สมบัติคนไทย จาก คมคิดฅนเขียน


สมบัติคนไทย

ต้องบอกว่า “ปี 59” น่าจะเป็นบทพิสูจน์อาชีพ “หมอดู”หลายคนเลยจริง ๆ เพราะส่วนใหญ่จะฟันธงศักราชใหม่ที่เพิ่งผ่านไม่กี่วัน ประเทศไทยจะเกิดวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ชามโต สอดคล้องกับ “สื่อบางสำนัก” ที่ปล่อยข้อมูลแบบ ’แผ่นเสียงตกร่อง“ ทำนองว่า ปีก่อน ’เผาหลอก“ ปีนี้ ’เผาจริง“

ทั้ง ๆ ที่ปลายปีที่ผ่านมา เราเพิ่งเห็นภาพการประมูลชิงคลื่น 4จี ที่ดุเดือดมากที่สุด ทั้งคลื่น 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ทำให้รัฐมีรายได้จากการประมูล รวมกว่า 2 แสนล้านบาท จนทำให้เกิดคำถามว่า "ถ้าบริษัทเอกชนไม่มั่นใจภาวะเศรษฐกิจไทย ถามว่า เขาจะกล้าลงทุนหรือ"

ปรากฏการณ์ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่มีการแข่งขันสูงมาก ซึ่งการประมูลคลื่น 4จี ทั้งสองครั้ง ส่งผลให้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือของประเทศไทยเพิ่มขึ้นมาอีก 1 รายจากเดิม 3 ราย ประกอบด้วย แจส โมบายบรอดแบนด์, บริษัทดีแทค ไตรเน็ต, บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวอร์ค และ บริษัท ทรูมูฟ เอช ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนทั้งประเทศได้รับการบริการโทรศัพท์มือถือและอินเทอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึง

เขียนถึงเรื่องนี้ทำให้นึกถึงประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมโทรคมนาคมบ้านเรา เริ่มตั้งแต่ “เอไอเอส” กับ “ดีแทค” ซึ่งเคยประกอบธุรกิจในรูปสัมปทานผูกขาดเก็บเงินรายเดือนจากผู้บริโภคเป็นเงินกินเปล่าเดือนละ 500 บาท

แต่เมื่อบริษัทอุตสาหกรรมโทรคมนาคมรายเล็ก ๆ สัญชาติไทยอย่าง “บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น” กระโดดเข้ามาในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ได้เก็บเงินรายเดือนจากผู้บริโภคเดือนละ 200 บาท ทำให้สองบริษัทข้ามชาติจำใจต้องยอมลดเหลือ 200 บาท

ต่อมา “บริษัททรูฯ” ใช้นโยบายยกเลิกเก็บเงินกินเปล่า ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจสื่อสารรายอื่น ๆ ต้องยกเลิก แถมยังถูกวิจารณ์ว่า ไม่ยอมลงทุนด้านเทคนิคให้บริการระบบ 2จี จนกระทั่ง “บริษัททรูฯ” ได้เทคโอเวอร์ “ฮัทชิสัน” ทำให้พัฒนาเป็นระบบ 3จี สองบริษัทข้ามชาติ ถึงจำยอมลงทุนพัฒนาเป็นระบบ 3จี ตาม

จะเห็นได้ชัดเจนว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สองบริษัทข้ามชาติเข้ามา ตักตวงผลประโยชน์ในประเทศไทย มักถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ไม่ยอมลงทุน พัฒนาระบบอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ให้มีความก้าวหน้า และเมื่อ กสทช. เข้ามาบริหารคลื่นความถี่ ซึ่งได้เปิดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 1800 และ 900 เพื่อพัฒนาไปสู่ระบบ 4จี คลื่น 1800 แต่เดิมเป็นสัมปทานของ “ดีแทค” แทนที่เจ้าของสัมปทานเดิมจะต่อสู้ราคาคลื่น ที่เคยทำกำไร และ ขนเงินคนไทยจำนวนมหาศาลกลับไปประเทศของตนเอง น่าเสียดาย...กลับถอดใจทิ้งเสียดื้อ ๆ

เช่นเดียวกับ คลื่น 900 ที่ “เอไอเอส” เจ้าของสัมปทานผูกขาด ฟาดกำไรจากคนไทยไปมหาศาลแล้ว พอต้องเสียเงินประมูลแค่คืนกำไรให้กับประเทศไทยบ้าง กลับถอดใจทิ้งไม่เอาคลื่น เช่นเดียวกัน

สุดท้ายแล้ว มีแต่บริษัทอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของคนไทย ทั้ง “ทรู” กับ “แจส” เท่านั้น ที่รักบ้านเกิดเมืองนอน ยอมสู้ราคาประมูลสูงกว่าเจ็ดหมื่นล้าน รวมกันแล้วมากกว่า หนึ่งแสนห้าหมื่นล้านบาท

เอาล่ะเมื่อรู้ความจริงแบบนี้ ...เราคงต้องถามหัวใจคนไทยที่ยังมีความรักชาติบ้านเกิดของตัวเอง ยังจะยอมตกเป็นเครื่องมือให้บริษัทข้ามชาติ เข้ามาชุบมือเปิบกอบโกยเงินของคนไทยนำออกนอกประเทศไปอีกหรือ

มิหนำซ้ำ ..ยังได้ยินข่าวว่า มีบริษัทสื่อสารบางราย วางแผนไปลงทุนในกลุ่มประเทศ “อาเซียน” ที่กำลังเปิดประเทศ คิดยึดตลาดเป็นเจ้าแรก หวังทำธุรกิจผูกขาด ไม่ต้องจ่ายค่าสัมปทานในราคาสูง ๆ เรียกเก็บค่าบริการได้อย่างหนำใจ ก๊อบปี้แนวทางการทำธุรกิจในบ้านเราไปใช้ เพราะคิดว่าใคร ๆ คงรู้ไม่ทัน

บอกตรงเลยว่า ดูการประมูล “คลื่นมือถือ” ระบบ 4จี ที่ผ่านมา ก็ทำให้รู้ว่า ในที่สุดบริษัทของคนไทยก็ยังรักประเทศบ้านเกิดเมืองนอน แม้ไม่ได้ร่ำรวยเงินทอง แต่ถึงเวลาต้องจ่ายผลประโยชน์ให้กับภาครัฐ ก็สู้อย่างเต็มที่ เนื่องจากรู้ดีว่าในที่สุดสิ่งที่เสียไปก็ต้องกลายเป็น “สมบัติ” ของคนไทย

ไม่คิดหอบผ้าหอบผ่อนหนีไปไหน ไม่เหมือน “บริษัทต่างชาติ” บางราย คิดแค่จับเสือมือเปล่า ไม่ยอมลงทุน ไม่คิดตอบแทนประเทศไทย หลายคนจึงบอกว่า อดีตมันฟ้องอนาคตเลยจริง ๆ.

"เขื่อนขันธ์"
ที่มา  : http://www.dailynews.co.th/article/370999
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่