ความสุข-และความทุกข์-ของการเล่นหุ้น

กระทู้สนทนา


" เงิน 1 ดอลลาร์ ที่เก็บได้บนถนนนั้น ให้ความพึงพอใจแก่คุณมากกว่าเงิน 99 ดอลลาร์ ที่คุณได้จากการทำงาน และเงินที่คุณเล่นได้จากวงไพ่ หรือในตลาดหุ้น ก็สอดแทรกเข้าไปในหัวใจคุณในแบบเดียวกัน" นั่นคือ คำกล่าวของ มาร์ก ทเวน  นักเขียนชื่อดังชาวอเมริกัน
ความสุขและความพึงพอใจจากเงินที่ได้จากการพนัน ซึ่งในสายตาของ มาร์ก ทเวน หรือคนทั่วไป รวมถึงการเล่นหุ้นนั้น ช่างมากมายเสียเหลือเกิน และนี่น่าจะเป็นเหตุผลที่คนจำนวนไม่น้อย ที่มีเงินพอสมควร และคนที่มีเงินมาก ต่างก็เข้ามาเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เป็นนิจศีล
แต่ความพึงพอใจที่ "ได้เงิน" เท่านั้น หรือที่ทำให้คน "ติด" อยู่กับการเล่นหุ้น ทำไมคนจำนวนมากที่วนเวียนเล่นหุ้นมายาวนาน แต่โดยรวมแล้วก็ไม่ได้กำไร บางคนขาดทุนด้วยซ้ำ แต่พวกเขาเหล่านั้น ก็ไม่เลิกเล่น อะไรเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนอยากเล่นหุ้นจริงๆ นอกเหนือจากเรื่องเงินที่จะได้ คำตอบ ก็คือ "ความสุขและความพึงพอใจจากการเล่นหุ้น"
การศึกษาทางวิทยาศาสตร์เรื่องของ ความสุขและความพึงพอใจ ของคนเรา น่าจะอธิบายพฤติกรรมของคนที่ชอบ "เล่นหุ้น" ซึ่งในความหมายของผม คือ คนที่ชอบ "เก็งกำไร" นั่นคือ ซื้อๆ ขายๆ หุ้นในระยะเวลาอันสั้นได้ ลองมาดูกันว่าเป็นอย่างไร
การศึกษาเรื่องของความสุข หรือความเพลิดเพลิน หรือความพึงพอใจของคนเรา พบว่ามันเกิดขึ้นใน "สมอง" นั่นก็คือ เวลาที่เรามีความสุข ร่างกายของเราก็จะหลั่งสารบางอย่างไปจับกับตัวจับที่ต่อเข้ากับสมอง เราจะรู้สึก "ชอบ" และ "อยากทำ" อีก  เพราะมัน "มีความสุข "


การดื่มน้ำ การกินอาหาร การมีเซ็กซ์ หรือการออกกำลังกาย เหล่านี้ ร่างกายก็จะ "ส่งสัญญาณ" ผ่านเคมีบางอย่างไปที่ตัวจับเพื่อบอกสมองว่า นี่คือ "ความสุข" และคุณจะอยากทำอีก นี่เป็นเรื่องจำเป็นทางชีววิทยา เพื่อความอยู่รอดของชีวิต และสายพันธุ์ของมนุษย์


ยาเสพติดเช่น กัญชา ฝิ่น เฮโรอีน บุหรี่ เหล่านี้ มีสารที่ก่อให้เกิด "ความสุข" สูงมาก และเมื่อคนเสพเข้าไปแล้ว ก็จะรู้สึกดีมาก บางครั้งคล้ายจะ "หลุดโลก" นักวิจัยคนหนึ่งเคยทดลองเสพเฮโรอีน เพื่อดูความรู้สึกว่าเกิดอะไรขึ้น เขาถึงกับบอกว่าเหมือนกับการ "ถึงจุดสุดยอดจากการมีเพศสัมพันธ์พันครั้ง" ซึ่งทำให้คนอยากเสพอีก ปัญหา ก็คือ เมื่อเสพไปเรื่อยๆ ความรู้สึกสุดยอดก็จะน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะตัวจับเคมีอาจจะ "ด้าน" ต้องใช้ยาเพิ่มขึ้นๆ จนถึงจุดหนึ่ง "ความสุข" จากการเสพ ก็แทบจะหมดไป ความ "ชอบ" ก็ไม่มีเหลือ เหลือแต่ "ความต้องการ" คือ ถ้าไม่ได้เสพก็จะ "ลงแดง" ถึงจุดนี้ ความ "หายนะ" ก็จะเกิดขึ้นทั้งทางร่างกายและจิตใจ บางคนต้องก่ออาชญากรรมเพื่อให้ได้เงินมาซื้อยา


กิจกรรมบางอย่างของคนเรา ก็ก่อให้เกิดความสุข หรือความพึงพอใจได้ไม่น้อยและบางครั้งและ/หรือบางคนก็ "ติด" ได้เช่นเดียวกัน เช่น การดื่มสุรา การดื่มกาแฟ การเล่นการพนัน เช่น ในบ่อนกาสิโน การเล่นพนันบอล การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ หรือแม้การออกกำลัง หรือการมีเซ็กซ์ ทั้งหมดนี้ พิสูจน์ได้จากการตรวจสอบสารเคมีในสมองของคนที่กำลังทำ ประเด็นสำคัญคือ คนที่ "ติด" ก็คือคนที่ร่างกายมีสารเคมี หรือตัวรับที่ผิดปกติจากคนธรรมดา ที่ทำให้พวกเขาต้องทำมากกว่าคนอื่น เพื่อที่จะมีความสุข หรือความพึงพอใจเท่ากัน ในกรณีต่างๆ เหล่านี้ ยกเว้นสุราแล้ว คนจำนวนไม่น้อยก็สามารถ "เลิก" ได้ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องใช้ยา หรือปรึกษาแพทย์ พูดถึงเรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึง ไทเกอร์ วู้ดส์ นักกอล์ฟชื่อก้องโลกที่เคยบอกว่าเขาเป็นโรค "ติดเซ็กซ์"  และต้องได้รับการบำบัด ทำให้ผมนึกต่อไปว่า คนที่ "ติด" ในเรื่องเหล่านี้ นอกจากเป็นเรื่องของร่างกายแล้ว ต้องอาศัย "สภาวะแวดล้อม" ที่ว่า คุณสามารถเข้าถึงมันได้ง่าย หรืออยู่ใกล้ตัวคุณมาก คุณมีกำลังซื้อพอ และไม่ผิดกฎหมาย ต่างๆ เหล่านี้เป็นต้น


การศึกษาที่น่าสนใจมากอีกเรื่องหนึ่ง คือ "ผลตอบแทน" นั่นคือ การทำอะไรก็ตาม โดย "ธรรมชาติ" มนุษย์น่าจะทำเพื่อให้ได้ผลตอบแทนต่อร่างกายและสืบเผ่าพันธุ์ แต่การทดลองพบว่า ความสุข หรือความพึงพอใจนั้นเกิดขึ้นได้ แม้จะไม่มีผลตอบแทนอะไรมา "ล่อ" พูดง่ายๆ สมองมีการเปลี่ยนแปลงแบบเดียวกันเวลาที่เราทำบางสิ่งบางอย่างทั้งๆ ที่ไม่ได้มีผลตอบแทนอะไรเลยเช่น การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ การทดลองยังพบว่า คนเรานั้น ชอบ "ลุ้น" นั่นก็คือ เราชอบเล่นกับความไม่แน่นอน โดยเฉพาะถ้าเรามีส่วนจะก่อให้เกิดผลตามที่เราต้องการ ตัวอย่างง่ายๆ คือ ความสุข หรือความพึงพอใจที่จะเล่นหวย หรือลอตเตอรี่ จะเพิ่มขึ้นถ้าเรามีสิทธิเลือกเบอร์ที่จะแทง และเรื่องผลลัพธ์ก็มีส่วนต่อความสุข หรือความพึงพอใจที่เกิดขึ้น  


ถ้าผลลัพธ์ออกมาถูกต้อง แน่นอน เราจะมีความสุขมากและอยากเล่นอีก ถ้าผลลัพธ์ "ห่างไกล" ความพึงพอใจก็น้อย แต่ถ้าผลลัพธ์ใกล้เคียงกับตัวที่เราเลือก ซึ่งเราเสียเงินเท่ากัน แต่ผลทางสมองจะแตกต่างกัน เคมีที่เกิดขึ้นนั้น ผมคิดว่าคงไม่ใช่ตัวเดียวกับเคมีความสุขแต่ก็ใกล้กันมาก และทำให้เรา "อยากแทงอีก" พูดภาษาชาวบ้านผมคิดว่า น่าจะเป็นเรื่องความรู้สึก "เจ็บใจ" และเราอยาก "เอาคืน"  


และนั่นทำให้ผมนึกถึงเรื่องการเล่นหุ้น ซึ่งผมคิดว่า เข้าข่ายก่อให้เกิดความสุข หรือความพึงพอใจให้แก่คนเล่นไม่น้อย ข้อแรก คือ เป็นเกมที่มีความไม่แน่นอนสูง ข้อสอง มีผลตอบแทนที่เป็นเงิน "เดิมพัน" ข้อสาม คนเล่นสามารถเลือกหุ้น หรือมีส่วนกำหนดผลลัพธ์ที่จะออกมาได้ในระดับหนึ่ง ที่ค่อนข้างมากเมื่อเทียบกับเกมอื่นๆ ข้อสี่ ผลลัพธ์ที่ออกมา คือ กำไร หรือขาดทุนในหุ้นแต่ละตัว หรือแต่ละครั้ง หรือแต่ละช่วงเวลานั้น จะเป็นเรื่องการผิดพลาดที่ "ใกล้เคียง" กับที่
"แทง" ไว้ ความหมาย คือ  ในยามปกติ นักเล่นหุ้นจะมีได้มีเสียในบางตัว ผลตอบแทนมักจะกลับไปมาตามภาวะของตลาดหุ้น เวลาของการ "ลุ้น" มีอยู่ตลอดเวลา ไม่ใคร่ที่จะมีช่วงเวลาที่เล่นหุ้นแล้วเสียทุกตัว และพอร์ตมีแต่ลดลงต่อเนื่องยาวนาน ยกเว้นในช่วงวิกฤติครั้งใหญ่ ดังนั้น คนเล่นหุ้น แม้จะขาดทุน ก็ยังอยากกลับมาเล่นใหม่อีกเสมอๆ เพราะเขาคง "เจ็บใจ" และอยาก "เอาคืน"


ความสุขที่เกิดจากการ "เล่นหุ้น" ดังที่กล่าวนั้น น่าเสียดายที่ในระยะยาวแล้ว คนเล่นมักจะขาดทุน เพราะคนส่วนใหญ่ ไม่มีความรู้ หรือความสามารถ ที่จะควบคุมผลลัพธ์ที่จะออกมาได้จริง เขาเพียงคิดว่าเขารู้เขาคุมได้ ดังนั้น ในระยะยาว เขาจะต้องเสียค่าคอมมิชชั่น ในการซื้อขายและขาดทุนในส่วนต่างของราคาซื้อและราคาขาย นั่นคือ เวลาซื้อเขาจะต้องซื้อแพงขึ้นเล็กน้อย และเวลาขาย เขาจะขายได้ถูกลงเล็กน้อย แต่ผลจากการซื้อๆ ขายๆ จำนวนมาก เขาจะขาดทุน และนี่คือ ความทุกข์ของการ  "เล่นหุ้น" หนทางหลีกเลี่ยง "กับดัก" นี้ คือ เราต้องเปลี่ยนการเล่นหุ้นเป็น "การลงทุน" ซึ่งจะต้องใช้แนวความคิดอีกชุดหนึ่งของความสุข และความพึงพอใจของคนเรา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่