วิปัลลาสสูตร : เหล่าสัตว์ผู้ถูกมิจฉาทิฐิกำจัด มีจิตฟุ้งซ่าน มีความสำคัญผิด มีความสำคัญในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง

ขอกราบไหว้พระรัตนตรัยด้วยความเคารพอย่างสูงยิ่ง

------------------

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑  พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๓
อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต


วิปัลลาสสูตร




[๔๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฐิวิปลาส

๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฐิวิปลาส
ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง ๑
ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นสุข ๑
ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน ๑
ในสิ่งที่ไม่งามว่างาม ๑

สัญญาวิปลาส จิตวิปลาส ทิฐิวิปลาส ๔ ประการนี้แล


ดูกรภิกษุทั้งหลาย
สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฐิไม่วิปลาส

๔ ประการนี้ ๔ ประการเป็นไฉน คือ สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฐิไม่วิปลาส
ในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าไม่เที่ยง ๑
ในสิ่งที่เป็นทุกข์ว่าเป็นทุกข์ ๑
ในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าไม่ใช่ตน ๑
ในสิ่งที่ไม่งามว่าไม่งาม ๑

สัญญาไม่วิปลาส จิตไม่วิปลาส ทิฐิไม่วิปลาส ๔ ประการนี้แล ฯ


                          เหล่าสัตว์ผู้ถูกมิจฉาทิฐิกำจัด มีจิตฟุ้งซ่าน มีความสำคัญผิด
                          มีความสำคัญในสิ่งที่ไม่เที่ยงว่าเที่ยง สำคัญในสิ่งที่เป็นทุกข์
                          ว่าเป็นสุข สำคัญในสิ่งที่ไม่ใช่ตนว่าเป็นตน และสำคัญในสิ่งที่
                          ไม่งามว่างาม สัตว์คือชนเหล่านั้น ชื่อว่าประกอบแล้วในเครื่อง
                          ประกอบของมาร ไม่เป็นผู้เกษมจากโยคะ มีปรกติไปสู่ชาติ
                          และมรณะ ย่อมไปสู่สงสาร ก็ในกาลใด พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
                          ผู้กระทำแสงสว่าง บังเกิดขึ้นในโลก พระพุทธเจ้าเหล่านั้น
                          ย่อมประกาศธรรมนี้เป็นเครื่องให้สัตว์ถึงความสงบทุกข์ ชน
                          เหล่านั้น ผู้มีปัญญา ฟังธรรมของพระพุทธเจ้าเหล่านั้น
                          แล้ว ได้จิตของตน ได้เห็นสิ่งไม่เที่ยงโดยความเป็นของไม่
                          เที่ยง ได้เห็นทุกข์โดยความเป็นทุกข์ ได้เห็นสิ่งที่ไม่ใช่ตน
                          ว่าไม่ใช่ตน ได้เห็นสิ่งที่ไม่งามโดยความเป็นของไม่งาม
                          สมาทานสัมมาทิฐิ จึงล่วงทุกข์ทั้งปวงได้ ฯ


             เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๑  บรรทัดที่ ๑๔๑๐ - ๑๔๓๓.  หน้าที่  ๖๑ - ๖๒.
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=21&A=1410&Z=1433&pagebreak=0
             ศึกษาอรรถกถานี้ ได้ที่ :-
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=21&i=49
             ศึกษาพระไตรปิฏกฉบับภาษาบาลี อักษรไทย ได้ที่ :-
[49] http://budsir.mahidol.ac.th/cgi-bin/Budsir.cgi/SearchItem?mode=1&valume=21&item=49&Roman=0



-------------------


            ส. พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรเสนิยะ ศาสดา ๓ จำพวกนี้มี อยู่ปรากฏอยู่ในโลก ๓ จำพวกเป็นไฉน

ศาสดาบางคนในโลกนี้ บัญญัติอัตตาโดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้
ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ

อนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ บัญญัติอัตตาโดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้
แต่ในปัจจุบันไม่บัญญัติเช่นนั้นในสัมปรายภพ

อนึ่ง ศาสดาบางคนในโลกนี้ ไม่บัญญัติอัตตาโดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้
ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ

ใน ๓ จำพวกนั้น ศาสดาที่บัญญัติอัตตาโดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้
ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ นี้เรียกว่า สัสสตวาท

ศาสดาที่บัญญัติอัตตา โดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ แต่ในปัจจุบัน
ไม่บัญญัติเช่นนั้นในสัมปรายภพ นี้เรียกว่า อุจเฉทวาท

ศาสดาที่ไม่บัญญัติอัตตาโดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้
ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในสัมปรายภพ นี้เรียกว่า สัมมาสัมพุทธะ

ดูกรเสนิยะ ศาสดา ๓ จำพวกนี้แล มีอยู่ ปรากฏอยู่ในโลก ดังนี้







-------------------


“วิปลฺลาส”
อ่านว่า วิ-ปัน-ลา-สะ

“วิปลฺลาส” รากศัพท์มาจาก
วิ : พิเศษ, แจ้ง, ต่าง +
ปริ : รอบ +
อสฺ : ธาตุ = ซัด, ขว้างไป) +
ณ ปัจจัย,
ลบ ณ, ยืดเสียง อะ ที่ อ-(สุ) เป็นอา (อสฺ อาสุ), แปลง อิ ที่ (ป)-ริ เป็น ย, แผลง ร เป็น ล, ลฺย เป็น ล, ซ้อน ล

: วิ + ปริ > วิปรฺย > วิปลฺย > วิปล > วิปลฺล + อส + ณ = วิปลฺลสณ > วิปลฺลส > วิปลฺลาส

แปลตามศัพท์ว่า “อาการที่ขว้างไปผิด”
หมายถึง การกลับกัน, ความวิปลาส, ความเปลี่ยนแปลง (ในทางไม่ดี), ความตรงกันข้าม, ความวิปริต, การทำให้ยุ่งเหยิง, ความเสียหาย, ความผิดเพี้ยน (reversal, change [esp. in a bad sense], inversion, perversion, derangement, corruption, distortion)

บาลี “วิปลฺลาส” สันสกฤตเป็น “วิปรฺยาส”

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า
(สะกดตามต้นฉบับ)
“วิปรฺยาส : (คำนาม) ‘วิบรรยาส,’ ไวปรีตย์, ความวิปริต, วิปักษตา; วิการ, ปริณาม, หรือความวิบัท; การคิดเห็นสิ่งที่ผิดเปนชอบหรือเห็นเท็จเปนจริง; contrariety, opposition; reverse; imagining what is unreal or false to be real or true.”

“วิปลฺลาส” ใช้ในภาษาไทยเป็น “วิปลาส” (อ่านว่า วิ-ปะ-ลาด ก็ได้ วิบ-ปะ-ลาด ก็ได้ ตาม พจน.54)

พจน.54 บอกไว้ว่า -
“วิปลาส : (คำกริยา) คลาดเคลื่อนไปจากธรรมดาสามัญ เช่น สติวิปลาส ตัวอักษรวิปลาส สัญญาวิปลาส. (ป. วิปลฺลาส, วิปริยาส; ส. วิปรฺยาส).



ในทางธรรม วิปลาส หมายถึง
กิริยาที่ยึดถือโดยอาการวิปริตผิดจากความเป็นจริง, ความเห็นหรือความเข้าใจคลาดเคลื่อนจากสภาพที่เป็นจริง

ท่านแจงไว้เป็น 3 อย่าง คือ -
1 สัญญาวิปลาส - สำคัญผิด
2 จิตวิปลาส - คิดผิด
3 ทิฐิวิปลาส - เห็นผิด

วิปลาสแต่ละอย่างเป็นไปใน 4 เรื่อง คือ -
1 เห็นสิ่งแปรปรวนเป็นสิ่งยั่งยืน
2 เห็นทุกข์เป็นสุข
3 เห็นว่าชีวิตมีตัวแท้อมตะ
4 เห็นสิ่งไม่งามเป็นงาม

คำคม : วิปลาสที่น่ากลัว คือไม่รู้ตัวว่าวิปลาส



ที่มา บาลีวันละคำ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
https://www.facebook.com/tsangsinchai?fref=ts
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่