ธรรมะคือคุณากร ๒๐ พ.ค.๕๙

ร้อยกรองธรรมะ

กลอนธรรมะ


(๑)
สติ ความระลึกได้
สัมปชัญญะ ความรู้ตัว

สติพาระลึกรู้....................... ตัวตน
ควรค่าความเป็นคน.............. เด่นได้
อีกสัมปชัญญะปน............... ควบคู่
ธรรมะสองบทไซร้............... ช่วยคุ้มคนดี

(๒)
หิริ ความละอายแก่ใจ
โอตตัปปะ ความเกรงกลัว

ยังมีหิรินั้น ...........................ละอาย
เห็นบาปตัวอันตราย............... ชั่วแท้
โอตตัปปะยึดกาย ..................เกรงก่อ กรรมนา
ธรรมะสองนี่แล้ .....................ช่วยพ้นภัยผอง

(๓)
ขันติ ความอดทน
โสรัจจะ ความเสงี่ยม

ขันติ นำจิตให้ .......................อดทน
ถึงหนักรักฝึกฝน................... ไม่ท้อ
โสรัจจะในตน........................ ควรค่า
กายสงบแลใจก้อ................... ดับร้อนรุมหาย

(๔)
ปุพพการี บุคคลผู้ทำอุปการะก่อน
กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะที่ท่านทำแล้ว แลทำตอบแทน

กตัญญูยึดมั่นไว้ .....................ในใจ
คุณท่านมีเพียงใด................... ย่อมรู้
หาทางที่จะไป........................ คืนตอบ แทนนา
แลนั้นนับเป็นผู้....................... ก่อเกื้อกตเวที

(๕)
รัตนตรัย

พระพุทธองค์หนึ่งนั้น................ ศาสดา
สองนั่นพระธรรมา.................... ท่านให้
พระสงฆ์ช่วยนำพา................... สอนสั่ง
สามสิ่งขอเทิดไว้..................... ชั่วฟ้าแลดิน

(๖)
สามัญลักษณะ

อนิจจังหาเที่ยงแท้................... ธรรมดา
ทุกข์ที่เวทนา.......................... ค่ำเช้า
ชีวิตย่อมพบพา....................... เกิดแก่ ตายนอ
ทุกอย่างสูญหายเข้า................ ที่ข้ออนัตตา.

(๗)
โอวาทของพระพุทธองค์

ความชั่วพึงละเว้น..................... กระทำ
กอปรแต่ความดีนำ.................... ทั่วหน้า
วางใจว่างประจำ....................... บริสุทธิ์
สามส่วนควรรีบคว้า................... ท่านย้ำคำสอน

(๘)
อกุศลมูล

โลภะความอยากได้.................... ของเขา
โทสะความโกรธเผา.................... จิตไหม้
โมหะนี่มัวเมา............................. งมโง่
สามส่วนรวมกันไซร้..................... อย่าให้สะสม

(๙)
บุญกิริยาวัตถุ

ทานมัยชวนช่วยให้ .....................ทำบุญ
ศีลมั่นพาให้คุณ.......................... ค่าล้ำ
ภาวนายิ่งเนืองหนุน..................... ไปสู่ สุขนา
สามกิจหลักเคียงค้ำ..................... ล่วงเข้านิพพาน




Create Date : 16 กันยายน 2553
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่