บันทึกของผู้เฒ่า ๑๕ เม.ย.๕๙

บันทึกของผู้เฒ่า

สามก๊ก ของ "เล่าเซี่ยงชุน"

ผมเล่าเรื่องงานเขียนหนังสือของผม ตั้งแต่ต้น พ.ศ.๒๔๙๑ จนมาถึง พ.ศ.๒๕๕๘ รวมหลายครั้งหลายหนแล้ว สรุปว่าผมได้ดี เพราะเรียบเรียง สามก๊กวรรณกรรมไทย จากฉบับของ เจ้าพระยาพระคลัง(หน)อย่างชนิดที่ทิ้งงานเขียนแบบอื่น ๆ ของผม ไม่เห็นฝุ่นเลย นามปากกาที่ใช้มามากมาย ก็ไม่มีค่าอะไรเลย เพราะ สมาคมนักเขียนอห่งประเทศไทย มีมติให้นามปากกา "เล่าเซี่ยงชุน" และ "เจียวต้าย" ได้รับรางวัล นราธิป เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๖ เป็นของขวัญ

ผมใช้นามปากกา "เล่าเซี่ยงชุน" เรียบเรียงสามก๊กฉบับลิ่วล้อ เป็นครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๕๕๓ ด้วยเรื่อง "ฮัวหยง....ผู้เปิดสารบบนักรบให้ทหารเลว" ทหารเลวที่ว่าไม่ได้เลวร้ายอะไร เป็นคำเรียกไพร่พบชั้นลิ่วล้อ ระดับต่ำสุดในกองทัพสมัยนั้นเท่านั้น

ต่อมาก็มี "บังเต๊ก....ผู้แบกโลงผีไปรบ" บังเต๊กเป็นทหารเอกของ โจโฉ ไปรบกับ กวนอู จอมยุทธที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาตลอด ๓๐ กว่าปีแล้ว เป็นคนสุดท้าย ที่พ่ายแพ้แก่ กวนอู แล้วก็ถึง "พัวเจียง...ผู้พิชิตขุนพล" ผู้ทำกับดัก กวนอู จนถูกจับไปให้ ซุนกวนประหารชีวิต

ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ๒๖ ปี ได้มีสามก๊กที่เรียบเรียง โดย "เล่าเซี่ยงชุน" ประมาณ ๒๐๐ กว่าตอน ฝากอยู่ในแวดวงวรรณกรรมของเมืองไทย เคียงข้างกับ สามก๊ก ชุดอื่น ของหลายท่านที่ได้สร้างสรรค์มาในยุคสมัยเดียวกัน ที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน ก็คือ สามก๊กฉบับลิ่วล้อ พินพ์ครั้งที่ ๑ พ.ศ.๒๕๔๑ ชุดละ ๓ เล่ม และ พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๗ ชุดละ ๓ เล่ม แต่ขณะที่บันทึกนี้ เล่ม ๓ ยังไม่สำเร็จ

และในอนาคตอันใกล้ ก็จะมี สามก๊กฉบับคำกลอน ยาวประมาณ ๓๐๐ กว่าบท เป็นรูปเล่ม ในนามปากกา "เจียวต้าย" ส่งท้ายชีวิตอันยาวนานของผู้เรียบเรียง เป็นอีกหนึ่งชุดสำหรับวรรณกรรมอมตะเรื่องนี้ และคงจะเป็นชุดสุดท้ายอย่างแน่นอน.

###########
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่