“โง่แต่อวดฉลาด” ภาวะความมั่นหน้า ที่อธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยา “Dunning-Kruger Effect”

“โง่แต่อวดฉลาด” ภาวะความมั่นหน้า ที่อธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยา “Dunning-Kruger Effect”



หลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมบางคนถึงมีความมั่นอกมั่นใจในเรื่องที่ตัวเองยังไม่รู้ดีหรือไม่เข้าใจมากพอ จนนำไปสู่การสร้างความเข้าใจและมั่นใจแบบผิดๆ โดยพฤติกรรมเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับ “Dunning-Kruger Effect” หรือ ดันนิ่ง-ครูเกอร์ เอฟเฟกต์ เป็นอาการที่เกิดขึ้นในระดับการรับรู้ข้อมูลหรือความรู้บางอย่างแค่เบื้องต้นแต่กลับหลงคิดไปว่าตัวเองรู้ลึก รู้จริง เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ ซึ่งความคิดเหล่านั้นถือว่าเป็นอคติ ที่ทำให้พวกเขาไม่สามารถประเมินความสามารถที่แท้จริงของตัวเองได้

ดันนิ่ง-ครูเกอร์ เอฟเฟกต์ แม้ยังไม่มีชื่อภาษาไทยอย่างเป็นทางการ แต่ถือว่าเป็นทฤษฎีเรื่องอคติเชิงรับรู้ (Cognitive Bias) ที่มีคำอธิบายไว้ว่า เมื่อใครสักคนเริ่มเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งไปได้ในระดับหนึ่งแล้ว ความมั่นใจในองค์ความรู้ของพวกเขาจะเพิ่มสูงขึ้นทันที (แม้จะไม่ได้มีความรู้สูงก็ตาม)

แนวคิดนี้เริ่มในช่วงปี 1999 โดย นักจิตวิทยา 2 คน คือ “เดวิด ดันนิ่ง” และ “จัสติน ครูเกอร์” ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ความสามารถที่มีอยู่จริง กับความรู้ความสามารถตามความคิดเห็นของตัวเอง ซึ่งพวกเขาได้ทำการทดลอง โดยให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบทดสอบหลายประเภท ตั้งแต่เชิงวิชาการ ไปจนถึงการใช้อารมณ์

ก่อนการประกาศผลคะแนน ทีมวิจัยให้กลุ่มตัวอย่างประเมินผลทดสอบของตัวเองด้วยความคิดของตัวเอง พบว่ากลุ่มตัวอย่างที่ทำแบบทดสอบได้คะแนนต่ำกลับประเมินตัวเองสูงกว่าความเป็นจริงมาก ในทางตรงกันข้ามกลุ่มตัวอย่างที่คะแนนสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลับประเมินการทดสอบของตัวเองไว้ต่ำกว่าความเป็นจริง

จากผลการทดลองทำให้ทั้งคู่เกิดคำถามว่าทำไมคนที่ไม่เก่งถึงมั่นใจว่าตัวเองเก่งเกินจริง ? พวกเขาจึงให้กลุ่มตัวอย่างสลับกันดูแบบทดสอบของอีกฝ่ายเพื่อดูความแตกต่างของคำตอบและให้พวกเขาประเมินผลทดสอบตัวเองอีกครั้ง ซึ่งผลที่ได้ก็คือกลุ่มที่ได้คะแนนต่ำ ก็ยังคงเชื่อว่าสิ่งที่ตัวเองตอบไปนั้นถูกต้อง เลยประเมินผลการทดสอบตัวเองไว้สูงเหมือนเดิม

จึงได้ข้อสรุปจากการทดลองว่า เหตุผลที่ทำให้คนที่ไม่เก่งยังเชื่อว่าเป็นคนเก่ง เพราะมี “อคติเชิงรับรู้” จึงเชื่อในตัวเองแบบสุดๆ เชื่อว่ารู้ทุกอย่างและเป็นคนที่ฉลาดที่สุด ทำให้การประเมินความรู้ความสามารถของตนเองและผู้อื่นผิดเพี้ยนไป

อ่านต่อ: https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/107558
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่