CAT จับมือ บ.สื่อสารจีน China Telecom มุ่งสู่ “ASEAN Digital Hub”


CAT จับมือ บ.สื่อสารจีน China Telecom มุ่งสู่ “ASEAN Digital Hub”

          กระทรวงไอซีทีหนุน CAT เดินหน้าร่วมมือกับ “China Telecom Global” เสริมความแข็งแกร่งขยายโครงข่ายระหว่างประเทศมุ่งสู่ “ASEAN Digital Hub”

          เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน ที่ผ่านมา ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) ซึ่งได้ร่วมคณะเดินทางพร้อมกับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ร่วมหารือองค์กรภาครัฐและเอกชนของจีน สร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ไทย-จีน ระหว่างการเดินทางเยือนกรุงปักกิ่งและนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน อย่างเป็นทางการ ต่อเนื่องตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจไทยสู่ระดับภูมิภาคมุ่งเน้นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมสู่ผู้นำกลุ่มอาเซียน โดยบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT  นำโดย ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวินกรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ร่วมกับ นายเซี่ยวเหว่ย (Mr.Xiao Wei) รองประธานบริหาร บริษัท China Telecom Global Limited หรือ CTG หนึ่งในผู้นำระดับโลกด้านโทรคมนาคมและเป็นผู้ให้บริการรายใหญ่ของประเทศจีน ลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อร่วมกันศึกษาแนวทางจัดสร้างระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศระบบใหม่ และระบบเคเบิลภาคพื้นดินจากประเทศไทยไปยังเขตปกครองพิเศษฮ่องกง โดยมี ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ ดร.อุตตม สาวนายนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที ร่วมเป็นสักขีพยาน    




          การลงนาม MOU ดังกล่าว สอดคล้องกับเป้าหมายกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในการผลักดันการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อรองรับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทย มุ่งพัฒนาขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ โดยด้านการเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายอินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศนั้น กระทรวงไอซีทีเน้นส่งเสริมเสถียรภาพโครงข่ายด้วยการเพิ่มความหลากหลายของระบบเชื่อมโยงระหว่างประเทศให้มากขึ้น จากเดิมที่ปริมาณข้อมูลส่วนใหญ่อาศัยการเชื่อมต่อกับสิงคโปร์และมาเลเซียเป็นหลัก โดยการเชื่อมต่อกับฮ่องกงในครั้งนี้ จะเป็นการเพิ่มเส้นทางในการส่งผ่านข้อมูลไปยังภูมิภาคต่าง ๆ และสามารถบริหารประสิทธิภาพโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมในภูมิภาคได้ดียิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของปริมาณการแลกเปลี่ยนข้อมูลดิจิทัล และผลักดันประเทศไทยไปสู่การเป็นศูนย์กลางดิจิทัลของภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Digital Hub)

          โดยความร่วมมือกับ CTG ในครั้งนี้เป็นอีกหนึ่งก้าวในการผลักดันแผนงานที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ของกระทรวงไอซีทีให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม  ต่อเนื่องจากการสนับสนุนการลงนามความร่วมมือระหว่าง CAT และ ทาทา คอมมิวนิเคชั่นส์ ในการพัฒนาโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศไทยและอินเดีย โดยความร่วมมือที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้จะช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อระดับภูมิภาคอย่างแท้จริงจากการเชื่อมโยงระบบเคเบิลภาคพื้นดินประสิทธิภาพสูงที่เชื่อมโยงทั้งในกลุ่มประเทศอินโดจีนและเชื่อมต่อยาวไปจนถึงฮ่องกง รวมถึงการเชื่อมต่อกับระบบเคเบิลใต้น้ำผ่านทั้งด้านตะวันตกฝั่งทะเลอันดามัน และด้านตะวันออกฝั่งอ่าวไทยไปยังภูมิภาคต่างๆ ได้ทั่วโลก ซึ่งประเทศไทยจะพร้อมรองรับผู้ให้บริการ Content รายใหญ่ระดับโลกที่จะมาลงทุนจัดวางระบบในประเทศไทยซึ่งมีความพร้อมทั้งในด้านตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ และระบบการสื่อสารโทรคมนาคมครบวงจร

          ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที กล่าวเสริมว่า “ก่อนหน้านี้ รองนายกรัฐมนตรีและคณะ ได้ร่วมประชุมกับผู้บริหารของมหาวิทยาลัยชิงหัว เพื่อหารือแนวทางการพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยี ในมหาวิทยาลัย โดยมีการนำเสนอโมเดลของบริษัท TUS-Holdings ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของมหาวิทยาลัย เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีของจีน ได้มีการลงทุนธุรกิจ หรือร่วมธุรกิจกับพันธมิตร  ในต่างประเทศ ซึ่งเราเองก็ได้เชิญชวนให้ TUS-Holdings มาร่วมลงทุนกับผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในประเทศไทยด้วยเช่นกัน”

          พร้อมกันนี้ ผู้บริหาร Baidu ซึ่งเป็นบริษัทแนวหน้าของจีนด้านการพัฒนาApplications และ Search engine เข้าพบรองนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงไอซีที รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และคณะ โดยได้หารือแนวทางการพัฒนาธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทย เพื่อต่อยอดการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) สำหรับภาคธุรกิจไทย ภายหลังจากที่ได้จัดตั้งสำนักงานในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2011 โดยรองนายกรัฐมนตรีได้ฝากให้  Baidu พิจารณาสนับสนุนและส่งเสริมการตลาดสำหรับสินค้าไทยจาก SME ชุมชนให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศระดับโลกมากขึ้น โดยเฉพาะตลาดจีนที่มีความสนใจสินค้าไทย ซึ่ง Baidu มีความยินดี โดยเสนอว่าหากมีผู้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า SME ไทย หรือ Web Portal ก็จะเป็นประโยชน์ต่อการนำเสนอข้อมูลสินค้านั้นๆ ทางช่องทางออนไลน์ในรูปแบบซึ่งเป็นที่สนใจของชาวจีนได้

          ทั้งนี้ ในประเด็นดังกล่าวกระทรวงไอซีทีจะมอบให้สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA เป็นผู้ประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งปัจจุบันกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เริ่มหารือความร่วมมือกับ Baidu ในการจัดทำข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวไทยเพื่อการค้นหาบนระบบ Baidu Map ในภาษาอื่นๆ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับแหล่งท่องเที่ยวไทยได้อย่างแพร่หลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะเป็นการต่อยอดในเรื่องของการพัฒนาสินค้าชุมชนในธุรกิจการท่องเที่ยวต่อไป


แหล่งข่าว
ADSLTHAILAND.COM http://bit.ly/294SyQh
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่