เมื่อหนังสือสอนภาษา ยิ่งทำให้ไม่รู้จักภาษา

ก่อนอื่น ผมอยากจะบอกว่า ที่มาตั้งกระทู้ในวันนี้ ไม่ได้เพื่อมาดิสเครดิตใคร แต่ผมรู้สึกว่า "มันได้เวลาที่จะพัฒนาแล้ว" และ "ไม่สมควรเอาเปรียบผู้บริโภค" ฉะนั้น เลยตัดสินใจที่จะ "ติเพื่อก่อ" ในคราวนี้ และเนื่องจากผมเป็นคนปากไม่ค่อยดี ถ้าไปล่วงเกินใคร หรือทำให้ไม่สบายหูไม่สบายตา ก็ขอโทษมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ก่อนอื่นขอเท้าความก่อนว่า ผมฝันอยากจะเป็นครูสอนภาษาเกาหลีมาตั้งแต่ชั้นปี 1 เวลาไปร้านหนังสือก็เลยชอบเดินไปเปิดหนังสือสอนภาษาเกาหลีก่อนเสมอ สมัยนั้นเล่มไหนออกใหม่ผมซื้อหมด(คนที่เรียนภาษาเกาหลีเมื่อเกือบ 10 ปีที่แล้วจะทราบครับ ว่าหนังสือดี ๆ หายากมาก) แต่หลังจากผมสอบ TOPIK ผ่านระดับ 2 ด้วยคะแนน 383/ 400(ปัจจุบันผ่านระดับ 6 แล้ว) ผมก็เริ่มจะไม่ค่อยซื้อละครับ หาความรู้จากเพลง จากรายการทีวี ข่าว บลา ๆ ๆ เอา แต่ถ้าไปร้านหนังสือก็ยังคงเปิดอ่านหนังสือสอนภาษาเกาหลีผ่าน ๆ เสมอ

อ่ะ เล่าให้ฟังอีกนิด ผมมีสำนักพิมพ์ที่ชอบอยู่สำนักพิมพ์นึง ชอบแบบที่ว่า ถ้ามีหนังสือแบบเดียวกัน ผมจะต้องซื้อหนังสือของสำนักพิมพ์นี้ และผมก็ชอบร้านที่สำนักพิมพ์นี้เป็นเจ้าของด้วย ไม่ขอเอ่ยชื่อละกันนะครับ ถึงแม้จะไม่เข้าข่ายหมิ่นประมาทก็เถอะ

เข้าเรื่องเนอะ

คือวันนี้ผมเผอิญเจอหนังสือเล่มนึง เป็นหนังสือสอนภาษาเกาหลีของสำนักพิมพ์ที่ว่านั่น ไม่แน่ใจว่าออกมานานหรือยังนะครับ แต่วันนี้ผมเลือกที่จะเปิดเล่มนี้ดู

โอ้ มาย ก้อด

หน้าแรกก็แจ๊คพ๊อตเลยครับ



แปลประโยคภาษาไทย "ช่วยตั้งชื่อเกาหลีให้ฉันหน่อยได้ไหม" เป็นภาษาเกาหลีว่า "제 이름은 한국어로 세워 좀 도와 주세요?"

Q: แล้วมันทำไม? แปลกตรงไหน?

A: ส่วนประกอบของประโยคดังกล่าว มีดังต่อไปนี้ครับ

ขยายนาม / นาม / ขยายกริยา / กริยาหลัก / ขยายกริยา / กริยาหลัก / กริยารอง

Q: แล้วยังไง

A: ประโยคที่น่าจะเป็นประโยคความเดียว แต่กลับมีกริยาหลักตั้งสองตัว

Q: ยังไงต่อ มันผิดมากเลยเหรอ

A: ถ้าแค่นั้น ผมคงไม่ออกมาอธิบายแบบนี้หรอกครับ งานผมเยอะแยะ ประโยคนี้เป็นประโยคตัวอย่างชั้นดีที่จะอธิบายให้เห็น หนึ่งใน "กับดัก" ที่ผู้เรียนภาษาต่างประเทศจะต้องเจอ นั่นคือ "การแทรกแซงของภาษาแม่(L1 interference)"

ดูนะครับ

คำว่า "ตั้งชื่อ" ผู้เขียนแปลโดยจับคำนาม 이름(อี-รึม: ชื่อ) มาชนกับกริยา 세워[เซ-วอ: (ทำให้)ตั้ง] เหมือนจะถูกนะครับ แต่เห็นชัด ๆ ว่าภาษาแม่แทรกแซงเต็ม ๆ เพราะกริยา"ตั้ง"ของวลี"ตั้งชื่อ" คนเกาหลีใช้คำว่า 지어(จี-ออ: สร้าง) ครับ ส่วนตัวแล้วรู้สึกว่า 이름을 세워 น่าจะมีความหมายอื่นนะครับ อย่าง "สร้างชื่อ" อะไรทำนองนี้ แต่ยังไม่ค่อยแน่ใจครับ ว่าจะไปคุยกับอาจารย์คนเกาหลีอีกที เอาไว้สอนเด็ก

*** อนึ่ง คำบางคำมันอาจจะคล้าย ๆ กัน เช่นคำว่า "ผู้หญิงง่าย ๆ" ในภาษาไทย แปลเป็นเกาหลีได้ว่า 쉬운 여자(ผู้หญิงที่ง่าย) อันนี้ไม่เกี่ยวกับการแทรกแซงของภาษาแม่แต่อย่างใดนะครับ แต่ถ้าแปล "ผู้หญิงง่าย ๆ" เป็นภาษาเกาหลีว่า 여자가 쉬워요(ผู้หญิง ง่าย ?????) เนี่ยอันนี้ใช่ แทรกแซงเต็ม ๆ ในเรื่องลำดับคำในประโยค

Q: ... หมดหรือยังครับ
A: โน ๆ ยังมีอีกหลายจุดที่ต้องพูดถึงครับ เช่น ในส่วนของ 제 이름은 ไม่รู้ว่าผู้แต่งเข้าใจไปในทิศทางไหน แต่เอาเป็นว่า ถ้าใช้ 은(อึน: ตัวชี้หัวเรื่อง) ปุ๊บ มันก็จะทำหน้าที่โดยช่วยเน้นคำข้างหน้าของมัน ซึ่งในที่นี้คือ 제 이름(เช อี-รึม: ชื่อของฉัน) และเมื่อ"ชื่อของฉัน"ถูกเน้น ผมมองว่าถ้าเอาตามประโยคนั้นมันควรจะต้องแปลว่า "เอาชื่อ(ไทย)ของฉัน ไปทำเป็นภาษาเกาหลีให้หน่อย" แต่ทีนี้ในประโยคที่เขาให้มาเหมือนจะบอกว่า "ตั้งชื่อเกาหลี" ให้หน่อยไงครับ เพราะงั้นผมถึงคิดว่ามันแปลก ๆ

Q: ยากจัง
A: ยังไม่หมดนะครับ

Q: ????
A: ในประโยคภาษาไทยยังเขียนว่า "ชื่อเกาหลี" ได้ ทำไมในประโยคภาษาเกาหลีถึงได้แยกมันออกจากกันให้วุ่นวายเล่นก็ไม่รู้ เวลาแปลคำว่าชื่อเกาหลี ก็เอาตามนั้นเลยครับว่า 한국 이름(ฮัน-กุก อี-รึม: ชื่อเกาหลี) อ้อ เกาหลีแปลจากหลังมาหน้าเน้อ จำได้บ่

Q: เฮ้อ จบซะที
A: ใครบอก!!! 세워 좀 도와 주세요 เนี่ยไม่พูดถึงไม่ได้ครับ ภาษาแม่เข้ามาแทรกแซงระดับที่สุดของที่สุดไปเลย  

세워(เซ-วอ: ตั้ง) 좀(จม: หน่อย) 도와(โท-วา: ช่วย) 주세요[จู-เซ-โย: (ช่วย)...หน่อย / กรุณา...]

เมื่อกี้บอกว่าแปลจากหลังไปหน้าก็จริง แต่เวลาแปลก็อย่างงเรื่องตำแหน่งนะครับ เพราะคำขยายกริยาบ้านเรามันมาหลังกริยา เพราะฉะนั้น ไม่ว่าคำขยายกริยามันจะอยู่ลำดับไหนก็ตาม เวลาแปลมาเป็นภาษาไทยมันจะถูกวางไว้หลังกริยาเสมอ เพราะฉะนั้น ถ้าเอาตามนั้นมันก็ควรจะแปลว่า "กรุณาช่วยตั้งหน่อย" แต่ เฮ้อ ไม่รู้จะอธิบายยังไงดี ผมคิดว่าปกติ error ระดับนี้มักจะพบเจอในระดับปีสองอ่ะนะครับ ผมขอให้นิยามว่า "ความผิดพลาดทางภาษาอันเกิดจากการลองผิดลองถูกในช่วงที่กำลังจะพ้นระดับต้น" ละกันครับ

Q: แล้วมันผิดตรงไหนครับ?
A: ก็ตรงที่ยัดคำว่า 도와 เข้ามาไงครับ ที่จริงใช้แค่ 좀(หน่อย) 세워(ตั้ง) 주세요[(ช่วย)...หน่อย / กรุณา...] ก็เพียงพอแล้ว อ้อ อย่าลืมนะครับว่า คำว่าตั้งในที่นี้ ใช้คำว่า 세워 ไม่ได้

Q: เฮ้อออ จบจริง ๆ ซะที
A: แน่ใจเหรอครับ ใจร้อนจริง ๆ

Q: ???????????????????
A: เครื่องหมาย ? ท้ายประโยคก็ผิด เพราะ "ตั้งชื่อให้หน่อย" เป็นประโยคขอร้องครับ ไม่ต้องมีเครื่องหมาย ? ถ้าอยากจะใส่เครื่องหมาย ? ให้ได้ แนะนำให้เปลี่ยนคำนิดนึงเป็น 줄 수 있어요?(จุล ซู อิ-เซาะ-โย๊ะ: สามารถ...ให้ได้ไหม) ซึ่งมันจะยาว โอกาสจะผิดพลาดก็เพิ่มเข้าไปอีก ไม่ควรครับ เอาสั้น ๆ ดีกว่า

เพราะฉะนั้น คำว่า "ช่วยตั้งชื่อเกาหลีให้ฉันหน่อย" ถ้าเป็นผม ผมจะพูดว่า 저에게 한국 이름을 좀 지어 주세요(ชอ-เอ-เก ฮัน-กุก อี-รือ-มึล จม จี-ออ จู-เซ-โย) ครับ

Q: จำเป็นต้องเล่นใหญ่ลงพันทิปขนาดนี้ไหม
A: ครับ ผมคิดว่าจำเป็น เพราะอะไร

ก็เพราะว่า สาเหตุที่การศึกษาภาษาเกาหลีในบ้านเรามันไปไม่ถึงไหน ทั้ง ๆ ที่เวลาก็ผ่านไป 30 ปีแล้ว(วิชาภาษาเกาหลีเริ่มเรียนในมหาวิทยาลัยครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์เมื่อปี 2529 ครับ ที่มาจำไม่ได้ แต่ค่อนข้างมั่นใจในข้อมูลครับ) ที่สำคัญคือ ถ้าคนแต่งพิมพ์หนังสือขายเองผมจะไม่ว่าเลย แต่นี่ชื่อสำนักพิมพ์หราอยู่บนหน้าปก ไม่รู้ error ระดับนี้ผ่านบรรณาธิการมาได้ยังไง แถม ในรายชื่อผู้แต่งมีชื่อคนเกาหลีอยู่ด้วย ระดับก็ไม่น่าธรรมดา เพราะผมเคยใช้พจนานุกรมที่แกเรียบเรียงอยู่ตอนปี 1 และก็เหมือนจะมีผลงานเป็นระยะ ๆ ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา แต่ทำไม ปล่อยให้หนังสือที่มีชื่อตัวเองอยู่บนปกเป็นอีหรอบนี้ได้

และบอกเลยว่าไม่ใช่เล่มเดียวนะครับ พอผมช๊อคกับเล่มแรกปุ๊บ ก็ลองหาอีกเล่ม ดูซิว่า เกิดอะไรขึ้น แล้วก็เจอแบบนี้ครับ



ชื่อหนังสือประมาณว่า "นี่ เดี๋ยวฉันจะสอนให้พูดภาษาเกาหลีแบบ native" แต่เปล่าเลย ผมว่ามันดูอีเหละเขะขะมาก คือผมงงว่านี่คืออยู่บนเครื่องบินนะครับ    แทนที่จะขอน้ำเพื่อทานยาก่อนอาหาร แต่นี่ขออาหารเพื่อจะได้กินยา ทั้ง ๆ ที่พอเครื่องขึ้นไปแป๊บ ๆ อาหารก็ออกมาแล้ว ... หรือจะเป็นโรคกระเพาะ แต่เพื่อนผมที่เป็นโรคกระเพาะเขาก็จะพกขนมปังติดตัวตลอด กันพลาด อันนี้ไม่แน่ใจว่าผมไม่เข้าใจเอง หรือคนเขียนวางเรื่องไม่ดีกันแน่นะครับ

แต่เรื่องที่ให้อภัยไม่ได้คือ แปลประโยค "ไม่งั้นยาจะกัดกระเพาะ" เป็นภาษาเกาหลีว่า "배가 아플지도 몰라요" เพราะในนั้นไม่มีคำว่า ยา, กัด หรือ กระเพาะเลย เขาเลือกใช้คำว่า "ปวดท้อง" หรือ "배가 아프다" แทน ซึ่งผมมองว่าปวดท้องก็มาจากหลายสาเหตุอ่ะนะครับ แน่นอนจะปวดเพราะกรดกัดกระเพาะก็ไม่แปลก แต่ในเมื่อประโยคต้นทาง(ภาษาไทย)ชี้เฉพาะขนาดนี้ แต่กลับแปลเป็นประโยคปลายทางโดยใช้คำกว้าง ๆ ผมว่าไม่โอเค ที่สำคัญไวยากรณ์ (으)ㄹ지도 몰라요 มันบอกถึงความไม่แน่ไม่นอน อาจจะใช่ หรืออาจจะไม่ บางทีอาจไม่ใช่ 50/50 ด้วยซ้ำ

อยากฝากถึงบรรณาธิการสำนักพิมพ์ทุกสำนักนะครับ ถ้าเป็นเรื่องที่ตนเองไม่ถนัด ขอคำปรึกษาผู้เชี่ยวชาญนิดหน่อยก็ดีนะครับ อย่างภาษาเกาหลีนี่มี ผศ. ตั้งเยอะแยะ อีกแป๊บ ๆ ก็จะมี ศ. คนแรกแล้ว หรือถ้าไม่อย่างนั้น แถว ๆ มศว. ก็มีคนเกาหลีที่มาเรียนภาษาไทยเยอะแยะ เอาไปให้เขาดูให้หน่อยก็ไม่เสียหายมั้งครับ ดีกว่าเอาชื่อเสียงที่กว่าจะสะสมได้มา มาแลกกับคำด่ากองโตเยอะนะครับ

แล้วแต่จะพิจารณาครับ

ปล1. ผมเป็นอาจารย์สอนภาษาเกาหลีในมหาวิทยาลัยก็จริง แต่ก็ยังต้องพัฒนาอีกเยอะ ผมบอกแล้วว่าผมไม่ได้อยากจะดิสใคร แต่ปากผมก็เป็นแบบนี้ ผมอาจจะไม่ได้ถูกไปเสียหมด แต่อย่างน้อย ผมคิดว่าการที่ผมออกมาวันนี้ อาจจะเปลี่ยนแปลงการศึกษาภาษาเกาหลีในบ้านเราให้ดีขึ้นได้ แม้จะแค่นิดเดียวก็ยังดี

ปล2. ตามเนื้อหาในข้อที่ 1 หากใครเห็นต่าง เข้ามาคุยกันได้ครับ ผมพร้อมจะเรียนรู้

ปล.3 ย้ำอีกทีว่าไม่ได้ดิสใคร ใครที่ไม่รู้ว่าผมเอามาจากไหน ก็ไม่ต้องพยายามหาว่าหนังสือชื่ออะไร ค่ายไหน แต่ถ้าเผอิญใครซื้อหนังสื่อที่ผมว่ามาแล้ว หลังจากอ่านบทความนี้จบก็แล้วแต่อัธยาศัยครับ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่