เจอลูก 7 ขวบ ถามเรื่องการวางวรรณยุกต์บนตัวอักษร วางตรงไหน คิดว่าไม่ยาก แต่มันไม่ใช่อย่างนั้น

เช่น คำว่าไม่ ทำไม ไม้เอกไปอยู่ อยู่ตรงกับหางมอม้า
แต่พอคำว่า อ่าง ในหนังสือเรียน ไม้เอกจะไปอยู่ตรงกลางด้านบน อออ่าง
จริงๆ ผมก็ไม่เคยสังเกตุนะครับ พอเจอลูกถาม ไปไม่เป็นเหมือนกัน(สังเกตกันถึงขนาดนี้เลย)
มีหลักการวางวรรณยุกต์บนล่างไหมครับ หรือแค่วางไว้บนล่างตัวอักษรนั้นก็พอแล้ว

นอกจากนี้ เจอไปหลายคำถามจากลูก(เจ้าหนูจำไม) ตอบไม่ได้เยอะเลย
เช่น เทวดา นางฟ้ามาจากไหน ทำไมต้องมี แล้วทอมกับกระเทยตายแล้ว จะไปเป็นแบบไหน
บางอย่าง goolgle ช่วยได้ แต่รู้เลย พออธิบายต่อ จะมีคำถามมาอีก  แล้วถ้าไม่มีอากู๋ตอนนั้น จะตอบเด็กว่ายังไงกันบ้างครับ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 4
สำหรับการวางรูปสระและวรรณยุกต์ภาษาไทย อ้างอิงโดยโครงสร้างอักขระภาษาไทย ตามภาพด้านล่างนี้นะคะ







ที่มา : ราชบัณฑิตยสภา, มาตรฐานโครงสร้างตัวอักษรไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (Thai Alphabets Structural Standard).
         

อภิธานอักษรย่อ
เส้น ร ๑ หมายถึง เส้นระนาบหรือเส้นระดับที่ ๑ (เส้นตารางแนวนอน)
ช่วง ร ๓ หมายถึง ระยะตั้งแต่เส้นระนาบหรือเส้นระดับที่ ๒ ถึงเส้นระนาบหรือเส้นระดับที่ ๓
เส้น ด ๑ หมายถึง เส้นดิ่งที่ ๑ (เส้นตารางแนวตั้ง)
ช่วง ด ๑ หมายถึง ระยะตั้งแต่เส้นชานหน้าจนถึงเส้นดิ่งที่ ๑

สระ
สระ หมายถึงเครื่องหมายใช้แทนเสียงที่เปล่งออกมาในภาษา ตามหลักภาษา พยัญชนะจะต้องประกอบร่วมหรืออาศัยสระด้วยจึงจะออกเสียงได้
รูปสระ
รูปสระในภาษาไทยมีทั้งหมด ๒๑ รูป ดังนี้
๑) ะ (วิสรรชนีย์) ใช้เป็นสระอะเมื่ออยู่หลังพยัญชนะ เช่น ปะ กะ และใช้ประสมกับสระรูปอื่น ให้เป็นสระอื่น เช่น เตะ แตะ โต๊ะ เอียะ อัวะ
๒) -ั (ไม้ผัด, ไม้หันอากาศ) ใช้เขียนบนพยัญชนะแทนเสียงสระอะเมื่อมีตัวสะกด เช่น มัด และประสมกับสระรูปอื่น เช่น ตัว ผัวะ
๓) -็ (ไม้ไต่คู้) ใช้ เขียนไว้บนพยัญชนะที่ประสมกับรัสสระที่มีวิสรรชนีย์ เพื่อแทนวิสรรชนีย์เมื่อมีตัวสะกด เช่น เจ็ด (เจะ+ด) และใช้แทนสระเอาะที่มีวรรณยุกต์โท ที่มีคำเดียวคือคำว่า ก็ (เก้าะ)
๔) า (ลากข้าง) ใช้เป็นสระอา สำหรับเขียนหลังพยัญชนะและใช้ประสมกับรูปสระรูปอื่นเป็นสระ เอาะ อำ เอา เช่น เกาะ ลำเพา
๕)  -ิ (พินทุ์อิ) ใช้เป็นสระอิ สำหรับเขียนไว้บนพยัญชนะ เช่น ซิ ผลิ และใช้ประสมกับสระรูปอื่นให้เป็นสระ อี อือ เอียะ เอีย เอือะ เอือ เช่น ผี คือ เกี๊ยะ เสีย เสือ
๖) -่ (ฝนทอง) ใช้เขียนไว้ข้างบนพินทุ์อิ ทำให้เป็นสระอี เช่น ผี มี ปี
๗) " (ฟันหนู) ใช้เขียนไว้ข้างบนพินทุ์อิเป็นสระอือ เอือะ เอือ เช่น มือ เสือ
๘) -ํ (หยาดน้ำค้าง, นฤคหิต, นิคหิต) ใช้เขียนไว้ข้างบนลากข้าง ทำให้เป็นสระอำ ( ำ) และเขียนบนพินทุ์อิเป็นสระอึ เช่น จำนำ ปรึกษา ศึกษา
๙) -ุ (ตีนเหยียด) ใช้เป็นสระอุ เขียนไว้ข้างล่างตรงเส้นหลังของพยัญชนะ เช่น ดุ
๑๐) -ู (ตีนคู้) ใช้เป็นสระอู เขียนไว้ข้างล่างตรงเส้นหลังของพยัญชนะต้น เช่น ปู งู ดู
๑๑) เ- (ไม้หน้า) ใช้เป็นสระเอ สำหรับเขียนไว้ข้างหน้าพยัญชนะ เช่น เกเร ถ้าใช้สองรูปด้วยกันจะเป็นสระแอ และใช้ประสมกับสระรูปอื่นให้เป็นสระอื่น เช่น เอือ เอา เออะ เอียะ เอีย เอาะ แอะ
๑๒) ใ- (ไม้ม้วน) ใช้เป็นสระใอ สำหรับเขียนไว้หน้าพยัญชนะ เช่น ใคร ใต้ ฯลฯ
๑๓) ไ- (ไม้มลาย) ใช้เป็นสระไอ สำหรับเขียนไว้ข้างหน้าพยัญชนะ เช่น ไฟไหม้ ฯลฯ
๑๔) โ- (ไม้โอ) ใช้เป็นสระโอ สำหรับเขียนไว้ข้างหน้าพยัญชนะ เช่น โมโห ใช้ประสมกับวิสรรชนีย์ทำให้เป็นสระ โอะ เช่น โละ โปะ
๑๕) ฤ (ตัวรึ)ใช้ เป็นสระ ฤ จะใช้โดด ๆ เช่น ฤดี หรือจะใช้ประสมกับพยัญชนะ (ต้องเขียนไว้หลังพยัญชนะ) และออกเสียงสระได้หลายเสียง ออกเสียงเป็น ริ เช่น กฤษณา ออกเสียงเป็น รึ เช่น ฤดู ฤทัย พฤกษ์ ออกเสียงเป็น เรอ เช่น ฤกษ์
๑๖) ฤๅ (ตัวรือ) ใช้เป็นสระ ฤๅ ใช้โดด ๆ เช่น ฤๅไม่ หรือใช้เป็นพยางค์หน้าของคำ เช่น ฤๅดี
๑๗) ฦ (ตัวลึ) ใช้เป็นสระ ฦ (ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว)
๑๘) ฦๅ (ตัวลือ) ใช้เป็นสระ ฦๅ (ปัจจุบันเลิกใช้แล้ว)
๑๙) ย (ตัวยอ) ใช้ประสมกับสูปสระรูปอื่น ทำให้เป็นสระอื่น เช่น สระเอีย เอียะ
๒๐) ว (ตัววอ) ใช้ประสมกับสระรูปอื่น เป็นสระ อัวะ อัว
๒๑) อ (ตัวออ) ใช้เขียนหลังพยัญชนะเป็นสระ ออ และประสมกับรูปสระรูปอื่น เป็นสระ อือ เออะ เอือะ เอือ

เสียงสระ
เสียงสระในภาษาไทยมี ๓๒ เสียง ดังนี้
อะ    อา    อิ    อี    อึ    อื    อุ    อู
เอะ    เอ    เเอะ    เเอ    เอียะ   เอีย   เอือะ    เอือ
อัวะ    อัว    โอะ    โอ    เอาะ   ออ      เออะ   เออ
อำ    ใอ    ไอ    เอา    ฤ    ฤๅ    ฦ    ฦๅ

เมื่อเวลาออกเสียงสระ เช่น อะ อา เอะ เอ เอียะ เอีย จะออกเสียงแตกต่างกัน บางตัวออกเสียงสั้น บางตัวออกเสียงยาว บางตัวเหมือนมีสระสองเสียงกล้ำกัน ดังนั้น จึงจัดแบ่งเสียงสระเป็นพวกใหญ่ ๆ ได้ ๕ พวกด้วยกัน คือ

สระเสียงสั้น ได้แก่ สระที่ออกเสียงสั้น คือ อะ อิ อึ อุ เอะ แอะ โอะ เอาะ เออะ เอียะ เอือะ อัวะ ฤ ฦ อำ ไอ ใอ เอา
สระเสียงยาว ได้แก่ สระที่ออกเสียงยาว คือ อา อี อื อู เอ แอ โอ ออ เออ เอีย เอือ อัว ฤๅ ฦๅ
สระเดี่ยว ได้แก่ สระที่เปล่งเสียงออกมาเป็นเสียงเดียว ไม่มีเสียงอื่นประสมมี ๑๘ ตัวได้แก่ อะ อา อิ อี อึ อื อุ อู เอะ เอ แอะ แอ เออะ เออ โอะ โอ เอาะ ออ
สระประสม คือ สระที่มีเสียงสระเดี่ยว ๒ ตัวประสมกัน มี ๖ ตัวได้แก่
เอียะ เสียง อิ กับ อะ ประสมกัน
เอีย เสียง อี กับ อา ประสมกัน
เอือะ เสียง อึ กับ อะ ประสมกัน
เอือ เสียง อื กับ อา ประสมกัน
อัวะ เสียง อุ กับ อะ ประสมกัน
อัว เสียง อู กับ อา ประสมกัน
สระเกิน คือ สระที่มีเสียงซ้ำกับสระเดี่ยว ต่างกันก็แต่ว่าสระเกินจะมีเสียงพยัญชนะประสมหรือสะกดอยู่ด้วย มี ๘ ตัว ได้แก่
ฤ ฤๅ ฦ ฦๅ (รึ รือ ลึ ลือ) มีเสียงพยัญชนะ ร ล ประสมอยู่
อำ มีเสียง อะ และพยัญชนะ ม สะกด
ใอ ไอ มีเสียง อะ และพยัญชนะ ย สะกด (คือ อัย)
เอา มีเสียง อะ และพยัญชนะ ว สะกด

บางตำราถือว่าภาษาไทยมี ๒๑ เสียง ทั้งนี้ คือไม่รวมสระเกินซึ่งถือว่าเป็นหน่วยเสียงในตัวเองโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว และไม่รวมสระประสมเสียงสั้น คือ เอียะ เอือะ อัวะ เนื่องจากมีที่ใช้ในภาษาไทยน้อยมาก และส่วนใหญ่จะเป็นคำเลียนเสียงธรรมชาติซึ่งไม่ได้ใช้สื่อความหมายอื่น

การใช้สระ
สระอะ (-ะ) เขียนไว้หลังพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระอะ เช่น กะ จะ ปะ
สระอา (-า) เขียนไว้หลังพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระอา เช่น มา กา ตา
สระอิ (-ิ) เขียนไว้บนพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระอิ เช่น บิ สิ มิ
สระอี (-ี) เขียนไว้บนพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระอี เช่น ปี ดี มี
สระอึ (-ึ) เขียนไว้บนพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระอึ เช่น หึ สึ
สระอื (-ื) เขียนไว้บนพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระอื แต่การใช้สระอื ต้องมี อ มาประกอบด้วย เช่น มือ ถือ ลือ
สระอุ (-ุ) เขียนไว้ใต้พยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระอุ เช่น ผุ มุ ยุ
สระอู (-ู) เขียนไว้ใต้พยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระอู เช่น ดู รู งู
สระเอะ (เ-ะ) เขียนไว้ทั้งหน้าและหลังพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระเอะ เช่น เละ เตะ เกะ
สระเอ (เ-) เขียนไว้หน้าพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระเอ เช่น เก เซ เข
สระแอะ (แ-ะ) เขียนไว้ทั้งหน้าและหลังพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระแอะ เช่น และ แพะ แกะ
สระแอ (แ-) เขียนไว้หน้าพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระแอ เช่น แล แพ แก
สระเอียะ (เ-ียะ) เขียนไว้ทั้งหน้า บน และหลังพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระเอียะ เช่น เผียะ เพียะ เกียะ
สระเอีย (เ-ีย) เขียนไว้ทั้งหน้าและหลังพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระเอีย เช่น เสีย เลีย เปีย
สระเอือะ (เ-ือะ) เขียนไว้ทั้งหน้า บน และหลังพยัญชนะ
สระเอือ (เ-ือ) เขียนไว้ทั้งหน้า บน และหลังพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระเอือ เช่น เสือ เรือ เจือ
สระอัวะ (-ัวะ) เขียนไว้บน และหลังพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระอัวะ เช่น ผัวะ ยัวะ
สระอัว (-ัว) เขียนไว้บน และหลังพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระอัว เช่น ตัว รัว หัว
สระโอะ (โ-ะ) เขียนไว้หน้า และหลังพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระโอะ เช่น โปะ โละ แต่ถ้ามีตัวสะกด จะตัดสระโอะออกเหลือแต่พยัญชนะต้นกับตัวสะกด เรียกว่า สระโอะลดรูป เช่น คน รก จง
สระโอ (โ-) เขียนไว้หน้าพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระโอ เช่น โต โพ โท
สระเอาะ (เ-าะ) เขียนไว้ทั้งหน้า และหลังพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระเอาะ เช่น เลอะ เถอะ เจอะ
สระออ (-อ) เขียนไว้หลังพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระออ เช่น ขอ รอ พอ
สระเออะ (เ-อะ) เขียนไว้ทั้งหน้า และหลังพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระเออะ เช่น เลอะ เถอะ เจอะ
สระเออ (เ-อ) เขียนไว้ทั้งหน้า และหลังพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระเออ เช่น เจอ เธอ เรอ ถ้ามี ย สะกด จะตัด อ ออกแล้วตามด้วย ย เลย เช่น เขย เกย เฉย เรียกว่า สระเออลดรูป ถ้ามีตัวสะกดอื่น ๆ ที่ไม่ใช้ ย จะเปลี่ยน อ เป็นพินทุ์อิ เช่น เกิด เลิก เงิน เรียกว่า สระเออเปลี่ยนรูป
สระอำ (-ำ) เขียนไว้บนและหลังพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระอำ เช่น รำ ทำ จำ
สระใอ (ใ-) เขียนไว้หน้าพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระใอ มีทั้งหมด ๒๐ คำ ได้แก่ ใกล้ ใคร ใคร่ ใจ ใช่ ใช้ ใด ใต้ ใน ใบ ใบ้ ใฝ่ ใย สะใภ้ ใส ใส่ ให้ ใหม่ ใหญ่ ใหล (หลงใหล หลับใหล ใหลตาย)
สระไอ (ไ-) เขียนไว้หน้าพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระไอ เช่น ไป ไซ ไส ใช้กับคำที่มาจากภาษาอังกฤษ เช่น ไกด์ ไมล์ สไลด์ ใช้กับคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตที่แผลงสระอิเป็นสระไอ เช่น ตรี - ไตร ใช้กับคำที่มาจากภาษาเขมร เช่น สไบ
สระเอา (เ-า) เขียนไว้หน้าและหลังพยัญชนะ เมื่อนำมาประสมกับพยัญชนะ จะออกเสียงพยัญชนะนั้นประสมด้วยสระเอา เช่น เกา เผา เรา

วิธีใช้สระ
เมื่อพยัญชนะประสมกับสระและมีตัวสะกด จะมีวิธีใช้สระหลายวิธี ดังนี้
๑. คงรูป คือเขียนรูปสระให้ปรากฏครบถ้วน ได้แก่ -า , -ิ, -ี, -ึ, -ุ, -ู , เ- , แ- , โ- , -อ , เ -ีย , เ -อ
ก + -า + ง = กาง
ด + - ิ + น = ดิน
ห + -อ + ม = หอม
ม + แ- + ว = แมว

๒. แปลงรูป คือ แปลงสระเดิมให้เป็นอีกรูปหนึ่ง ได้แก่ -ะ , เ-ะ , แ-ะ , เ-อ
ร + -ะ + บ = รับ (แปลงวิสรรชนีย์เป็นไม้หันอากาศ)
ล + เ-ะ + ก = เล็ก (แปลงวิสรรชนีย์เป็นไม้ไต่คู้)
ข + แ-ะ + ง = แข็ง (แปลงวิสรรชนีย์เป็นไม้ไต่คู้)
ด + เ-อ + น = เดิน (แปลงตัวออเป็นพินทุ์อิ)

๓. ลดรูป คือไม่ต้องเขียนรูปสระให้ปรากฏ หรือปรากฏบางส่วนแต่ยังคงต้องออกเสียงให้ตรงกับรูปสระที่ลดนั้น การลดรูปมี ๒ วิธีคือ
      ๓.๑ ลดรูปทั้งหมด ได้แก่ โ-ะ, -อ เช่น
                  บ + โ-ะ + ก = บก
                  ก + -อ + ร = กร (เมื่อมีตัว ร สะกดเท่านั้น)
      ๓.๒ ลดรูปบางส่วน ได้แก่ สระที่ลดรูปไม่หมดเหลือไว้บางส่วน เช่น
                  ค + เ-อ + ย = เคย (เมื่อตัว ย สะกด จะลดรูปตัว อ เหลือไว้แต่ไม้หน้า เช่น เชย เชย เลย เกย เอย เนย เงย )
                  ส + - ั ว + น = สวน (ลดไม้หันอากาศ คงเหลือไว้แต่ตัว ว เช่น กวน ลวน นวล ชวน ควร มวน อวน หวน)

สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 20
สำหรับฟอนต์ภาษาไทยในคอมพิวเตอร์ซึ่งตอนนี้กลายเป็นมาตรฐานโดยปริยายไปแล้ว (de factor)

ในฟอนต์จะต้องมีรูปสำหรับวรรณยุกต์ 4 ตำแหน่งครับ คือ
1. บ่อ เฒ่า <-- ตรงกับด้านขวาสุดของตัวอักษร และใกล้กับตัวอักษร
2. ป่อ ฝ่า <-- หลบหางตัวอักษรไปทางด้านซ้าย แต่ยังใกล้กับตัวอักษร
3. บิ่น ก่ำ <-- ตรงกับด้านขวาสุดของตัวอักษร แต่หลบสระด้านบนขึ้นไปด้านบน
4. ปิ่น ฝิ่น <-- หลบหางตัวอักษรไปทางด้านซ้าย และหลบสระด้านบนขึ้นไปด้านบน

โดยตำแหน่งปกติจะเป็นตามข้อ 3. ซึ่งถ้าโปรแกรม และ/หรือ ฟอนต์ ไม่ได้ออกแบบเผื่อไว้
ตำแหน่งของวรรณยุกต์ทุกแห่งก็จะเป็นแบบข้อ 3. และเป็นที่มาของคำว่า สระลอย (ซึ่งผิด
เพราะจริงๆ แล้วที่ลอยคือวรรณยุกต์)

นอกจากวรรณยุกต์แล้ว การออกแบบฟอนต์ภาษาไทยก็จะต้องเผื่อกรณีอื่นๆ อีกหลายกรณี เช่น
1. สระบนหลบหางตัวอักษรไปทางด้านซ้าย เช่น ปี, ฝี
2. สระล่างหลบหางตัวอักษรลงไปด้านล่าง ซึ่งคำเดียวในภาษาไทยที่ผมเคยเห็นคือชื่อ
สี่แยกอุภัยเจษฎุทิศ มีสระอุอยู่ใต้ตัว ฎ.ชฎา
3. ตัดหาง ญ.หญิง และ ฐ.ฐาน เมื่อมีสระล่าง เช่น กตัญญู
4. นิคหิตในสระอำจะต้องหลบหางตัวอักษร เช่น ใจป้ำ
ความคิดเห็นที่ 3
ตรงคำว่า "อออ่าง" ไม้เอกก็อยู่ชิดขวาสุดของตัวอักษรเช่นเดียวกับคำว่าไม่นะครับ สมัยเรียนผมจำได้ว่าสมุดคัดไทยคือให้กึ่งกลางของวรรณยุกต์อยู่ตำแหน่งขวาสุดของพยัญชนะ แต่ลายมือหรือฟอนต์แปลกๆก็ชอบลากหางไปยาวๆก็มี สุดท้ายผมก็เชื่อว่าคงแค่วางให้ถูกพยัญนะก็คงพอล่ะครับ

ส่วนคำถามอื่นๆ ผมแนะนำให้คุณเริ่มต้นคำถามด้วยการย้อนถามว่าลูกคุณคิดยังไงครับ คิดว่ามาจากไหน เป็นการเปิดจินตนาการของลูก แต่ถ้าต้องการคำตอบจริงๆ และถ้าอันไหนตอบไม่ได้ก้บอกไปตรงๆว่าไม่รู้ อย่ามั่วตอบหรืออย่ารำคาญ (สิ่งที่คุณตอบมันคือรากฐานข้อมูลของเด็กไปจนโตเลยครับ) แต่ใช้โอกาสนี้บอกลูกคุณเลยว่างั้นเรามาช่วยกันหาคำตอบดีกว่า
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่