ประเด็นเครื่องประดับสวรรค์ของวัดพระธรรมกาย

กระทู้สนทนา
ขออนุญาตแลกเปลี่ยนความเห็นนะครับ ประเด็นนี้ต้องเรียกหาหลักการ ต้องเข้าใจคำว่าอจินไตยก่อนครับ
อจินไตย คือเรื่องที่ไม่ควรคิด เพราะคิดแล้วอาจจะบ้าได้ มี 4 เรื่อง คือ
1.พุทธวิสัย เช่น พระพุทธเจ้าเดินได้ตั้งแต่เกิดจริงหรือ เดินยังไง เป็นต้น   
2. ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน เช่น ตาทิพย์นี่เห็นตลอดเวลารึเปล่า  
3.วิบากของกรรม เช่น ตกงานนี้เป็นวิบากกรรมของอะไร
4. คิดเรื่องโลก เช่น จักรวาลมีที่สิ้นสุดมั้ย ใครเป็นคนสร้าง  
ถ้าในเรื่องนี้ เครื่องประดับสวรรค์ที่กล่าวถึง ก็เข้ากับเรื่อง ฌานวิสัย ผลของกรรม และเรื่องโลก ครับ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

                  ทำไมถึงไม่ควรคิด เปรียบเหมือนกับ เรากำลังคุยเรื่องโรคอีโบลา มีสาเหตุมาจากมีเชื้อไวรัส ถ้ามานั่งคิดว่า เจ้าเชื้อไวรัสมันจะหน้าตายังไง สืบพันธ์อย่างไร กินอาหารอย่างไร จะกำจัดได้อย่างไร มีทางเดียวเท่านั้น คือเข้าห้องแล็ปส่องกล้องจุลทรรศน์อิเล็คตรอนดู  มานั่งคิดจินตนาการไม่เกิดประโยชน์  การศึกษาเรื่องอจินไตยก็เช่นเดียวกันต้องเข้าแล็ปส่องกล้อง ต้องใช้อุปกรณ์พิเศษในการศึกษา นั่นคือธรรมจักษุ เพราะธรรมจักษุนั้น สามารถเห็นได้พิเศษ เห็นในสิ่งที่ตาเนื้อไม่เห็นได้ ตั้งแต่สวรรค์ พรหม อรูปพรหม ไปจนถึงกิเลสที่อยู่ภายในใจ ตามลำดับความละเอียด เขาจึงเรียกการเห็นของธรรมจักษุว่า วิปัสสนา ซึ่งหมายถึง การเห็นอันวิเศษนั่นเอง
      
                  ทำไมห้ามไม่ให้คิด  แต่ว่าควรศึกษา  อจินไตยแม้พระพุทธเจ้าจะทรงห้ามว่าไม่ควรคิด แต่พระพุทธองค์ก็ทรงแสดงธรรมในเรื่องอจินไตยไว้มาก จึงเป็นเรื่องที่เราควรที่จะศึกษา  ยกตัวอย่างโรคอีโบลา เหมือนเดิม แม้ว่าเราไม่ใช่หมอ เราไม่เคยส่องกล้องดูเชื้อไวรัสนี้ แต่การศึกษาเรื่องไวรัสอีโบลานี้ ทำให้เราสามารถป้องกันตนไม่ให้ติดเชื้อได้ หรือสังเกตได้ว่าเราติดโรคมาหรือเปล่าจะได้หาหมอรักษาได้อย่างทันท่วงที เป็นต้น เรื่องอจินไตยเช่นกัน เหมือนตอนที่พระพุทธองค์เทศน์เรื่องการแตกทำลายของจักรวาล ท่านก็จะสรุปเป็นช่วงว่า "ควรเบื่อหน่ายควรคลายกำหนัด ควรหลุด ควรพ้น"  หรือตอนสอนเรื่องกฎแห่งกรรมท่านก็สรุปลงที่ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

                   วัดพระธรรมกายสอนนรกสวรรค์เพื่ออะไร  ภาพเครื่องประดับต่าง ๆ คืออุปกรณ์การสอนเรื่องกฎแห่งกรรม ท่านเอาภาพขึ้นมาเพื่อบอกว่ากรรมทุกอย่างมีผล  ทำความดีแม้ดูเล็กน้อยอย่างถวายส้มตำ ผลบุญก็ตามไปแม้ละโลกไปแล้วไปเป็นเครื่องประดับที่มองเมื่อไหร่ก็ปลื้มใจ เพราะฉะนั้นชาวสวรรค์จึงมีหิริ โอตัปปะเป็นพื้น เพราะความดีที่เขาทำซึ่งเป็นผลให้มาอยู่บนสวรรค์นั้น ให้ผลเป็นรูปธรรม ประเด็นมีอยู่แค่นี้  ถ้าผู้ฟังจับประเด็นถูกเออ.. ดีนะ ผลของบุญนี้ ส่งผลอย่างนี้  เวลาจะทำบุญอะไรก็มีเจตนาบริสุทธิ์  หวังมรรคผลนิพพาน ไม่ดูหมิ่นว่าบุญเป็นของเล็กน้อย นี่คือประโยชน์ที่สาธุชนที่ฟังธรรมจะได้

                   วัดพระธรรมกายสอนผิดมั้ย  ประเด็นนี้ท่านไม่ได้สอนหลักธรรม  แต่เป็นการสอนโดยยกตัวอย่าง เอามาเชื่อมกับหลักธรรม  ในพุทธกาลที่ท่านชอบสอนแนวนี้ก็พระโมคลานะ  เช่นมักจะไปดูว่า อุบาสก อุบาสิกา ท่านนี้ตายไปขึ้นไปเกิดเป็นเทวดา ด้วยกรรมอะไร และทิพย์สมบัติเป็นอย่างไร  หรือบุคคลนี้ ทำบาปอะไรไว้แล้วไปตกนรกอย่างไร  พระอนุรุทธะท่านก็ทำ มองการผุดเกิดของสรรพสัตว์ทั้งหลาย  แม้พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวลาจะเทศน์ใครก็ทรงระลึกชาติตรวจอุปนิสัยก่อน บางครั้งก็ระลึกชาติให้ฟังเลยทีเดียว หรือแม้หลวงปู่หลวงตามากมายท่านก็ทำได้ เรียกได้ว่า ครูทำได้อย่างไรก็สามารถสอนลูกศิษย์ให้ทำได้ (ปฏิบัติตามคำสอนครูบาอาจารย์)  มีแตกต่างกันนิดเดียวคือ  หลวงพ่อธัมมชโยท่านมีทีมงาน ท่านเข้าใจว่าภาพหนึ่งภาพแทนคำมากกว่าล้านคำ ประกอบกับใช้เทคโนโลยีด้านสื่อ ออกมาจึงเห็นภาพได้อย่างชัดเจนและเข้าใจง่ายตามยุคสมัยเท่านั้นเอง

                  วิธีดูหรือฟังเรื่อง อจินไตย ก็ควรดูเฉย ๆ อย่างสบาย ๆ  สวยไม่สวย ชอบไม่ชอบก็ว่ากันไป เพราะเป็นเพียงตัวอย่าง เป็นสื่อการสอน จากนั้น ดูหนังดูละครแล้วย้อนมาดูตัวเรา ว่าเราได้แง่คิดอะไรบ้าง และที่สำคัญที่สุดจะนำมาปรับใช้กับตนเองอย่างไร แล้วคิดว่าซักวันหนึ่งฉันจะต้อง ทำอย่างนี้ให้ได้ไปรู้ไปเห็นได้ด้วยตัวเอง เพื่อเป็นผู้มีศรัทธามั่นคงไม่หวั่นไหวในพระศาสนา เหมือนดั่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่