▼ กำลังโหลดข้อมูล... ▼
แสดงความคิดเห็น
คุณสามารถแสดงความคิดเห็นกับกระทู้นี้ได้ด้วยการเข้าสู่ระบบ
กระทู้ที่คุณอาจสนใจ
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ศาสนา
ศาสนาพุทธ
แสงส่องใจ จาก หนังสือธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ 225 - 228 ค่ะ โดยสมเด็จพระสังฆราช (สกลมหาสังฆปริณายก)
โดยสมเด็จพระสังฆราช (สกลมหาสังฆปริณายก)
แสงส่องใจให้เพียงพรหม
เทศนานิพนธ์
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
แม้เมตตากรุณาจะเริ่มที่ผู้เป็นที่รักโดยเฉพาะก็คือตนนั้นแหละก่อน แต่จะหยุดยั้งเพียงนั้นไม่ได้ เมตตากรุณาที่หยุดยั้งเพียงในตนและในผู้เป็นที่รักของตนจะเป็นโทษได้ภายหลัง ความเห็นแก่ตัวไม่เป็นที่สรรเสริญ ความเมตตากรุณาเฉพาะตนและเฉพาะผู้เป็นที่รักของตนจะเป็นความเห็นแก่ตัวไปได้ในที่สุดแน่นอน คนเมตตาแต่ตัวเองคือคนเห็นแก่ตัว ตรงกันข้ามกับคนมีเมตตา เหมือนสีดำกับสีขาว คนเห็นแก่ตัวหมายถึงคนเห็นแต่ได้ของตัวของพวกตัว ย่อมทำทุกสิ่งทุกอย่างได้ที่จะเป็นประโยชน์เป็นผลได้ของตนและพวกของตน โดยไม่คำนึงถึงผลเสียอื่น ไม่ว่าจะเป็นผลเสียของผู้ใดผู้หนึ่งเพียงเล็กน้อย หรือผลเสียส่วนรวมที่ยิ่งใหญ่เพียงไหน รวมถึงที่ยิ่งใหญ่ขนาดสถาบัน คนเห็นแก่ตัวเช่นนี้เพราะจิตใจจดจ่อมุ่งเมตตาแต่ตนเอง อยากให้ตนเองหรือตัวเราของเราได้ดีมีสุขอย่างนั้นอย่างนี้ ล้วนแต่ที่ดี ๆ เพื่อตนเองและพวกตนเองเท่านั้น ลืมคนอื่นส่วนอื่นหมดสิ้น นึกไม่ถึงแลไม่เห็นถึงความเสียหายเดือดร้อนที่ผู้อื่นส่วนอื่นจะได้รับเพราะความเห็นแก่ตัวของตน ความเห็นแก่ตัวนี้จะว่าเป็นความรู้มากเอาเปรียบก็ได้ เพราะคนเห็นแก่ตัวมักจะทำสิ่งที่เป็นการรู้มากเอาเปรียบผู้อื่น จะเห็นได้ว่าเมตตาของพรหมหรือเมตตาในพรหมวิหารธรรมนั้นไม่จำกัดขอบเขตเฉพาะตนเองและพวกพ้องของตนเองเท่านั้น แต่จะต้องแผ่ออกไปอย่างกว้างขวางที่สุด ปราศจากขอบเขต ไม่เลือกเขาไม่เลือกเรา เห็นของเขาเป็นของเรา เห็นทุกข์ของเขาเป็นทุกข์ของเรา ปรารถนาให้เขาพ้นจากทุกข์เหมือนที่ปรารถนาให้ตัวเองพ้นจากทุกข์ แต่ก็มิได้หมายความว่าให้ปล่อยใจไปเป็นทุกข์กับคนทั้งหลายหรือกับคนทั้งโลกจึงเรียกว่ามีเมตตา ไม่ใช่เช่นนั้น มีเมตตาเหมายถึงปรารถนาให้คนอื่นเป็นสุขโดยที่ตัวเราเองต้องทำใจของตนให้ได้ก่อน ให้เป็นสุขก่อน แล้วไม่หลงติดอยู่ในความสุขใจของตนจนลืมนึกถึงผู้อื่น
การปรารถนาให้ตนเองและพวกพ้องน้องพี่ของตนเป็นสุขจนเกินขอบเขต คืออย่างผิด ๆ จนกลายเป็นความมักได้เห็นแก่ตัวนั้น ความจริงจะเป็นความเมตตาตนก็ไม่ใช่ เป็นความไม่เมตตาจะถูกกว่า เพราะเท่ากับเป็นการทำให้ต้องไม่เป็นสุข อาจเป็นการพ้นความทุกข์ชั่วระยะ แต่แล้วความมักได้เอาเปรียบเห็นแก่ตัวเห็นแก่ได้จะนำให้ความทุกข์ตามมา ทุกคนชอบคนไม่มักได้ไม่เอาเปรียบเห็นแก่ตัว เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ใดมักได้เอาเปรียบเห็นแก่ตัว ผู้นั้นย่อมไม่เป็นที่ชอบของคนทั้งหลายเป็นอันมาก รวมทั้งคนที่เห็นแก่ตัวและไม่เห็นแก่ตัวทุกคนทุกพวก เมื่อทำตนให้มีผู้ไม่ชอบจะเป็นการเมตตาตนได้อย่างไร เมื่อทำพวกพ้องน้องพี่ให้ไม่เป็นที่ชอบจะเป็นการเมตตาพวกพ้องน้องพี่ได้อย่างไร จะต้องเป็นการตรงกันข้าม คือไม่เมตตา
มีไม่น้อยที่มีความคิดมีความเข้าใจ ว่าไม่ช่วยตนไม่ช่วยพวกพ้องน้องพี่ของตนให้ได้ดีมีสุขแล้วจะไปช่วยใครที่ดีกว่าเหมาะสมกว่า และเมื่อมีความคิดความเข้าใจเช่นนี้แล้วก็ปฏิบัติไปอย่างไม่คำนึงถึงอะไรอื่น ไม่คำนึงถึงความเสียหายใด แม้กระทั่งความเสียหายของสถาบันชาติศาสนาพระมหากษัตริย์ก็ไม่คำนึงถึง ความเข้าใจผิดอย่างยิ่งของผู้หลงคิดว่าการกระทำเช่นนั้นเป็นการแสดงออกซึ่งเมตตาต่อตนและพวกพ้องของตน แต่แม้จะเป็นความเข้าใจผิด เมื่อทำลงไปแล้วผลย่อมเกิด ซึ่งเหมือนเกิดแก่ผู้อื่น แต่ตนและพวกพ้องของตนก็ย่อมไม่อาจพ้นผลนั้นได้ และใช่ว่าจะเป็นผลดีก็หาไม่ เป็นผลร้ายแน่แท้ ขึ้นชื่อว่าความมักได้เห็นแก่ตัว ซึ่งอาจรวมเรียกว่าความมักง่ายก็ได้ ไม่มีผลดีเลย มีแต่ผลร้าย ถ้าความมักได้เห็นแก่ตัวมีผลดีเป็นกรรมดี ก็ย่อมไม่มีการบัญญัติให้ใช้คำว่า มักได้เห็นแก่ตัวให้เป็นการติหนิประณาม
พึงพิจารณาตนให้ดี ดูใจตนให้เห็นชัดแจ้งออกมา ว่ามีความเห็นแก่ตัวที่หลงคิดว่าเป็นเมตตากรุณามากเพียงไหน ยอมรับความจริงแท้แก่ตนแล้วพยายามแก้ อบรมเมตตาที่ถูกต้องแท้จริงให้เกิดขึ้นแทน จนกว่าจะได้รู้สึกว่าสภาพจิตใจเปลี่ยน ใจที่เคยร้อนกระวนกระวายด้วยความคิดรู้มากเอาเปรียบอยากให้ตนและพวกของตนเป็นสุขด้วยการได้มาซึ่งอะไรทั้งนั้นบรรดามีในโลกนี้ จะเปลี่ยนเป็นใจที่สงบ เยือกเย็น เป็นสุข ความสุขใจที่ได้สัมผัสเมื่อสามารถกำจัดความเมตตากรุณาที่ผิดหรือความเห็นแก่ตัวนั้นมีผลเกินกว่าที่จะได้อะไรทั้งหลายอันเป็นวัตถุภายนอกกายมากมายนัก ผู้ไม่รู้จักก็ยากจะอธิบายให้รู้จักได้ชัดเจนจริง หยุดความเห็นแก่ตัวและอบรมเมตตาให้ถูกต้องจริงเสียก่อน จึงจักได้รู้จักความสุขเยือกเย็นอันเป็นผลของเมตตากรุณาด้วยตนเองแน่นอน
พึงพยายามทำใจให้หยุดห่วงใยตนเองและพวกพ้องน้องพี่จนเกินขอบเขตจนผิดธรรม พึงพยายามทำใจให้เป็นกลางวางเฉยในเมื่อจะเป็นการต้องทำเพื่อตนและพวกพ้องของตน ซึ่งจักเป็นการเบียดเบียนผู้อื่นให้ต้องเดือดร้อนเสียผลประโยชน์ มีวิธีที่จะทำให้รู้ว่าการใดเป็นการเมตตาตนและพวกพ้องของตนผิดการใดไม่ผิด ก็คือให้คิดดูว่าคนดีทั้งหลายจะเห็นด้วยกับการใด จะตำหนิติเตียนการใด การใดคนดีตำหนิได้ การนั้นแม้มุ่งให้เป็นเมตตาก็เป็นเมตตาไม่ถูกต้อง การใดคนดีสรรเสริญ การนั้นถูกแท้