เมื่อพิจารณาเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้วมันเป็นเช่นนั้น “มันสักแต่ว่า.ๆ”

เมื่อพิจารณาเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้วมันเป็นเช่นนั้น  “มันสักแต่ว่า.ๆ” เมื่อพิจารณาถึงขั้น  “สักแต่ว่าแล้ว” จะไปยึดมั่นถือมั่นได้อย่างไร!
เพราะปัญญาหว่านล้อมไปหมด ปัญญาชำระไปหมด ชะล้างไปหมด มลทินคือกิเลสที่ไปติดพันอยู่กับใจ ความสำคัญมั่นหมายต่างๆ
ที่เกี่ยวข้องติดพันอยู่ที่ตรงไหน สติปัญญาชะล้างไปหมด ปลดเปลื้องไปโดยลำดับๆ สุดท้ายก็รู้ขึ้นมาอย่างชัดเจน
“สวากขาตธรรมทั้งปวง ก็เป็นธรรมที่ซึ้งใจสุดส่วน  ใจไม่ยึดมั่นถือมั่นในธรรมและสิ่งใด”


        
รูปก็สักแต่ว่ารูป ไม่ว่าอาการใดที่เป็นอยู่ในร่างกายเราที่ให้นามว่า “รูป” ก็สักแต่ว่าเท่านั้น ไม่ยิ่งกว่านั้นไป
จะยิ่งไปได้อย่างไรเมื่อจิตไม่ส่งเสริมให้มันยิ่ง ความจริงจิตเป็นผู้ส่งเสริม จิตเป็นผู้กดถ่วงตัวเองต่างหาก
เมื่อสติปัญญาพิจารณารู้ตามหลักความจริงแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างก็จริงของมันเอง  “สักแต่ว่า”
นั่น! เมื่อ “สักแต่ว่า” แล้ว จิตไม่เห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้มีคุณค่ามีราคายิ่งกว่าตนพอจะไปหลงยึดถือ จิตก็หายกังวล
รูปก็สักแต่ว่า ถึงยังเป็นอยู่ก็สักแต่ว่า ตายไปแล้วก็สักแต่ว่าความเปลี่ยนแปรสภาพของมันเท่านั้น เวทนาเกิดขึ้นมาก็สักแต่ว่า
เมื่อสลายลงไปก็สักแต่ว่า ตามสภาพของมันและตามสภาพของทุกอาการ ๆ  ปัญหาทั้งปวงในขันธ์ในจิตก็หมดไปโดยลำดับ


สุดท้ายจิตที่มีความรักความสงวนด้วยอำนาจแห่งกิเลสประเภทหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่เกาะอยู่ในนั้น ก็พิจารณาลงไป
ซึ่งเรียกว่า “จิตตานุปัสสนา”
  คือความเห็นแจ้งในจิตและอาการของจิตทุกอาการว่า “สักแต่ว่าจิต”
คือเป็นสภาพหนึ่งๆ เช่นเดียวกับสภาวธรรมทั้งหลาย ไม่ถือจิตเป็นตน ไม่สำคัญจิตว่าเป็นตน
ถ้าถือจิตว่าเป็นตนเป็นของตนจะพิจารณาไม่ได้ เพราะความรักความสงวนความหึงหวง กลัวว่าจิตจะเป็นอะไรต่ออะไรไปเสีย
แล้วกลายเป็นกำแพงกั้นไว้ จึงต้องพิจารณาตามที่ท่านว่า “จิตตานุปัสสนา”  พิจารณาลงไปให้เห็น  “สักแต่ว่าจิต”
คิดก็สักแต่ว่าคิด ปรุงขึ้นมาดีชั่วก็สักแต่ว่าปรุง แล้วก็ดับไป ๆ สักแต่ว่า ๆ  จนถึงรากฐานของ “จิตอวิชชา”


รากฐานของ “จิตอวิชชา” คืออะไร?

คือกิเลสชนิดละเอียดสุดอยู่ภายในจิต ไม่พิจารณาจิตนั้นไม่ได้  จิตจะสงวนจิตไว้  แล้วพิจารณากิเลสประเภทนี้ต่างหากนั้น
ย่อมหาทางไม่ได้! เพราะกิเลสประเภทสงวนตัวมันหลบอยู่ในอุโมงค์
  คือจิตนี้แหละ! จะเสียดายอุโมงค์อยู่ไม่ได้
ถ้าโจรเข้าไปอาศัยอยู่ในอุโมงค์นี้เราจะเสียดายอุโมงค์ไม่ได้  ต้องระเบิดหมดทั้งอุโมงค์นั่นน่ะ
ให้มันแตกทลายกลายเป็นชิ้นส่วนไปหมด นี่ก็เหมือนกัน ระเบิดด้วยสติปัญญาให้หมดเลยที่ตรง “อุโมงค์ คือจิตอวิชชา” นี้ให้สิ้นซากไป

        
เอ้า ถ้าจิตเป็นจิตจริง ทนต่อการพิสูจน์ ทนต่อความจริงจริงๆ จิตจะไม่ยิ้ม  จะยิ้มไปแต่สิ่งที่เป็นสมมุติเท่านั้น!
ธรรมชาติตัวจริงของจิตแท้ๆ จะไม่ยิ้ม
และอะไรจะเป็น “วิมุตติ”? ถ้าจิตสามารถเป็นวิมุตติได้ ทนต่อการพิสูจน์
ทนต่อการพิจารณาทุกอย่างได้ ก็ให้จิตรู้ตัวเอง จิตนั้นจะยังคงเหลืออยู่


อันใดที่ไม่ทนต่อการพิจารณา อันใดที่เป็นสิ่งจอมปลอม ก็จะสลายตัวของมันไป จงพิจารณาลงที่จิต  
ดีชั่วเกิดขึ้นก็แต่เพียงแย็บๆๆ  อยู่ภายในจิต ดับไปก็ดับที่จิต ค้นลงไปพิจารณาลงไป เอาจิตเป็นสนามรบ

        
เราเอาเสียง เอากลิ่น เอารส เป็นสนามรบ พิจารณาด้วยปัญญา ผ่านเข้ามาถึงขั้นเอารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นสนามรบ
พิจารณาจนรู้แจ้งเห็นจริงแล้วปล่อยวาง ๆ ปล่อยวางไปตามเป็นจริง


อ้าว!  ที่นี่กิเลสมันไม่มีที่ซ่อนก็วิ่งเข้าไปอยู่ในจิต ต้องเอาจิตเป็นสนามรบอีก  ฟาดฟันกันด้วยปัญญาสะบั้นหั่นแหลกลงไปเป็นลำดับๆ
โดยไม่มีข้อแม้ข้อยกเว้นว่าจะควรสงวนอะไรไว้เลย อันใดที่ปรากฏจะพิจารณาฟาดฟันให้อันนั้นแหลกไปหมด ให้รู้เข้าใจไปหมด นั่น!


สุดท้ายกิเลสก็ทนตัวอยู่ไม่ได้ กระจายออกไป นั่น ! ของจอมปลอมต้องสลายตัวไป ของจริงอันดั้งเดิมแท้ได้แก่จิต
ก็เป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์ขึ้นมาแทนที่ที่กิเลสหายไป หาความสลายหาความยิ้มไปไม่มีเลย นี้แลคือความประเสริฐแท้ เราชนะเพื่ออันนี้
ธรรมชาติแท้ไม่ตายไม่ยิ้ม ถึงจะถูกพิจารณาขนาดไหนก็ตาม แต่สติปัญญาจะฟาดฟันจิตให้แหลกละเอียดจนยิ้มไปหมดนั้น
เป็นไปไม่ได้ นั่น

        
สุดท้ายจิตก็บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา  พอจิตบริสุทธิ์เต็มที่แล้ว  ปัญญาก็หมดหน้าที่ไปเอง หรือหมดภาระหน้าที่ของตนไปเอง
ตามหลักธรรมชาติของสติปัญญา พอจิตบริสุทธิ์เต็มที่แล้วปัญญาก็หมดหน้าที่ไปเอง หน้าที่ของตนไปเอง
ตามหลักธรรมชาติของสติปัญญา ที่เป็นสมมุติฝ่ายแก้กิเลสทั้งมวล นอกจากเราจะนำไปใช้บางกาลบางเวลาในแง่ธรรมต่างๆ
หรือธุระหน้าที่ต่างๆ เท่านั้น

        
ที่จะนำมาแก้ มาทำลายกิเลส ถอดถอนกิเลสด้วยปัญญาดังที่ได้ทำมาแล้วนั้น ไม่มีกิเลสจะให้แก้ให้ถอน สติปัญญาจะถอนอะไร
ต่างอันต่างหมดหน้าที่ของตัวไปเองโดยอัตโนมัติหรือธรรมชาติ


สิ่งที่ยังเหลืออยู่ เหนือสัจธรรมทั้งสี่ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ก็ได้แก่ความบริสุทธิ์ คือผู้รู้ล้วนๆ
ผู้นี้แลเป็นผู้พ้นจากสมมุติโดยประการทั้งปวง พ้นจากกิเลสโดยประการทั้งปวง ทรงไว้ซึ่งความบริสุทธิ์ที่ท่านเรียกว่า“วิมุตติ”
เราจะไปหา “วิมุตติ”ที่ไหน? ความหลุดพ้นอยู่ที่ไหน? ก็มันติดข้องอยู่ที่ไหน?
เมื่อพ้นจากความติดข้องแล้ว มันก็เป็นความหลุดพ้นที่เรียกว่า “วิมุตติ” เท่านั้นเอง
การแสดงธรรมจึงยุติเพียงเท่านี้ ไม่มีความรู้ความสามารถแสดงให้ยิ่งกว่านี้ได้




---------------------------

เนื้อหาบางส่วนจาก จิตตานุปัสสนา - พระธรรมเทศนาหลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙
http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1781&CatID=1
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่