พวกนิยมยึดถือตำราพระอภิธรรมปิฎกแสดงว่า จิตเกิดดับอยู่เสมอ ไม่คงที่อยู่ได้ กลับเป็นเรื่องเหลวแหลกไปอีก???

จิต ที่จัดว่าเป็น ผู้รู้ นี้เป็นนามธรรม เรียกว่าคนหรือสัตว์โลก ไม่ปรากฏรูปร่างเหมือนอย่างรูปธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม (อากาศ)
และรูปวัตถุต่างๆ ณ ภายนอกนั้นไม่


แต่คนทุกคนรู้ว่ามีจิต ก็เพราะจิตนั้นเองเป็นผู้รู้ จิตนี้เป็นฐานที่ตั้งแห่งความบริสุทธิ์ และความไม่บริสุทธิ์


แต่ความบริสุทธิ์เป็นลักษณะประจำธรรมชาติของจิต แปลว่า ธรรมชาติจิตมีความบริสุทธิ์เป็นลักษณะประจำตัวส่วนความเศร้าหมองไม่บริสุทธิ์ด้วยมลทิน คือ กิเลสนั้น เกิดขึ้นภายหลังจึงต้องกำจัดให้ออกไป ไม่ใช่สมบัติลักษณะเดิมของจิต


ตามพระพุทธภาษิตว่า
ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ
ภิกษุทั้งหลาย จิตนี้บริสุทธิ์เป็นประภัสสรเปล่งปลั่ง แต่ว่าจิตนั้นอันอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาทำให้มัวหมอง เสียความบริสุทธิ์ไปเมื่อภายหลัง ดังนี้


อีกบทหนึ่งว่า
จิตฺตสงฺกิเลสา ภิกฺขเว สตฺตา สงฺกิลิสฺสนฺติ
จิตฺตโวทานา สตฺตา วิสุชฺฌนฺติ
ตสฺมาติห ภิกฺขเว อภิกฺขณํ สกํ จิตฺตํ ปจฺจเวกฺขิตพฺพํ
ทีฆรตฺตมิทํ จิตฺตํ สงฺกิลิฏฺฐํ ราเคน โทเสน โมเหนาติ ดังนี้ แปลว่า


ภิกษุทั้งหลาย
สัตว์ทั้งหลาย (สามัญชน)จักเศร้าหมอง(คนไม่ดี) ก็เพราะจิตของเขาเศร้าหมอง
สัตว์ทั้งหลายจักบริสุทธิ์ (คนดี) ก็เพราะจิตของเขาบริสุทธิ์ผ่องแผ้ว
เพราะเหตุนั้นแหละ ภิกษุทั้งหลาย
พวกท่านทุกคนควรพิจารณาจิตของตนเองเนืองๆบ่อยๆว่า
จิตนี้เศร้าหมองด้วยราคะ โทสะ โมหะ มาตลอดกาลนานไกล ดังนี้

เนื้อความในพระพุทธภาษิตที่ยกมานี้ ชวนให้คิดเห็นว่า จิตเป็นสภาพที่ถาวรมั่นคง ย่อมทรงความบริสุทธิ์และความไม่บริสุทธิ์ไว้ได้นานๆ และเป็นส่วนที่ศักดิ์สิทธิ์ยิ่งกว่าส่วนต่างๆบรรดามีในโลก


แต่พวกนิยมยึดถือตำราพระอภิธรรมปิฎกแสดงว่า จิตเกิดดับอยู่เสมอ ไม่คงที่อยู่ได้ กลับเป็นเรื่องเหลวแหลกไปอีก ไม่เป็นที่ตั้งแห่งความบริสุทธิ์และเศร้าหมอง ได้ดับไปแล้ว ความบริสุทธิ์และเศร้าหมองนั้น ก็พลอยดับไปด้วย


แต่ในทางพระสูตร จิตเกิดดับไม่มี ใช้กิริยาจิตเป็นวิมุตติกับวิโมกข์ แปลว่าหลุดพ้น เท่านั้น


จิตเป็นนามธรรมไม่ปรากฏรูปร่าง สิ่งใดเกิดดับได้ สิ่งนั้นต้องแสดงตัวให้ปรากฏเป็นรูปร่างในวิถีทางทั้ง ๖ คือ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และมโนทวาร และทางทั้ง ๖ นี้ เป็นเครื่องมือของจิตสำหรับรับอารมณ์ ณ ภายนอก ไม่ใช่สำหรับจะดูจิตตรวจตราจิต ณ ภายใน


จิตรูปร่างเป็นอย่างไรจึงรู้ว่ามันเกิดดับ ต้องมีผู้รู้เห็นจิตขึ้นอีกอย่างหนึ่ง จิตกลับเป็นสิ่งที่ถูกรู้ ถูกตรวจ จิตก็เป็นผู้รู้อยู่แล้ว ไม่มีอะไรที่จะเอามาเป็นผู้รู้จิตอีก


จิตเป็นตัวธรรมแท้ เมื่อได้ความบริสุทธิ์ถึงขีดสุด พ้นจากกิเลสสัญโยชนธรรมแล้วก็สงบเหมือนน้ำลงสู่เส้นระดับราบ เรียกว่า สันติธรรม หรือนิพพานธรรม


จิตไม่มีการเกิดดับ เกิดดับแต่อารมณ์ของจิตที่เข้ามาโดยวิถีทางทั้ง ๖ และเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ซึ่งเป็นกิริยากรรมของจิตหรือพลังงานของจิตเท่านั้น กิริยากรรมทุกอย่าง ย่อมเกิดดับ และธรรมชาติจิตมีความบริสุทธิ์อยู่เป็นเดิม กิเลสเครื่องมัวหมองเศร้าหมอง เกิดซับเสริมกันขึ้นเมื่อภายหลังจึงสามารถปฏิบัติกำจัดเข้าถึงความบริสุทธิ์ได้


เหมือนผ้าที่บริสุทธิ์สะอาด แต่เมื่อใช้ไปก็มีมลทินสิ่งโสโครกจับเกรอะกรังก็เศร้าหมองไป ซักฟอกแล้วก็บริสุทธิ์เป็นลักษณะเดิม


น้ำ...ธรรมชาติของมัน บริสุทธิ์สะอาดแต่เมื่อถูกประสมก็แปรรูปเป็นเศร้าหมอง เป็นไปตามสิ่งที่มาประสม หอมก็ได้ เหม็นก็ได้ เสียความบริสุทธิ์สะอาดไป เมื่อเอาน้ำนั้นไปกลั่นกรองได้ที่แล้ว ก็ได้ความบริสุทธิ์เท่าเดิม ฉันใด จิตของเราก็ฉันนั้น ดังนี้ ฯ


------- เปมงฺกโร ภิกฺขุ-------- >>

จากหนังสือชุมนุมบทความของ
หลวงปู่เปรม (เปมงฺกโร ภิกขุ) วัดบรมนิวาส
กรุงเทพมหานคร

"จากหลักฐานในพระสูตรพระไตรปิฏกอธิบายว่า
  จิตเดิมแท้ ได้แก่ ปฐมวิญญาณ หรือ ปุริมวิญญาณ
  คำว่า"จิต"มาจากรากศัพท์ภาษาบาลีว่า"จิตตัง"ร้องไห้หมายถึงจิตเดิมแท้)
ในพระพุทธบัญญัติได้ทรงบัญญัติคำนี้เพื่อใช้ในความหมายเฉพาะ
  เพื่อให้มีความหมายเดียวตายตัว และให้แตกต่างออกไปจากคำว่า"วิญญาณ"
  คำว่า"วิญญาณ"ในภาษาบาลีมีความหมาย 2 อย่างคือ
  1. ปฐมวิญญาณ หรือ ปุริมวิญญาณ(หมายถึงจิตเดิมแท้)
  เป็นธาตุแท้ในกลุ่มธาตุแท้(อสังขตธาตุ)ทั้ง 6 ธาตุ คือ
  ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ และวิญญาณ ซึ่งเป็นสิ่งธรรมชาติ ไม่มีปัจจัยสร้างขึ้น
  ไม่มีการเริ่มต้น ฉนั้นจึงไม่สูญสลาย สิ่งใดไม่มีการเริ่มต้น สิ่งนั้นย่อมไม่มีการสิ้นสุด
  คงอยู่ตลอดไป(อนันตัง)
  2. วิถีวิญญาณ หมายถึงวิญญาณทางทวารทั้ง 6 สำหรับรับรู้อารมณ์เป็นสื่อสัมผัส

สิ่งนี้มีลักษณะของการเกิดและการดับ เหมือนสังขารทั้งหลาย"

***หมายเหตุ ยกมาให้ดู ว่าปริยัติ ก็ขัดแย้งกันได้ อิอิ ถ้าปฏิบัติก็จะหมดสงสัย ****
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่