ช่วงต้นปี 2537 บนแผงหนังสืออุดมไปด้วยนิตยสารหลากหลายแนวให้คุณได้เลือกซื้ออ่าน ทว่า...ท่ามกลางการแข่งขันของนิตยสารบันเทิงนับร้อยหัว ก็ได้ให้กำเนิดนิตยสารบันเทิงทางเลือกใหม่ที่มีชื่อเพียงพยางค์เดียว แต่ให้คุณค่าทางเนื้อหาและสีสันเหนือกว่าใคร ๆ
ภายใต้หัวเรี่ยวหัวแรงของลูกผู้ชายที่ชื่อ "ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม" กับการแตกไลน์สู่ธุรกิจสิ่งพิมพ์เป็นครั้งแรกของเครือแกรมมี่(มหาชน) นั่นคือนิตยสาร "รมย์"
โดย "อากู๋" เป็นเจ้าของร่วมกับเพื่อน ๆ ร่วมวงการน้ำหมึก แต่บรรณาธิการผู้พิมพ์ผู้โฆษณาตัวจริงคือ "อ.ระวีวรรณ ประกอบผล" นักวิชาการจากคณะนิเทศศาสตร์แห่งรั้วจามจุรี
"รมย์" ประกาศตัวเป็นนิตยสารบันเทิงเชิงสาระฉบับแรกด้วยคุณภาพการผลิตที่ทันสมัย ระดมเหล่านักเขียน คอลัมนิสต์ นักวิชาการชั้นนำทั่วสารทิศ ครอบคลุมเนื้อหาสาระและบทความเกี่ยวกับสื่อบันเทิงทุกแขนง ทั้งดนตรี ภาพยนตร์ หนังสือ วิทยุ โทรทัศน์ ละครเวที โฆษณา ศิลปะ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว ฯลฯ
แม้ว่าจะเป็นนิตยสารในเครือแกรมมี่ และดาราที่มาเป็นแบบปกโดยส่วนใหญ่ก็เป็นศิลปินของแกรมมี่ แต่ "รมย์" วางตัวเป็นสื่อกลางให้กับทุกศิลปินทุกค่ายเพลงในการลงข้อความและภาพ ไม่มีการปิดกั้นหรือโจมตีคู่แข่งหรือว่าค่ายใดค่ายหนึ่ง เพียงแต่ให้คำติชมและส่งเสริมเพื่อสร้างสรรค์อุตสาหกรรมบันเทิงด้วยน้ำใจไมตรี ซึ่งถ้าหากรมย์เป็นรายการทางโทรทัศน์คงไม่มีสิทธิ์เห็นแน่ ๆ
โดยผู้ที่มาเป็นแบบปกให้รมย์ฉบับปฐมฤกษ์..ก็ไม่ใช่ใครอื่นไกล "เบิร์ด-ธงไชย แมคอินไตย์" ซูเปอร์สตาร์เบอร์ 1 ของแกรมมี่ กับบทสัมภาษณ์อันยาวเหยียด ละเอียดด้วยไลฟ์สไตล์ทุกซอกทุกมุม
ภาพและข่าวจากนิตยสารสีสัน, ปี 2537
บทบรรณาธิการ และ รายนามคณะทำงานนิตยสารรมย์ (ฉบับปฐมฤกษ์)
ปกปฐมฤกษ์
หน้าปก รมย์ บางส่วน
ความฝันของเบิร์ด (จาก รมย์ ฉบับปฐมฤกษ์)
อันดับซีดีอัลบั้มเพลงไทยที่ขายดีที่สุดในรอบปี 2536
เจ้าของหนังสือกวาดเกือบหมด เหลือต่างเพียงหนึ่งให้อาร์เอส
(รมย์ ฉบับปฐมฤกษ์)
อันดับโฆษณายอดนิยม และเพลงยอดนิยม ปี 2537 (รมย์ ฉบับที่ 11, ปี 2538)
คู่ฮิตพิธีกรทีวี (รมย์ ฉบับที่ 11, ปี 2538)
แต่ด้วยกลุ่มเป้าหมายผู้อ่านที่ค่อนข้างจะแคบ ย่อมมีโอกาสที่ผู้ผลิตนิตยสารคุณภาพประสบภาวะทางธุรกิจ "รมย์" จึงหยุดตัวเองหลังผลิต-จำหน่ายได้ประมาณ 20 กว่าฉบับ เหลือเพียงร่องรอยและเศษเสี้ยวไว้ให้คนชั่วลูกชั่วหลานเก็บรักษา
เสียดายแทนอากู๋ที่ไม่ได้ทำต่อ...แต่เขาก็ไม่ย่อท้อเพื่อหาสิ่งใหม่ให้เป็นรูปธรรมต่อไป แต่ด้วยยุคนี้ที่บทบาทการผลิตหนังสือให้ตีตลาดได้นั้นลดน้อยถอยลง มันคงเป็นไปได้ยากยิ่ง
"รมย์" จึง "รื่นรมย์" ไปกับความทรงจำครั้งวันเก่า...เพียงเท่านั้นเอง สวัสดี.
รื้อของเก่า 1994 : เปิดบันทึก "รมย์" นิตยสารบันเทิงในอุ้งมือ "อากู๋" เมื่อ 30 ปีที่แล้ว