รีวิว Spotlight ในฐานะคนสอนวิชาการรายงานข่าวเชิงสืบสวน

***มีสปอย****

หยิบยกมาจากเฟซบุ้กของ ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์
คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย



คนข่าวเรียนรู้อะไรจาก Spotlight

ในฐานะของคนสอนวิชาการรายงานข่าวเชิงสืบสวนผมตื่นเต้นกับภาพยนตร์เรื่อง Spotlight มาก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเนื้อเรื่องหนังสร้างจากการทำข่าวสืบสวนจริงของหนังสือพิมพ์บอสตัน โกลบ ทีมข่าว Spotlight อันเป็นทีมข่าวเจาะ...ข่าวสืบสวนของหนังสือพิมพ์ฉบับนี้ได้ขุดคุ้ยและรายงานข่าวการละเมิดทางเพศในคริสตจักรจนได้รางวัลพูลิตเซอร์

ต่อไปนี้คือประเด็นที่ผมเรียนรู้หลังจากจากชมภาพยนตร์ (อาจมีบางส่วนสปอยเนื้อเรื่อง)

1.  คนทำงานสื่อต่างรู้ดีว่า “ข่าวสืบสวน”เป็นสิ่งสำคัญขององค์กรสื่อและสังคมโดยภาพรวม เพราะมันสะท้อนถึงการทำงานอย่างมืออาชีพของนักข่าวในการตรวจสอบสังคม

อย่างไรก็ตามองค์กรสื่อจะมี “ข่าวสืบสวน”ที่ดีได้มากหรือน้อยเพียงใดนั้น ต้องเริ่มต้นจากการมี  “นโยบาย”ที่ชัดเจนจากเจ้าของสื่อหรือผู้บริหารองค์กรสื่อนั้นๆก่อน เพราะไม่อย่างนั้นเราจะเห็นแต่ข่าวรูทีน ข่าวประจำที่เหมือนๆกันหมดทุกสื่อ ประเภทคนโน้นพูดที คนนี้พูดที

อย่างในเรื่อง Spotlight ผู้บริหารของหนังสือพิมพ์บอสตัน โกลบ เห็นความสำคัญในการทำข่าวเชิงสืบสวนถึงกับมีทีมเฉพาะกิจแยกออกมาจากงานข่าวประจำวันตั้งชื่อว่า “Spotlight” ทีมนี้มีบรรณาธิการข่าว 1 คน มีนักข่าว 2 คน และนักสืบค้นข้อมูลอีกหนึ่งคน ใช้เวลาในการทำข่าวสืบสวนประเด็นละ 2-3 เดือนทีเดียว

ถามว่าเมืองไทยในกองบรรณาธิการข่าวมีทีมเฉพาะกิจแบบนี้ไหม คำตอบคือมีเพียงบางสื่อเท่านั้นครับที่ยอมตัดคนออกจากงานประจำเพื่อมุ่งหน้าทำข่าวเจาะ อันเป็นข่าวที่ต้องสิ้นเปลืองทั้งเวลาและกำลังทรัพย์

แต่โดยส่วนใหญ่ สื่อไทยยังให้ความสำคัญกับ “ข่าวสืบสวน”น้อย ทั้งที่เรามีนักข่าวที่มีทักษะในการทำข่าวนี้อยู่ในแต่ละองค์กรไม่น้อย น่าเสียดายครับ...น่าเสียดาย

ผมเคยคุยกับบรรณาธิการข่าวหนังสือพิมพ์แห่งหนึ่ง ถึงการจัดทีมทำข่าวสืบสวนโดยเฉพาะแบบ  “Spotlight” เขาบอกผมว่า “...อาจารย์ต้องเข้าใจนะ ที่นี่เมืองไทย คน(นักข่าว)เราน้อย เราตัดคนไปทำข่าวอื่นแบบนี้นานๆ เราก็ตกข่าวคนอื่นเขาพอดี แต่ไม่เป็นไรนะอาจารย์ เรื่องข่าวสืบสวน เราก็มี แต่เราให้นักข่าวประจำที่ทำข่าวในพื้นที่ไปทำข่าวสืบสวนด้วย...”

ใช่ครับ กรอบคิดของบรรณาธิการข่าวไทยส่วนใหญ่ยังกลัวการตกข่าวรูทีน กลัวตกข่าวประจำ เลยเทสรรพกำลังคอยตามข่าวหมู่แบบ “แมลงวันบินตอมซากศพ” ไม่กล้าไปเปิดประเด็นข่าวเจาะใหม่ๆกันเอง

หรือบางครั้งก็สั่งให้นักข่าวในพื้นที่ ซึ่งวิ่งวุ่นกับข่าวประจำวันต้องแบ่งเวลาไปทำข่าวเจาะ คำถามคือ ข่าวเจาะที่ได้นั้นมีคุณภาพมากน้อยเพียงใดในเมื่อคนทำข่าวยังห่วงกังวลกับข่าวรูทีนของตนเอง โอกาสที่นักข่าวคนนั้นจะคิดแตกประเด็นเพิ่ม เวลาที่จะสืบค้นข้อมูลเพิ่ม หรือศึกษาข้อมูลเฉพาะเพิ่มเติมมีหรือไม่ โอกาสจะเจาะหาขยายแหล่งข่าวเพิ่มมีหรือไม่

2.  การคิดประเด็นข่าวเชิงสืบสวนไม่จำเป็นต้องมองจากเรื่องไกลตัวเพียงอย่างเดียว อย่างในหนังเรื่อง “Spotlight” ประเด็นข่าวอื้อฉาวนี้เกิดจาก “มาร์ติน บารอน”บรรณาธิการบริหารคนใหม่ของบอสตัน โกลบ หยิบประเด็นข้อเขียนในคอลัมน์หนังสือพิมพ์มาให้ที่ประชุมกองบรรณาธิการช่วยกันคิดต่อยอดข่าว

ในตอนแรกบรรณาธิการข่าวทุกคนของบอสตัน โกลบนั่งงงครับ พวกเขาอึ้งว่าจะเอาข้อเขียนในคอลัมน์บทความมาทำข่าวได้ไง จนกระทั่ง“มาร์ติน บารอน”ชี้ให้เห็นถึงนัยยะของประเด็นข่าวที่ซ่อนอยู่ทุกคนเริ่มตาสว่าง ทีมข่าวเจาะ“Spotlight”ยอมหยุดพักการทำข่าวชิ้นเดิมหันมาทุ่มข่าวเจาะประเด็นนี้ทันที

มองมาที่เมืองไทย ข่าวเจาะรางวัล “อิศรา อมันตกุล” อันเป็นรางวัลข่าวยอดเยี่ยมเชิงสืบสวนของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หลายๆข่าวก็มีการตั้งประเด็นจากเรื่องใกล้ตัว หรือเป็นประเด็นที่หลายๆคนมองข้าม อย่างข่าวทุจริตเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ข่าวขบวนการทุจริต ส.ป.ก.4-01 ข่าวซุกหุ้น (แนะนำให้อ่านเพิ่ม”แกะรอยประสงค์ คนข่าว ซุกความรู้ http://www.tja.or.th/index.php?option=com_content&view=article&id=165:trail-qpeople-newsq-shove-knowledge&catid=30:corner-ideas )
หรือแม้แต่โพสข้อความในโลกไซเบอร์อย่างห้องหว้ากอใน Pantip กรณีเครื่องตรวจจับระเบิด GT200 ก็ถูกนักข่าวมือฉมังหยิบมาต่อยอดทำเป็นข่าวเจาะรางวัลอิศราฯไปแล้ว

ข้อสำคัญคือ นักข่าวสืบสวนที่ดีต้องเป็นคน “ขี้สงสัย” ต้องรู้จักตั้งข้อสงสัย อย่าเชื่อทุกอย่างที่เห็น อย่าให้ความคุ้นชินบดบังสายตา
เหมือนอย่างในเรื่อง “Spotlight” นักข่าวสืบสวนระดับบรรณาธิการข่าวอย่าง “วอลเตอร์ โรบินสัน”ยังพลาดโอกาสในการทำข่าวสืบสวนประเด็นนี้มาหลายปี ด้วยความเป็น“คนใน”ทำให้เคยชินกับปัญหาจนหลงลืมความสำคัญของการตั้งคำถาม

ในการสอนวิชารายงานข่าวเชิงสืบสวนของผม สิ่งหนึ่งที่ทำให้ลูกศิษย์ผมแต่ละรุ่นหวาดผวาคือ การหาประเด็นข่าวมา“ขาย”ผมให้ผ่าน เชื่อไหมครับว่า หลายครั้งหลังจากการผ่านการไล่บี้ ไล่ต้อนจากผม เด็กหลายคนร้องห่มร้องไห้แล้วไปขุดคุ้ยค้นประเด็นใกล้ตัวขบคิด แตกแง่มุมกลายเป็นประเด็นตั้งต้นในการทำข่าวเชิงสืบสวนได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ

เพราะฉะนั้นผมเชื่อว่านักข่าวมืออาชีพทุกคนมีทักษะในการคิดประเด็นข่าวสืบสวนดีๆได้ แต่ที่ผ่านมานักข่าวเหล่านั้นมัวแต่ต้องจมกับข่าวรูทีน จนกลายเป็น “คนใน”ถูกข้อมูลและเหตุการณ์ต่างๆบดบังสายตา

ถึงเวลา “ลืมตา"หรือยังครับ

(ยังมีต่อ)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่