'สรรพชัย' นั่งซีอีโอกสทฯสั่งลุย 'โมบาย-4จี'


'สรรพชัย' นั่งซีอีโอกสทฯสั่งลุย 'โมบาย-4จี'
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559

          มติบอร์ดกสทฯประกาศชื่อ"สรรพชัย"นั่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ หลังเข้าสู่กระบวนการสรรหามาตั้งแต่เม.ย.ที่ผ่านมา แสดงวิสัยทัศน์ผ่านฉลุย เตรียมส่งชื่อรายงานผลต่อกระทรวงคลังต่อไป ระบุแผนธุรกิจ ซีอีโอคนใหม่ยังเน้นโฟกัสธุรกิจโมบายไร้สาย เพิ่มเอ็มวีเอ็นโอลุย 4จีต่อ หวังรายได้ปีนี้เฉียด 5.3 หมื่นล้านบาท

          วานนี้ ( 7 มิ.ย.) คณะกรรมการบมจ.กสท โทรคมนาคม มีมติประกาศชื่อ พ.อ.สรรพชัย หุวะนันทน์ ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ โดยขั้นตอนจากนี้จะส่งผลการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ดังกล่าวไปยัง คณะกรรมการพิจารณาค่าตอบแทน และส่ง รายงานต่อกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้น ใหญ่ คาดจะรับตำแหน่งเป็นทางการอีก 1 เดือนต่อจากนี้

          อย่างไรก็ดี กระบวนการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา หลังประกาศรับสมัครกรรมการผู้จัดการใหญ่ ล้มเหลวถึง 2 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2557 แต่ไม่มีผู้สนใจลงสมัคร ต่อมาครั้งที่ 2 มีผู้สมัครเพียงคนเดียวแต่ไม่ผ่านการพิจารณาคัดเลือกคุณสมบัติ เบื้องต้น ทั้งนี้ พ.อ.สรรพชัย ดำรงตำแหน่ง กรรมการกสท โทรคมนาคม และรักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่มาตั้งแต่ที่นายกิตติศักดิ์ ศรีประเสริฐ กรรมการผู้จัดการใหญ่คนล่าสุดได้ยื่นหนังสือลาออกไปตั้งแต่เดือนก.ย.ปี 2557

          โดยก่อนหน้านี้ พ.อ.สรรพชัยวางแนวทางธุรกิจ กสทฯ ปี 2559 มุ่งธุรกิจโมบาย ซึ่งปีที่ผ่านมา ทำรายได้กว่า 50% โดยจะเร่งเจรจาพันธมิตรเพื่อเปิดให้บริการ 4จี พร้อมเพิ่มผู้ให้บริการโครงข่ายเสมือนรายย่อยใหม่ (เอ็มวีเอ็นโอ) ช่วยในการขายต่อ และสร้างผู้เล่นในอุตสาหกรรมสื่อสารโทรคมนาคมมากขึ้น ทำให้ "มาย" มีความแข็งแกร่งมากขึ้น

          กลุ่มธุรกิจไร้สายยังเป็นรายได้หลักขององค์กร คาดว่าปี 2559 จะทำรายได้ราว 24,800 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากรายได้การขายส่ง เอ็มวีเอ็นโอ ซึ่งปรับลดลงเล็กน้อยในส่วนของขายส่งให้กับเรียลฟิวเจอร์ ขณะที่บริการมายมีแนวโน้มทำรายได้สูงขึ้น บวกกับบริการเกี่ยวเนื่อง กับโครงข่ายที่สร้างรายได้ต่อเนื่อง

          สำหรับเป้าหมายผลประกอบการปี 2559 รายได้หลักยังมาจากการขายส่งความจุโครงข่าย เอชเอสพีเอในธุรกิจโมบาย คาดว่าจะมีรายได้ 52,800 ล้านบาท

          นอกจากนี้ พ.อ.สรรพชัย ยังเป็นผู้รับผิดชอบ โครงการแผนพัฒนาไฟเบอร์ออพติกใยแก้ว นำแสงใต้น้ำ(ซับมารีน เคเบิล) ตามนโยบายดิจิทัล ไทยแลนด์ โดยเป็นผู้กำหนดว่าแผนระยะ สั้น ระยะกลางและระยะยาวนั้น กสทฯ ต้องการพัฒนาซับมารีน เคเบิลให้มีกี่เส้นทาง เชื่อมกับภูมิภาคใดบ้าง และใช้เส้นทางใดเป็นเส้นทางหลัก เพื่อเชื่อมต่อไปยังต่างประเทศ เพราะรัฐบาลเล็งเห็นว่าปัจจุบันอุตสาหกรรมที่จะผลักดันให้เกิดดิจิทัลอีโคโนมีได้นั้นต้องสร้างโครงข่ายในประเทศให้มีความแข็งแกร่ง

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กสทฯ เตรียมความพร้อม ทำการตลาดในรูปแบบของธุรกิจที่มีความ หลากหลาย ด้านโครงข่ายระดับภูมิภาคที่พร้อมเป็นฮับในอินโดไชน่า สำหรับโครงข่ายหลักนั้น กสทฯ มีระบบเคเบิลใต้น้ำระหว่างประเทศเชื่อมโยงในกลุ่มประเทศอาเซียนถึง 4 ระบบ รวมไปถึงการพัฒนาโครงข่ายภาคพื้นดินตามเขต แนวชายแดนกับลาว กัมพูชา พม่า และมาเลเซีย อีกทั้งการสร้างศักยภาพในกลุ่มประเทศ อินโดจีนระหว่างรัฐบาล (จีทูจี) ทั้งลาว กัมพูชา พม่า เวียดนาม และจีน

          ขณะนี้ กสทฯ ได้ลงทุนในระบบเคเบิลใต้น้ำ ระบบใหม่คือระบบเอเชีย แปซิฟิกเกตเวย์ (เอพีจี) ซึ่งจะเสร็จในปี 2558 แต่ปัจจุบันประสบปัญหาเรื่องจุดขึ้นบกที่ประเทศจีน ทำให้ต้องเลื่อนการเปิดบริการเป็นต้นปี 2559 โครงการดังกล่าว นับเป็นการลงทุนเริ่มต้นที่มีมูลค่าสูงราว 1,500 ล้านบาท แต่จะสร้างรายได้ในระยะยาวโดยจะรองรับความต้องการในอาเซียน และประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก รวมถึงจีน ไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลี ระบบนี้รองรับความจุกว่า 55 เทราบิต


แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2559 (หน้า 3)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่