[Home-Cooking Lab] Ep.5 เต้าหู้ทรงเครื่อง + เกิดอะไรขึ้นในกระทะ? (เคมีของการทอด)



สวัสดีครับเพื่อนๆ ช่วงนี้อากาศนอกบ้านหนาวสุดๆ ตึกแลปผมถึงกับพังเพราะ boiler ไม่ทำงาน!! เลยได้หยุดอยู่บ้านสบายใจเฉิบ เอารูปมาให้ดู ความโหด



ข้างนอกหนาวขนาดนี้มาทำอะไรอุ่นๆกินกันดีกว่า วันนี้ผมขอมานำเสนอ"เต้าหู้ทรงเครื่อง" สำหรับเมนูนี้เราต้องทอดเต้าหู้ด้วย ช่วงท้ายผมเลยขอมานำเสนอความรู้ด้านเคมีของการทอด เผื่อจะเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนๆนะครับ ใครที่สงสัยว่า เอ๊ะ ของทอดมันแย่ต่อสุขภาพยังไง ทอดซ้ำๆมันไม่ดีหรอ หรือเวลากินของทอดแล้วเราได้อนุมูลอิสระมั้ย เชิญติดตามได้เลยครับ

เริ่มจากวัตถุดิบก่อน


1. หมู 250 กรัม (ผมใช้ตรง shoulder เอามาสับเอง มันน้อยกว่าหมูสับเยอะเลย) ประมาณ £1.5
2. เต้าหู้ไข่ แพงโคตร หลอดละปอนด์!
3. กระเทียม
4. เห็ดหอม แช่น้ำ หั่นเป็นชิ้นเล็กๆ
5. ข้าวโพดอ่อน แพงอีกแล้ว แพ็คละ £1.40
6. แครอทหั่นเต๋า
7. ถั่วลันเตา
8. กุ้ง
9. ต้นหอม
10. แป้งข้าวโพดละลายน้ำ
ราคาวัตถุดิบรวมกันประมาณ £5 กินได้ 4 portions

วิธีทำ เริ่มจากเอาเต้าหู้ไปคลุกแป้งแล้วทอดไฟกลางๆจนเหลืองกรอบ ตักพักไว้ในจาน




เอาน้ำมันส่วนเกินออก แล้วเอาเห็ดหอมไปผัดให้ตึงๆ ตามด้วยกระเทียม



เอาหมูกับแครอทลงไปผัดพอสุก



เติมน้ำให้ท่วมแล้วก็ตามด้วยข้าวโพดอ่อน รอจนเดือด ปรุงรสด้วยซีอิ๊ว น้ำมันหอย น้ำตาล (น้ำมันงา)


ทิ้งให้เดือดประมาณ 2-3 นาที ใส่ถั่วลันเตากับกุ้ง ตามด้วยน้ำแป้งข้าวโพด ใส่ไปก็กวนๆไปด้วยให้มันไม่เป็นก้อน



เช็คควานข้นหนืดแบบที่ชอบ ปรุงให้เข้าที่ เสร็จแล้วจ้า เอาไปราดเต้าหู้ได้เลย!





ตอนถ่ายก็ราดให้พอสวยๆ แต่พอกินก็ราดเข้าไปอีกซัก3ตวัก 555


น้ำราดที่เหลือก็เอามาแพ็คข้าวกล่องวันพรุ่งนี้ เต้าหู้แพงนักก็ทอดไข่ดาวซะเลย


ถึงเวลาทีทุกคนรอคอย (รึเปล่า?) วันนี้มาไขข้อข้องใจของการทอดกันเถอะ [ใครขี้เกียจอ่าน หรือไม่ใช่แนวก็เลื่องลงไปดูสรุปได้เลยนะครับ ^^] พวกเรารู้กันบ้างมั๊ยว่าเวลาทอดๆไปเนี่ยมันเกิดอะไรขึ้นในกะทะเราบ้าง? คำถามแรกคือ
ปล. ความรู้เกือบทั้งหมดมาจากรีวิวเปเปอร์ชื่อ "Chemistry of Deep-Fat Frying Oils" E. CHOE AND D.B.MIN Vol. 72, Nr. 5, 2007—JOURNAL OF FOOD SCIENCE ซึ่งรวมงานวิจัยหลายๆชิ้นมาสรุปนะครับ (ที่มา http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/17995742 )

การทอดคืออะไร?
การทอดคือการจุ่มอาหารลงไปในน้ำมันร้อนๆ (ประมาณ 150 - 200 องศา) โดยให้น้ำมันทำหน้าที่เป็นตัวพาความร้อน
เวลาทอดอาหารแล้ว ความชื้นในอาหารจะโดนความร้อนให้ระเหยเป็นไอน้ำ เหลือไว้แต่โครงสร้างกลวงๆที่ไม่มีน้ำอยู่ข้างใน อาหารทอดเลยมีความกรอบเป็นลักษณะพิเศษ

ฟองที่เห็นรอบๆก็คือน้ำที่ออกมาจากอาหารนั่นเอง


อาหารทอดน้ำมันเยอะ?
ปริมาณน้ำมันที่ติดอยู่กับอาหารนั้น แตกต่างกันตามชนิดของอาหาร เช่น potato chips อม 33-38%!!! หรือ โดนัท อม 20-25% หรือ เฟรนช์ฟราย อม 10-15%
น้ำมันส่วนมากจะอยู่ที่ผิวนอกตอนที่ยังร้อนๆ พอเย็นลงก็จะแทรกเข้าไปข้างใน (เพราะฉะนั้นพยายามซับๆน้ำมันส่วนเกินตอนที่มันยังร้อนอยู่เนอะ)


เกิดอะไรขึ้นถ้าทอดน้ำมันซ้ำๆ
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจโครงสร้างของน้ำมันก่อน (ลองย้อนอ่าน Ep. 4 ดูนะครับ ความรู้ที่ถูกต้องของ "ไขมัน" http://ppantip.com/topic/34682841)

หลักๆก็คือไขมันเนี่ยมันโครงสร้างอย่างงี้


ไขมันก็เป็นสารเคมีชนิดหนึ่งอะครับ สามารถเกิดปฏิกิริยาได้ ยิ่งถ้าได้รับความร้อนสูงๆแล้วก็สามารถเกิดปฎิกิริยาต่างๆได้มากมาย
ยกตัวอย่างเช่น

1. ปฏิกิริยา Hydrolysis
น้ำ (H2O) ที่ออกมาจากอาหาร มีอะตอมออกซิเจนที่มีอิเล็กตรอนเยอะ พอได้รับพลังงานความร้อนสูงเข้า มันก็มีพลังพอที่จะไปชนหมู่ ester ของน้ำมัน ทำให้พันธะ ester แตกตัวออก กลายเป็นกรดไขมัน + กลีเซอรอล

กรดไขมันเนี่ยแหละเป็นตัวทำให้น้ำมันมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ ส่วนกลีเซอรอลจะระเหยออกมา บางส่วนอาจจะสลายตัวได้เป็น acrolein ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดควันเวลาน้ำมันร้อน

2. ปฏิกิริยา Oxidation
อันนี้นี่ตัวพีคเลยครับ ออกซิเดชันคืออะไร? ตามหลักก็คือปฎิกิริยาที่อิเล็กตรอนหลุดออกมาจากสาร แต่ส่วนใหญ่ที่เจอทั่วไปคือการที่สารทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศครับ(ตามชื่อมันนั่นแหละ)

ปฎิกิริยานี้จะเกี่ยวกับอนุมูลอิสระ (free radical) เลยขอให้ความรู้เล็กๆตรงนี้ก่อน (ถ้าอยากรู้ เชิญติดตาม Ep. ถัดๆไปเกี่ยวกับอนุมูลอิสระ นะครับ)
คือปรกติแล้ว เราแทนการสร้างพันธะ covalent ของอะตอมสองตัวด้วยเส้น 1 เส้น ซึ่งแทนการเอา electron 2 ตัวมาแชร์กัน ปกติแล้วอิเล็กตรอนจะชอบอยู่กันเป็นคู่ๆ จะมีความสุข แฮปปี้ ชีวิตดี

ปฎิกิริยาปกติแล้วจะย้ายอิเล็กตรอนทั้งสองตัวให้อะตอมใดอะตอมหนึ่ง (heterolysis) ส่วนปฎิกิริยาแบบ radical นั้นจะเกิดจากการที่อิเล็กตรอนถูกแบ่งให้ทั้งสองอะตอมคนละ 1 ตัว (homolysis) ทำให้เกิดอิเล็กตรอนเดี่ยวขึ้น เรียกว่า radical อิเล็กตรอนเดี่ยวนี้พลังสูงมาก เพราะไม่มีคู่ ชอบไปแย่งคู่ชาวบ้านเค้า ทำให้ชาวบ้านไม่มีคู่ นี่เป็นที่มาของปฏิกิริยาแบบลูกโซ่ (chain reaction)


กลับมาเข้าเรื่อง เวลาน้ำมันโดนความร้อนสูงๆเนี่ย บางพันธะที่ไม่เสถียรจะแตกตัวแบบ homolysis ทำให้เกิด radical ขึ้น
จะบอกว่ายิ่งน้ำมันไม่อิ่มตัวมากเท่าไหร่ (พวกน้ำมันพืชต่างๆ) ยิ่งแตกตัวได้ง่าย เพราะว่า C-H bond ที่อยู่ข้างพันธะคู่ จะมีพลังงานต่ำกว่า แตกตัวได้ง่ายกว่า เราเรียกว่าตำแหน่ง allylic ยิ่งถ้าถูกขนาบข้างด้วยพันธะคู่สองอันแบบใน polyunsaturated fat ยิ่งไม่เสถียรเข้าไปใหญ่


ทำไมถึงแตกตัวได้ง่ายกว่า (เฉพาะคนเรียนเคมี)
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

พอมันแตกเป็น radical แล้วไงต่อ?
ก็งานเข้าสิครับ เนื่องจากว่ามันมีพลังงานสูงมาก สิ่งที่มันทำได้ง่ายๆก็คือทำให้พันธะคู่ข้างๆกลายเป็นแบบ trans นั่งไง ไขมันทรานส์มาแล้ว


จากนั้นยังไม่พอ ยังเป็น radical อยู่ มันสามารถทำปฎิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ แล้วยังไปแย่ง hydrogen จากน้ำมันตัวข้างๆ กลายเป็น chain reaction ไปเรื่อยๆ พอไปแย่งมาแล้ว ตัวมันเองก็กลายเป็นสารที่มีชื่อว่า peroxide


จริงๆมันยังไม่หมดแค่นั้นเพราะ peroxide มีพันธะ O-O ที่ไม่เสถียร บางส่วนก็แตกตัวต่อ ได้เป็น radical อีก ทำปฎิกิริยาไปเรื่อยๆ ยิ่งทอดนานยิ่งเกิดสารหน้าตาประหลาดๆมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งถ้ามันไปแตกตัวในร่างกายนะ วุ่นวายกันหมด ชนกับไขมัน ไขมันอุดตันเส้นเลือด ชนกับ DNA กลายพันธุ์เป็นมะเร็งอีก

สรุป ให้เข้าใจง่ายๆก็คือ เวลาน้ำมันโดนความร้อนแล้ว จะทำปฎิกิริยากับออกซิเจน ได้สารที่สามารถแตกตัวเป็นอนุมูลอิสระในร่างกายได้ ยิ่งน้ำมันไม่อิ่มตัวมากยิ่งเกิดได้ง่าย ดังนั้นจงหลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันที่มีโอเมก้า3/6 ทอดอาหาร (น้ำมันทานตะวัน ถั่วเหลือง ข้าวโพด)

3. ปฏิกิริยา Polymerisation
สาร radical ที่เกิดขึ้น ยังสามารถไปรวมตัวกับ radical ตัวอื่นๆ ทำให้สายไขมันสองสายมาต่อกัน พอต่อกันไปเรื่อยๆก็ทำให้เกิดโครงสร้างคล้ายร่างแห น้ำมันที่ทอดก็เลยหนืดขึ้นๆ



สรุปสาระสำคัญ
1. พยายามอย่ากินของทอดจากร้านที่ใช้น้ำมันที่ทอดซ้ำๆ เพราะจะมีสารที่ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นในร่างกาย
2. เวลาทอดอาหารควรใช้น้ำมันที่มีโอเมก้า 3/6 ต่ำๆ (หลีกเลี่ยงการใช้น้ำมันทานตะวัน ถั่วเหลือง ข้าวโพด ในการทอด)
3. อย่าให้ความร้อนจนน้ำมันถึงจุด smoke point เพราะนั่นเป็นสัญญาณของน้ำมันที่กำลังเสื่อมสภาพ
4. ควรเปลี่ยนน้ำมันที่ใช้ทอดบ่อยๆ ไม่ควรใช้ทอดซ้ำเกิน 2-3 ครั้ง
5. เวลากินของทอด ควรกินผักผลไม้ด้วย เพื่อเพิ่มสาร anti oxidant ให้แก่ร่างกาย


สรุปใช้น้ำมันอะไรทอดดี?
ผมไม่กล้าฟันธงครับ จากข้อมูลทั้งหมด ในส่วนตัวคิดว่า
- ควรใช้น้ำมันรำข้าว หรือน้ำมันปาล์มที่มีจุด smoking point สูง สำหรับทอดไฟแรงๆ แบบทอดหมูกรอบ ปลาทอด
- ใช้น้ำมันมะพร้าวสำหรับทอดเบาๆ ซ้ำๆ แบบทอดไข่ดาว แล้วทิ้งน้ำมันไว้ในกระทะ (smoking point แค่ 170 แต่มีไขมันอิ่มตัวสูงมาก ทนต่อการ oxidation)

- น้ำมันที่เหมาะแก่การผัดคือน้ำมันคาโนลา น้ำมันเมล็ดชา และ น้ำมันหมู

ปล. ศึกษาเพิ่มเติมได้ที่ Ep. 4 แกงเผ็ดไก่ ไกลบ้าน + ความรู้ที่ถูกต้องของ "ไขมัน" (http://ppantip.com/topic/34682841)


จบแล้วครับ หวังว่าเพื่อนๆจะได้ประโยชน์นะครับ ใครที่สนใจEp.ก่อนๆโปรดคลิกที่ link ข้างใต้ได้เลยจ้า

[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่