***การธำรงรักษาพระธรรมวินัยโดยอาศัยพระไตรปิฎก***

อ้างอิง
http://www.mcu.ac.th/mcutrai/menu2/Article/article_03.htm

นายรังษี สุทนต์ เก็บเพชรจากคัมภีร์พระไตรปิฎก โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย กรุงเทพมหานคร 2542 หน้า 277 - 299

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ พระมหากรุณาคุณ หลังจากได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ เป็นศาสดาเอกในไตรโลกแล้วได้ทรงบำเพ็ญพุทธกิจแสดงธรรมโปรดเวไนยสัตว์ เป็นเวลา ๔๕ ปี จึงเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน ได้ทรงแสดงธรรมโปรดท่านพระอานนท์ผู้อาลัยอาวรณ์ในการที่พระพุทธองค์จะจากไป เพื่อให้ท่านพระอานนท์แจ้งแก่ภิกษุสงฆ์ ไม่ให้พากันคิดว่า "พระศาสดาจากพระธรรมวินัยไปแล้ว พระศาสดาไม่อยู่แล้ว" แต่ให้คิดว่า "พระธรรมที่พระศาสดาได้แสดงไว้แล้ว และพระวินัยที่พระศาสดาไดับัญญัติไว้แล้วแก่ภิกษุสงฆ์นั้น จักอยู่เป็นศาสดา คือตัวแทนพระศาสดาของภิกษุสงฆ์ เมื่อพระศาสดาได้ล่วงลับไปแล้ว"
คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรียกว่า "ธรรมวินัย" บ้าง "พุทธพจน์" บ้าง ซึ่งในกาลต่อมาเรียกว่า "พระไตรปิฎก" พระธรรมวินัยนี้ คือตัวแทนพระศาสดาของพระสาวกทั้งหลาย ซึ่งได้รับการนำสืบ ๆ กันมาด้วยวิธีมุขปาฐะ คือทรงจำด้วยใจท่องจำกันมาด้วยปากเปล่า สั่งสอนกันจดจำกันปากต่อปากสืบทอดกันมา เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ภิกษุสงฆ์บางกลุ่มบางพวกสั่งสอนประพฤติปฏิบัติผิดแปลกออกไป พระสาวกทั้งหลายผู้หวังความบริสุทธิ์ ความตั้งมั่นแห่งพระธรรมวินัย จะประชุมกันตรวจสอบพระธรรมวินัย ชำระสะสางขจัดคำสอนที่แปลกปลอมเข้ามาออกไป
พระสาวกทั้งหลายได้ทรงจำนำสืบต่อพระธรรมวินัยด้วยวิธีมุขปาฐะกันมาเป็นเวลานับร้อยปี ในที่สุดได้ตกลงกันจารึกพระธรรมวินัยเป็นลายลักษณ์อักษรลงบนใบลานที่เกาะสิงหล (ศรีลังกา) เมื่อประมาณ พ.ศ. ๔๐๐
พระธรรมวินัยที่จารึกลงบนใบลานที่เกาะสิงหลนี้ได้แพร่หลายไปยังประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา ประเทศที่รับคัมภีร์พระไตรปิฎกไปก็เปลี่ยนจากการจารึกด้วยอักษรสิงหลเป็นจารึกด้วยอักษรที่ประเทศตนใช้ คัดลอกสืบต่อกันมา จนในที่สุดได้เปลี่ยนมาจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือ
ในประเทศไทย ตามหลักฐานจากคัมภีร์มูลศาสนา๒ว่า พระญาณคัมภีรเถระไปลังกาแล้วรับพระไตรปิฎกและอักษรเขียนบาลีมาประเทศเมื่อ พ.ศ. ๑๙๗๐ แล้วคัดลอกจารลงบนใบลานนำสืบต่อกันมา จนได้รับการคัดลอกจากใบลานอักษรขอม เปลี่ยนเป็นอักษรไทย จัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑ ในประเทศอื่น เช่น ลังกา พม่า ลาว เขมร ก็มีการคัดลอกจารจารึก จนจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือเช่นกัน นี้เป็นเรื่องความเป็นมาแห่งพระไตรปิฎก
พระไตรปิฎกได้รับการนำสืบต่อมา ได้มีการตรวจสอบกันกับฉบับของแต่ละประเทศ ได้รับการรักษายกย่องเทิดทูนเป็นตัวแทนองค์พระศาสดา
เมื่อเกิดมีภิกษุประพฤติปฏิบัติส่อไปในทางว่าจะผิดหลักธรรมวินัย ก็พึงนำข้อที่คิดว่าผิดนั้นมาตรวจสอบกับพระธรรมวินัยในพระไตรปิฎก เป็นประดุจเข้ากราบทูลถามพระศาสดาว่า การประพฤติปฏิบัตินั้น ถูกต้องหรือไม่ พระองค์ทรงสั่งสอนอย่างนี้หรือไม่
ในการรักษาสืบต่อพระธรรมวินัยในรูปแบบของการปฏิบัติและสั่งสอนนั้น ผู้ที่มีความละอาย คือเป็นลัชชี จึงจะรักษาคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าไว้ได้อย่างถูกต้องบริสุทธิ์ ในข้อนี้พระโบราณาจารย์เถระได้กล่าวไว้ว่า
"อนาคเต ลชฺชี รกฺขิสฺสติ, ลชฺชี รกฺขิสฺสติ, ลชฺชี รกฺขิสฺสติ : ในกาลภายหน้า ภิกษุผู้มียางอาย จักรักษาไว้ได้ ภิกษุผู้มียางอาย จักรักษาไว้ได้ ภิกษุผู้มียางอาย จักรักษาไว้ได้"
ภิกษุที่จัดว่ามียางอาย คือภิกษุที่มีความรู้สึกละอายต่อสิ่งที่พึงละอาย ละอายต่อการที่จะแตะต้องบาปอกุศลธรรม เป็นคนรังเกียจบาป
ภิกษุผู้เป็นลัชชียังมีคุณธรรมอื่นอีก คือ มีความเกรงกลัวบาป มีความเคารพหนักแน่นในหลักคำสอนของพระพุทธองค์ ยกย่องพระสัทธรรมไว้เหนือตนเอง
นอกจากจะละอายบาป ยังมีความเอ็นดู อนุเคราะห์ช่วยเหลือ ให้แล้วไม่หวังตอบแทน พูดจริง ไม่กล่าวให้คลาดจากความจริง ไม่สร้างความแตกแยก สมานสามัคคี เจรจาไพเราะ พูดถูกกาลเทศะ พูดจริง พูดเป็นอรรถเป็นธรรม มีที่อ้างอิงประกอบด้วยประโยชน์
ภิกษุที่เป็นลัชชี จะมีความยำเกรง ใคร่ในการศึกษา จะไม่ทำให้เสียแบบแผนเพราะเห็นแก่ความเป็นอยู่ แสดงเฉพาะธรรมและวินัย จะประคองสัตถุศาสน์ไว้อย่างมั่นคง ท่านจะไม่ละหลักการทางวินัย ไม่ละเมิดหลักการทางวินัย จะยืนหยัดมั่นคงในหลักการทางวินัย ตามภาวะของผู้มียางอาย
ภิกษุลัชชีที่จะรักษาพระสัทธรรมไว้ได้นี้ เป็นระดับพหูสูตผู้คงแก่เรียน มิใช่ไม่มีการศึกษา เป็นผู้ไม่ง่อนแง่น เมื่อถูกสอบถามข้อความในพระไตรปิฎก หรืออรรถกถาตอนท้าย หรือตอนต้น ย้อนไปย้อนมา ก็ไม่ทื่อ ไม่หวั่น ชี้แจงได้ว่า เรากล่าวอย่างนี้ อาจารย์ของเราก็กล่าวอย่างนี้ ดุจดังใช้แหนบถอนขนทีละเส้น เป็นผู้ทีทรงจำหลักการในพระไตรปิฎก และข้อวินิจฉัยในอรรถกถาได้อย่างแม่นยำ ไม่มีหมู่ดสิ้น
ภิกษุแม้จะเป็นพหูสูต ผู้คงแก่เรียน แต่ถ้าเป็นผู้ไม่มียางอาย เป็นผู้เห็นแก่ได้ ก็มักจะทำให้แบบแผู้นคลาดเคลื่อน แสดงหลักคำสอนของพระศาสดานอกธรรมนอกวินัย สร้างความมัวหมู่องอย่างมหันต์ขึ้นในพระศาสนา ก่อให้เกิดสังฆเภทบ้าง สังฆราชีบ้าง
ภิกษุผู้เป็นลัชชีเท่านั้น ที่จะปกป้องพระสัทธรรม ยอมสละตนเพื่อรักษาธรรม ส่วนภิกษุอลัชชี มักจะสละธรรมเพื่อรักษาตนและพวกพ้องของตน ยอมสละหลักการแห่งพระพุทธศาสนาเพื่อลาภสักการะ
ที่กล่าวมานี้ คือระบุถึงบุคคลผู้ที่รักษาพระสัทธรรมไว้ แต่การจะรักษาไว้ได้นั้น ก็มีขั้นตอนกระบวนการอยู่ คือต้องรู้ว่า อะไรเป็นแก่นแท้ที่เป็นพระสัทธรรม ภิกษุที่รู้สึกว่า ตนก็เป็นผู้มียางอาย หวงแหนปกป้องพระศาสนา แต่ถ้าไม่รู้จักพระศาสนา หรือพระสัทธรรมที่แท้ ก็อาจจะรักษาสัทธรรมปฏิรูปไว้ก็ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเรียนรู้พระสัทธรรมแท้ให้เข้าใจ ในเรื่องนี้ ก็ต้องอาศัยพระพุทธพจน์ที่พระบรมศาสดาได้ทรงแสดงไว้ในพระไตรปิฎก
การที่พระสัทธรรมจะเสื่อมสลายหายสูญไป มิใช่ว่า เพราะไม่มีผู้รักษา มีผู้รักษา แต่อาจจะรักษาไว้แต่ที่พิรุธคลาดเคลื่อนก็เป็นได้ เหตุที่จะทำให้พระสัทธรรมเสื่อมสลายนั้น พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาตว่า :-
ภิกษุทั้งหลาย เหตุ ๒ ประการ ที่ทำให้สัทธรรมเสื่อมสลายหายไป คือ บทพยัญชนะ (หมู่ายถึงพระพุทธวจนะ) ที่จำมาผิด (หรือคัดลอกมาผิด) และเข้าใจเนื้อความไม่ถูกต้อง เมื่อจำบทพยัญชนะมาผิด ก็ย่อมจะเข้าใจเนื้อความผิดไปด้วย
อีกแห่งหนึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงแสดงเหตุที่จะทำให้พระสัทธรรมเสื่อมสลายไปไว้ว่า :-
เหตุ ๔ ประการ ที่ทำให้สัทธรรมเสื่อมสลายหายไป คือ
๑. ภิกษุทั้งหลาย ศึกษาเล่าเรียนสุตตันตะที่เรียนกันมาผิดลำดับ ตามบทพยัญชนะที่จำกันมาผิด เนื้อความแห่งบทพยัญชนะที่จำกันมาผิด ก็ทำให้เข้าใจผิดกันไปด้วย
๒. ภิกษุทั้งหลาย เป็นคนที่ว่ายากสอนยาก มีนิสัยที่ว่ายากสอนยาก มีนิสัยไม่อดทน ไม่รับฟังคำสอนโดยเคารพ
๓. บรรดาภิกษุที่เป็นพหูสูต คล่องปริยัติทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ไม่ตั้งใจถ่ายทอดสุตตันตะแก่ผู้อื่น เมื่อท่านเหล่านั้นล่วงลับไป สุตตันตะก็ขาดรากฐาน ไม่มีที่พึ่งอาศัย (ไม่มีที่อ้างอิง)
๔. บรรดาภิกษุระดับเถระ เป็นพระมักมาก เป็นพระย่อหย่อน เป็นผู้นำในทางคลายความเพียร ละทิ้งวิเวก ไม่ระดมความเพียร เพื่อถึงธรรมที่ยังไม่ถึง เพื่อบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งธรรมที่ยังไม่ได้ทำให้แจ้ง ภิกษุรุ่นหลังก็พากันเอาเยี่ยงอย่าง
เหตุ ๔ ประการนี้ที่ทำให้สัทธรรมเสื่อมสลายหายไป
ที่กล่าวมานี้ คือตัวสาเหตุที่จะทำให้พระสัทธรรมเสื่อมสูญสลายหายไป ในข้อความที่กล่าวมานั้น มีถ้อยคำที่ควรทำความเข้าใจ เช่นคำว่า "บทพยัญชนะที่จำมาผิด" (ทุนฺนิกฺขิตฺตํ ปทพฺยญฺชนํ) นั้น หมู่ายถึงตัวอักษรที่ส่องให้รู้เนื้อความจำกันมาคลาดเคลื่อนไป
เมื่อบทพยัญชนะพิรุธคลาดเคลื่อน การกำหนดความหมู่ายเฉพาะบทย่อมคลาดเคลื่อนไปด้วย เช่นคำว่า "สุวิชาโน ปราภโว : คนเสื่อม (ชั่ว) ก็รู้ได้ง่าย" จำกันมาคลาดเคลื่อนไปว่า "ทุวิชาโน ปราภโว" ก็เลยตีความคลาดเคลื่อนไปแปลกันว่า "ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม" จึงเกิดความสงสัยกันว่า พระพุทธองค์ก็ทรงทราบเรื่องชั่วที่เรียกว่า อกุศลธรรม เป็นธรรมที่ต้องละ เรียกว่า ปหาตัพพธรรม พระองค์ก็มิได้มีความเสื่อมเสียอะไร
ที่กล่าวมานี้ เป็นการกล่าวถึงลักษณะผู้ที่จะรักษาพระสัทธรรมไว้ได้ และเหตุที่จะทำให้พระสัทธรรมเสื่อม ต่อไปจะขอกล่าวถึงการที่จะธำรงรักษาพระธรรมวินัยด้วยอาศัยพระไตรปิฎก
พระธรรมวินัยของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่นำสืบต่อกันมาจนกระทั่งได้รับการจารึกเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ในใบลาน คัดลอกสืบต่อกันมาจนกระทั่งได้รับการจัดพิมพ์เป็นเล่มหนังสือนั้น ถ้าเราเกิดความสงสัยในบางบทบางข้อ หรือมีผู้มา กล่าวว่า ข้อความบทนี้ ตอนนี้ เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ก็ไม่ควรคัดค้านเสียทีเดียว ควรจะได้โอสาเรตัพพะ สัททัสเสตัพพะ คือสอบทานดูในพระสูตรเทียบเคียงดูในพระวินัยด้วยหลักมหาปเทส คือข้ออ้างอิงสำหรับใช้สอบสวนที่สำคัญ ๔ ประการ เมื่อสอบทานดูในพระสูตร เทียบเคียงดูในพระวินัยแล้ว ถ้าไม่ลงกัน ไม่สมกัน ก็ไม่ต้องเชื่อตาม ถ้าลงกันสมกัน จึงค่อยเชื่อ
หลักการมหาปเทสฝ่ายพระสูตร ๔ ประการตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้นั้น ดังนี้ :-
๑. หากมีภิกษุในธรรมวินัยนี้จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลาย เรื่องนี้ ข้าพเจ้าได้สดับมา ได้เรียนมาเฉพาะพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์
๒. หากมีภิกษุในธรรมวินัยนี้ จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า พระสงฆ์ พร้อมพระเถระ พร้อมผู้เป็นปาโมกข์อยู่ในอาวาสโน้น ข้าพเจ้าได้ฟังมาได้เรียนมาเฉพาะหน้าพระสงฆ์นั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์
๓. หากมีภิกษุในธรรมวินัยนี้ จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุผู้เป็นเถระหลายรูปอยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูต จำปริยัติแม่นยำ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้เรียนมาเฉพาะหน้าพระเถระเหล่านั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์
๔. หากมีภิกษุในธรรมวินัยนี้ จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า ภิกษุชั้นเถระรูปหนึ่ง อยู่ในอาวาสโน้น เป็นพหูสูต จำปริยัติแม่นยำ ทรงธรรม ทรงวินัย ทรงมาติกา ข้าพเจ้าได้ฟังมา ได้เรียนมาเฉพาะหน้าพระเถระนั้นว่า นี้เป็นธรรม นี้เป็นวินัย นี้เป็นสัตถุศาสน์
----
อ่านต่อตามลิงค์  http://www.mcu.ac.th/mcutrai/menu2/Article/article_03.htm
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่