ปอกเปลือก ร่าง พรบ. กสทช. ฉบับใหม่: อำนาจหน้าที่ ที่ถูกศัลยกรรม


ปอกเปลือก ร่าง พรบ. กสทช. ฉบับใหม่: อำนาจหน้าที่ ที่ถูกศัลยกรรม
โดย : ณกฤช เศวตนันทน์

          ตามที่ได้มีการยกร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับใหม่ ที่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายฉบับเดิมอย่างมาก ซึ่งในบทความตอนที่แล้วนั้น [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้ ผู้เขียนได้เคยเขียนเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมโครงสร้างคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คุณสมบัติ และการได้มาของกรรมการ ในบทความนี้จะได้พูดถึงการแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นอำนาจหน้าที่ของ กสทช. ในร่างพระราชบัญญัติฉบับใหม่

          จากการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ฉบับใหม่ที่ได้มีการเผยแพร่เป็นการทั่วไป พบว่ามีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในส่วนอำนาจหน้าที่ กสทช. ที่สำคัญ โดยเฉพาะในส่วนความเป็นอิสระ กล่าวคือร่างพระราชบัญญัติฯฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดว่าในการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ ตารางกำหนดคลื่นความถี่แห่งชาติ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม แผนความถี่วิทยุ และแผนเลขหมายโทรคมนาคมนั้น ต้องจัดทำให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ร่างมาตรา 13) และ กสทช. ต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติฯดังกล่าว (ร่างมาตรา 43) โดยให้คณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเป็นผู้กำกับดูแลโดยสามารถวินิจฉัยชี้ขาดการดำเนินงานของ กสทช. ว่ามีความสอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือไม่ (ร่างมาตรา 19) บทบัญญัติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าการดำเนินงานของ กสทช. ต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

          ร่างพระราชบัญญัติฯฉบับแก้ไขเพิ่มเติมยังกำหนดให้ กสทช. สามารถมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เป็นผู้อนุญาตแทนในส่วนที่เกี่ยวกับเครื่องวิทยุคมนาคมภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ กสทช. จะกำหนดก็ได้ เพื่อลดภาระและให้เกิดความคล่องตัวในการอนุญาตและลดภาระการดำเนินการ (ร่างมาตรา 14) และ กสทช. สามารถมอบหมายให้หน่วยงานอื่นของรัฐดำเนินการตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมแทนได้ โดยให้หน่วยงานดังกล่าวอาศัยเงินค่าใช้จ่ายที่เก็บจากผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และเงินจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (ร่างมาตรา 30) นอกจากนี้ในส่วนการแต่งตั้งอนุกรรมการและพนักงานเจ้าหน้าที่ต้องทำตามความจำเป็นและเหมาะสมเท่านั้น โดยอนุกรรมการที่แต่งตั้งจะไม่สามารถมอบหมายให้บุคคลอื่นดำเนินการแทนได้อีกด้วย (ร่างมาตรา 20 และมาตรา 21)

          ส่วนอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับคลื่นความถี่นั้น ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมให้ กสทช. สามารถกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้คลื่นความถี่ร่วมกันได้ หากการอนุญาตจะไม่ก่อให้เกิดการรบกวนกันของผู้ได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เดียวกันรายอื่น (ร่างมาตรา 15) และ กสทช. สามารถเรียกคืนคลื่นความถี่ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ หรือใช้ประโยชน์ไม่คุ้มค่าเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ให้คุ้มค่ายิ่งขึ้น ภายใต้เงื่อนไขว่าต้องมีการกำหนดวิธีการทดแทน ชดใช้ หรือการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ในแต่ละกรณี (ร่างมาตรา 16) อีกทั้ง กสทช. ยังมีอำนาจระงับการรบกวนหรือทับซ้อนกับคลื่นความถี่ที่เป็นผลจากการละเมิดกฎหมาย และมีอำนาจในการอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้ประโยชน์ในย่านความถี่หรือช่องความถี่จากคลื่นความถี่ที่ได้อนุญาตให้แก่บุคคลอื่นไปก่อนแล้วได้ หากไม่เป็นการรบกวนการใช้ประโยชน์หรือการแข่งขันกับกิจการของผู้ได้รับใบอนุญาตก่อนหน้า (ร่างมาตรา 26 และร่างมาตรา 27)

          ในส่วนการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์นั้น กำหนดให้ กสทช. ต้องคำนึงถึงการบริการสาธารณะแก่ประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งในการกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการประมูลคลื่นความถี่เพื่อกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ที่ผู้บริโภคจะได้รับด้วย ไม่เพียงแต่คำนึงถึงจำนวนเงินที่ได้รับการเสนอให้ในการประมูลคลื่นแต่เพียงอย่างเดียว (ร่างมาตรา 24 และร่างมาตรา 25)

          อนึ่ง กสทช. ยังถูกลดอำนาจหน้าที่ลงในส่วนการประสานงานบริหารคลื่นความถี่ภายในประเทศและระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับกิจการดาวเทียม เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบายและการเจรจาเพื่อให้มีดาวเทียมหรือให้ได้มาซึ่งวงโคจรของดาวเทียม โดยให้ กสทช. มีเพียงหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น (ร่างมาตรา 17)

          การแก้ไขเพิ่มเติมในประเด็นอำนาจหน้าที่ กสทช. ตามข้างต้นนั้น ทำให้การดำเนินงานของ กสทช. ต้องอยู่ภายใต้นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยมีการเปิดช่องให้ กสทช. สามารถแบ่งเบางานส่วนการอนุญาตที่เกี่ยวกับเครื่องวิทยุคมนาคมให้สำนักงาน กสทช. และงานตามแผนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมให้หน่วยงานอื่นดำเนินการแทนได้ และเพิ่มความหลากหลายในการบริหารจัดการคลื่นความถี่ โดยให้อำนาจ กสทช. สามารถเรียกคืนคลื่นความถี่ หรือแบ่งคลื่นความถี่ได้ด้วย ซึ่งการจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ให้แก่บุคคลใดหรือการประมูลคลื่นความถี่จะต้องคำนึงถึงบริการสาธารณะเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี กสทช. มีส่วนในนโยบายและการเจรจาเพื่อให้มีดาวเทียมหรือให้ได้มาซึ่งวงโคจรดาวเทียมเพียงในฐานะหน่วยงานสนับสนุนเท่านั้น

แหล่งข่าว
เว็ปไซต์ Telecomjournalthailand.com
http://www.telecomjournalthailand.com/ปอกเปลือก-ร่าง-พรบ-กสทช-ฉ/
อ้างอิงบทความที่เกี่ยวข้อง
ปอกเปลือก ร่าง พรบ. กสทช. ฉบับใหม่: พลิกโครงสร้าง กสทช.
http://ppantip.com/topic/34843443
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่