"ความอันตรธานของสุตตันตะเหล่านั้น ที่เป็นคำของตถาคต...จักมีได้ด้วยอาการอย่างนี้.."

กระทู้สนทนา
ภิกษุ ท. !  เรื่องนี้เคยมีมาแล้ว  :  กลองศึกของกษัตริย์พวกทสารหะ  เรียกว่า  อานกะ  มีอยู่.  เมื่อกลองอานกะนี้  มีแผลแตก  หรือลิ,  พวกกษัตริย์ทสารหะ  ได้หาเนื้อไม้อื่นทำเป็นลิ่ม  เสริมลงในรอยแตกของกลองนั้น (ทุกคราวไป).  
       ภิกษุ ท. !  เมื่อเชื่อมปะเข้าหลายครั้งหลายคราวเช่นนั้นนานเข้า  ก็ถึงสมัยหนึ่ง  ซึ่ง  เนื้อไม้เดิมของตัวกลองหมดสิ้นไป  เหลืออยู่แต่เนื้อไม้  ที่ทำเสริมเข้าใหม่  เท่านั้น ;

    ภิกษุ ท. !  ฉันใดก็ฉันนั้น  : ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต  จักมีภิกษุทั้งหลาย,  สุตตันตะ  (ตัวสูตรส่วนที่ลึกซึ้ง)  เหล่าใด  ที่เป็นคำของตถาคต  เป็นข้อความลึก  มีความหมายซึ้ง  เป็นชั้นโลกุตตระ  ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา,  เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่ ;  เธอจักไม่ฟังด้วยดี  จักไม่เงี่ยหูฟัง  จักไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง  และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.  ส่วนสุตตันตะเหล่าใด  ที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่  เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอนมีอักษรสละสลวย  มีพยัญชนะอันวิจิตร  เป็นเรื่องนอกแนว  เป็นคำกล่าวของสาวก,  เมื่อมีผู้นำสูตรที่นักกวีแต่งขึ้นใหม่เหล่านั้นมากล่าวอยู่  ;เธอจักฟังด้วยดี  จักเงี่ยหูฟัง  จักตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง  และจักสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.

    ภิกษุ ท. !  ความอันตรธานของสุตตันตะเหล่านั้น  ที่เป็นคำของตถาคตเป็นข้อความลึก  มีความหมายซึ้ง  เป็นชั้นโลกุตตระ  ว่าเฉพาะด้วยเรื่องสุญญตา  จักมีได้ด้วยอาการอย่างนี้  แล.

นิทาน.  สํ.  ๑๖/๓๑๑/๖๗๒-๓,
----------------------------------------------------------------
            
    ภิกษุ ท. !  มูลเหตุสี่ประการเหล่านี้  ที่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือน จนเสื่อมสูญไป.  สี่อย่างอะไรกันเล่า ?  สี่อย่างคือ :-

    ภิกษุ ท. !  พวกภิกษุเล่าเรียนสูตร  อันถือกันมาผิด  ด้วยบทพยัญชนะที่ใช้กันผิด ;  เมื่อบทและพยัญชนะใช้กันผิดแล้ว  แม้ความหมายก็มีนัยอันคลาดเคลื่อน.  ภิกษุ ท. !  นี้  มูลกรณีที่หนึ่ง  ซึ่งทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือน จนเสื่อมสูญไป.

    ภิกษุ ท. !  อีกอย่างหนึ่ง,  พวกภิกษุเป็นคนว่ายาก ประกอบด้วยเหตุที่ทำให้เป็นคนว่ายาก  ไม่อดทน  ไม่ยอมรับคำตักเตือนโดยความเคารพหนักแน่น.  ภิกษุ ท. !  นี้  มูลกรณีที่สอง  ซึ่งทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือน จนเสื่อมสูญไป.

    ภิกษุ ท. !  อีกอย่างหนึ่ง,  พวกภิกษุเหล่าใด  เป็นพหุสูต  คล่องแคล่วในหลักพระพุทธวจนะ  ทรงธรรม  ทรงวินัย  ทรงมาติกา (แม่บท),  ภิกษุเหล่านั้นไม่ได้เอาใจใส่บอกสอนใจความแห่งสูตรทั้งหลายแก่คนอื่น ๆ  ;  เมื่อท่านเหล่านั้นล่วงลับดับไป  สูตรทั้งหลาย  ก็เลยขาดผู้เป็นมูลราก (อาจารย์)  ไม่มีที่อาศัยสืบไป.  ภิกษุ ท. !  นี้ มูลกรณีที่สาม  ซึ่งทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือน จนเสื่อมสูญไป.

    ภิกษุ ท. !  อีกอย่างหนึ่ง,  พวกภิกษุชั้นเถระ  ทำการสะสมบริกขารประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา  เป็นผู้นำในทางทราม  ไม่เหลียวแลในกิจแห่งวิเวกธรรม  ไม่ปรารภความเพียร  เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง  เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ  เพื่อทำให้แจ้งในสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง.  ผู้บวชในภายหลังได้เห็นพวกเถระเหล่านั้นทำแบบแผนเช่นนั้นไว้  ก็ถือเอาไปเป็นแบบอย่าง  จึงทำให้เป็นผู้ทำการสะสมบริกขารบ้าง  ประพฤติย่อหย่อนในไตรสิกขา  มีจิตต่ำด้วยอำนาจแห่งนิวรณ์  ไม่เหลียวแลในกิจแห่งวิเวกธรรม  ไม่ปรารภความเพียร  เพื่อถึงสิ่งที่ยังไม่ถึง  เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ  เพื่อทำให้แจ้งในสิ่งที่ยังไม่ทำให้แจ้ง,  ตามกันสืบไป.  ภิกษุ ท. !  นี้  มูลกรณีที่สี่  ซึ่งทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือน จนเสื่อมสูญไป.

    ภิกษุ ท. !  มูลเหตุสี่ประการเหล่านี้แล  ที่ทำให้พระสัทธรรมเลอะเลือน จนเสื่อมสูญไป.

     จตุกฺก.  อํ.  ๒๑/๑๙๗/๑๖๐.
------------------------------------------------------------------------------------
สำนวนการแปลของท่านพุทธทาส หากต้องการสำนวนการแปลของสำนักอื่น สามารถค้นได้ตามพระสูตรที่แสดงไว้ด้านท้ายครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่