ใครอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารตุรกี (6)



องค์กรหมาป่าเทา (Grey Wolves) ก่อตั้งขึ้นโดย พ.อ.อัลปาสลาน เติร์ก
ช่วงคริสตทศวรรษที่ 1960 เป็นการรวมกลุ่มของผู้ฝักใฝ่ลัทธิฟาสซิสต์ใหม่ มีความใกล้ชิดกับพรรคขบวนการชาตินิยม
องค์กรแห่งนี้ถูกขนานนามว่า "กองทัพเยาวชน" เนื่องจากมีการฝึกทหารให้กับสมาชิกที่เป็นเยาวชนเพื่อเป็นกองทัพสังหาร โดยมีเป้าหมายต่อสู้กับผู้ฝักใฝ่คอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น
องค์กรหมาป่าเทามีส่วนเกี่ยวข้อง หรืออยู่เบื้องหลังกับการสังหารหมู่ที่จตุรัสทักซิม (พ.ศ.2520) และการสังหารหมู่มาลาส (พ.ศ.2521) รวมทั้งการพยายามลอบสังหารสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอลที่ 2 (พ.ศ.2524)
16 พฤษภาคม 2536 สุไลมาน เดมิเรล ได้รับการสถาปนาเป็นประธานาธิบดีต่อจาก เตอร์กุต โอซัล ซึ่งเสียชีวิตอย่างปริศนา
24 พฤษภาคม 2536 พรรคแรงงานเคอร์ดิสถานลอบโจมตีที่เมืองอีลาซิก (ภาคตะวันออกของตุรกีในเขตของชาวเคิร์ด) จนมีทหารตุรกีเสียชีวิต 33 คน ส่งผลให้รัฐบาลยกเลิกแผนการเจรจาสันติภาพกับพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน
25 มิถุนายน 2536 ทานสุ ซินเลอร์ จากพรรคเส้นทางแท้จริง (พรรคเดียวกับ สุไลมาน เดมิเรล) ได้รับการสถาปนาเป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของตุรกี
ตลอดเวลาในการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีมีข่าวลือว่า เธอให้การสนับสนุนปฏิบัติการปราสาทเพื่อกวาดล้างพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน แต่เธอปฏิเสธมาโดยตลอด
ปฏิบัติการปราสาทเป็นปฏิบัติการลับที่รัฐบาลให้การสนับสนุน มีหน่วยต่อต้านสงครามกองโจรตุรกี, องค์กรหมาป่าเทา, ตำรวจ-ทหารจากองค์กรภูธรอัจฉริยะ (JITEM) และหน่วยรบพิเศษ (Special Forces Command) ร่วมปฏิบัติการ โดยมีเป้าหมายจับกุมสมาชิก และผู้ให้การสนับสนุนพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน
แต่ปฏิบัติการนี้สร้างเรื่องอื้อฉาวหลายครั้ง ทั้งการอุ้มฆ่า และเรียกค่าไถ่ผู้ต้องสงสัยหลายร้อยคนตามบัญชีซินเลอร์ (Çiller’s list: บัญชีผู้ต้องสงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน) รวมทั้งการเรียกรับเงินเพื่อคัดชื่อออกจากบัญชีนี้
ปี พ.ศ.2539 เนกมิทติน เออร์บากัน จากพรรคสวัสดิการ (Welfare Party) ชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรี
3 พฤศจิกายน 2539 เกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่เมืองสุเซอลัก (ภาคตะวันตกของตุรกี) มีผู้เสียชีวิต 4 คน
อุบัติเหตุครั้งนั้นกลายเป็นข่าวใหญ่ระดับประเทศ เนื่องจากผู้เสียชีวิตคือ รองผู้บัญชาการตำรวจอิสตันบูล, สมาชิกรัฐสภา และ อับดุลลอฮ์ คัทติ แกนนำองค์กรหมาป่าเทา ซึ่งมีหมายจับมากมายทั้งการอุ้มฆ่า และเรียกค่าไถ่ เป็นการตอกย้ำถึงปฏิบัติการปราสาทมีอยู่จริง
ต่อมา บูเลน อีเซวิท (ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน) และ เมซุท ยิลมาส หัวหน้าพรรคมาตุภูมิให้สัมภาษณ์ยืนยันการมีอยู่จริงขององค์กรภูธรอัจฉริยะ รวมทั้ง เบธเซท คันเติร์ก นักธุรกิจตุรกีเชื้อสายเคิร์ดให้สัมภาษณ์ว่า เขาเคยจ่ายเงิน 10 ล้านดอลล่าห์สหรัฐให้กับ อับดุลลอฮ์ คัทติ เพื่อแลกกับการคัดชื่อออกจากบัญชีซินเลอร์
เนกมิทติน เออร์บากัน เพิกเฉยต่อข่าวปฏิบัติการปราสาท ส่งผลให้สื่อมวลชนโจมตีเขาอย่างกว้างขวาง หลายคนเห็นว่า เขาต้องการปกป้องพรรคเส้นทางแท้จริงซึ่งเป็นพรรคร่วมรัฐบาล
คืนวันที่ 31 มกราคม 2540 ผู้สนับสนุนกลุ่มฮามาส (ขนวนการชาวปาเลสไตน์ที่ต่อต้านอิสราเอล) และฮิซบุลลอฮ์ (ขนวนการชาวเลบานอนที่ต่อต้านอิสราเอล) แอบติดโปสเตอร์สนับสนุนการต่อสู้ตามอาคารหลายแห่งทั่วอำเภอซินคาน (อำเภอหนึ่งในกรุงอังการาซึ่งเป็นเมืองหลวงของตุรกี)
4 กุมภาพันธ์ 2540 กองทัพส่งรถถังเข้าเมืองซินคาน โดยอ้างว่า เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตย
28 กุมภาพันธ์ 2540 นายพลหลายคนเข้าพบ เนกมิทติน เออร์บากัน และยื่นหนังสือคำขาด เพื่อกดดันให้เขาเห็นชอบนโยบายหลายอย่าง เช่น การศึกษาเด็กอายุ 8 ขวบในชั้นประถมศึกษา, การปิดโรงเรียนอิสลามหลายแห่ง และการยกเลิกโรงเรียนลัทธิศูฟี (ลัทธิหนึ่งในนิกายสุหนี่)
30 มิถุนายน 2540 เนกมิทติน เออร์บากัน ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
พรรคร่วมรัฐบาลเห็นควรให้ ทานสุ ซินเลอร์ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ทหารคัดค้าน ส่งผลให้ สุไลมาน เดมิเรล แต่งตั้ง เมซุท ยิลมาส ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี
ปี พ.ศ.2541 เนกมิทติน เออร์บากัน และพรรคสวัสดิการถูกสอบสวนกรณีอื้อฉาว "เงินสูญหายล้านล้าน (Lost Trillion Case)"
เงินสูญหายล้านล้านเป็นคดีอื้อฉาวที่พรรคสวัสดิการถูกกล่าวหาใช้เอกสารเท็จเพื่อยับยั้งการคืนเงินจำนวน 1 ล้านล้านลีล่าห์ (ประมาณ 1.14 ล้านล้านบาท) ให้กับกระทรวงการคลังจากการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง (ต่อมามีการปรับลดลงวงเงินเหลือ 10 ล้านมาร์กเยอรมัน หรือประมาณ 196 ล้านบาท)
ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาเพิกถอนสิทธิทางการเมือง เนกมิทติน เออร์บากัน 5 ปี และยุบพรรคสวัสดิการ
การรัฐประหารครั้งนี้ถูกขนานนามว่า "การรัฐประหารด้วยการยื่นหนังสือคำขาด" แต่ครั้งนี้แตกต่างจากการัฐประหารปี พ.ศ.2514 เนื่องจากมีการเคลื่อนยุทโธปกรณ์เข้ามาในเมืองหลวง เพื่อเป็นการข่มขวัญรัฐบาล
ขณะที่นายพลหลายคนใช้วิธียื่นหนังสือคำขาด โดยกดดันรัฐบาลให้เห็นชอบนโยบายที่ทหารต้องการแทน เป็นการบอกเชิงสัญลักษณ์แทนการยื่นคำขาดจริง
หลายฝ่ายเห็นว่า การรัฐประหารครั้งนั้นเพื่อปกปิดข่าวอื้อฉาวเรื่องปฏิบัติการปราสาทที่ ทานสุ ซินเลอร์ และ เนกมิทติน เออร์บากัน มีส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้สาวมาถึงกองทัพ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่