเลือกการออมยังไง

1 การวางแผนการลงทุนระยะสั้น

          ระยะสั้น คือ ไม่เกิน  1 ปี เราควรจะเลือกการลงทุนที่มีความเสี่ยง หรือความผันผวนไม่มาก  เหตุผลที่เราเลือกการลงทุนที่ผันผวนมากๆไม่ดี เช่น การลงทุนในทองคำ หลายคนมักถูกเชิญชวนให้ลงทุนในทองคำ น้ำมัน เหตุผลหลักๆเลย คือ ผลตอบแทนดี ไม่ปฏิเสธครับ แต่เค้าลืมบอกข้อเสียคือ สินค้าพวกนี้มันมีความผันผวนของราคาสูงมาก เวลาลงก็อาจจะลงไปนานเป็นปี อีกสักพัก ก็ทำ  ATH (All Time Hight) ใหม่ ถ้าเราไปดูภาพรวมของราคาทองคำ ราคาน้ำมันโลก มันขึ้นจริงครับ แต่มันขึ้นๆลงๆ ภาพรวมมันขึ้น แต่ภาพเล็กมันสวิงมาก ดังนั้นไม่เหมาะอย่างยิ่งที่เราจะมาลงทุนในช่วงสั้นๆ กับน้ำมัน หรือ ทองคำ มันจะกลายเป็นการเสี่ยงโชค ไม่ใช่การลงทุน

          ครับ ไม่ปฏิเสธว่าการลงทุนในทองคำ น้ำมัน ดี แต่ไม่เหมาะกับการลงทุนในระยะสั้น คนที่อยากลงทุนต้องทำความเข้าใจในรายละเอียดเยอะ แล้วเราควรลงทุนกับอะไร 
          ในการลงทุนระยะสั้นๆ เราอาจจะมีตัวเลือกในการลงทุนไม่มากนัก แต่ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และความจำเป็นของเงินที่เอามาลงทุนอีกด้วย

ยกตัวอย่างเช่น 

          เราวางแผนสำหรับเงินนี้ว่า อีก 1 ปี เราจะเอาเงินนี้ไปเที่ยว แปลว่าหากเงินก้อนนี้ขาดทุน เราก็ไม่เดือดร้อนมาก ดังนั้น เราอาจจะลงทุนอะไรที่เสี่ยงขึ้นไปได้อีกนิด ถ้าเกิดขาดทุนจริงก็ไม่ได้กระทบอะไรมากมาย เต็มที่ก็อดเที่ยว

          แต่ถ้าเราวางแผนว่า อีก 1  ปี จะเก็บไว้เป็นค่าเทอมลูก เงินก้อนนี้เราก็ต้องระมัดระวังในการลงทุน คือ ผลตอบแทนไม่มากมายไม่เป็นไร แต่เงินต้นห้ามหาย เพราะถ้าหาย เราก็จะผิดแผนกระทบการเงินเราทันที 

การฝากเงินที่เสี่ยงไม่มาก และเหมาะกับระยะเวลาสั้น คือ 
          การฝากเงินในบัญชีธนาคาร
          ซื้อสลากออมสิน สลาก ธกส ธอส
          การลงทุนที่ไม่เสี่ยงมาก เช่น พันธบัตรรัฐบาล หุ้นกู้เอกชน หรือ ลงทุนในตลาดเงิน

          หลายคนคงสงสัย ทำไมเหรอ ถ้าเราลงทุนระยะสั้นๆ เราไม่มีโอกาส หรือไม่สามารถลงทุนอะไรที่ผลตอบแทนดีๆเลย ต้องฝากแต่อะไรที่ผลตอบแทนน้อยๆ แล้วเมื่อไหจ่จะเกษียณตัวเองได้ละ

          มันมีเครื่องมีออยู่ครับ เรียกว่า “การจัดพอร์ทการลงทุน” คือการที่เราแบ่งเงินของเราออกไปลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ โดยเฉลี่ยไปตามความเสี่ยงผลและผลตอบแทน ที่มากน้อย ต่างสัดส่วนกันไป ตาม  “ความเสี่ยงที่ยอมรับได้” ของแต่ละคน 

          แล้วเราจะรู้ยังไง ว่าเรารับความเสี่ยงได้แต่ไหน ไม่ใช้การคิดเอาเองนะครับ แต่เค้าจะมี  ”แบบประเมินความเสี่ยง”  เพื่อให้ทราบว่า จริงๆแล้วเรารับความเสี่ยงได้แค่ไหน เมื่อเราทราบว่าเรารับความเสี่ยงได้ไหน  เราก็สามารถจัด พอร์ทการลงทุนของ เราให้เหมาะกับความเสี่ยงของเรา และ เมื่อเราทำแบบนี้ ผลตอบแทนของเราก็จะดีขึ้นไปอีกระดับ

          เรืองพอร์ทการลงทุน กับความเสี่ยงของการจัดพอร์ม ค่อยแตกประเด็นอีกทีครับ มีแง่มุมให้อธิบายเยอะ

2 การวางแผนการลงทุนระยะกลาง 
 
          การที่เราลงทุนได้นานๆ มีข้อได้เปรียบตรงที่เราสามารถลงทุนอะไรที่มีผลตอบแทนดีขึ้น รับความเสี่ยงได้มากขึ้น เพราะความเสี่ยงจากการลงทุน สามารถลดลงได้จากระยะเวลาการลงทุน การลงทุนที่มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เช่น การลงทุนในหุ้น  การลงทุนในหุ้น แบบตามหมวดอุตสาหกรรม (คือ การลงทุนในหลายๆตัว แต่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน) เช่น ช่วงโควิค บริษัทยาขายดี เราก็ไปลงทุนในหุ้นเกี่ยวกับยา หลายๆตัว ข้อดีคือ ถ้ามันบูม เราก็รับทรัพย์ ถ้ามันไม่บูม เราก็แย่ เพราะหุ้นทุกตัวเราเป็นกลุ่มยา เวลาทรุดก็ทรุดทั้งพอร์ท เราควรกระจายการลงทุนไปหลายๆอุตสากรรม เช่น ท่องเที่ยว อาหาร ยา เทคโนโลยี เกษตร เพราะเวลาตัวหนึ่งลง ตัวหนึ่งอาจขึ้น พอร์ทเราก็จะมีความเสี่ยงน้อยลง 

3 การลงทุนระยะยาว
 
          เช่นการลงทุนใน SSF RMF กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การลงทุนระยะยาว หรือหลักๆคือการลงทุนเพื่อการเกษียนอายุ หากเรามีอายุไม่มาก เราควรเลือกแผนการลงทุนที่มีความเสี่ยงบ้าง เพื่อเพิ่มผลตอบแทนในการลงทุน เพราะเวลาในการลงทุนเรายังมีอีกเยอะ ยังขาดทุนได้ ยังรอได้ เช่น ลงทุนในน้ำมัน ในทอง บ้าง หรืออาจจะมากได้ เพราะหุ้นพวกนี้ยังไงมันก็ขึ้น แต่ใช้เวลานาน  แต่…เวลาอายุเรามาจนอายุประมาณ 50-60 เราควรเปลี่ยนการลงทุนแบบความเสี่ยงลดลงมาเป็นปานกลางค่อนต่ำ เพื่อรักษาเงินต้นละกำไรที่เราลงทุนลงแรงหามาตอนความเสี่ยงสูงช่วงอายุน้อยๆ เหตุผลที่ต้องเปลี่ยนเพราะ เราไม่รู้เลย ตลาดอีก 5-10  ปีข้างหน้าจะเป็นยังไง หากเรายังลงความเสี่ยงสูงตลอด เงินที่เราเก็บมาอาจลดฮวบฮาบ ในช่วงที่เรากำลังจะเกษียนพอดี เข้าใจว่ามันก็จะขึ้นอีกและสูงกว่าเดิม แต่เราจะต้องรออีกกีปี ถอนก่อนก็ขาดทุน แย่เลยถ้าเป็นอย่างนั้น

สรุปแบบง่ายๆ การที่เราจะเลือกลงทุนแบบไหน 
1  เราต้องรู้แผนว่าเราจะออมนานไม่นาน
2 เราต้องรู้ว่า เรารับความเสี่ยงได้แต่ไหน
3’  เราต้องจัดพอร์ทการลงทุนให้สอดคล้องกับแผน
4 อดทนและรอคอย

เรื่องการจัดพอร์ท ความเสี่ยง ผลิตภัณฑ์มีให้อธิบายอีกมาก ขอลำดับไปทีละสั้นๆนะครับ พบกันรอบหน้าครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่