“ฟังธรรมทั้งกลางวันกลางคืน”







เพราะฉะนั้นอุบายของสติปัญญา
จึงสำคัญอยู่ที่ผู้คิดผู้พิจารณาจะแยกแยะออกมาใช้ด้วยอุบายความฉลาดของแต่ละราย ๆ ไป
ตามสติกำลังความสามารถของแต่ละราย ๆ ไปไม่มีสิ้นสุด จึงไม่จำเป็นที่จะไปเอาจากตำรับตำราเสียทุกแง่ทุกมุมจึงจะเป็น “ธรรม”



“เราคิดขึ้นเองไม่สามารถจะแก้กิเลสได้” นี้เป็นความคิดเห็นที่ผิดจากหลักธรรม ไม่อาจเรียกว่า “ปัญญาชอบ” ได้
แม้จำมาจากตำรา แต่ไม่สามารถแก้กิเลสน้อยใหญ่ให้ขาดจากใจได้  ก็ไม่อาจเรียกได้ว่า “ปัญญาชอบ” สำหรับผู้นั้น
เป็น “ปัญญาชอบ” เฉพาะในตำรา แต่ “ไม่ชอบ” สำหรับนำมาใช้





ธรรมที่ท่านแสดงไว้ตามตำรับตำรานั้นมีพอประมาณเท่านั้น ไม่ได้มากมายอะไรนักเลย ถ้าเป็นยาก็เป็น “ยาหม้อใหญ่”
ไม่ใช่ยาที่เจาะจงโรคนั้นๆ โดยเฉพาะ ที่เราคิดค้นได้ขึ้นมาให้เหมาะสมกับการแก้กิเลสแต่ละประเภทนี้เป็น “ยา”
ที่เหมาะสมกับกิเลสประเภทนั้นๆ ที่จะถอดถอนกิเลสประเภทนั้นๆ ให้หมดไปได้โดยลำดับ



เพราะฉะนั้นท่านผู้ปฏิบัติในทางปัญญา อยู่ที่ไหนท่านก็มีอรรถมีธรรม มีสติปัญญาค้นคว้าอยู่ตลอดเวลา
ดังที่ท่านอาจารย์มั่นเคยแสดงไว้ว่า  “ฟังธรรมทั้งกลางวันกลางคืน”
นั่น! ฟังซิ อะไรก็สัมผัสอยู่ตลอดเวลา ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย สัมผัสกันอยู่เรื่อยๆ




การสัมผัสเมื่อไม่เข้าไปรับทราบที่จิตซึ่งเป็นผู้คอยรับทราบ จะไปรับทราบกันที่ไหน และอะไรจะเป็นผู้รับทราบ
การที่จิตรับทราบก็กระเทือนถึงสติปัญญา ที่จะต้องค้นคว้าพิจารณาตามเหตุตามผลในสิ่งที่มาเกี่ยวข้องนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไรบ้าง
เมื่อทราบแล้วก็ถอดถอนหรือปล่อยวางกันไปได้โดยลำดับ นี้ท่านเรียกว่า “ฟังธรรมทั้งกลางวัน กลางคืน”




คือธรรมในหลักธรรมชาติที่มีอยู่ดั้งเดิม กิเลสก็เป็นหลักธรรมชาติที่มีอยู่ภายในจิต
ธรรมคือ ศีล สมาธิ ปัญญาก็เป็นหลักธรรมชาติที่มีอยู่ภายในใจ
สุดแล้วแต่ผู้จะผลิตคิดค้นขึ้นมาพินิจพิจารณา ใช้ประโยชน์ตามสติกำลังความสามารถแห่งสติปัญญาที่เป็นเครื่องมือ



----------------------------


สร้าง อตฺตา หิ ก่อนตาย - พระธรรมเทศนาโดย หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เทศน์โปรดคุณเพาพงา วรรธนะกุล ณ วัดป่าบ้านตาด เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๑๙
อ่านเนื้อหาเต็มได้จาก http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1584&CatID=1
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่