รีวิวหนัง : Spotlight ปฏิบัติการหมาเฝ้าบ้าน



สื่อมวลชน นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว ถูกเปรียบเปรยไว้หลายอย่างทั้ง นกพิราบขาว นกน้อยในไร่ส้ม ปากกา กระจก ตะเกียง แต่คำนิยามที่สมนํ้าสมเนื้อที่สุดน่าจะเป็น หมาเฝ้าบ้าน ที่ต้องคอยเห่าเสียงดังเวลามีอะไรไม่ชอบมาพากล รวมถึงหากเจอตัวคนร้ายต้องกัดไม่ปล่อยตามหน้าที่ แน่นอนว่ามันคือมายาคติ เพราะเอาเข้าจริงแล้วไม่มีทางที่หมาทุกตัวจะเห่าเสียงดังเหมือนกัน หรือกัดเจ็บเท่ากัน หมาบางตัวได้ขนมนมเนยนิดหน่อยก็ทำเป็นนอนไม่รู้ไม่ชี้แล้ว

Spotlight คือชื่อทีมข่าวสืบสวนของหนังสือพิมพ์บอสตันโกลบที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์(รางวัลสูงสุดของสื่อสิ่งพิมพ์สหรัฐฯ เป็นออสการ์ของวงการนักข่าว) จากสกู๊ปข่าวเปิดโปงคดีล่วงละเมิดทางเ­พศเด็กในโบสถ์ท้องถิ่นเมืองบอสตันที่ลุกลามจนสร้างความสั่นสะเทือนไปถึงศาส­นจักร ผลงานการเขียนทบและกำกับของ ทอม แม็คคาร์ธี (The Station Agent , The Visitor) ที่รวมนักแสดงแถวหน้าของฮอลลีวู้ดเอาไว้หลายคน

หนังตามติดปฏิบัติการขุดคุ้ยหาความจริงของทีมนักข่าวมากฝีมือ กับการตีแผ่คดีน่าตกใจที่มีบาทหลวงเกือบร้อยคนเกี่ยวข้องกับการล่วงละเมิดเด็กชายหญิงในบอสตัน ซึ่งไม่ใช่งานง่ายเลยกับเมืองที่มีประชากรเกินครึ่งนับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ชาวบ้านที่นี่เคร่งครัด ใกล้ชิดกับโบสถ์ มีศรัทธาต่อพระเจ้า คนใหญ่คนโตหลายคนจึงพร้อมใจร่วมมือกันซุกปัญหาดังกล่าวไว้ใต้พรมมานานหลายสิบปี

Spotlight มีพล็อตเรื่องที่เป็นวัตถุดิบชั้นเลิศอยู่แล้ว บทภาพยนตร์จึงออกมายอดเยี่ยม บอกเล่าการทำงานของกลุ่มนักข่าวมืออาชีพตัวจริง พวกเขาเป็นหมาเฝ้าบ้านที่เห่าเสียงดังและเกาะติดชนิดไม่เกรงกลัวหรือเกรงใจใครหน้าไหน ซึ่งสิ่งที่ทีมสปอตไลท์ต้องเผชิญก็หนีไม่พ้นการใช้อำนาจ เส้นสาย เพื่อให้พวกพ้องตัวเองพ้นผิด เมื่อมองในแง่ของหนังสื่อมวลชนจึงน่าสนใจไม่แพ้ All the President’s Men (1976) ของ อลัน เจ. พาคูล่า เชื่อว่าหนัง 2 เรื่องนี้คือกรณีศึกษาที่จะถูกภาควิชาสื่อสารมวลชนทั่วโลกนำไปใช้เปิดชมประกอบการเรียนการสอนในประเด็นการทำข่าวสืบหรือข่าวเจาะ ที่หาได้ยากยิ่งในสื่อมวลชนยุคปัจจุบัน

ส่วนตัวชอบความคลาสสิกอย่างการทำงานของนักหนังสือพิมพ์สมัยก่อนที่ทำข่าวในระบบ Manual ด้วยวิธีโบราณๆไม่ว่าจะเป็น การจดด้วยปากกากับกระดาษ การอัดเทป (Off the record คือภาษาสื่อหมายถึงข้อมูลที่กำลังจะพูดเป็นความลับห้ามเผยแพร่) การหาข้อมูลในแฟ้ม คลังข่าว บันทึกศาล ห้องสมุด หรือการเดินเคาะประตูขอสัมภาษณ์เหยื่อกับคนที่เกี่ยวข้องในคดี เหล่านี้นอกจากจะสะท้อนภาพการทุ่มเททำงานด้วยความยากลำบาก ยังแสดงให้เห็นถึงความปราณีต รัดกุม ด้วยการใช้เวลาพอสมควรในคัดกรองข้อมูล จุดนี้ตรงข้ามกับยุคโซเชี่ยลที่ข่าวออนไลน์แข่งขันกันด้านความรวดเร็วจนละเลยความถูกต้อง หลงลืมการตรวจสอบ ขาดการกลั่นกรอง ไม่น่าแปลกใจที่เราได้เห็นสำนักข่าวชื่อดังของไทยลงข่าวนักร้องเสียชีวิตผิดคนจนกลายเป็นโจ๊กให้สำนักข่าวประเทศอื่นเอาไปล้อเลียนกัน

ไมเคิล คีตัน ทำได้ดีในบท วอลเตอร์ ร็อบบี้ โรบินสัน หัวหน้าทีมสปอตไลท์ ตัวละครของเขามีมิติ บุคลิกน่าเชื่อถือ ดูเป็นคนข่าวพันธุ์แท้มากประสบการณ์ ทว่าคนที่โดดเด่นที่สุดกลับเป็น มาร์ค รัฟฟาโล่ กับบท ไมค์ เรเซนเดส นักข่าวหนุ่มจอมบ้างานประจำทีม การแสดงของเขามีพลัง ถ่ายทอดอารมณ์ออกมาได้หนักหน่วงถึงใจ ขณะที่ เรเชล แม็คอดัมส์ ที่แสดงเป็น ซาช่า ไฟเฟอร์ นักข่าวสาวคนเดียวของทีม แม้จะเคยเล่นเป็นนักข่าวมาก่อนทั้งใน State of Play และ Morning Glory แต่กับ Spotlight เธอดูต่างไปโดยสิ้นเชิง ถึงบทจะไม่ส่ง กระนั้นการแสดงของเธอก็ช่วยเสริมตัวละครอื่นๆในเรื่อง รวมถึงยังทำให้หนังได้มุมมองอ่อนไหวของคนข่าวผู้หญิง

Spotlight เป็นหนังสายรางวัลที่ไม่ได้สนุกสนานหรือหวือหวา แต่เต็มไปด้วยข้อมูลหนักๆของคดีความทางเพศอันน่าเศร้า เดินเรื่องแบบเรียบง่าย สร้างสีสันด้วยดนตรีประกอบกับมุมกล้อง ตรึงคนดูด้วยบทสนทนาดุเดือด เนื้อหาค่อยๆทวีความเข้มข้นขึ้นตามลำดับ ก่อนที่จะมาปล่อยระเบิดสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างในตอนจบ มันเป็นภาพยนตร์ที่มีคุณค่าต่อสังคม คือแแบบอย่างของสื่อมวลชนที่ดี หนังไม่เพียงตั้งคำถามถึงจริยธรรมในตัวสื่อมวลชนทุกคนเท่านั้น มันยังตั้งคำถามถึงทุกภาคส่วนในสังคมว่า เมื่อมีสิ่งไม่ดี ไม่ถูกต้อง เกิดขึ้น คุณจะเลือกเพิกเฉยทำเหมือนไม่มีอะไร หรือ จะช่วยกันส่องแสงไฟในมือคุณออกไป

คะแนน 8.5/10

โดย นกไซเบอร์

เครดิต https://www.facebook.com/cyberbirdmovie

ตัวอย่างหนัง http://movie.bugaboo.tv/watch/220842/?link=4
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่