...แสงส่องใจ... จาก หนังสือธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่ 214 ค่ะ โดยสมเด็จพระสังฆราช (สกลมหาสังฆปริณายก)

ดอกไม้ดอกไม้ดอกไม้  แสงส่องใจ จาก หนังสือธรรมะใกล้ตัว ฉบับที่  214  ค่ะ  ดอกไม้ดอกไม้ดอกไม้

โดยสมเด็จพระสังฆราช (สกลมหาสังฆปริณายก)


นานาของขวัญนานาชอบนานาขอบคุณนานาเรียนนานารดน้ำนานาสวัสดี

หัวใจ  วิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องทางธรรมะ  หัวใจ
พระธรรมเทศนา
ใน
สมเด็จพระญาณสังวร (สุวฑฺฒโน) พระจันทร์
พ.ศ. ๒๕๑๖

วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องทางธรรมะ คือ ปฏิบัติตนโดยลดความโลภ ความโกรธ ความหลง ชื่อว่าถูกต้องในทางที่ดีของโลกด้วย ความโลภ โกรธ หลง  เป็นอย่างไร ทำไมจึงต้องลด จะได้กล่าวต่อไป

ความโลภ อยากจะได้ อยากจะเป็น ในทรัพย์สิ่งของในตำแหน่งของผู้อื่น หรือที่ไม่ควรจะได้จะเป็นของตน

ความโกรธ เคืองแค้น เพราะไม่ได้ดังใจ หรือเพราะขัดใจ ไม่ถูกใจ ไม่ตรงใจ จนถึงจะต้องให้ได้ในทางร้าย หรือจะต้องตอบโต้ในทางร้ายให้สาสมกันหรือยิ่งกว่า

โมหะ หลงใหล ไม่ใช้ปัญญาพินิจให้รู้เหตุผล จึงหลงตนเอง คือไม่รู้จักตนเองตามที่เป็นจริง หลงทาง คือถือเอาทางที่ผิด เดินทางที่ผิด เพราะไม่มีมนสิการ (ใส่ใจพิจารณา) โดยแยบคาย โมหะที่มีเพราะไม่ใช้ปัญญามนสิการโดยแยบคายนี้ เป็นมูลฐานให้โลภ ให้โกรธดังกล่าวมาแล้วด้วย กล่าวรวมกันว่าทั้งสามนี้เป็นกิเลส คือ เครื่องเศร้าหมอง เพราะเป็นมูลเหตุก่อเจตนาให้ประกอบกรรมที่เศร้าหมองคือทุจริตทางกายวาจาใจต่าง ๆ

กิเลสมี ๒ อย่าง คือ จิตกิเลส กิเลสทางใจ  กรรมกิเลส กิเลสทางกรรม  ในทางโลกของฆราวาส ลำพังกิเลสทางใจอย่างเดียวยังไม่เรียกกันว่าเป็นกิเลส ต่อเมื่อเป็นกิเลสทางกรรม (การกระทำ) จึงจะเรียกกันว่าเป็นกิเลส กิเลสของฆราวาส จึงหมายถึงกิเลสทางใจนั่นแหละที่แรงขึ้นจนถึงทำทุจริตต่าง ๆ คือเป็นกิเลสทางกรรมขึ้นแล้ว พระพุทธเจ้าเมื่อตรัสสอนเรื่องกิเลสแก่คฤหัสถ์ ก็ตรัสสอนถึงกิเลสทางกรรมเช่นนี้ และที่ตรัสถึงอกุศลมูล (รากเหง้าของอกุศล) มีความตอนหนึ่งว่า “คนที่โลภโกรธหลงแล้วย่อมก่อทุกข์แก่ผู้อื่นด้วยไม่มีสติ” กรรมที่เศร้าหมอง อันหมายถึงทุจริตต่าง ๆ เป็นกิเลสที่ใคร ๆ ก็มองเห็น และพูดกันว่าเป็นกิเลส คือเศร้าหมองจริง ใครไปทำเข้าก็ก่อให้เกิดความเดือดร้อนและความเสื่อม แม้คนที่ทำทุจริตเอง ก็ต้องซ่อนทำ และต้องพยายามกลบเกลื่อนแก้ตัวหรือหลบหนี เพราะก็รู้ว่าผิดไม่ดี และความรู้นี้เองคอยหลอนรบกวนจิตใจตนเองอยู่เสมอ ทำให้ไม่มีสุข เพราะคนที่เกิดมาเป็นมนุษย์โดยทั่วไป ย่อมมีระดับจิตใจสูงพอที่จะสำนึกในความผิดชอบชั่วดีอยู่ตามสมควร เมื่อจิตใจเศร้าหมองไม่ผ่องใสร่างกายก็เศร้าหมอง หมดสง่าราศีเป็นกิเลสจริงดังนี้ ฉะนั้น วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องไม่ว่าในทางธรรมโดยตรงหรือในทางที่ดีของโลก จึงอยู่ที่ปฏิบัติลดความโลภ ความโกรธ ความหลง มิใช่ปฏิบัติโดยการเพิ่มให้มากขึ้น

อีกคำหนึ่ง คือ ตัณหา มักพูดกันในภาษาไทยว่ากิเลสตัณหา เฉพาะคำว่า ตัณหา แปลกันว่า ความทะยานอยาก ความดิ้นรนใจ เพื่อจะได้สิ่งที่ชอบ จะเป็นตามที่อยาก จะไม่เป็นอย่างที่ไม่ชอบ บางทีก็แปลว่า ความอยากเท่านั้น ฟังดูคล้ายกับความโลภ ทั้งถ้าแปลตัณหาว่าทะยานอยาก ก็คล้ายจะแรงกว่าความโลภไปเสียอีก แต่การแปลภาษาโดยเฉพาะศัพท์ธรรมเป็นการยากที่จะหาคำให้ตรงความหมายกัน จึงต้องอาศัยอธิบาย ได้อธิบายความหมายของคำว่า โลภ มาแล้ว ส่วนคำว่าตัณหานี้ ใช้หมายถึงความอยากที่มีเป็นวิสัยของโลก เมื่อเป็นโลกุตระ (เหนือหรือพ้นโลก) จึงจะสิ้นตัณหา พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “โลกอันตัณหาก่อขึ้น” และพระอานนท์ได้กล่าวไว้ว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า พึงอาศัยตัณหา ละตัณหาเสีย” ท่านพระอานนท์อธิบายไว้เอง ถือเอาแต่ใจความย่อ ๆ ว่า “คือคิดปรารถนาว่า ท่านผู้มีชื่อนี้ได้บรรลุวิมุตติแล้ว เมื่อไรจักได้บรรลุบ้าง” ฉะนั้น ในวิสัยโลกทั่วไปจึงยังมีและอาศัยตัณหาเพื่อก่อสร้างความดี แต่ถ้าเป็นความอยากในทางที่ผิดก็มีโทษ และถ้าแรงจนถึงเป็นโลภที่ให้ทำทุจริต ก็เป็นกิเลสที่จะต้องปฏิบัติลดลง ทั้งถ้าเป็นทาสของตัณหา ก็จะเดือดร้อนไม่มีสุข เช่นเมื่ออยากได้มาก ๆ ได้เท่าไหร่ไม่พอ หรืออยากดีมากไป ก็กระยิ้มกระสนให้ทำงานเกินกำลัง ทีแรกแม้ไม่ได้คิดจะทำทุจริต แต่ความอยากใหญ่โตอาจฉุดรั้งไปให้ทำได้ จึงจำต้องลดลงอีกเหมือนกัน ให้อยู่ในระดับที่พอดี ลดลงได้ จึงจะเป็นไทแก่ใจของตนเองและมีสุข

วิธีที่จะลดความโลภโกรธหลง คือ หัดใช้ปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้ดีรู้ชั่ว ด้วยการใส่ใจพิจารณาโดยแยบคายคือโดยเหตุผลที่ไม่อยู่ในอำนาจของความโลภ โกรธ หลง ปัญญาที่จะหัดใช้พิจารณาให้รู้ดังนี้ ทุก ๆ คนย่อมมีอยู่เป็นพื้นน้อยหรือมาก แต่ถึงจะมีน้อยก็สูงกว่าสัตว์ดิรัจฉานแน่ สัตว์ดิรัจฉานบางพวกน่าจะมีความรู้อยู่บ้าง ดังสังเกตจากกิริยาของแมวในขณะที่ลักปลา มีอาการซ่อนเจตนา เช่น ทำเดินเมียงเข้าไป หรือหมอบคอยทีอยู่เฉยๆ เหมือนไม่เอาใจใส่ ได้ท่าก็คาบปลาวิ่งหนีไปโดยเร็ว กิริยาที่แสดงออกของแมวดังนี้ แสดงว่าแมวรู้ว่าปลาเป็นสิ่งที่เจ้าของหวงและการที่ทำนั้นเป็นความผิดจึงต้องรีบหนี เมื่อแมวยังรู้ว่าผิด ไฉนคนจึงไม่รู้ว่าผิด คนย่อมรู้ได้ดีกว่าแน่นอน แต่คนที่ทำชั่วทำผิดมักไม่ใช้ความรู้หรือไม่ใช้ปัญญาพินิจให้เกิดความรู้ ไปใช้ความโลภ ความโกรธ ความหลง หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งว่า ถูกความโลภ โกรธ หลง เป็นนายใช้ให้ทำ ส่วนความรู้ไม่ได้ใช้ น่าจะเป็นเพราะมีกำลังอ่อนกว่า ดังเช่นตัวอย่างว่า ใจหนึ่งคิดจะทำทุจริต อีกใจหนึ่งคิดว่านี่เป็นความชั่วความผิดไม่ดีอย่าทำ แต่ใจที่คิดจะทำแย้งว่า มัวกลัวผิดก็จนอยู่อย่างนี้แหละ ทำดีไม่เห็นจะพอใช้สักที ถ้าใจที่คิดอยากร่ำรวยทางทุจริต (โลภ) แรงกว่า ก็เป็นฝ่ายชนะ ผลก็คือทำทุจริต ถ้าใจที่รู้ผิดชอบแรงกว่าก็ชนะ ผลก็คือไม่ทำทุจริต ฉะนั้น วิธีปฏิบัติที่ถูกต้องก็คือ ปฏิบัติเสริมกำลังให้แก่ความรู้ในความดีความชั่ว ด้วยการเพิ่มพูนความรู้นี้ โดยหมั่นใส่ใจพิจารณาให้แยบคาย ให้ยุติด้วยเหตุผลที่เป็นเสรีจากความโลภโกรธหลง กับด้วยการเพิ่มกำลังสมทบด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ คือ ความเคารพเชื่อฟังกฎหมาย ศาสนา คตินิยม ขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงาม ความพากเพียรพยายาม ความมีสติ ความตั้งใจมั่นคงแน่วแน่ กำลังผสมเหล่านี้ประกอบกันเข้ากับความรู้ดังกล่าว ก็รวมเป็นกำลังใจฝ่ายธรรมะ คือฝ่ายดี จะเอาชนะฝ่ายกิเลสได้ เครื่องยั่วเย้าให้อยากทำทุจริตก็จะยั่วไม่สำเร็จ เพราะมีกำลังใจฝ่ายธรรมะแข็งแรงกว่าต่อต้านไว้ได้ คนที่ติดสุรา หรือติดยาเสพติดให้โทษ อาจเลิกได้ด้วยกำลังใจที่เด็ดเดี่ยว ฉะนั้นหากมีกำลังใจฝ่ายธรรมะ ไฉนจะลดความโลภโกรธหลงไม่ได้ กำลังใจดังกล่าวนี้ มีความรู้นี่แหละเป็นข้อสำคัญ จึงกล่าวไว้ข้างต้นว่า ให้หัดใช้ปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้ดีรู้ชั่ว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่