เมื่อเข้าไปถึงตัวอวิชชาจริงๆ ธรรมมะขั้นสูง!!! อ่านให้จบนะครับมีประโยชน์มาก!!! น้อมกราบพ่อแม่ครูอาจารย์อย่างราบคาบ สาธุ

แสดงธรรมโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน

เมื่อเข้าไปถึงตัวอวิชชาจริงๆ โดยมากนักปฏิบัติถ้าไม่มีครูอาจารย์คอยแนะไว้ก่อนแล้ว จะต้องไปถือเอาตัวนั้นแลว่าเป็นตัวจริง เพราะทุกสิ่งทุกอย่างได้พิจารณาเห็นชัดภายในใจแล้วว่า ได้รู้เท่าและปล่อยวางไปหมดไม่มีสิ่งใดเหลือ  แต่ผู้ที่รู้สิ่งทั้งหลายนั้นคืออะไรนั่น ทีนี้ก็ไปสงวนอันนั้นไว้ นี่แลที่ว่าอวิชชารวมตัวแล้ว แต่กลับมาเป็นตัวขึ้นโดยไม่รู้สึก จิตก็มาหลงอยู่นั้น ที่ว่าอวิชชาก็คือหลงตัวเองนี่แหละ ส่วนที่หลงสิ่งภายนอกนั้นยังเป็นกิ่งก้าน ไม่ใช่เป็นเรื่องของอวิชชาอันแท้จริง
การมาหลงอันนี้แล มาหลงผู้ที่รู้สิ่งทั้งหลายนี้แล ผู้นี้เป็นอะไรเลยลืมวิพากษ์พิจารณาเสีย เพราะจิตเมื่อมีวงแคบเข้ามาแล้วจะต้องรวมจุดตัวเอง จุดของจิตที่ปรากฏตัวอยู่เวลานั้นจะเป็นจิตที่ผ่องใส มีความยิ้มแย้มแจ่มใส มีความองอาจกล้าหาญ ความสุขก็รู้สึกว่าจะรวมตัวอยู่ที่นั่นหมด  สิ่งเหล่านี้ทั้งหมดมันเป็นผลของอะไร ถ้าจะพูดว่าเป็นผลก็ยอมรับเป็นผล จะพูดว่าเป็นผลของปฏิปทาเครื่องดำเนินก็ถูกถ้าหากเราไม่หลงอันนี้นะ ถ้ายังหลงอยู่มันก็ยังเป็นสมุทัย นี่ละจุดใหญ่ของสมุทัย
แต่ถ้านักปฏิบัติผู้มีความสนใจพิจารณาในสิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่เสมอแล้ว ไม่มองข้ามไป ยังไงก็ทนไม่ได้ ต้องสนใจเข้าพิจารณาจุดนั้น เพราะทุกสิ่งทุกอย่างเราก็เคยพิจารณาและเคยรู้เรื่องมาแล้วใจก็ไม่สัมผัส  จะแยกจิตออกไปพิจารณาอะไรมันก็ไม่สัมผัส เพราะพอตัวในสิ่งนั้นๆ แล้ว อาการที่เกิดขึ้นก็เกิดขึ้นจากนั้น  จิตที่ปรุงขึ้นมามันก็ปรุงขึ้นจากนั้น สุขที่ปรากฏขึ้นก็ปรากฏอยู่ที่นั่น  ความสุขที่ปรากฏขึ้นมามันก็มีอาการเปลี่ยนแปลงให้เห็นซึ่งเป็นเหตุให้พิจารณาอีก  เพราะในขั้นนี้เป็นขั้นที่ใช้ความสังเกตมาก เมื่อสังเกตความสุขมันก็ไม่แน่นอน เพราะความสุขที่ผลิตจากอวิชชามันเป็นสมมุติ บางทีก็มีอาการเฉาๆ บ้างเล็กๆ น้อยๆ พอให้ทราบว่ามันแสดงอาการไม่สม่ำเสมอ มันค่อยเปลี่ยนตัวเองอยู่อย่างนั้นตามขั้นแห่งธรรมที่ละเอียด นี่เป็นจุดที่จะนอนใจตายใจและยอมเชื่อสำหรับผู้ที่ปฏิบัติด้วยความเข้มแข็ง ด้วยความสนใจอย่างยิ่ง แต่จะมานอนใจในจุดนี้ ติดในจุดนี้ หากไม่มีผู้อธิบายให้ทราบไว้ล่วงหน้าก่อน
ถึงจะนอนใจก็ทนที่จะทราบไม่ได้เหมือนกันถ้าใช้ความสนใจ เพราะมีเท่านั้นเป็นสิ่งที่ดูดดื่มของใจ เป็นเหตุให้ดูดดื่ม เป็นเหตุให้พอใจในสิ่งที่ปรากฏนั้น  เท่าที่เคยพิจารณามาเป็นอย่างนั้น จนไม่ทราบว่าอะไรเป็นอวิชชา ก็เลยเข้าใจว่าอันนี้แหละที่จะเป็นนิพพาน อันสว่างกระจ่างแจ้งอยู่ตลอดเวลานี้แล คำว่าตลอดเวลาในที่นี่หมายถึงตลอดเวลาของผู้มีความเพียร มีการชำระซักฟอกกันอยู่เสมอ ไม่นอนใจติดอยู่กับสิ่งนั้นถ่ายเดียว ความสงวนก็มาก อะไรจะมาแตะต้องไม่ได้ ระมัดระวังอย่างเต็มที่ พออะไรมาสัมผัสก็รีบแก้กันทันที
แต่สิ่งที่รักสงวนนั้นตนหาได้ทราบไม่ว่าคืออะไร  ทั้งที่ความรักความสงวนนั้นมันก็เป็นภาระของจิตอยู่โดยดี แต่ในเวลานั้นมันไม่ทราบ จนกว่าสมควรแก่กาลที่ควรรู้แล้วจึงเกิดความสนใจที่จะพิจารณาในจุดนี้ นี่มันคืออะไรนา ทุกสิ่งทุกอย่างเราก็เคยพิจารณามา แต่สิ่งนี้มันคืออะไรนา  ที่นี่จิตก็จ่อเข้าไปตรงนั้น ปัญญาก็สอดส่องเข้าไป นี้มันคืออะไรแน่นะ อันนี้มันเป็นความจริงแล้วหรือยังไม่จริง อันนี้เป็นวิชชาหรือเป็นอวิชชา มันยังเป็นข้อกังขาสงสัยอยู่นั้นแหละ
แต่อาศัยการพิจารณาทบทวนด้วยปัญญาอยู่ไม่หยุด  เพราะเป็นสิ่งไม่เคยรู้ไม่เคยประสบมาก่อน ว่าทำไมมันจึงรัก ทำไมมันจึงสงวน ถ้าหากว่าเป็นของจริงแล้วทำไมจะต้องรักสงวนกัน ทำไมจะต้องรักษากัน ความรักษานี่มันก็เป็นภาระ  ถ้าอย่างนั้นอันนี้มันก็ต้องเป็นภัยอันหนึ่งสำหรับผู้สงวนรักษา หรือเป็นสิ่งหนึ่งที่ไม่น่าไว้ใจ ทั้งๆ ที่ก็ไม่ทราบนะว่านั่นคืออะไร จะเป็นอวิชชาจริงหรือไม่ เพราะเราไม่เคยเห็นนี่ว่าวิชชาที่แท้จริงกับอวิชชามันต่างกันอย่างไร วิมุตติกับสมมุติมันต่างกันอย่างไร ปัญญาก็เริ่มสนใจพิจารณาละที่นี่
อันนี้รู้สึกว่าพิสดารมาก ถ้าจะพูดตามที่พิจารณามาหรือย่นย่อเข้ามาเฉพาะให้ได้ความตามโอกาสอันควร สรุปกันทีเดียวว่า อันใดที่ปรากฏตัวขึ้นมาให้พิจารณา อันนั้นสิ่งที่ปรากฏตัวขึ้นมานั้นเป็นเรื่องสมมุติทั้งนั้น นี่หมายถึงธรรมละเอียดปรากฏอยู่ที่ใจ แม้ที่สุดจุดที่มีความสว่างไสวอยู่นั้นแลคือจุดอวิชชาแท้ กำหนดลงไปที่นั่นด้วยปัญญาสภาวธรรมทั่วๆ ไปนั่นเป็นสภาพธรรมอันหนึ่งๆ ฉันใด ธรรมชาตินี้ก็เป็นสภาพธรรมอันหนึ่งฉันนั้น เราจะถือว่าเราเป็นของเราไม่ได้ แต่ความสงวนอยู่นี้แสดงว่าเราถือว่าเป็นเราเป็นของเราซึ่งเป็นความผิด
ปัญญาสอดเข้าไปว่านี่มันเป็นอะไรแน่ๆ นะ เหมือนกับว่าเราย้อนมาดูตัวของเราเรามองออกไปข้างนอก ดินฟ้าอากาศเราก็เห็น มีอะไรมาผ่านทางสายตาเราก็เห็น แต่เมื่อเราไม่มองมาดูตัวของเรา เราก็ไม่เห็นตัวของเรา ปัญญาขั้นนี้รวดเร็วมาก ย้อนกลับไปกลับมาดูจุดสุดท้ายหรือวาระสุดท้าย การพิจารณาก็เหมือนกับพิจารณาสิ่งอื่น ไม่พิจารณาเพื่อถือเอา  พิจารณาเพื่อให้รู้สิ่งนั้นตามความจริงของมันโดยถ่ายเดียว
เวลาอันนี้จะดับ มันไม่เหมือนสิ่งทั้งหลายดับ  สิ่งทั้งหลายดับเป็นความรู้สึกของเราว่าเข้าใจแล้วในสิ่งนี้ แต่อันนี้ดับมันไม่เป็นอย่างนั้น มันดับแบบสลายลงไปทันทีเหมือนฟ้าแลบ คือมันเป็นขณะอันหนึ่งที่ทำงานของตัวเอง หรือว่ามันพลิกก็ได้ มันพลิกคว่ำแล้วหายไปเลย  พออันนี้หายไปแล้วถึงจะทราบว่า นี้คืออวิชชาแท้ละที่นี่ เพราะเหตุว่าอันนี้หายไปแล้วมันไม่มีอะไรปรากฏขึ้นมาให้เป็นข้อสงสัย
สิ่งที่เหลืออยู่ก็ไม่เป็นอย่างนี้ แต่เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์และไม่เคยเห็นก็ตาม แต่เวลาปรากฏในขณะนั้นมันก็ไม่มีอะไรเป็นที่น่าสงสัย นั่นละภาระมันถึงหมดไป คำว่าเราก็หมายถึงอันนี้เอง หมายถึงอันนี้ยังตั้งอยู่ พิจารณาอะไรก็พิจารณาเพื่ออันนี้ คำว่ารู้ก็คือเราตัวนี้รู้ คำว่าสว่างก็เราสว่าง คำว่าเบาก็ว่าเราเบา คำว่าสุขก็ว่าเราสุข คำว่าเราๆ ก็หมายถึงตัวนี้เอง นี่ละคือตัวอวิชชาแท้ ทำอะไรต้องเพื่อมันทั้งนั้น พออันนี้สลายไปแล้วไม่มีเพื่ออะไรอีก…..หมด
ถ้าจะเทียบอุปมาก็เหมือนก้นหม้อที่ถูกทำลายเสียแล้ว แม้จะเทน้ำลงไปมากเท่าไรก็ไม่มีอะไรจะขังอยู่ได้  ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรุงขึ้นมาตามธรรมชาติของขันธ์ ก็ปรุงขึ้นได้แต่ไม่ติด เพราะภาชนะคืออวิชชาตัวสำคัญมันดับสลายไปแล้ว  พอสังขารปรุงพับและดับไป ผ่านไปตามธรรมดา หายไปๆ เพราะไม่มีที่เก็บ ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ธรรมชาติที่รู้สึกตัวเองว่าไม่มีอะไรเป็นเจ้าของนั้น ก็เป็นความพอตัวของธรรมชาตินั้นอยู่แล้ว นั่นจึงเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์แท้  และหมดภาระที่จะระมัดระวังรักษาพิษภัยอีกต่อไป
อวิชชานี้เองที่ปกปิดจิตแท้ธรรมแท้เรื่อยมา จึงไม่เห็นความอัศจรรย์ในหลักธรรมชาติของจิตอันแท้จริง  ผู้ปฏิบัติดำเนินมาถึงขั้นหลุมพรางตาจึงหลงยึดว่าเป็นของอัศจรรย์ไปเสีย จึงมารักสงวนหึงหวงไว้ มาเข้าใจว่าเป็นเราเป็นของเรา  จิตเราสว่างไสว จิตเราจึงมีความองอาจกล้าหาญ จิตเราเป็นสุข จิตเรานี้รู้ทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ธรรมชาติอันนี้ไม่รู้ตัวเอง ท่านเรียกว่าอวิชชาแท้ พอกลับมารู้อันนี้ๆ ก็สลายไป พออันนี้สลายไปแล้วก็เหมือนกับเปิดฝาหม้อขึ้นมานั่นเอง มีอะไรอยู่ในนั้นก็เห็นหมด อวิชชานี้เท่านั้นปิดไว้
ความจริงที่เป็นความจริงพิเศษจากสัจจะ  คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็คือ ความบริสุทธิ์ นี้เป็นความจริงที่นอกจากสัจจะทั้งสี่ สัจจะทั้งสี่นี้ สองสัจจะหนึ่งเป็นฝ่ายผูกมัด สองสัจจะหนึ่งเป็นฝ่ายแก้ฝ่ายดับ  ดับอะไรผูกอะไร ก็คือผูกจิตไว้คือมาปกคลุมไว้ แก้ก็คือเปิดออก เปิดสิ่งที่ปกคลุมนั้นให้ได้เห็นความบริสุทธิ์ตามความจริงของตน ความจริงนั้นมีอยู่อย่างนั้นแล้ว  แต่สัจจะทั้งสองคือทุกข์ สมุทัยนี้ มันปิดเหมือนกับฝาหม้อปิดหม้อไว้ มีอะไรอยู่ในนั้นก็ไม่เห็น มรรคคือข้อปฏิบัติ….เปิด มรรค นิโรธเปิดขึ้นมาก็เห็นสิ่งที่อยู่ในหม้อนั้นชัดว่าเป็นอะไร  ความบริสุทธิ์เป็นของมีอยู่ก็ตาม แต่ถูกสัจจะทั้งสองนี้ปิด และถูกสัจจะที่เป็นฝ่ายแก้ทั้งสองนั้นเปิดขึ้นมา นี่ละเปิดก็เปิดให้อันนี้ ผูกก็ผูกอันนี้ปิดอันนี้ไว้ พอเปิดขึ้นมาแล้วก็หมดปัญหา
สัจจะทั้งสองนี้เป็นกิริยาอันหนึ่งๆ เป็นสมมุติด้วยกัน มรรคก็เป็นสมมุติ นิโรธก็เป็นสมมุติ พอทำหน้าที่เสร็จแล้วก็ผ่านไป ทุกข์กับสมุทัยก็เป็นสมมุติ สมมุติทั้งสองแก้สมมุติทั้งสองนี้ได้แล้ว ธรรมชาตินั้นก็เป็นธรรมชาติตายตัว สิ่งที่เห็นนั้นเรียกวิมุตติ คือเปิดให้เห็นวิมุตติคือความบริสุทธิ์โดยหลักธรรมชาติ นี่ละภาระหมดก็หมดตรงนี้ เมื่อบริสุทธิ์แล้วไม่เสกสรรปั้นยอตัวเอง ส่วนภายนอกคือโลกธรรมนอก เกี่ยวกับสิ่งภายนอกมันห่างไกล โลกธรรมในที่เคยว่าดี ว่าชั่ว ว่าสุข ว่าทุกข์ภายในตัวเองก็หมดปัญหาไปกับจุดนี้สลายไป
ถ้าพิจารณามาถึงขั้นนี้แล้วไม่กว้าง ได้อุบายจากครูอาจารย์ผู้ที่ท่านเคยรู้เคยเห็นและผ่านไปอธิบายให้ฟังก็ไปได้อย่างรวดเร็ว
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่