ปรากฏการณ์ Dunning-Kruger Effect (D-K)

ผมอ่านแล้วสะดุ้งเฮือกเลย  โดนจี้กระดูกดำ อมยิ้ม07
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

แก้ไขภาพประกอบครับ

3/6/18 ทำไมคนรู้น้อยถึงมั่นใจมาก

ผู้อ่านเคยสังเกตมั้ยว่า ตามชุมชนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น ppantip.com หรือเพจดังๆ มักจะมีคนชอบออกความเห็นที่ไม่ค่อยจะเข้าท่า + ไม่มีเหตุผลซักเท่าไหร่ โชคดีที่ว่าฝูงชนนั้นฉลาด ความเห็นไหนตรรกะดี ข้อมูลดี ก็มักจะได้รับ like มากกว่าความเห็นอื่นๆ ทำให้คนไม่รู้เรื่องอะไรใช้เป็นตัวกรองได้บ้าง

ที่ผมรำคาญเป็นพิเศษคือ คนชอบขอเสริม บางทีผู้เขียนเขาต้องการให้ภาพกว้างๆ ดูจากชื่อชั้นแล้วเรื่องลึกๆเขาก็น่าจะรู้อยู่แต่ไม่ได้ต้องการล้วงในขณะนั้น ก็จะมีคนมาขอเพิ่มรายละเอียด บางทีต้องการจะเล่าแค่ A B C D E F ก็บอกว่ามันมี G มี H ด้วยนะ ทั้งๆที่คนเล่าน่าจะรู้แหละว่ามีถึง X Y Z ไม่น่าเชื่อว่ากูรูเรื่องการลงทุนหลายท่านยังโดนแบบนี้ น่าจะตั้งนาย G และ H เป็นกูรูแทน

ชีวิตจริงก็เจอเยอะเลยที่คนรู้มากจะไม่ค่อยพูด คนไม่รู้เลยก็ไม่ค่อยพูดเหมือนกัน เพราะไม่รู้จะพูดอะไร ที่พูดมากคือพวกรู้นิดหน่อยนี่แหละ ในทางจิตวิทยาเขาเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า Dunning-Kruger Effect (D-K) เพิ่งจะถูกค้นพบเมื่อปี 1999 นี้เอง ซึ่งก็น่าแปลกเพราะมนุษย์คงมีนิสัยแบบนี้มานับหมื่นปีแล้ว

D-K เขียนเป็นกราฟได้ดังรูป มีความเชื่อมั่น (Confidence) เป็นแกนตั้ง ความรู้ (Knowledge) เป็นแกนนอน จะเห็นได้ว่าคนไม่รู้+ไม่มั่นใจเลย กับคนรู้นิด+โคตรมั่นใจ อยู่ใกล้กันมาก และที่ตลกคือบางทีผู้เชี่ยวชาญยังมั่นใจน้อยกว่าพวกรู้นิดนี่เสียอีก David Dunning และ Justin Kruger อธิบายว่า ความรู้นิดนี่แหละทำให้บางคนเข้าใจว่าเรื่องที่ “ยังไม่รู้” มีอีกไม่มากนัก หรือเป็นการประเมินตัวเองสูงเกินไป (Overestimate their own skill levels) จึงกล้าโชว์ นอกจากนี้เวลาผิดพลาด ด้วยความรู้น้อยจึงไม่รู้ว่าผิดอีกด้วย (Inability to recognize failure) ก็เลยอยู่บน “ยอดเขาแห่งความโง่เง่า” (Mount Stupid) ต่อไป

แต่ต่อมาหากได้รับความรู้เพิ่มขึ้น ความเชื่อมั่นกลับลดลง เพราะเริ่มตระหนักว่ายังมีอะไรที่ต้องเรียนรู้อีกมาก แม้แต่คนที่คนรู้เยอะแล้วก็ยังระแวงว่าต้องมีอะไรอีกแน่ บางคนถึงขั้นคิดว่าคนอื่นก็เก่งเหมือนกับตน (Overestimate other skill levels) เขาจึงไม่แสดงความเชื่อมั่นมากนักหากต้องออกความเห็น สังเกตดีๆนักลงทุนที่ประสบการณ์สูงจะพูดทำนองความเป็นไปได้ แต่จะไม่ฟันธง หรือพยายามชักจูงให้คนเชื่อด้วยข้อมูลตัวเลขต่างๆ ลองนึกถึงเรื่องชายอ้วนของปู่ Buffett ก็ได้

เกี่ยวการลงทุน D-K effect นี้เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องแก้ เพราะกระทบต่อความสำเร็จเป็นอย่างมาก เมื่อก่อนผมคิดว่าคนชอบโชว์นี้เวลาเขาหน้าแตกบ่อยๆ ก็จะเลิกไปเอง (ในเรื่องนี้ และไปปูดเรื่องอื่นต่อ) ดังนั้นควรจะแนะนำผู้อ่านว่า การแก้ปัญหา D-K นี้คือหมั่นออกความเห็น แต่คิดว่านี่ไม่น่าจะใช่ทางออกที่ละมุนละม่อม เสียความมั่นใจเปล่าๆ ในรูปจริงๆแล้วมันก็บอกว่า การลดอัตตาทำได้โดยเพิ่มความรู้เข้าไปนั่นเอง ดังนั้นถ้าคุณเพิ่งจะรู้อะไรที่คิดว่า ใช่แน่ ถูกแน่ อย่าเพิ่งออกความเห็น และอย่าเพิ่งเอาไปใช้ ควรศึกษาให้กว้างขึ้นลึกขึ้นอีกขั้นหนึ่งเสียก่อน

สมมติคุณได้รับการบอกเล่าว่า DCA (Dollar Cost Averaging) นี้ดีมาก จะทำให้ได้ผลตอบแทนประมาณ 10% ต่อปี ถ้าลงทุนในกองทุน SET index อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายๆปี ก็อย่าเพิ่งเชื่อเลย ต้องอ่านเพิ่มเติมอีกนิดว่ามันมีเงื่อนไข ข้อดี ข้อเสีย และข้อจำกัดอะไรบ้าง ทำได้กับ asset อะไร ไม่ได้กับอะไร เมื่อเข้าใจเพิ่มขึ้นแล้วคุณอาจจะปรับแต่งให้ดีขึ้น ได้ผลตอบแทนสูงขึ้น ความเสี่ยงลดลงก็เป็นได้ครับ

คิดไปคิดมา ไม่น่าจะยกทฤษฎีอะไรให้เสียเวลาเลย โคลงโลกนิติก็เคยพูดถึงไว้เมื่อร้อยกว่าปีมาแล้วว่า …

นาคีมีพิษเพี้ยง สุริโย เลื้อยบ่ทำเดโช แช่มช้า
พิษน้อยหยิ่งโยโส แมลงป่อง ชูแต่หางเองอ้า อวดอ้าง ฤทธี

สมัย TCAS นี่ยังเรียนโคลงโลกนิติอยู่ใช่มั้ยครับ ^ ^

หมายเหตุ : ใครสนใจต้นฉบับของ Dunning และ Kruger ลองหางานวิจัยนี้มาอ่านเลย …

Kruger, J and Dunning, D. “Unskilled and unaware of it: How difficulties in recognizing one’s own incompetence lead to inflated self-assessments.”. Journal of Personality and Social Psychology, 77(6), 1999, pp. 1121-1134

Credit  :  https://www.facebook.com/MNYWKS/posts/1140857859388506
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  ตลาดหลักทรัพย์ การลงทุน
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่