"ตลาดชีวิต" ของลูกจ้าง นักวิชาการสา'สุข

ผมขอตั้งกระทู้นี้สำหรับเขียนบทความระบายความรู้สึกเชิงแสดงความคิดเห็น กับจุดเปลี่ยนสำคัญของชีวิต และจุดเปลี่ยนของระบบการคัดเลือกข้าราชการในตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข ที่ได้มีการสอบแข่งขันเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา หลังจากที่ได้มีความขัดแย้งทั้งภายนอก ภายกลาง และภายใน กันมาอย่างยาวนานพอสมควร
    กระทู้นี้อาจจะมีประโยชน์มากกับใครบางคน และอาจจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยกับใครหลายๆ คน ซึ่งหากท่านอ่านแล้วรู้สึกว่ามันไร้ประโยชน์ รังแต่จะสร้างความขัดแย้งให้เกิดขึ้น ก็ขอให้ท่านปิดกระทู้นี้เสีย เพราะคงผิดวัตถุประสงค์ของผู้เขียน
    ผมเจอคำคำหนึ่งในกระทู้ของพันทิป ผมรู้สึกชอบคำนี้มาก คำว่า "ตลาดชีวิต" แต่ผมจำไม่ได้ว่าเป็นของใคร อยู่ในกระทู้ไหน (ต้องขออภัยด้วยครับ ที่ไม่ได้อ้างอิง) ผมจึงขอนำคำนี้มาตีความในมุมมองของผมเอง
    ชีวิตคนเราล้วนมีความคล้ายคลึงกับตลาดในโลกธุรกิจ โดยเฉพาะชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่เรียนในระบบของมหาวิทยาลัย และจบออกมาเป็นลูกจ้างในหน่วยงานต่างๆ ทั้งของรัฐ และเอกชน
    หากจะเปรียบสถาบันอุดมศึกษาเป็น "โรงงานผลิตสินค้า" และนักศึกษาที่จบออกมาเป็น "สินค้า" ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า"ผู้ซื้อ" รายใหญ่อันดับต้นๆ ของประเทศก็คือ รัฐ  ซึ่งการันตีได้ว่าสินค้าที่ถูกซื้อโดยรัฐจะเป็นสินค้าที่มั่นคงที่สุดในตลาด แต่โรงงานที่ผมจะพูดถึง คือโรงงานที่ผลิตบุคลากรทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข (สาขาหลัก) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของรัฐ  ผลิตสินค้าที่ชื่อว่า "นักวิชาการสาธารณสุข"  สินค้าล็อตแรกๆ ที่ผลิตออกมาก็ได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี ผลิตมาเท่าไหร่ก็หมดทุกรอบ ไม่เคยค้างสต๊อก และอีกอย่างคือโรงงานแห่งนี้ก็ผลิตสินค้าแบบผูกขาดกับรัฐ อมยิ้ม14  แต่เมื่อเวลาผ่านไป ระบบการตลาดก็เริ่มเปลี่ยนไป โรงงานอื่นๆ ก็มีการผลิตสินค้านี้ออกมาเช่นเดียวกัน จนกระทั่งสินค้าล้นตลาด เกิดความเสียสมดุลทางการค้า เมื่อมาถึงจุดนี้ผู้ซื้อสินค้าเกิดข้อได้เปรียบตรงที่ว่าสามารถเลือกสินค้าได้ แต่ตัวสินค้าเองกลับค้างสต๊อกอยู่อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็เป็นธรรมดาว่า เมื่อไหร่ที่ในตลาดมีสินค้าเยอะ ผู้ซื้อก็มีสิทธิในการเลือกสินค้าที่มีคุณภาพมากที่สุด ตรงตามสเปคมากที่สุด เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด  ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือ "โรงงาน" โรงงานมีคุณภาพหรือไม่ มีการคัดเลือกวัตถุดิบอย่างไร กระบวนการผลิตครบถ้วน ถูกต้องหรือไม่ ตลอดจนผลิตสินค้าได้ตรงตามสเปคของผู้ซื้อหรือไม่ ล้วนแล้วแต่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะนำไปสู่ คุณภาพของสินค้า  หากโรงงานใดผลิตสินค้าด้อยคุณภาพก็จะต้องเสียส่วนแบ่งการตลาดด้วยความจำนน ไม่ว่าผู้ซื้อจะทดสอบคุณภาพด้วยวิธีการใดก็ย่อมเป็นสิทธิ หากตรงตามสเปคก็ปิดการขาย ส่วนสินค้าที่เหลือก็จะเป็นสินค้าที่เกรดต่ำลงมาก ตกไปอยู่ในตลาดกระแสรอง ราคาก็ย่อมถูกกว่าตลาดกระแสหลักเป็นธรรมดา
      สิ่งที่พิเศษอย่างหนึ่งของสินค้าชีวิตคือ เมื่อสินค้าออกมาจากโรงงานสู่ตลาดแล้ว ก็ยังสามารถพัฒนาคุณภาพของตัวสินค้าเองได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับศักยภาพและความพยายาม แต่ก็มีสินค้าบางชิ้นที่ผันตัวเข้าสู่ตลาดมืด ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้สินค้านี้สามารถโลดแล่นอยู่ในตลาดชีวิตได้โดยไม่ต้องมีคุณภาพมากมายนัก และยังมีราคาที่สมเหตุสมผลใกล้เคียงกับสินค้าเกรดเอเลยทีเดียว แต่ก็ใช่ว่าสินค้าทุกชิ้นจะทำได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลักธรรมาภิบาลของผู้ซื้อเป็นสำคัญ
      สุดท้าย สิ่งที่แปลกที่สุดเหนืออื่นใด คือโรงงานที่ว่านี้กลับไม่มั่นใจในสินค้าที่ตัวเองผลิต รวมถึงโรงงานอื่นในเครือนี้ด้วย จนกระทั่งต้องคัดเลือกสินค้าของตัวเองร่วมกับสินค้าจากโรงงานอื่นๆ ด้วยจำนวนที่จำกัด ส่วนสินค้าอื่นๆที่เหลือก็ยังไม่รู้ว่าโรงงานจะดำเนินการต่อไปอย่างไร
      ผมคิดว่า คงถึงเวลาแล้วที่โรงงานแห่งนี้ควรจะทบทวนบอร์ดบริหาร พิจารณาการจัดการตลาด และการจัดการความเสี่ยง ว่าจะแก้ปัญหานี้ในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร หรือสมควรจะปิดโรงงานนี้เสีย  

                                        จาก สินค้าราคาถูก
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่