พระสูตรชื่อดังที่ถูกนำมาอ้างบ่อยที่สุดในห้องศาสนา

กระทู้สนทนา

  พระสูตรนี้รู้จักกันในชื่อ “กาลามสูตร”
แต่จริงๆ แล้วชื่อพระสูตรนี้ คือ

“เกสปุตตสูตร”


 ก่อนอื่นมาดู “โครงสร้างของพระสูตร” นี้กันก่อนครับ แบ่งออกเป็น 4 ส่วนใหญ่ๆ...

  1. สาเหตุที่พระพุทธองค์ตรัส
  2. อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะเหตุ 10 ประการ
  3. หลักการพิจารณาด้วยปัญญาและบริบทแวดล้อม
  4. ผลที่พึงหวังอันเกิดจากการพิจารณา

 สำหรับส่วนที่ 1 สาเหตุที่พระพุทธองค์ตรัสนั้นเพราะมีนักบวชในลัทธิต่างๆ มากมายเข้ามาเผยแพร่คำสอนของลัทธิตนว่า
“คำสอนของลัทธิตนเท่านั้นที่ถูกต้อง ของลัทธิอื่นผิดหมด”

จนกระทั่งชาวเมืองเกิดความสงสัยว่า
“แล้วคำสอนของลัทธิใดถูกต้องกันแน่”

เพราะต่างก็บอกว่า ของตนเท่านั้นที่ถูกต้อง

 สำหรับส่วนที่ 2 อย่าเพิ่งเชื่อเพียงเพราะเหตุ 10 ประการ คือ
อย่าได้ยึดถือตาม ถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา, ตามถ้อยคำสืบๆ กันมา, โดยตื่นข่าวว่า ‘ได้ยินอย่างนี้’,
โดยอ้างตำรา, โดยเดาเอาเอง, โดยคาดคะเน, โดยความตรึกตามอาการ, โดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว,
โดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้, โดยความนับถือว่าสมณะนี้ เป็นครูของเรา...

...ซึ่งส่วนที่ 2 นี้ล่ะครับท่านผมบอกว่า “ถูกนำมาอ้างบ่อยที่สุด” และหลังจากที่อ้างตรงนี้ขึ้นมาแล้ว
ก็ซัดกันนัวเนียจนอ่วมอรทัยกันไปข้างหนึ่ง

แต่…ส่วนที่ 3 และ 4 ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้นี่แหละสำคัญที่สุด แต่เรามักจะมองข้ามไป
เพราะในส่วนที่ 2 นี้ ท่านไม่ได้หมายถึง
“ห้ามเชื่อเด็ดขาด”

แต่ท่านหมายเอาว่า
“อย่าเพิ่งไปเชื่อทันที ให้หยุดคิดพิจารณาสักหน่อย”
เป็นจุดเริ่มต้นในการพินิจพิจาณาต่อไป…



3. หลักการพิจารณาด้วยปัญญาและบริบทแวดล้อม...

 หลังจากนั้น พระพุทธองค์ตรัสต่อว่า...

“เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ‘ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ
ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน’ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็น
ประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรม เหล่านั้นเสีย…
…ก็บุคคลผู้โลภ (โกรธ หลง) ถูกความโลภ (ความโกรธ ความหลง) ครอบงำ มีจิต
อันความโลภ (ความโกรธ ความหลง) กลุ้มรุมนี้ ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้ ลักทรัพย์ก็ได้ คบชู้ก็ได้
พูดเท็จก็ได้ สิ่งใดเป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์เพื่อทุกข์ สิ้นกาลนาน บุคคลผู้โลภ
(ผู้โกรธ ผู้หลง) ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้…”

 กล่าวคือ พระพุทธองค์ท่าน
“ให้รู้เราด้วยการพินิจพิจารณาด้วยตนเอง”
โดยคำนึงถึง
“เบื้องหน้าเบื้องหลัง”
ของข่าวสารหรือวาทะต่างๆ ว่า…

เป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจหรือไม่ มีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝงหรือไม่
ประกอบด้วยความโลภ ความโกรธ ความหลง มุ่งทำลายล้าง ใส่ร้ายผู้อื่นหรือไม่
ยกตนข่มท่าน เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่คนอื่นหรือไม่ สร้างความแตกแยกหรือไม่

 และเมื่อพิจารณาได้เป็นเช่นนี้...

4. ผลที่พึงหวังอันเกิดจากการพิจารณา คือ...

“บุคคลนั้น ปราศจากความโลภ ความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติ
มั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา (กรุณา มุทิตา อุเบกขา) อันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่
หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน อยู่…”

 ถ้าเราพิจารณาจนกระทั่งถี่ถ้วนแล้ว “สติสัมปชัญญะ” มีความหนักแน่น จนสามารถพินิจพิเคราะห์ข่าวสารต่างๆ
ได้อย่างถูกต้อง “ความเมตตากรุณา” ก็จะบังเกิดขึ้นในจิตใจ และเป็นผู้หนึ่งที่สร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ผู้อื่นและสังคม
ไม่ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีอีกด้วย...

 ถ้าเกี่ยวกับเรื่องข่าวสารทั้งหลาย ก็คงจะจบลงเพียงเท่านี้ แต่...ถ้าเป็นเรื่องของ “คำสอน” ต่างๆ
มีเรื่องที่ต้องพิจารณากันต่อไป มีใจความว่า...

“อริยสาวกนั้นมีจิตไม่มีเวรอย่างนี้ มีจิตไม่มีความเบียดเบียนอย่างนี้
มีจิตไม่เศร้าหมองอย่างนี้มีจิตผ่องแผ้วอย่างนี้ ย่อมได้รับความอุ่นใจ 4 ประการใน ปัจจุบันว่า
‘ก็ถ้าปรโลกมีจริง ผลวิบากของกรรมทำดีทำชั่วมีจริง
เหตุนี้เป็นเครื่อง ให้เราเมื่อแตกกายตายไป จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์’ ดังนี้…
‘ก็ถ้าปรโลกไม่มี ผลวิบากของกรรมทำดี ทำชั่วไม่มี เราไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน
ไม่มีทุกข์เป็นสุข บริหารตนอยู่ ในปัจจุบันนี้’ ดังนี้…
‘ก็ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ชื่อว่าทำบาป เราไม่ได้คิดความชั่วให้แก่ใครๆ
ไหนเลยทุกข์จักมาถูกต้องเราผู้ไม่ได้ทำบาปกรรมเล่า’ ดังนี้…
‘ก็ถ้าเมื่อบุคคลทำอยู่ ไม่ชื่อว่าทำบาป เราก็ได้พิจารณาเห็น
ตนว่าเป็นคนบริสุทธิ์แล้วทั้งสองส่วน’ ดังนี้…

...ว่ากันภาษาชาวบ้าน คือ ทำความดีไปเถิด...
จะมีนรกสวรรค์จริงหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องที่จะมาครุ่นคิดหรือถกเถียงกัน เพราะทำดีแล้ว...ปัจจุบันนี้เราก็สบายกายสบายใจ
ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร ตายไป...ถ้ามีสวรรค์ก็สบายไป ถ้าไม่มีก็แล้วไป
แต่ถ้าทำความชั่ว...ปัจจุบันนี้ก็เดือดร้อนทั้งตนเองและผู้อื่น
ตายไป...ถ้าไม่มีนรกก็รอดไป แต่ถ้ามี...ก็ตัวใครตัวมันละครับงานนี้

 สำหรับพระสูตรนี้ ผมถือว่าเป็น “กรณีศึกษา” เลยก็ว่าได้ เพราะในสมัยนั้น คำสอนของเจ้าลัทธิทั้งหลาย
ล้วนมี “สวรรค์” และ “ความหลุดพ้น” เป็นผลทั้งสิ้น ส่วนว่าคำสอนใดจะไปถึงหรือไม่ถึงนั้นก็เป็นอีกเรื่อง

   ส่วนพระพุทธศาสนาก็เช่นกัน "มีความหลุดพ้น" หรือ "นิพพาน" เป็นที่สุด แต่ถ้ายังไปไม่ถึง
ก็ไปบังเกิดบน "สวรรค์" ก่อน อย่างเช่นพระโสดาบัน หรือ "พรหมโลก" (ชั้นสุทธาวาส) อย่างพระอนาคามี เป็นต้น

   สำหรับพระสูตรนี้...เพื่อคลายข้อข้องใจ และให้เกณฑ์ใน "การตัดสิน" ท่านจึงกล่าวเรื่องของ "สวรรค์-นรก" เอาไว้เช่นนี้

สรุปรวมความว่า...

1. ฟังอะไรมาแล้ว...ใจเย็นๆ อย่าเพิ่งด่วนตัดสินใจ

2. ลองพิจารณาดูว่า...มีเบื้องหน้า เบื้องหลัง เบื้องลึก วัตถุประสงค์แอบแฝงอะไรหรือเปล่า

3. ทำอย่างนี้แล้วจะได้มีสติปัญญาในการตัดสิน และความเมตตาในการทำความเข้าใจ

4. ในกรณีเรื่องคำสอนทางศาสนา เมื่อทำไปแล้วกุศลงอกงาม อกุศลเสื่อมไป...ทำไปเลย


แต่ถ้าทำไปแล้วกุศลเสื่อมไป อกุศลงอกงาม...ให้เลิกทำ ส่วนว่า “สวรรค์-นรก” หรือ “นิพพาน”
จะเป็นอย่างไร ไม่ใช่เรื่องที่มาถกเถียงกัน เพราะ

“คนไปแล้วก็ไม่มาบอก...ส่วนคนที่บอกก็ไม่เคยไป” (เว้นไว้แต่ผู้มีรู้มีญาณ) ...
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่