พี่ชายที่แสนดี...

กระทู้สนทนา
งานเขียนชิ้นแรกสุดของลิค่ะ เขียนตอนเรียนมัธยม...น๊านนานมาแล้ว



ยายจากมาลีไปแล้ว...

       ความจริงข้อนี้เมื่อนึกขึ้นมาทีไรหัวใจของเด็กหญิงวัยสิบสองก็รู้สึกแห้งผากราวท้องนาขาดน้ำฝนหน้าแล้ง นานแค่ไหนแล้วที่ห่างเหินจากคำว่ารัก  นาน...ตั้งแต่เมื่อยายไม่อยู่อีกแล้ว มาลีรู้สึกโดดเดี่ยวถึงแม้จะมีใครอีกหลายคนอยู่รอบกายก็ตาม หนึ่งเดียวที่ชุ่มชื่นอยู่ในใจเสมอมาคือรักของยายเท่านั้น

       “มีลูกกี่คนแล้วล่ะ อี่นาง” ชายแก่คนนั้นถามแม่ในวันหนึ่ง วันที่มีเธอนั่งอยู่ข้างๆ ในบ้านของแม่หลังจากยายเสียไปใหม่ ๆ สามีใหม่ของแม่นั่งซ่อมมอเตอร์ไซค์อยู่มุมโน้น น้องสองคนเล่นกองทรายอยู่ใกล้ ๆ    
  
         “สองคนเจ้า พ่ออุ้ย ” มาลีหันไปมองแม่ก่อนก้มหน้าลงเสีย สายตาแม่มองไปยังตัวน้องสองคน แม่คงหมายถึงลูกที่เกิดกับพ่อคนใหม่ คำพูดของแม่ที่สนทนากับชายแก่ทำไมมันถึงได้แสลงใจนักก็ไม่รู้ ขณะกำลังเล่าเรื่องในครอบครัวตัวเองให้ลุงคนนั้นฟัง แม่ไม่รับรู้เลยว่าตัวตนของมาลีกำลังค่อยๆ เลือนราง เด็กหญิงรู้สึกว่าตัวเองกำลังหายไปจากวงสนทนาของพวกเขาราวกับไม่มีตัวตน เธอจางหายไปจากครอบครัวของแม่

        นับต่อจากนั้น สองหูสองตาของเด็กหญิงก็มืดดับไปจากการรับรู้ ถ้อยคำสนทนาใด ๆ ซึ่งเกิดขึ้นที่นั่นล้วนเป็นเรื่องของพวกเขาทั้งสิ้น ไม่เกี่ยวกันกับเธอแม้สักนิด...เธอคือส่วนเกิน

         ความรู้สึกแบบนี้ ก่อนหน้านั้นเด็กหญิงก็เคยได้รับมาแล้วครั้งหนึ่งจากคนที่ใคร ๆ บอกว่าเป็นพ่อของเธอ ในวันที่ป้าศรีมาร้องเรียกหาเธอเสียงดังที่หน้าบ้านยาย

          “มาลี อยู่บ้านไหมอี่หล้า พ่อมิงมา”  

          เด็กหญิงโผล่หน้าออกมามองจากหน้าต่างบ้านยาย เห็นป้าศรีเดินเร็ว ๆ เข้ารั้วบ้านมา ยายที่นั่งรีดใบตองทำมวนบุหรี่ขี้โยอยู่บนแคร่ลานหน้าบ้านจึงกวักมือเรียกเธอให้ลงจากเรือน

           “ฉันเห็นพ่ออี่หล้ามากินข้าวกับเพื่อนที่ร้านอี่ทองคำ ฉันจะพาอี่หล้ามาลีไปหาพ่อมันนะ”  

            ท่าทางของป้าศรีดูดีอกดีใจที่ได้เจอหน้าญาติผู้พลัดพรากจากกันไปแสนนานโดยบังเอิญ ยายพยักหน้าอนุญาต ป้าศรีจึงคว้าข้อมือเด็กหญิงจะพาเดินไป หูเธอยังแว่วยินเสียงของยายดังไล่หลังมาว่า    

            “ขอตังค์ค่าเทอมพ่อมั่งเน้อลูกหล้า ใกล้จะเปิดเทอมแล้ว”

            ตอนนั้นมาลีกำลังจะขึ้น ป. 6 จำความรู้สึกได้ว่าไม่ได้ดีใจไปกับป้าศรีเลยแม้แต่น้อย พ่อแปลกหน้าสำหรับเธอเสมอในการพบเจอกันเพียงสองสามครั้งตั้งแต่จำความได้ เด็กหญิงปล่อยให้ป้าศรีพากึ่งเดินกึ่งวิ่งข้ามฟากถนนไปหาร้านป้าทองคำ ระหว่างทางเจอใครป้าก็เล่าเรื่องที่จะพาเธอไปพบพ่ออย่างน่าตื่นเต้น


                          “โตขึ้นเยอะเลยนะนี่”  
    
             คำพูดนั้นของพ่อผู้อยู่ในเครื่องแบบตำรวจอันแสนโก้หรูในสายตาของป้าศรีเอ่ยทักทายกับป้าศรี ไม่ใช่กับเธอ...ลูกสาวที่พ่อทิ้งไปตั้งแต่อายุหกเดือน

             พ่อกับป้าศรีพูดคุยกันข้ามหัวเธอไปมาโดยมีเธอเป็นตัวละครเอกยืนเด่นอยู่กลางร้านขายอาหารของป้าทองคำ ท่ามกลางสายตาชื่นชมของทุกคนในร้านที่พ่อลูกได้พบเจอกันราวนวนิยาย

              “ผมเตรียมไว้ให้ลูกหมดทุกอย่างแหละครับ ตอนนี้กำลังปลูกบ้านหลังใหม่ ว่าจะทำห้องไว้ให้เขาห้องหนึ่ง ที่สวนลำใยก็ซื้อเอาไว้ให้เขาแล้ว โตขึ้นเขาจะได้มีที่ทางทำกินไม่ลำบาก”

             ก่อนจากกันพ่อยังถามถึงรางวัลที่เธออยากได้ ค่าที่เธอสอบได้ที่หนึ่งมาโดยตลอด    

             “ขอรถจักรยานค่ะ หนูจะปั่นไปเรียนหนังสือในตัวเมืองตอนอยู่ ม. 1”  

             แล้วทุกสิ่งก็ว่างเปล่า คำพูดใด ๆ ของพ่อไม่เคยเป็นจริง แม้เธอไม่ได้คาดหวังอะไรก็ตามแต่เธอไม่เคยลืมมันแม้แต่คำเดียว  


                     ....ฉุยฉายเอย  จะขึ้นไปเฝ้าเจ้าก็กรีดกราย เยื้องย่างเจ้าช่างแปลงกาย ให้ละเมียดละม้ายสีดา นงลักษณ์…

             นี่ต่างหากคือเงินค่าเทอมของเด็กหญิงมาลี ยามร่ายรำอยู่บนเวทีเธอรู้สึกราวกับตัวเองกำลังล่องลอยอยู่บนฟ้า เป็นเทพธิดาสูงส่งตัดขาดจากความเป็นจริง เธอรำสวยหยดย้อยจนเด็กผู้ชายขี้มูกกรังคนนั้น ดิ้นปัด ๆ ดึงมือแม่แล้วชี้นิ้วมาบนเวที      

            “อยากได้มาลีน้อย  จะเอามาลีน้อย .... ”  

             มาลีดีใจที่มีงานวัด งานกฐินทอดผ้าป่า หรืองานอะไรก็ตามที่มีการรำ เธอเป็นนางรำประจำโรงเรียน นางรำของหมู่บ้าน ของทุก ๆ คนที่นี่ คุณครูจากต่างแดนที่มาฝึกสอนอยู่แค่ไม่กี่เดือนเป็นผู้ประสาทวิชานี้ให้ ท่านชมว่าเธอหัวดี จำได้เร็วและแม่นยำ ครูทิ้งมรดกล้ำค่า ทั้งรำฉุยฉาย รำศรีนวล รำอวยพร ไว้ให้เธอ แล้วยังทิ้งชุดรำ และเครื่องประดับต่างๆเอาไว้ให้ ราวครูรู้ว่าเธอต้องใช้มันทำมาหากิน    

              ยามมาลีร่ายรำ เด็กและผู้ใหญ่ต่างพากันลุกขึ้นมายืนออดูอยู่หน้าเวที สายตาทุกคู่ชื่นชมและทึ่ง เพราะท่ารำของเธอแตกต่างจากการรำปกติธรรมดาทั่วไป ไม่ใช่ฟ้อนเล็บหรือฟ้อนเทียนที่มีคนรำหลายคนด้านล่างแต่เธอโดดเด่นคนเดียวบนเวที เงินรางวัลจากผู้มีจิตเมตตา และค่าตอบแทนจากทางวัดหรือหมู่บ้านช่วยเธอได้มาก แม้อาจมีค่าเพียงเล็กน้อยในสายตาคนอื่น

              ป้าศรีพาเธอมาส่งให้ยาย ขากลับมาจากพามาลีไปพบพ่อป้าศรีเงียบไป ไม่เสียงดังเหมือนตอนขาไป ยายมองตาป้าศรีนิ่ง ๆ ไม่พูดอะไร ได้ยินป้าศรีลายาย บอกว่าลูกชายพาเพื่อนมาที่บ้านจะไปดูเสียหน่อย ส่วนเด็กหญิงก็เลี่ยงขึ้นเรือนไปนั่งคุดคู้อยู่เงียบ ๆ ในมุมสงบส่วนตัวตามลำพัง เหมือนทุกครั้งที่รู้สึกใจแห้งผากเป็นทะเลทราย



              ใกล้หมู่บ้านมีหนองน้ำใหญ่ แต่ก่อนมันเคยเป็นแม่น้ำ เมื่อลำน้ำเปลี่ยนสายมันจึงกลายเป็นแค่หนองน้ำที่มีกอไผ่ขึ้นกอโดยรอบ มาลีชอบแอบมานั่งซุกตัวท่องหนังสือที่นี่ ด้วยมันมีบริเวณที่เครือเถาวัลย์เกี่ยวพันกับกิ่งไผ่จนเหมือนเป็นฉากกั้นหลบบังสายตาผู้คน ที่นี่เป็นเหมือนโลกส่วนตัวอีกแห่งหนึ่งของเธอ

              ผู้ชายแปลกหน้าเพื่อนพี่นพลูกชายป้าศรีคนนั้น เดินเข้ามาทักในวันที่เธอกำลังนั่งเหม่อมองสายน้ำ กลางหนองมีบัวป๊านอยู่มากมาย ดอกสีม่วงชูช่อสวยละลานตา

              “มานั่งทำอะไรอยู่ที่นี่คนเดียว”  เด็กหญิงมองผู้ชายผมยาวประบ่าที่ถือวิสาสะนั่งลงข้าง ๆ อย่างตื่น ๆ แต่ไม่ได้ขยับตัวหนีไปไหน

                “อ่านหนังสือสอบค่ะ”    

                “ขยันนี่ อย่างนี้อนาคตต้องเรียนเก่งแน่ ๆ” มาลีจ้องหน้าคล้ำ ๆ แตกต่างจากผู้คนแถวนี้ที่ผิวออกเหลืองขาว นึกสงสัยในการปรากฏกายของเขา

                 “พี่เป็นเพื่อนพี่นพหรือคะ” เธอเห็นเขาที่บ้านพี่นพมาสองสามวันแล้ว เคยเจอกันเวลายายใช้ให้แบ่งแกงไปบ้านป้าศรี แต่ไม่เคยคุยกัน

                  “ใช่ครับ พี่เป็นเพ็นเฟรนของพี่นพตั้งแต่เรียนมัธยม ตอนนี้เราเป็นเพื่อนต่างมหาวิทยาลัยกัน นพเขาชวนพี่มาเที่ยวลำพูน เห็นบอกว่าที่นี่เป็นเมืองสวย เงียบสงบดี”  
  
                    “มหาวิทยาลัยปิดเทอมแล้วเหรอ”    

                    เธอถามอย่างสงสัย นี่มันต้นเดือนมกราคมของปี พ.ศ. 2519  บางทีโรงเรียนประถมอาจปิดเทอมไม่เหมือนมหาวิทยาลัยก็ได้ เขาไม่ตอบแต่กลับถามเธอว่า

                    “ตั้งใจเรียนแบบนี้โตขึ้นอยากเป็นอะไรล่ะเรา”

                    “ไม่รู้ ”  ตอนนั้นเธอหมายความตามที่พูดจริง ๆ เธอยังไม่รู้เลยว่ายายจะอนุญาตให้เรียนต่อ  ม. 1 หรือเปล่าด้วยซ้ำ

                     “แต่อยากเรียนในมหาวิทยาลัยเหมือนพี่นพ จบแล้วคงเป็นครูหรือเป็นหมอ อะไรสักอย่างที่เงินเดือนแพง ๆ”  

                     เธอบอกเท่าที่เคยรู้จักพบเห็น สองอาชีพนี้มีเกียรติและมีฐานะในหมู่บ้าน มากกว่าอาชีพทำนาทำสวนหรือค้าขาย เขาหัวเราะขำคำพูดซื่อ ๆ ของเธอ  
    
                      “ถ้าอย่างนั้นต้องเรียนให้เก่งมาก ๆ แล้ว”  

                      “หนูสอบได้ที่หนึ่งทุกปี กลางปีหน้าหนูจะสอบเข้า ม. 1 โรงเรียนสตรีประจำจังหวัด” เด็กหญิงอวด

                      “เรียนในมหาวิทยาลัยต้องใช้เงินเยอะ ไม่ใช่เรียนเก่งอย่างเดียวก็เข้าเรียนได้ พี่นพกับพี่ต้องเรียนไปด้วยทำงานไปด้วย ไม่งั้นมีเงินไม่พอเป็นค่าหน่วยกิตหรอก ”

                     เป็นครั้งแรกที่เธอเริ่มเกิดอาการลังเล ไม่แน่ใจอนาคตทางการศึกษาของตนเองขึ้นมาทันที มีเพื่อน ๆ ร่วมชั้น ป. 6 หลายคนรู้ตัวแล้วว่าต้องหยุดการเรียนของตนไว้แค่นี้ แต่เด็กผู้หญิงกำพร้าไม่มีทั้งบิดามารดาคอยให้ความช่วยเหลือจุนเจืออย่างเธอกลับมีความฝันอยากเรียนถึงขั้นมหาวิทยาลัย

                      “หนูคงเรียนได้ถึงชั้น  ม. 6 แต่ถ้าต้องเรียนมหาวิทยาลัย ยายหนูไม่ค่อยมีตังค์”  

                      คำพูดติดขัดอยู่ที่ลำคอ จะเป็นอย่างไรถ้าเธอไม่ได้เรียนต่อจนถึงขั้นสูงสุดอย่างที่ฝันใฝ่

                      “เป็นเด็กกำพร้าล่ะสิ ”

                      “ไม่ใช่สักหน่อย” มาลีสะบัดเสียงใส่เขา เริ่มนึกไม่พอใจคนพูดที่บังอาจจี้จุดเจ็บในใจ

                      “หนูมีพ่อมีแม่นะ เขาแค่เอาหนูมาฝากยายเลี้ยง” ถึงอย่างไรเธอก็ยอมรับความจริงไม่ได้เสียทีว่าพ่อกับแม่ไม่เคยคิดจะรับเธอไปเลี้ยงดู เนื่องจากพวกเขาต่างมีครอบครัวใหม่




                   “มียายรักเอ็งคนเดียวก็พอถมถืดแล้ว ลูกหล้าเอ้ย”  


                   เหมือนยายจะอ่านใจเธอออก มือเหี่ยว ๆ ของยายมักลูบผม ลูบหน้าเธออย่างรักใคร่  สายตาของยายบอกความเวทนาหลานตัวน้อยยิ่งนัก   เด็กหญิงอยู่กันสองคนยายหลานตลอดมาโดยแทบไม่มีกิจกรรมใดเกี่ยวข้องกับคนเป็นพ่อเป็นแม่ของเธอเลย

                  “วิทยุไม่ดังอีกแล้ว ยาย ”    

                  เธอตบวิทยุทรานซิสเตอร์เก่าแก่เครื่องนั้นอย่างขัดใจ ละครในวิทยุกำลังถึงตอนสำคัญ น่าเสียดายที่มันมารวนเอาตอนนี้  ยายลุกจากกองผักบุ้งที่พึ่งเก็บขึ้นมาจากในหนองน้ำ เอามันมาจัดเรียงยอดเป็นระเบียบสวยงาม รัดด้วยเส้นตอกไม้ไผ่บางเป็นกำ ๆ พรุ่งนี้เช้ามืด ยายกับเธอจะนำมันไปขายในตลาดสดกลางหมู่บ้าน

                   “ตบมันโครม ๆ อย่างนั้นเดี๋ยวได้พังกันพอดี เอามานี่มา ยายจะซ่อมให้”    

                   มือยายจับโน่นหมุนนี่ไม่กี่ที วิทยุเครื่องนั้นก็ใช้งานได้อีกครั้ง  ยายเป็นคนเก่งที่สุดในสายตาเธอ ทุกครั้งเมื่อมีปัญหาเธอจึงนึกถึงแต่ยาย  ชีวิตนี้มาลีมียายเป็นที่พึ่งเพียงคนเดียวเท่านั้น...


                  “พี่ก็เป็นเด็กกำพร้าเหมือนกัน  ไม่ได้อยู่กับญาติคนไหนเลยด้วยซ้ำ”  
  
                   เขาพูดต่อ ยิ้มไปด้วยอย่างอารมณ์ดี ไม่ใส่ใจอาการขุ่นเคืองของเธอสักนิด

                    “อาศัยข้าวก้นบาตรหลวงตาที่วัดกินตั้งแต่เล็กจนโต”  

                    ค่อยรู้สึกดีขึ้นมาหน่อย อย่างน้อยเขาก็แย่กว่าเธอ เพราะเธอยังมียายที่รักเธอราวแก้วตาดวงใจทั้งคน

(ต่อพรุ่งนี้ค่ะ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่