วิปัสสนาจารย์ผู้แจ้งในจิตและจักรวาล หลวงปู่อธิบายละเอียดมากๆ!!!


วิปัสสนาจารย์ผู้แจ้งในจิตและจักรวาล
หลวงปู่ดูลย์ อตุโล หรือ พระราชวุฒาจารย์ เป็นปรมาจารย์ทางวิปัสสนาที่เด่นที่สุดองค์หนึ่งในยุคนี้ ท่านเป็นศิษย์สำคัญรุ่นแรกของหลวงปู่มั่น ภูริทัตตเถระ ท่านคืออดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพาราม จังหวัดสุรินทร์ และอดีตเจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ฝ่ายธรรมยุต ประเทศไทย

แม้ท่านจะมรณภาพไปแล้วตั้งแต่ปี พ.ศ. 2526 แต่ท่านได้ฝากคำสอนที่ล้ำค่าไว้ จึงนับเป็นบุญกุศลสูงสุดแก่ผู้ได้ยินได้ฟังหรือได้อ่านคำสอนของท่าน เพราะสิ่งที่ท่านเทศน์สอน กล่าวได้ว่าเป็นสัจธรรมสูงสุด ที่ท่านได้รู้แจ้งประจักษ์จริง และนำมาเปิดเผยตีแผ่สอนเหล่าสานุศิษย์ให้มีโอกาสได้เข้าใจในธรรม
ลักษณะที่เด่นที่สุดในคำสอนของท่านคือ ผู้ฟังหรือผู้อ่านจะทราบได้ทันที่ว่า ท่านเทศน์สอนไม่เหมือนใคร ท่านจะพูดแต่เรื่องจิตล้วนๆ คำสอนของท่านสั้นแต่กินความลึกซึ้ง บางครั้งอาจต้องกลับมาอ่านหรือฟังทบทวนอีกเพื่อทำความเข้าใจกับข้อความนั้นๆ เพราะเป็นเรื่องที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อน และเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ทางจิต ซึ่งอยู่เหนือสมมติบัญญัติ ความคิดหรือความรู้สามัญทั่วไป

ธรรมชาติของจิตนั้น เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เข้าใจได้ยาก เพราะจิตไม่มีรูปร่าง แต่ชอบท่องเที่ยวไปไกล ดังพระพุทธพจน์ที่กล่าวถึงจิต ไว้ว่า

“ทูรงฺคมํ เอกจรํ อสรีรํ คูหาสยํ
เย จิตฺตํ สญฺญเมสฺสนฺติ โมกฺขนฺติ มารพนฺธนา ”

“จิตท่องเที่ยวไปไกล เที่ยวไปดวงเดียว ไม่มีรูปร่าง อาศัยอยู่ในร่างกายนี้
ใครควบคุมจิตนี้ได้ ย่อมพ้นจากบ่วงมาร”

ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่ยากในการอธิบายถึงจิต ซึ่งปราศจากรูปร่างหน้าตา หลวงปู่ดูลย์ท่านได้กรุณาอธิบายถึงจิตไว้อย่างละเอียดลออว่า

“มันไม่ใช่เป็นของมีสีเขียว หรือสีเหลือง และ ไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งการปรากฏ ไม่ถูกนับรวมอยู่ในบรรดาสิ่งที่มีการตั้งอยู่ และ ไม่มีการตั้งอยู่ ไม่อาจจะลงความเห็นว่า เป็นของใหม่หรือของเก่า ไม่ใช่ของยาวหรือของสั้น ของใหญ่หรือของเล็ก”

“จิตของเรานั้น ถ้าเราทำความสงบเงียบอยู่จริงๆ เว้นขาดจากการคิดนึก ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของจิตแม้แต่น้อยที่สุดเสียให้ได้จริงๆ ตัวแท้ของมันจะปรากฏออกมาเป็นความว่าง แล้วเราจะได้พบว่า มันเป็นสิ่งที่ปราศจากรูป มันไม่ได้กินเนื้อที่อะไรๆ ที่ไหนแม้แต่จุดเดียว มันไม่ได้ตกลงสู่การบัญญัติว่า เป็นพวกที่มีความเป็นอยู่ หรือไม่มีความเป็นอยู่ แม้แต่ประการใดเลย เพราะเหตุที่สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่เรารู้สึกไม่ได้โดยทางอายตนะ”

“หลักธรรมที่แท้จริงก็คือ จิต นั่นเอง ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้ว ก็ไม่มีหลักธรรมใดๆ จิต นั่นแหละคือหลักธรรม ซึ่งถ้านอกไปจากนั้นแล้ว มันก็ไม่ใช่จิต จิต นั้นโดยตัวมันเอง ก็ไม่ใช่ “จิต”

แต่ถึงกระนั้น มันก็ยังไม่ใช่ “มิใช่จิต” การที่กล่าวว่า จิตนั้นมิใช่จิต ดังนี้นั้นแหละ ย่อมหมายถึงบางสิ่งบางอย่างที่มีอยู่จริง สิ่งนี้มันอยู่เหนือคำพูด ขอจงเลิกละการคิดและการอธิบายเสียให้หมดสิ้น เมื่อนั้น เราอาจกล่าวว่า คลองแห่งคำพูดก็ได้ถูกตัดขาดไปแล้ว และพฤติของจิตก็ได้ถูกเพิกถอนโดยสิ้นเชิงแล้ว”
“พระพุทธเจ้าทั้งปวง และสัตว์โลกทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรเลย นอกจากเป็นเพียง จิตหนึ่ง นอกจากจิตหนึ่งแล้ว มิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย จิตหนึ่ง ซึ่งปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้น และไม่อาจถูกทำลายได้เลย”

ตามหลักวิทยาศาสตร์ พลังงาน ไม่อาจถูกสร้างขึ้น หรือ ถูกทำลายได้เลย เพียงแต่แปรเปลี่ยน (Transform) รูปลักษณ์ไปเท่านั้น หากเปรียบเทียบ จิต ว่าเป็นพลังงานประเภทหนึ่ง ก็อาจนำมาประยุกต์ทำความเข้าใจกับความหมายข้างต้นได้บ้าง

ในการปฏิบัติอบรมจิต ถ้ายิ่งพยายามหาเหตุผลอธิบายสภาพของจิต จะยิ่งสับสน และยิ่งสร้างความสงสัย (วิจิกิจฉา) มากขึ้น กลับกลายเป็นอุปสรรค (นิวรณ์) ในการเจริญจิตให้ก้าวหน้าต่อไป เพราะมัวไปติดอยู่ในความคิด หรือ การเคลื่อนไหวของจิต ตามพื้นฐานความรู้สมมติบัญญัติที่ตนเคยเรียนรู้มาเท่านั้น
แต่หากเพียงทำความรู้สึกตัว รู้ซื่อๆ เอาจิตดูจิต นั่นคือ อาศัยสติเฝ้าดูจิต รู้เท่าทันการเคลื่อนไหวของจิต คือ ความคิด โดยรู้สดๆ รู้เฉยๆ (สวสํเวทนา) รู้ล้วนๆ แต่อย่าให้ไปรู้อะไรโดยเฉพาะเข้า รู้โดยไม่รู้อะไรเลย (Unknowing knowing)

สภาพที่แท้จริงของจิตก็จะปรากฏออกมาให้เห็นเองว่า เป็นความว่าง ปราศจากรูปร่าง ปรากฏให้เห็นเป็นสัจจะซึ่งหลักธรรมที่แท้จริง เหนือสมมติบัญญัติทั้งหลายทั้งปวง เห็นซึ่งความเป็นพุทธะของจิต ว่าจิตคือพุทธะ พุทธะก็คือจิต คือ หลักธรรม นั่นเอง

หลวงปู่ดูลย์ท่านก็มีวิธีอธิบายเรื่องที่เราคิดว่ายากให้เป็นของง่าย อาทิ ท่านอธิบาย อริยสัจ 4 ไว้อย่างตรงไปตรงมาว่า
จิตที่ส่งออกนอก เป็นสมุทัย (เหตุให้เกิดทุกข์)
ผลอันเกิดจากจิตที่ส่งออกนอก เป็นทุกข์ (ผล คือ ทุกข์)
จิตเห็นจิต เป็นมรรค (เหตุ คือ ทางดับทุกข์)
ผลอันเกิดจากจิตเห็นจิต เป็นนิโรธ (ผล คือ การดับทุกข์)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่