ออมทั้งที่ ต้องมีเป้าหมาย(1/2)

การออมเงิน หรือการนำไปลงทุน  มันไม่ใช่แค่การเก็บเงินให้เงินในบัญชีเพิ่มขึ้น แล้วหวังว่าเงินที่เราเก็บมันจะมากพอให้ใช้จ่ายไปตลอดชีวิต

                    เพราะกว่าเราจะเก็บเงินมาได้ เราต้องใช้ความพยายามและความอดทนในการประหยัดเงินเพื่อให้มีเงินมาเก็บออม การที่เรามีแผนในการออม มันดีตรงที่เงินที่เรรลงแรงเก็บมาจะทำงานและให้ผลตอบแทนเราแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยดีกว่าการที่เราฝากเงินไว้ในบัญชีและรอรับดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียว

                    ในปัจจุบันเครื่องมือทางการเงินมีมากมาย สามารถตอบโจทย์ของเราได้หลากหลายมากขึ้น ไม่ว่าจะฝากหรือลงทุน แบบ เน้นรักษาเงินต้น การลงทุนแบบมีความเสี่ยงไม่มากแต่ผลตอบแทนได้ดีขึ้นหน่อย ซึ่งเหมาะกับคนที่กลัวขาดทุนจากการลงทุนแต่ก็อยากได้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น หรือการลงทุนแบบความเสี่ยงสูงแต่ผลตอบแทนก็เราใจ ให้สำหรับคนกล้าได้กล้าเสีย

                    แต่ไม่ใช่ว่า เราเป็นคนระวังตัว ไม่อยากเสียเงินเก็บแล้วเราจะไม่มีโอกาสลงทุนในอะไรที่ความเสี่ยงสูงๆได้เลยนะครับ

                    ทุกคนคงเคยได้ยินคำว่า การจัดพอร์ทการลงทุน คำนี้ไม่ได้ไกลตัวเราเลย เพียงแต่เราไม่เข้าใจมันจริงๆเท่านั้น พูดให้เข้าถึงง่ายหน่อย มันก็คือ การวางแผนการเงินนั่นแหละครับ

การวางแผนการเงิน

                    การวางแผนการเงิน คือการที่เรามีเป้าหมายของการฝากเงินหรือการลงทุน และทำยังไงให้เราไปถึงเป้าหมายนั้น  การวางแผนการลงทุน มีปัจจัยหลักๆคือ เป้าหมาย เมื่อเรามีเปเเาหมาย เราก็จะทราบระยะเวลาในการลงทุน เมื่อเรามีเป้าหมายและระยะเวลาในการลงทุนที่ชัดเจนแล้วเราก็มาวางแผนการลงทุนเพื่อ “จำกัด” ความเสี่ยง และเลือกวิธีการออมเงินแต่ละแบบ เพื่อให้ตอบโจทย์ตามแผนการเงินของเรา สรุปสั้นๆได้ว่า

การวางแผนทางการเงิน เรามักจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ
ระยะสั้น
ระยะกลาง
ระยะยาว

และมีปัจจัยอื่นๆมาเกี่ยวข้องหลักๆคือ
       1.การเลือกวิธีการออม
       2. ความเสี่ยงในการลงทุน


เราจะฝากเงินหรือลงทุนแบบไหนดี สั้น กลาง ยาว ขึ้นอยู่กับวัตุประสงค์การใช้เงินของเรา
เช่น
ระยะสั้น  เช่นวางแผนเก็บเงินให้ได้ใน 1 ปี หากเป้าหมายการเก็บเงินของเรา คือการเก็บเงินเพื่อไปเที่ยวปีใหม่ เก็บเงินเพื่อซื้อของอะไรบางอย่าง ซึ่งอาจะเป็นสิ่งที่อยากได้ อยากมี หรือพูดอีกนัยว่า ได้ก็ดี ไม่ได้ก็ไม่กระทบอะไรมาก
ระยะกลางคือการวางแผนการใช้เงินในระยะประมาณ 2- 10 ปี หรือมากกว่านั้น เราอาจจะมีแผนในการเงินเป็นทุนการศึกษาให้บุตร เพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ หรือเก็บเงินสักก่อนเพื่อเป็นทุนสำรองหรือการลงทุนใดๆที่อาจต้องใช้เงินก้อน แต่ไม่ได้รีบร้อนมากกมาย หรือเงินอาจจะจำนวนมากเลยต้องใช้เวลาในการเก็บประมาณหนึ่ง  อาจจะอยากได้เงินสักก้อนไว้หาคอนโดดีๆ เพื่อปล่อยเช่า  หาทุนสักก้อนซื้อรถให้เช่า หาเงินเพื่อเปิดพอณืทการลงทุนสักสองสามแสน อะไรประมาณนี้ เป้าหมายแต่คนก็แตกต่างออกไปตามจริตและความถนัดของตัวเอง
ระยะยาว ส่วนมากก็คือ การวางแผนเก็บเงินเพื่อเกษียณตัวเอง และมีเงินใช้ไปตลอดชีวิตนั่นแหละครับ หรือหวังไกลหน่อยก็ เกษียณตัวเองตั้งแต่อายุไม่เยอะและมีเงินพอกินพอใช้โดยไม่ต้องทำงาน ปล่อยให้เงินทำงาน(คำที่หลายๆคนชอบใช้) ไปตลอดชีวิต ไม่ใช่เป๋นไปไม่ได้นะครับ แต่ยากและต้องใช้ความรู้ความพยายามสูงกว่าคนทั่วไปนิดหนึ่ง ซึ่งความรู้ก็ไม่ได้ไกลเกินเอื้อม เพราะมีมากมายในสมัยนี้

การเลือกวิธีการออม และความเสี่ยงในการลงทุน

                    เรื่องนี้ขอพูดพร้อมกะเพราะแยกกันยาก ก่อนอื่นขอพูดถึงเรื่องความเสี่ยง ความเสี่ยงในการเก็บเงิน คนส่วนใหญ่จะเข้าใจว่า ความเสี่ยงในการลงทุน ก็คือ ความเสี่ยงที่จะขาดทุน เท่านั้นเลย

                    จริงๆความเสี่ยงมีหลากหลายนะครับ เช่น
ความเสี่ยงขาดทุน
ความเสี่ยงจากการไม่ลงทุน
ความเสี่ยงจากค่าเสียโอกาส
ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ภายใน
ความเสี่ยงอื่นๆ

ความเสี่ยงจากการขาดทุน คงเข้าใจกันทุกคนอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดอะไรมาก

ความเสี่ยงจากการไม่ลงทุน พูดง่ายๆคือความเสี่ยงจากการที่เราไม่ทำอะไรเลย ไม่เก็บ ไม่ออม
ใช้ชีวิตไปเรื่อยๆ วันแล้ววันเล่า มีเงินใช้ทุกเดือน และหวังว่าเกษียณไปก็มีบำนาญ มีกองทุนสำรอง เน้นใช้ชีวิตให้มีความสุขปัจจุบัน เสี่ยงยังไงนะเหรอ หากเจ็บป่วยไม่สบาย หากออกจากงาน หรือไม่ได้ออกแต่เค้าไล่ออก หรือเจ็บป่วยจนต้องออก หรือมีเหตุให้ต้องออกมันก็คือความเสี่ยงทั้งนั้น

ความเสี่ยงจากค่าเสียโอกาส  คือ ความเสี่ยงจากการทำอย่างหนึ่งจะทำให้เราพลาดในการทำอีกอย่างหนึ่ง เช่น มีเงิน 500,000 เอาเงินไปฝากเฉยๆ แทนที่จะเอาไปซื้อสลาก เรามีโอกาสได้ดอกเบี้ยจากเงินฝาก แต่พลาดโอกาสในการลุ้นรางวัลสลาก (สลากออมทรัพย์ใน ไม่ใช่หวย)

ความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก ภายใน อื่นๆ   คือ ความเสี่ยงต่ออะไรๆก็ตามที่อาจจะเกิดขึ้น และส่งผลให้เราไม่สามารถดำเนินการตามแผนของเรา เช่น ตั้งใจจะเก็บเงินเดือนละ 10,000 แต่
อยู่ๆก็ไม่สบายต้องรักษาตัว ต้องออกจากงาน มีภาระเพิ่มขึ้นมีรายจ่ายประจำเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจแย่ลง ตกงาน มีเหตุต้องออกจากงาน มีอุบัติเหตุ ซ่อมรถ ซ่อมบ้าน บลาๆๆๆ

เห็นภาพไหมครับ ชีวิตเราอยุ่บนความเสี่ยงที่เราไม่คาดคิด หรือคิดเอาเองว่าไม่เสี่ยง ชีวิตสงบสุขดี จริงๆเรายืนกันอยู่บนความเสี่ยงกันทุกๆคน

แต่เสียแรงเปล่าที่จะไปหวาดระแวงครับ  เราต้องเดินหน้าและป้องกันความเสี่ยงเท่าที่ทำได้ ครับ จากนั้นอะไรจะเกิดก็ต้องเกิด ค่อยแก้ปัญหากันหน้างาน ถ้าเรามัวแต่กลัว เราก็จะไม่ได้ทำไม่ได้เริ่มอะไรเลย

ไว้ต่อเรื่องการเลือกการออม รอบหน้านะครับ

ขออภัยหากพิมพ์พลาดพิมพ์ตกไปบ้าง รอบนี้พิมพ์จาก ipad ไม่ถนัดเท่าไหร่ ไม่ถนัดเหมือนคีย์บอร์ด  ^ ^‘
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่