JJNY : แฉ"อียู"ส่งสายเหยี่ยวตรวจ"ไอยูยู" ระบุ 3 ใน 5 ระดับบิ๊กกรรมาธิการมองไทยด้านลบ

กระทู้คำถาม
คณะกรรมาธิการประมงของรัฐสภายุโรปบุกตรวจสอบความก้าวหน้าการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายในไทยแบบถี่ยิบ ตั้งแต่ ศปมผ. กรมประมง กรมเจ้าท่า กระทรวงแรงงานและผู้ส่งออก ชี้การตัดสินของอียูในเดือน ม.ค.ปีหน้าคาดการณ์ยากว่าไทยจะถูกคงใบเหลืองหรือได้ใบแดง เผย 3 ใน 5 ระดับบิ๊กคณะกรรมาธิการที่มาตรวจสอบเป็นสายเหยี่ยวที่เคยมองไทยด้านลบ

แหล่งข่าวจากกรมประมง เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการประมง (PECH) ของรัฐสภายุโรปจำนวน 14 คน นำโดยนางลินแนร์ เอิน-สตรอม รองประธานคณะกรรมาธิการประมง (PECH) เป็นหัวหน้าคณะได้เดินทางมาตรวจสอบการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของไทย หลังจากสหภาพยุโรป (อียู) ประกาศให้ใบเหลืองแก่ไทยเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2557 ซึ่งการมาของนางลินแนร์ได้รับการจับตามองจากฝ่ายไทยค่อนข้างมาก เนื่องจากนางลินแนร์มีท่าทีค่อนข้างแข็งกร้าวในเรื่องสิทธิมนุษยชน และมีความเห็นว่าไม่สามารถแยกเรื่องประเด็นแรงงานออกจากประเด็นการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU) ได้ ที่ผ่านมาได้วิพากษ์วิจารณ์ปัญหาแรงงานภาคประมงของไทยอย่างเปิดเผย เห็นว่ายังไม่ควรปลดใบเหลืองให้ไทย ฝ่ายไทยจึงมองว่า การมาเยือนของ PECH นอกจากจะเป็นการติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาของไทยแล้ว ยังเป็นการกดดันไทยโดยเฉพาะในประเด็นแรงงาน

ขณะที่นายกาเบรียล มาโต้ สมาชิกคณะกรรมาธิการ PECH เคยดำรงตำแหน่งประธาน PECH ระหว่างปี 2555-2557 ทำงานการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรและการประมงทั้งในระดับชาติและระดับ EU มาโดยตลอด มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับธุรกิจประมงของสเปนที่เป็นคู่แข่งไทย และมีอิทธิพลสูงต่อความเห็นของ PECH เป็นผู้ที่ทราบประเด็นปัญหาการประมง IUU และแรงงานในภาคประมงไทยเป็นอย่างดี เป็นผู้ให้ความสำคัญกับกระบวนการเจรจา เคยแสดงท่าทีเห็นด้วยกับการให้ใบเหลืองไทย และมองว่า หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น จะสนับสนุนการให้ใบแดงไทย

ส่วนนางอุลริเค่อ โรดุสท์ สมาชิกคณะกรรมาธิการ PECH คนที่สาม เคยแสดงท่าทีคัดค้านการเรียกร้องให้ใบแดงไทย จนเกิดการถกเถียงและเป็นที่มาของการเดินทางเยือนไทยครั้งนี้ เป็นผู้ให้ความสนใจกับมาตรการควบคุม โดยเฉพาะในประมงขนาดเล็ก กลไกการประสานงานระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและความรุนแรงของบทลงโทษเพื่อป้องปรามการกระทำผิด รวมทั้งให้ความสนใจเป็นพิเศษในการฝึกอาชีพทดแทนให้ชาวประมง ในขณะที่นางอิซัสกุน บิลเบา บารานดีกา สมาชิกคณะกรรมาธิการ PECH คนที่สี่ ให้ความสนใจกับการแก้ไขปัญหาแรงงานตลอดห่วงโซ่ของสินค้าทะเลไทย มีอุดมการณ์ชัดเจนเรื่องการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน เคยแจ้งว่ามีสมาชิกรัฐสภายุโรปหลายคนที่รับไม่ได้กับสภาพการทำงานในภาคประมงไทย

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าวันแรกคณะกรรมาธิการประมงของรัฐสภายุโรปได้เข้าพบผู้บัญชาการทหารเรือไทยในฐานะประธานศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย(ศปมผ.)ซึ่งฝ่ายไทยได้มีการชี้แจงสภาพปัญหาก่อนที่จะมี ศปมผ. ความมุ่งมั่นและนโยบายของรัฐบาลไทยในการแก้ปัญหา รวมทั้งบทบาทของ ศปมผ. การบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน ได้แก่ การตรวจโรงงาน ทั้งจำนวนโรงงาน ผลการตรวจ ผลการดำเนินคดีและแผนการตรวจระยะต่อไปถึงสิ้นปีนี้ การตรวจเรือประมงในน่านน้ำ ทั้งจำนวนเรือ ผลการตรวจ ผลการดำเนินคดีและแผนการตรวจระยะต่อไปถึงสิ้นปี รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรการห้ามขนถ่ายแรงงานทางทะเล การตรวจเรือประมงนอกน่านน้ำ ทั้งจำนวนเรือ ผลการตรวจ ผลการดำเนินคดีและแผนการตรวจระยะต่อไปถึงสิ้นปีนี้

วันที่สอง มีการหารือกับกรมประมงและกรมเจ้าท่าในหลายประเด็น อาทิ การปฏิรูปภาคประมง การปรับปรุงกรอบกฎหมาย การบริหารจัดการประมง การพัฒนาระบบ MCS การพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ การปรับโครงสร้างหน่วยงานและการพัฒนาบุคลากร การบริหารจัดการกองเรือ โดยมีตัวเลขกองเรือที่ชัดเจน รวมทั้งมาตรการควบคุมกองเรือเพื่อให้มั่นใจว่าไทยสามารถควบคุมกองเรือได้ทุกกลุ่มทั้งในและนอกน่านน้ำ ซึ่งวันที่สองมีการเยี่ยมชมศูนย์ FMC และการทำงานของระบบ VMS

นอกจากนี้ ยังมีการหารือกับกระทรวงแรงงาน ในการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวภาคการประมง ตั้งแต่การเข้ามาทำงานในไทย การนำแรงงานต่างด้าวเข้าสู่ระบบ การดูแลให้ได้รับสิทธิประโยชน์ตามสิทธิ การคุ้มครองมิให้แรงงานถูกเอาเปรียบ กระบวนการร้องเรียน การเปลี่ยนนายจ้าง การเพิ่มผู้ตรวจแรงงาน ล่าม รวมถึงการออกหนังสือคนประจำเรือและการสัมภาษณ์แรงงาน ตลอดจนความร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และ NGOs ในการคุ้มครองแรงงานต่างด้าว

วันที่สาม มีการดูงานที่องค์การสะพานปลาทั้งการตรวจเรือ ตรวจสัตว์น้ำหน้าท่า โดยชุดสหวิชาชีพและการหารือที่ศูนย์ PIPO จ.สมุทรสาคร เพื่อดูระบบการทำงานของศูนย์ การแจ้ง Port-in และ Port-out การเฝ้าระวังการทำประมงผ่านระบบ VMS และความเชื่อมโยงกับศูนย์ FMC การเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์ PIPO เพื่อให้สามารถตรวจและเฝ้าระวังเรือประมงได้อย่างทั่วถึง

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ยังบอกไม่ได้ว่าในเดือนมกราคมปีหน้า อียูจะตัดสินอย่างไร จะให้ใบเหลืองต่อหรือให้ใบแดง เพราะการมาครั้งนี้มีการส่งกรรมาธิการสายเหยี่ยวที่ค่อนข้างแข็งกร้าวมาตรวจสอบในไทยด้วยตัวเองถึง 3 ใน 5 คน แต่เท่าที่ดูโดยรวมฝ่ายไทยมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาพอสมควร
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่