รายงานพิเศษ: ความซับซ้อนจากเงื่อนไข 'การแข่งขันธุรกิจ 4G'

กระทู้ข่าว

รายงานพิเศษ: ความซับซ้อนจากเงื่อนไข 'การแข่งขันธุรกิจ 4G'
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2559
โดย ศ.ดร. อารยะ ปรีชาเมตตา



          หัวใจของโจทย์คำถามของการ ประมูลคลื่น 4G ใน 2 ครั้งหลัง ที่จะวิเคราะห์ต่อไปนี้ ก็คือโจทย์คำถามที่ว่า การประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งได้สร้างรายได้เข้ารัฐเป็นจำนวนมากนี้ ถือว่าเป็นรูปแบบการประมูลที่ก่อให้เกิดโครงสร้างตลาดของธุรกิจบริการประเภทนี้ที่เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร(บนเงื่อนไขที่ว่าธุรกิจประเภทนี้ มีการแข่งขันน้อยรายโดยธรรมชาติ อยู่แล้ว)

          ซึ่งคำตอบที่ได้นี้จะเกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นคำถามที่ว่า  รายได้ที่เข้าสู่รัฐที่สูงมากจากการประมูลครั้งนี้ จะคุ้มค่ากับสวัสดิการสังคม ของประเทศที่ต้องสูญเสียไปเพื่อแลกกับรายได้จากการประมูลในครั้งนี้ หรือไม่

          แม้ว่าการประมูล 2 ครั้งหลัง ที่ผ่านมาจะทำให้รัฐได้เงินประมูล คิดเป็นมูลค่าที่สูง เพราะรูปแบบ ของการประมูลในสองครั้งหลังสุดนี้มีวัตถุประสงค์ชัดเจนที่ต้องการให้ได้เงินประมูลที่สูงกว่าที่ผ่านมาในอดีต จึงได้แยกการประมูลออกเป็น 2 ครั้งเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการฮั้วประมูลกันระหว่างผู้เข้าร่วมการประมูลคลื่นซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 4 รายด้วยกัน เพราะได้กำหนดว่า ในการประมูลแต่ละครั้งนั้น จะมีจำนวนผู้เข้าประมูลที่มากกว่าจำนวนใบอนุญาตที่เปิดให้ประมูลกัน ทำให้ผู้ประมูลแต่ละรายจะต้องแข่ง กันอย่างเต็มที่เพื่อให้ตนเองเป็น ฝ่ายชนะ

          และแม้ว่าจะได้ผู้ประกอบการ รายใหม่เข้าสู่ตลาดนี้ เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งรายคือ บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด เพราะว่าการประมูลในครั้งหลังสุดนี้ได้มีการปรับเงื่อนไขให้ยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับผู้ชนะการประมูลที่ ไม่ต้องชำระเงินค่าประมูลทั้งหมด ในเวลาที่จำกัดเหมือนทุกครั้งที่ผ่านมา ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ รายใหม่ที่จะสามารถเสนอวงเงิน ประมูลสูงสุดได้ โดยไม่ต้องมีภาระเรื่องการหาสถาบันการเงินมาค้ำประกันวงเงินกู้สูงสุดล่วงหน้าในเวลาที่จำกัดก่อนการประมูล จึงเป็นที่คาดหวังว่าผู้ประกอบการรายใหม่นี้จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ก่อให้เกิดการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดการให้บริการของธุรกิจนี้ ก็ตาม

          แต่เราก็ยังคงมีเหตุผลที่จะต้องสงสัยกันต่อไปว่า การแข่งขันที่อาจ สูงขึ้นบ้างในธุรกิจนี้เพราะมี ผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้นหนึ่งรายนั้น อาจไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้สังคมโดยรวม ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ ก็ได้  

          จุดอ่อนของการประมูลที่ผ่านมา ทั้ง 2 ครั้งนั้น น่าจะอยู่ตรงที่ว่าทาง กสทช.ได้ให้น้ำหนักกับการแข่งขันของตลาดประมูลคลื่นความถี่ ที่มากกว่า น้ำหนักที่ให้กับการแข่งขันในตลาดการให้บริการ ระหว่าง ผู้ประกอบการทั้งหลายภายหลังจากการประมูลนั่นเอง ซึ่งแม้จะเป็นการประมูลที่ทำให้รัฐได้เงินค่าประมูลที่สูง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีการกระจุกตัวของจำนวนใบอนุญาตการใช้คลื่นอยู่ที่ ผู้ประกอบการรายเดิมบางรายที่มากกว่า รายอื่นๆ   ในขณะที่ผู้ประกอบการเดิมบางราย ก็ไม่ได้ชนะการประมูลใบอนุญาตเลย เพราะมูลค่าการประมูลที่ถูกดันให้สูงเกินความคาดหมายมาก

          และแม้ว่าผู้ประกอบการรายใหม่จะสามารถชนะการประมูลใบอนุญาตการใช้คลื่นไปได้ แต่ก็จะต้องยอม จ่ายในราคาที่สูงมาก ซึ่งอาจทำให้ ผู้ประกอบการรายใหม่ตกอยู่ใน ภาวะที่เรียกว่า winner's curse  ที่จะทำให้ความสามารถในการแข่งขันเรื่องราคาและคุณภาพของผู้ประกอบการรายใหม่ลดลงมาก เมื่อเทียบกับ ผู้ประกอบการรายเดิมที่มีฐานลูกค้าเดิมอยู่มากกว่า อีกทั้งยังมีความพร้อมในเรื่องของเครือข่ายทางกายภาพ ที่มีอยู่เดิมแล้วด้วย

          ดังนั้น ผู้เขียนจึงเห็นว่า รูปแบบการออกแบบการประมูลใบอนุญาต ที่เหมาะสมกว่าเดิมนั้น น่าจะมีการให้ น้ำหนักกับทั้งตลาดการประมูลคลื่น 4G และกับตลาดการแข่งขันให้บริการของผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ ภายหลังจากการประมูลในลักษณะที่เท่าเทียมควบคู่กันไป โดยมีเป้าหมายของการประมูล ที่มุ่งเน้นถึงประโยชน์ที่ประเทศจะ ได้รับจากการมีสวัสดิการสังคมที่สูงสุดจากการประมูล มากกว่ารายได้ที่ได้จากการประมูล

          ทั้งนี้เพราะว่า สวัสดิการสังคม ที่กล่าวถึงในกรณีนี้จะประกอบด้วย ผลบวกของสองส่วนคือ มูลค่าเงินประมูลที่จะได้เข้ารัฐ กับมูลค่าของ ส่วนเกินผู้บริโภคโดยรวมที่เกิดจากการแข่งขันที่สูงขึ้นระหว่างผู้ประกอบการทั้งหลายในตลาดนั่นเอง ดังนั้น แม้ว่าการประมูลจะสามารถทำให้รัฐได้รายรับจากการประมูลสูงสุดก็ตาม แต่ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นรูปแบบการประมูลใบอนุญาตคลื่นที่ทำให้ประเทศได้รับสวัสดิการสังคมที่สูงสุดด้วยนั่นเอง ผู้เขียนขอนำเสนอรูปแบบการประมูลประเภทอื่นๆ มาเป็นตัวอย่างกรณีสมมติ เพื่อใช้เปรียบเทียบกับ การประมูลจริงในสองครั้งที่ผ่านมา ในรูปของตารางสรุปเพื่อให้ง่ายต่อการทำความเข้าใจในหลักการเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังของแต่ละกรณี (ตามตารางประกอบใน 3 รูปแบบ)

          สรุปว่า รูปแบบที่ดีที่สุดจากทั้ง  3 แบบนั้น จะกำหนดได้จากการใช้หลักการพื้นฐานทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า  รูปแบบการประมูลที่ดีที่สุดนั้นจะต้องเป็นรูปแบบที่ให้สวัสดิการสังคมที่สูงที่สุดด้วย ซึ่งหมายความว่าจะต้องเป็นรูปแบบที่ทำให้ผลประโยชน์ส่วนเพิ่มหน่วยสุดท้ายที่ได้จากส่วนเกินของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากการแข่งขันที่มากขึ้นนั้น มีค่าใกล้เคียงหรือเท่ากับ ต้นทุนหน่วยสุดท้ายที่รัฐจำต้องเสียไปด้วยการยอมรับเงินรายได้ที่จะได้ลดลงจากการประมูลนั่นเอง   ซึ่งหมายความว่ารูปแบบการประมูล ที่ให้รายได้การประมูลที่สูงมากใน สองครั้งหลังที่ผ่านมานั้น (หรือรูปแบบที่ 1) อาจจะไม่ใช่รูปแบบการประมูล ที่เหมาะสมที่สุดก็ได้   ดังนั้นระดับการแข่งขันในอนาคต ที่เราจะได้เห็นจากธุรกิจนี้ต่อไปนั้น  จึงไม่น่าจะใช่ระดับการแข่งขันที่ เหมาะสมด้วยนั่นเอง

          และนี่ก็คือ ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรม ของความซับซ้อนที่เกิดจากเงื่อนไขของการแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเราทุกคน...  ไม่ว่าเราจะเข้าใจมันได้ดีแค่ไหนหรือไม่ก็ตาม

          'การแข่งขันที่สูงขึ้นเพราะมีผู้ประกอบการรายใหม่เพิ่มขึ้น อาจไม่ก่อให้เกิด การเปลี่ยนแปลง'

แหล่งข่าว
กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2559 (หน้า 11)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่