‘รถเก่า’ โดนอีก เสนอเพิ่มภาษีรถเกิน 7 ปี อ้างแก้ปัญหามลพิษ

ที่มา:   http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=1464690262




นายศิริรุจ จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ส่วนตัวอยากเสนอให้รัฐบาลมีการปรับปรุงอัตราภาษีป้ายรถยนต์ที่มีอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้น โดยคำนวณจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นมลพิษทางอากาศ หากรถที่มีการปล่อยมลพิษมากก็ควรเสียภาษีมากกว่ารถที่ปล่อยมลพิษน้อย หากเกินกว่าค่ามาตรฐานกำหนดก็ควรปลดระวางรถเก่าออกจากตลาด

ทั้งนี้ เพื่อช่วยกระตุ้นความต้องการรถยนต์ใหม่ ส่งเสริมยอดผลิตและยอดขายรถยนต์ในประเทศให้ขยายตัว เนื่องจากมองว่าแนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ปรับตัวดีขึ้น จากล่าสุดที่เริ่มเห็นสัญญาณตลาดรถยนต์ในประเทศฟื้นตัว โดยภาพรวมเดือนเม.ย.ยอดผลิตอยู่ที่ 138,237 คัน ขยายตัว 11.51% โดยเฉพาะรถยนต์ประหยัดพลังงานและรถรุ่นใหม่ที่ถูกเรียกเก็บอัตราภาษีใหม่ตามการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แล้ว ซึ่งมีส่วนหนึ่งช่วยลดมลภาวะ รักษาสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ ยังจะมีส่วนช่วยกระตุ้นดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) และอัตราการใช้กำลังการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จากปัจจุบันเดือนเม.ย.2559 เอ็มพีไออยู่ที่ระดับ 99.59 เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 1.54% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอยู่ที่ระดับ 98.08 แต่หดตัวถึง 17.46% จากเดือนมี.ค.ที่ผ่านมาขยายตัว 11.05% อยู่ที่ระดับ 120.66

นายศิริรุจ กล่าวอีกว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าเดือนเม.ย.เป็นช่วงที่มีวันหยุดยาวติดต่อกันหลายวัน ทำให้คำสั่งซื้อสินค้าลดลงตามไปด้วย สอดคล้องกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม(ไม่รวมทองคำ) หดตัว 8.2% ทำให้อัตราการใช้กำลงผลิตเดือนที่ผ่านมาลดลงมาอยู่ที่ 58.43% จากเดือนมี.ค.อยู่ที่ 72.79% โดยเฉพาะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารลดลง 14.6% และการส่งออกกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารก็ลดลง 5.3% ตามสินค้ากลุ่มน้ำตาลที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง

อย่างไรก็ตามประเมินแนวโน้มเอ็มพีไอในเดือนพ.ค.จะปรับตัวดีขึ้น และเชื่อว่าทั้งปีน่าจะขยายตัวได้ 2-3% ตามเป้าหมายที่คาดการณ์ไว้ เพราะอุตสาหกรรมหลายประเภทมีสัญญาณการผลิตดีขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ เหล็ก ส่วนอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวม (จีดีพี) ภาคอุตสาหกรรมยังคงอยู่ที่ 1.5-2.5% ตามเป้าหมายที่คาดไว้ โดยจะรวบรวมข้อมูลและปัจจุบันต่างๆ รอบด้านเพื่อประกอบการทบทวนการปรับประมาณการเอ็มพีไอและจีดีพีภาคอุตสาหกรรมใหม่ช่วงสิ้นเดือนมิ.ย.นี้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่