เข้าใจเดอะวันเดอร์วีค The Wonder weeks กัน

สำหรับบล็อคในเรื่องเลี้ยงลูกอื่นๆ ติดตามได้ที่นี่ค่ะ http://primlilboo.wixsite.com/bonzaboo



เข้าใจเดอะวันเดอร์วีค The Wonder weeks กัน



เคยสังเกตุไหมคะว่าเวลาเลี้ยงลูกไป บางทีลูกอยู่ดีๆก็งอแงหงุดหงิดเป็นพิเศษ การนอนการอะไรก็ออกดงออกป่ากันไป ตื่นบ่อย นอนไม่นาน บางทีก็กินยากไม่ถูกใจร้องไห้ตลอด หรือติดแม่มากเป็นพิเศษ ตายายเคยอุ้มได้อยู่ดีๆก็ไม่ยอม ร้องไห้หาแม่ตลอดเวลา ป่วยรึก็เปล่า คนที่ไม่รู้ส่วนใหญ่ก็จะโทษลม โทษอาหารกันไปว่าปวดท้อง หนักเข้าก็อาจจะโทษคุณแม่ว่าไปกินอาหารผิดมาทำให้น้ำนมไม่ดีลูกกินแล้วปวดท้อง เป็นได้สองสามวันก็หาย หรือบางทีเป็นสองสามอาทิตย์ อยู่ดีๆก็หายไปเอง เอ๊ะเกิดจากอะไร?? ในตอนนี้เราก็จะมาให้คำตอบนะคะ



วันเดอร์วีคนี่เป็นคอนเซ็ปที่ใหม่มากกกกกก ลองกูเกิลดูพบว่ายังไม่มีใครเอามาเขียนเป็นภาษาไทย เราก็เลยเอามาเขียนซะหน่อย จะได้ไม่ล้าสมัยกันอิอิ เพราะขนาดในสังคมมนุษย์แม่ฝั่งเมืองนอกนี่ยังรู้กันไม่ทั่วถึง ต้องคนรุ่นใหม่ๆถึงจะรู้จัก แต่เวปของพวกรัฐบาลที่เกียวกับการเลี้ยงลูกที่นี่ก็เริ่มที่จะเอาทฤษฎีนี้มาใช้กันบ้างแล้ว บ่งบอกว่าไม่นานข้อมูลเรื่องนี้ก็จะเข้าถึงประชาชนมนุษย์แม่กันมากขึ้น ก่อนอื่นต้องมาทำความรู้จักกันก่อนว่าวันเดอร์วีคคืออะไร



เดอะ วันเดอร์วีค (The Wonder Weeks) คือหนังสือเกี่ยวกับพฤติกรรมทารกค่ะ ขออธิบายคร่าวๆนะคะ หนังสือนี้เป็นผลต่อเนื่องมาจากงานวิจัยของกลุ่มนักวิจัยชาวเนเธอร์แลนด์ที่เค้าทำวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมเด็กตั้งแต่เกิดไปจนถึงปีแรก งานวิจัยเค้าพบว่าในช่วงปีแรกๆนั้นเด็กจะมีการงอแงเป็นบางช่วง มีพฤติกรรมที่หงุดหงิดและเลี้ยงยาก ติดแม่มากผิดปกติ แล้วอยู่ดีๆก็หายไป แล้วก็เป็นอีก เค้ารวบรวมข้อมูลแล้วก็เอามาทำตารางข้อมูลแล้วไปเจอว่าเด็กเกือบทุกคนจะมีช่วงที่งอแงในช่วงอายุที่เหมือนๆกัน เค้าก็สรุปมาได้เป็นตารางปฎิธินว่าช่วงอายุเท่าไหร่ที่จะทำให้เค้างอแงเลี้ยงยาก ตามรูปนี้เลยค่ะ



ตามรูปข้างบนนี้นะคะ เลขศูนย์คือวันครบกำหนดคลอด จาก 0 ไปถึงเลข 1 คือ 7 วัน อธิบายได้ตามนี้ค่ะ

1. แถบสีน้ำเงิน คือช่วงหลีบ

2. แถบสีขาว คือช่วงปกติ

3. แถบสีเทา คือช่วงงอแงที่ผลต่อเนื่องมาจากหลีบที่ 5 โดยตัวมันเองนั้นไม่ใช่หลีบ

4. เมฆที่มีฟ้าผ่า คือช่วงพายุที่งอแงขึดสุด

5. เมฆที่มีพระอาทิตย์ คือช่วงที่สดใสอารมณ์ดีที่สุด




วันเดอร์วีคเกิดจากอะไร

นักวิจัยเค้าเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงในสมองและพัฒนาการของเด็กเล็กๆนั้นไม่ได้เป็นการเปลี่ยนแปลงแบบต่อเนื่องเสมอต้นเสมอปลายอย่างที่เราคิด แต่จะเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันรวดเร็ว(เรียกว่าหลีบ)แล้วก็ชะลอลงแล้วก็เปลียนอีกอย่างรวดเร็วและกลับไปชะลอลงอีก วนไปวนมาแบบนี้เรื่อยๆ คล้ายๆการเปิดประตูการเรียนรู้ อธิบายแบบนี้อาจจะเข้าใจยากนิดนึงขอยกตัวอย่างแล้วกันนะคะ ในหนังสือเนี่ยเค้าบอกว่าช่วงอาทิตย์ที่14-17 (นับจากวันกำหนดคลอดนะคะ ไม่ใช่วันคลอดจริง) เด็กจะมีการเปลี่ยนแปลงในสมอง(หลีบที่ 4)และส่งผลต่อพฤติกรรม โดยที่เค้าจะเริ่มเข้าใจเหตุการณ์ต่างๆรอบๆตัวมากขึ้น สำหรับเราๆผู้ใหญ่เมื่อเห็นคนกระโดดขึ้นจากพื้นเราก็จะรู้ทันทีว่าเมื่อเค้ากระโดดขึ้นจากพื้นแล้วหลังจากนั้นเค้าก็กลับลงมายืนบนพื้นเหมือนเดิม แต่สำหรับเด็กๆเค้าไม่เข้าใจตรงนี้และไม่มีความสามารถที่จะเข้าใจได้ แต่เมื่อเค้าผ่านหลีบที่ 4 นี้ไป สมองเค้าจะพัฒนาเหมือนเปิดประตูให้เค้าเข้าใจเหตุการณ์ที่ซับซ้อนได้(ค่ะการกระโดดนี่ซับซ้อนสำหรับทารกค่ะ) เมื่อเค้าผ่านหลีบนี้ไปได้ เค้าก็จะสามารถเรียนรู้ทักษะใหม่ๆได้ เช่นเอาของเล่นเคาะโต๊ะแล้วมีเสียง เค้าเริ่มเข้าใจว่าถ้ายกมือที่จับของเล่นขึ้นแล้ววางลงเร็วๆบนพื้นมันจะมีเสียงดังอะไรทำนองนั้น ซึ่งก่อนหน้าหลีบนี้เค้าจะไม่เข้าใจ





แล้วไอ้วันเดอร์วีคนี่จริงๆแล้วมีผลต่อเด็กยังไง?

ที่เห็นชัดๆเลยคืองอแงค่ะ เพราะว่าอยู่ดีๆเหมือนเค้าตื่นมาแล้วสภาพแวดล้อมเปลี่ยนไป(จริงๆสภาพแวดล้อมไม่ได้เปลี่ยนแต่สมองเค้าต่างหากที่เปลี่ยน ทำให้เข้าใจโลกในมุมที่ต่างออกไป ทารกสัญชาติญานเค้าจะกลัวเมื่อเจอกับอะไรที่ไม่เคยชิน ทำให้งอแงและติดแม่เป็นพิเศษ พอเค้าเริ่มปรับตัวได้ก็จะเลิกงอแงแล้วก็จะเริ่มยุ่งกับการฝึกหัดพัฒนาการใหม่ๆที่ตามมาหลังจากหลีบผ่านไป แล้วพอถึงเวลาหลีบใหม่มาก็งอแงอีก วนเวียนไปเรื่อยๆ จนกว่าจะโตเต็มตัวหลังจากช่วงวัยรุ่นนู่นอ่ะค่ะ(Puberty) แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะมีผลกระทบต่อพฤติกรรมมากเป็นพิเศษเวลาเค้ายังเล็ก หนังสือจะกล่าวถึงหลีบนี่ไปจนถึงอายุประมาณขวบครึ่งเท่านั้น หลังจากนั้นหลีบจะไม่ค่อยมีผลกระทบกับเด็กมากเท่าไหร่เค้าก็เลยไม่เขียน ส่วนไอ้ที่ว่างอแงนี่คือ



1. ร้องไห้มากกว่าปกติ

2. ต้องการความสนใจจากแม่มากเป็นพิเศษ

3. นอนน้อยลง นอนยากขึ้น

4. กินน้อยลง

5. อารมณ์ขึ้นๆลงๆ ยิ้มๆอยู่ดีๆก็ร้องไห้ซะงั้น

6. ไม่พอใจง่าย



ตามที่ลิสต์ไว้นี่ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วยนะคะ อาจจะไม่ได้เป็นทุกๆข้อบางคนอาจจะเป็นแค่บางข้อเท่านั้น



แล้ววันเดอร์วีคนี่รู้แล้วมันดียังไง?

ช่วยได้ในการเตรียมรับมือค่ะ วันเดอร์วีคนี้เป็นพัฒนาการที่เป็นไปตามธรรมชาติ เพราะฉะนั้นหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เราสามารถเตรียมตัวที่จะรับมือได้ ยังไงนั้น ยกตัวอย่างนะคะ เวลาเราฝึกลูกนอนนะคะ เราก็จะเลือกช่วงที่เค้าไม่ได้อยู่ในหลีบ หรืออย่างน้อยๆหลีกเลี่ยงช่วงพายุ ดีที่สุดคือช่วงที่เป็นพระอาทิตย์ หรือว่าการเดินทางไปไหนมาไหน เราอยากไปเที่ยวพักผ่อนเราก็จะหลีกเลี่ยงช่วงที่เป็นพายุ จะได้เที่ยวแบบสบายใจไม่ต้องมากังวลเรื่องลูกงอแง นอกจากนั้นยังช่วยอธิบายในช่วงเวลาที่ลูกเรางอแงมากเป็นพิเศษทำให้ตัดปัญหาและความกังวลไปได้ ตัวอย่างนี่ที่บ้านเมื่ออาทิตย์นี้เองค่ะ ลูกชายเราเข้าช่วงพายุพอดี เค้างอแงมากกกก คือ ร้องไห้ทั้งวัน ไม่ค่อยอยากกินข้าว แม่ต้องอุ้ม วางปุ๊บเบะทันที นอนน้อย ตื่นมาร้องบ่อยๆ เป็นอยู่สองวัน พ่อเค้าบอกว่าให้พาไปหาหมอ เพราะคิดว่าเค้าป่วย แต่เรารู้ค่ะ ว่าไม่ได้ป่วยเพราะไม่มีอาการอื่น แค่งอแงอย่างเดียว คือเค้าแค่อยู่ในช่วงหลีบและตรงกับวันพายุพอดี เราก็อธิบายให้พ่อเค้าฟัง สุดท้ายสองวันต่อมาเค้าก็หาย (ในวันที่เขียนนี่เค้าก็ยังงอแงอยู่ แต่น้อยลงอย่างมาก) สำหรับคนเป็นแม่ เราก็ห่วงสารพัดล่ะค่ะ แต่ถ้าเราเข้าใจธรรมชาติของเด็กว่าชีวิตเค้าช่วงปีแรกๆต้องผ่านอะไรบ้าง เราก็จะสบายใจมากขึ้น นี่ล่ะค่ะ ที่เค้าเรียกว่าความรู้คือพลัง



วันเดอร์วีค ตรงแค่ไหน?

ตามประสบการณ์ที่คุยกับคุณแม่คนอื่นๆนะคะ คือตรง อาจจะไม่ตรงเป๊ะๆเรื่องวันและเวลา แต่ก็ใกล้เคียงมาก แล้วแต่เด็กด้วย อย่างลูกสาวเราคนโต ตรงเป๊ะ แบบว่าไม่มีคลาดซักวันปฎิธินบอกพายุวันนี้นางก็งอแงสุดใจวันนั้นเลย เป็นแบบนั้นทุกๆหลีบ แต่พอมาลูกชายจะไม่ตรงเป๊ะๆ แต่ก็ใกล้เคียงมาก เวลาปฎิธินบอกว่าพายุวันนี้ เค้าอาจจะเป็นพายุเร็วกว่าซักวันสองวัน หรือ ช้ากว่าปฎิธินไปวันสองวันแค่นั้น แต่โดยรวมก็ตรง ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับวันกำหนดคลอดด้วยว่าตรงแค่ไหน เพราะฉะนั้นเรามีวิธีปรับนะคะ เราก็ใส่วันกำหนดคลอดที่เรามีอยู่ไป แล้วก็ดูท่าทีในช่วงสองสามหลีบแรกค่ะ ว่าเค้างอแงสุดวันไหน แล้วก็จดไว้ ถ้าเห็นว่าเค้างอแงสุดสองวันก่อนเครื่องหมายพายุบนปฎิธิน เราก็ปรับค่ะ ให้วันกำหนดคลอดเร็วกว่าที่เราใส่ไว้ไปสองวัน เพราะว่าการวัดกำหนดคลอดนั้นมีความคลาดเคลื่อนได้ เพราะฉะนั้นเราก็มาปรับเอาทีหลังได้ แต่ถ้าลองทำดูแล้วลูกเราไม่ตามตารางเลย บางทีก็งอแงก่อนวันพายุ แต่พอหลีบต่อมา งอแงหลังวันพายุ สเปะสะปะไปหมด ในกรณีนี้เราก็ต้องทำใจค่ะ คือลูกเราเค้าไม่ตามตำรานั่นเอง(แต่เท่าที่คุยมามีน้อยค่ะ ส่วนใหญ่คุณแม่จะอ่านพฤติกรรมลูกผิดซะมากกว่า) แต่ยังไงๆ วันเดอร์วีคก็ยังมีประโยชน์กับเราอยู่ดี เพราะถึงแม้เราจะไม่รู้ว่าช่วงพายุอยู่ตรงไหน แต่เราพอเดาได้ว่าช่วงไหนเป็นช่วงหลีบ





เดอะวันเดอร์วีค นี่มีแอพที่สามารถดาวโหลดมาใส่ในมือถือได้ ซึ่งในขณะที่เราเขียนนี่ราคา $1.99 เหรียญออสเตรเลีย ใน iTune ตีเป็นเงินไทยก็ประมาณ 50 บาทกว่าๆ (บอกไว้ก่อนว่าเราไม่มีส่วนได้ส่วนเสียในการซื้อขายแอพนี้ เอามาบอกให้ฟังเป็นความรู้กันเฉยๆนะคะ) ตัวแอพเป็นภาษาอังกฤษ สำหรับคนไม่เข้าใจภาษาอังกฤษก็ยังโหลดมาใช้ได้ เอาไว้ดูปฎิธินเอาถ้าไม่อยากต้องมานั่งนับเอาเอง ในตัวแอพนั้นจะมีข้อมูลคร่าวของแต่ละหลีบให้ด้วย แต่ถ้าอยากรู้เพิ่มเติมก็ซื้อหนังสือมาอ่านได้ค่ะ(ภาษาอังกฤษ) เรามีทั่งหนังสือและแอพ ความเห็นส่วนตัวเราว่าแอพเฉยๆก็เพียงพอค่ะ หนังสือจะละเอียดมาก และไม่ค่อยจำเป็นเท่าไหร่



ในตอนหน้าจะมาตีแตกความเชื่อผิดๆ(หรือไม่จริง) ในการเลี้ยงลูกนะคะ คุณแม่สมัยใหม่อยากรู้ว่ามีอะไรบ้างต้องคอยติดตามค่ะ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่