ความอ่อนโยนและความเมตตากับมุมมองคำสอนศาสนอิสลาม

กระทู้คำถาม
ความเมตตา และความอ่อนโยน” คุณสมบัติที่มุสลิมพึงมี
♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥♥"

จากหนังสือ Ideal Muslimah หน้าที่ 374-378  ถอดความ بنت الاٍسلام

มุสลิมที่ได้รับ “อิสลาม” เป็นทางนำนั้นย่อมมี “ความเมตตา และ ความอ่อนโยน” ต่อพี่น้องของเขา เพราะ “ความเมตตา และความอ่อนโยน” คือคุณสมบัติที่อัลลอฮฺทรงรักในตัวบ่าวผู้ศรัทธาของพระองค์ และทำให้ผู้ที่ครอบครอง “คุณสมบัติดังกล่าวนั้น” เป็นที่รักของผู้อื่นอีกด้วย

และความดีและความชั่วนั้นหาเท่าเทียมกันไม่ เจ้าจงขับไล่ (ความชั่ว) ด้วยสิ่งที่มันดีกว่า แล้วเมื่อนั้นผู้ที่ระหว่างเจ้ากับระหว่างเขาเคยเป็นอริกันก็จะกลับกลายเป็นเยี่ยงมิตรที่สนิท และไม่มีผู้ใดได้รับมัน (คุณธรรมดังกล่าว) นอกจากบรรดาผู้อดทน และจะไม่มีผู้ใดรับมันนอกจากผู้ที่มีโชคลาภอันใหญ่หลวง (อัลกุรอาน 41:34-35)





มีหลายอายะฮฺและหะดีษที่เน้นส่งเสริมสนับสนุนในเรื่องของ “ความอ่อนโยน และความเมตตา” ซึ่งเป็นคุณธรรมอันดีงามที่ควรมีในอยู่สังคมมุสลิมและควรมีในคุณสมบัติของมุสลิมทุกๆ คน ที่มีความเข้าใจถึง “ทางนำแห่งอิสลาม” อย่างแท้จริง

มันย่อมเพียงพอแล้วสำหรับมุสลิมที่จะทราบว่า “ความเมตตา” คือหนึ่งในคุณสมบัติของอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา ที่พระองค์ทรงกระตุ้นให้บรรดาบ่าวของพระองค์นำเอาไปใช้ในทุกๆ สถานการณ์ที่พวกเขาประสบ

อัลลอฮฺทรงเมตตา และทรงรักความเมตตาในทุกๆ การงาน (รายงานโดย บุคอรียฺ และมุสลิม)

“ความเมตตา” คือคุณธรรมอันสูงส่งที่อัลลอฮฺทรงตอบแทนรางวัล (ต่อผู้ที่มีคุณธรรมน็) ในหนทางที่แตกต่างจากการตอบแทนอื่นๆ

อัลลอฮฺทรงเมตตา และทรงรักความเมตตา และพระองค์ทรงตอบแทนรางวัล (ต่อผู้มีคุณสมบัติน็) ในหนทางที่พระองค์มิได้ทรงตอบแทนต่อ ความรุนแรง (หยาบกระด้าง) และ (จะทรงตอบแทนรางวัลต่อผู้มีคุณสมบัตินี้) ในหนทางที่ไม่เหมือนกับการตอบแทนอื่นๆ (รายงานโดย มุสลิม)

ท่านเราะสูลศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม ได้กล่าวถึงความดีงามของ “ความเมตตา” ว่าเป็น “เครื่องประดับ” ที่ทำให้เกิดความสวยงาม และส่งเสริมให้ผู้คนนำคุณสมบัตินี้ไปใช้

ไม่มี ความเมตตาในสิ่งใด เว้นแต่มันจะทำให้สิ่งนั้นเกิดความสวยงาม และไม่มี  การปราศจากซึ่งความเมตตาในสิ่งใด เว้นแต่มันจะทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (หะดีษที่ถูกรายงานโดยผู้รายงานหะดีษหลายท่าน)






ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้สั่งสอนให้บรรดามุสลิมนั้นมีความเมตตาในการพูดคุยเจรจากับผู้คน และปฏิบัติตัวด้วยมรรยาทดีงามอันน่าเป็นแบบอย่าง ในฐานะของมุสลิมผู้เรียกร้องผู้คนมาสู่ “ศาสนาของอัลลอฮฺ พระผู้ทรงเมตตาปรานี” ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสถานการณ์ที่ยั่วยุอารมณ์ความโกรธเพียงใดก็ตาม

ท่านอบู ฮุร็อยเราะหฺ กล่าวว่า “มีชาวเบดูอินคนหนึ่งเข้ามาปัสสาวะในมัสญิด และผู้คนต่างลุกขึ้นเพื่อจะจับตัวเขา หากแต่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “จงปล่อยเขาไปเสีย และราดน้ำทำความสะอาดให้ทั่วพื้นที่ที่มีปัสสาวะของเขา เพราะพวกท่านได้รับการยกสถานะให้เป็นผู้ที่สร้างความง่ายดายต่อผู้คน ไม่ใช่ผู้ที่สร้างความยากลำบากต่อพวกเขา”  (มุสลิม)

“ความเมตตา ความอ่อนโยน และความอดทนอดกลั้น” ไม่ใช่ “ความรุนแรง (หยาบกระด้าง) ความก้าวร้าว และการประนามด่าทอ” นั่นคือสิ่งที่เปิดหัวใจของผู้คนมาสู่สารแห่งสัจธรรม

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมเคยให้คำแนะนำตักเตือนต่อบรรดามุสลิมว่า

จงมองโลกในแง่ดี (มีความเบิกบาน) ไม่ใช้การข่มขู่ (คุกคาม) และจงทำสิ่งต่างๆ ให้ง่าย ไม่ใช่การทำให้ยาก
” (บุคอรียฺ และมุสลิม)

โดยธรรมชาติแล้ว ผู้คนมักจะผละหนีออกไปอันเนื่องมาจากความหยาบคายและความรุนแรงก้าวร้าว แต่พวกเขาจะประทับใจและดึงดูดใจต่อความเมตตาและความอ่อนโยน ดังเช่นที่อัลลอฮฺตรัสต่อศาสนทูตของพระองค์ว่า

เนื่องด้วยความเมตตาจากอัลลอฮฺนั่นเอง เจ้า (มุฮัมมัด) จึงได้สุภาพอ่อนโยนแก่พวกเขา และถ้าหากเจ้าเป็นผู้ประพฤติหยาบช้า และมีใจแข็งกระด้างแล้วไซร้ แน่นอนพวกเขาก็ย่อมแยกตัวออกไปจากรอบ ๆ เจ้ากันแล้ว” (อัลกุรอาน 3:159)

นี่คือ "คำสั่งใช้ที่มีผลไปตลอดกาล" ต่อบรรดามุสลิมผู้ที่เรียกร้องผู้คนมาสู่อิสลาม เขาจำต้องหาวิธีที่ดีที่จะสามารถเข้าถึงหัวใจของพวกเขาเหล่านั้น โดยที่เขาจะใช้ทุกๆ วิธีทางแห่งความเมตตา ความอ่อนโยน และไหวพริบปฏิภาณในการดำเนินการ และหากเขาต้องเผชิญหน้ากับความไม่เป็นมิตรหรือการต่อต้าน แน่นอนว่า "คำพูดที่ดี" ย่อมเข้าไปสู่หัวใจของคนเหล่านั้นได้ และมันย่อมมีผลต่อหัวใจของพวกเขา นี่คือสิ่งที่อัลลอฮฺตรัสต่อศาสนทูตของท่าน คือนบีมูซา และน้องชายของเขา "ฮารูน" เมื่อพระองค์ทรงส่งพวกเขาไปยังฟิรเอาน์ว่า

เจ้าทั้งสองจงไปหาฟิรเอาน์ แท้จริงเขารุกล้ำทุกเขตแดน หากแต่เจ้าทั้งสองจงพูดกับเขาด้วยคำพูดที่อ่อนโยน บางทีเขาอาจจะรำลึกขึ้นมา หรือเกิดความยำเกรง (ต่ออัลลอฮฺ)” (อัลกุรอาน 20:43-44)




มันไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจ ที่ “ความเมตตา” ตามหลักการของอิสลามนั้น คือความดีงาม ผู้ใดก็ตามที่มี “ความเมตตา” ย่อมได้รับความดีงาม และผู้ใดก็ตามที่ปราศจากความเมตตาย่อมถูกปฏิเสธที่จะได้รับซึ่งความดีงามนั้น ดังหะดีษบทหนึ่งที่รายงานโดยท่านญะรีรฺ อิบนุ อับดุลลอฮฺ ว่า  ฉันได้ยินท่านเราะสูลุลลอฮฺ ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “ผู้ใดก็ตามที่ปฏิเสธ “ความเมตตา” ย่อมถูกปฏิเสธที่จะได้รับซึ่ง “ความดีงามทั้งหลาย” (มุสลิม)

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้อธิบายว่า “ความดีงามนี้” จะถูกมอบให้กับคนแต่ละคน แต่ละครัวเรือน และผู้ใดก็ตามที่ “ความเมตตา” นั้นถูกนำมาใช้ในการดำเนินชีวิตของเขา อีกทั้งมันยังเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่ดีงามที่สุด ดังที่กล่าวไว้ในหะดีษบทหนึ่งที่ถูกรายงานโดยท่านหญิงอาอิชะฮฺ เราะฏิยัลลอฮุ อันฮา ว่า

ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมบอกแก่นางว่า “โอ้ อาอิชะฮฺ จงมีความเมตตาเถิด เพราะหากว่าอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮูวะตะอาลาทรงประสงค์ให้เกิดความดีงามต่อครอบครัวหนึ่ง พระองค์จะทรงนำทางพวกเขาไปสู่ “ความเมตตา” (อะหมัด 6/104)

และอีกหนึ่งรายงาน ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “หากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา ทรงประสงค์ให้เกิดความดีงามต่อครอบครัวหนึ่ง พระองค์จะปลูกฝัง ความเมตตา ให้ซึมซับลงไปในพวกเขา (หะดีษที่ถูกรายงานโดยผู้รายงานหะดีษหลายท่าน)

และท่านญะบีรฺ เราะฎิยัลลอฮุ อันฮุ ได้รายงานว่า “ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวว่า “หากอัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลา ทรงประสงค์ให้เกิดความดีงามต่อผู้คน พระองค์จะทรงปลูกฝัง  “ความเมตตา” ให้ซึมซับลงไปในพวกเขา” (อัล บัซซารฺ)

จะมีความดีงามใดที่ยิ่งใหญ่ไปกว่า “การมีคุณสมบัติที่จะปกป้องคนคนหนึ่งจากไฟนรก” ดังที่ท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัม กล่าวไว้ในหะดีษอีกบทหนึ่งว่า

ฉันควรบอกท่านหรือไม่ว่าผู้ใดเป็นผู้ที่ต้องห้ามจากไฟนรก หรือผู้ใดที่ไฟนรกเป็นที่ต้องห้ามสำหรับเขา? ไฟนรกจะเป็นที่ต้องห้ามสำหรับผู้ที่มีความอ่อนโยน ผู้ที่เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และผู้ที่มีความเมตตาทุกๆ คน” (ติรมิซียฺ 4/654)





คำสั่งสอนของท่านเราะสูล ศ็อลลัลลอฮุ อะลัยฮิ วะสัลลัมได้นำผู้คนไปสู่สถานะที่สูงขึ้น ด้วยการปลูกฝัง “การมีความเมตตา” และ “แม้แต่การเรียกร้องให้พวกเขามีความเมตตาต่อสัตว์ที่เขากำลังจะเชือด” สิ่งนี้ถูกนับว่าเป็นหนึ่งในสถานะที่สูงที่สุดที่ผู้ศรัทธาและผู้มีคุณธรรมควรบรรลุ

“อัลลอฮฺ ซุบฮานะฮู วะตะอาลาได้ทรงกำหนด “การกระทำที่เหมาะสมถูกทำนองคลองธรรม ในทุกๆ สิ่ง  ดังนั้นหากท่านฆ่า ก็จะฆ่าด้วยดี และหากท่านเชือด ก็จงเชือดด้วยดี แต่ละคนในหมู่พวกท่านจงลับมีด (ในการเชือดสัตว์) ให้คม และออกห่างจากการทรมานสัตว์ที่เขาเชือดเถิด” (มุสลิม)  

"ความเมตตาที่มีต่อสัตว์ที่กำลังจะถูกเชือดนั้น" บ่งบอกถึง "ความเมตตาของผู้ที่กำลังจะเชือดมัน และความเมตตาของเขาที่มีต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหมดด้วย" ยิ่งบุคคลคนหนึ่งมีความเข้าใจต่อสิ่งนี้และปฏิบัติต่อสิ่งมีชีวิตทั้งหมดดีมากเท่าไหร่ เขายิ่งเป็นบุคคลที่มีความเมตตาและอ่อนโยนมากขึ้นเท่านั้น นี่คือเป้าหมายอันสูงสุดที่อิสลามได้ชี้นำทางต่อบรรดามุสลิม เพื่อที่เขาจะมีความเมตตา แม้แต่ความเมตตาที่มีต่อสัตว์ก็ตาม

มุสลิมที่แท้จริงนั้นย่อมสามารถเข้าใจ "ความครอบคลุมของคำสอนแห่งอิสลาม" ที่สั่งใช้ให้มุสลิมมีความเมตตาต่อลูกหลานของอะดัม ในขณะที่แม้แต่สัตว์ก็ควรได้รับความเมตตาเช่นกัน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่