3 ปีซูเปอร์บอร์ด 'กสทช.' กลไกตรวจสอบที่เต็มไปด้วย 'ปัญหา'


3 ปีซูเปอร์บอร์ด 'กสทช.' กลไกตรวจสอบที่เต็มไปด้วย 'ปัญหา'
ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559



          24 เม.ย. 2559 นี้ "กตป." หรือ คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และ กำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่เรียกกันทั่วไปว่า "ซูเปอร์บอร์ด" ของ กสทช.ชุดแรกจะครบวาระแล้ว

          แต่ปัจจุบัน กตป.คงเหลือปฏิบัติหน้าที่ได้เพียง 2 ราย จากเดิมที่วุฒิสภาได้ตั้งแต่งคณะกรรมการทั้งหมด 5 คน เนื่องจากประธาน กตป. "พลเอกธวัชชัย สมุทรสาคร" ลาออกไปเมื่อปลายปี 2556 เพื่อลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ และแต่งตั้ง "พลเอกบุณยวัจน์ เครือหงส์" ขึ้นเป็นประธานคนใหม่แทน แต่ปลายปี 2558 ก็ได้ลาออกเพื่อดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

          ส่วนนายประเสริฐ อภิปุญญา เป็น 1 ใน 45 รายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ 16/2558 เรื่องมาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบและการกำหนดกรอบอัตรากำลังชั่วคราว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ระบุให้ระงับการปฏิบัติราชการในตำแหน่งเดิมเป็นการชั่วคราว

          "อมรเทพ จิรัฐิติเจริญ" กตป. 1 ใน 2 ที่ยังทำหน้าที่อยู่ระบุว่า การที่กรรมการเหลือ 2 คนไม่ได้เป็นปัญหาในการปฏิบัติงาน แต่ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อตรวจสอบครอบคลุมทั้ง 5 ด้านตามที่กฎหมายระบุไว้ คือด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม การคุ้มครองผู้บริโภค และด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน

          แต่ปัญหาจริง ๆ ในการทำงานของ กตป.ที่ผ่านมาคือ การได้รับความร่วมมือจาก "กสทช." และสำนักงาน กสทช. ในช่วงแรกที่เพิ่งตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาก็จะมีปัญหาด้านอัตรากำลัง และเงินเดือนของเจ้าหน้าที่ที่ต้องมาทำงานสนับสนุน กตป. รวมถึงด้านสถานที่ตั้งหน่วยงาน แต่ที่เป็นปัญหามาตลอด 3 ปีที่ปฏิบัติงาน คือ การประสานขอข้อมูลที่ต้องใช้เพื่อการตรวจสอบ

          "เวลาแจ้งขอข้อมูลไป ก็ได้บ้างและไม่ได้ บ้าง บางเรื่องก็เงียบหาย บางเรื่องก็ได้รับ การตอบรับ อาทิ การคำนวณราคาค่าบริการ 3G ที่ต้องลดลง 15% ตามเงื่อนไขของ กสทช.ที่ กตป.ได้ทวงติงไปว่า ไม่มีการเปิดเผยวิธีการคำนวณ พอถึงกรณี 4G ทางสำนักงาน กสทช.ก็มีการเปิดเผยวิธีการ คำนวณผ่านเว็บไซต์ แม้จะค้นหายากไปสักหน่อย แต่ก็ยังแสดงถึงการเริ่มเปิดเผย ข้อมูลต่อสาธารณะมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา กตป.ได้ทำสรุปไว้ในรายงานประจำปีที่ต้องเสนอต่อวุฒิสภา หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาตลอด"

          สำหรับปัญหาในการปฏิบัติงานของ กสทช.ในปี 2558 ที่ผ่านมา ซึ่งกำลังสรุปเป็นรายงานประจำปีเพื่อส่งให้สำนักงาน กสทช.นำส่งต่อ สนช.ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2559 นี้จะเป็นปีสุดท้ายที่ กตป.ชุดนี้จะต้องทำรายงานส่ง

          "พิชัย อุตมาภินันท์" 1 ใน 2 "กตป." ระบุว่า ด้านกิจการบรอดแคสต์นอกจากปัญหาด้านประสิทธิภาพในการเปลี่ยนผ่าน สู่ระบบทีวีดิจิทัลแล้ว ปัญหาสำคัญคือ กสทช.ยังไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้อย่างที่ควรจะเป็น เพราะยังไม่ได้พิจารณาเหตุผลและความจำเป็นในการคืนคลื่นความถี่ที่อยู่ในมือหน่วยงานรัฐได้อย่างชัดเจน แม้กระทั่งสถานีวิทยุ 1 ปณ. ที่อยู่ ภายใต้กำกับของ กสทช.ที่ยังมีปัญหาเรื่องการคืนคลื่นและผลประโยชน์ทับซ้อนในฐานะองค์กรกำกับดูแล

          การแก้ปัญหาวิทยุชุมชนที่ยังไม่มีความคืบหน้าในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิทัล และมีปัญหาคลื่นรบกวนวิทยุการบิน โดย 5 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุเฉลี่ย 2,297 ครั้งต่อปี และแค่เดือน ม.ค.ในปีนี้มีการรบกวนถึง 148 ครั้ง แต่ กสทช.ยังไม่มีแนวทางป้องกันและแก้ปัญหาที่ชัดเจน

          ฟากกิจการโทรคมนาคม ด้าน "กตป. อมรเทพ" ระบุว่า มีปัญหาเรื่องกำกับดูแลในหลายส่วนยังล่าช้าและไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ทั้งยังให้ความสำคัญกับการกำกับ การแข่งขันในอุตสาหกรรม รวมถึงการคุ้มครองผู้บริโภคน้อยมาก ทั้งในแง่ของการวางกฎกติกาที่เอื้อต่อการเข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการรายใหม่ การแก้ปัญหาของผู้บริโภคที่จะเน้นเฉพาะกรณีที่มีการร้องเรียน ไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาในภาพรวม

          รวมถึงการนำส่งเงินรายได้ที่เกิดจากสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ตามมาตรา 84 วรรค 3 ของ พ.ร.บ.กสทช.ที่กำหนดให้ตั้งแต่ ต.ค. 2556 เป็นต้นไปรัฐวิสาหกิจต้องนำส่งเงินรายได้ตามสัมปทานหลังหักค่าใช้จ่ายให้สำนักงาน กสทช. เพื่อนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน แต่ผ่านมาถึงปัจจุบันก็ยังดำเนินการไม่สำเร็จ

          การพิจารณาเหตุผลและความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ของหน่วยงานรัฐ เพื่อการเรียกคืนคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคมมาจัดสรรใหม่ให้มีประสิทธิภาพด้วย

          แม้ขณะนี้เลขาธิการวุฒิสภา ยังเดินหน้า กระบวนการสรรหา กตป.ใหม่ 2 คน แทนกรรมการที่ลาออกไป แต่ ณ เวลานี้ รัฐบาลปักธงชัดเจนแล้วว่าจะมีการยกร่าง พ.ร.บ.กสทช.ใหม่ และยังไม่ชัดเจนว่าจะยังมี กตป.อีกหรือไม่ ขณะที่ "กตป. พิชัย" ย้ำว่า การตรวจสอบการทำงานของ กสทช.ยังจำเป็นต้องมี และต้องเป็นการตรวจสอบในเชิงลึกด้วย

          "การไล่เช็กว่า กสทช.ทำหรือไม่ทำอะไรก็สำคัญ แต่ที่สำคัญกว่าคือ ต้องลงไปตรวจสอบ ว่าสิ่งที่ กสทช.ทำลงไปแล้ว ผลที่ได้มาเป็นไป ตามที่ตั้งเป้าไว้ มีประสิทธิภาพหรือไม่ รวมถึง การคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ซึ่งตั้งแต่มีการตรวจสอบ กสทช.แม้จะมีปัญหาอุปสรรคมาก แต่ผลจากการตรวจสอบก็ทำให้การเดินทางไปต่างประเทศของ กสทช.ต้องยุติไป โดยเลขาธิการ กสทช.ได้ให้คำมั่นกับ สนช. (สภานิติบัญญัติแห่งชาติ) ว่า ต่อไปจะต้อง เป็นทริปที่เกี่ยวข้องกับภารกิจเท่านั้น และยังมีการทบทวนการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจากเดิมที่มีกว่า 100 ชุด เหลือ 20 ชุด"

          ด้าน กตป. อมรเทพกล่าวว่า ที่ผ่านมา กตป.มีบทบาทน้อย เพราะกลไกการตรวจสอบ การทำงานของ กสทช.ไม่ได้จบที่ กตป. แต่ กตป.ทำหน้าที่ขึ้นตรงกับวุฒิสภา หรือ สนช.ด้วยการรายงานผลการตรวจสอบ แล้วจึงให้ทางสภาเป็นผู้พิจารณาว่าจะให้แก้ไขปรับปรุง หรือลงโทษอย่างไร

          "อำนาจที่แท้จริงจึงอยู่ที่วุฒิสภาและ สนช. ซึ่งก็เข้าใจได้ว่าในช่วงที่ผ่านมามีปัญหา การเมืองเกิดขึ้นมากมาย ทำให้ประเด็นปัญหาของ กสทช.ได้รับความสนใจน้อย จากนี้ก็คาดหวังว่าประเด็น กสทช.จะกลายเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เกิดการแก้ไขที่โครงสร้างอย่างจริงจัง"


แหล่งข่าว
หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 (หน้า 29)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่