Tempy Movies Review รีวิวหนัง:Snap {Kongdej Jaturanrasmee} [Thailand], 2015


โศกนาฏกรรมในตู้ปลา

ผึ้งทำให้เรานึกถึงตัวละครผู้หญิง ในหลายๆเรื่อง อย่าง Yuwen ใน Spring in a Small Town (1948) หรือจะเป็น Abby ใน Days of Heaven (1978) และ Noriko ใน Late Spring (1949) ในมุมมองของเรา สตรีที่เราได้กล่าวมานั้น ล้วนมีจุดร่วมคล้ายคลึงกันก็คือ พวกเธอแสดงถึงภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออกของสถานการณ์ทางสังคมและการเมืองในประเทศในช่วงหนึ่งๆ

ผึ้งและบอย (แปลว่าเด็กผู้ชาย) ดูเหมือนว่าชีวิตพวกเขาก็มีความสุขดี ผึ้งก็กำลังจะแต่งงาน ผึ้งเหมือนกับหญิงสาวทั่วไปที่ใช้อินสตาแกรมถ่ายกิจวัตรประจำวัน (บันทึกความทรงจำ) บอยก็มีอาชีพ (ที่ไมได้ตรงกับที่เรียนมา) รับจ้างถ่ายภาพ (บันทึกความทรงจำ) แต่เมื่อเรื่องดำเนินไป เราก็ได้รู้ว่าพวกเขาต่างมีปมในอดีตที่รอคอยการสะสาง เส้นทางชีวิตทั้งคู่ที่ดูเหมือนไม่มีทางได้มาบรรจบกัน แต่กลายเป็นว่ามีเพื่อนของพวกเขาจะจัดงานแต่งงานที่บ้านเกิด ที่นั่นเองที่ความทรงจำรอการชำระถือกำเนิดขึ้น



เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ อาจเป็นไปได้ว่ามันไม่เคยเกิดขึ้นเลย เพราะหากสืบสาวราวเรื่องไปก็แทบจะเป็นไปไม่ได้ที่บอยซึ่งกำลังจะไปรับงานสำคัญที่กรุงเทพฯ และผึ้งที่กำลังร่วมงานแต่งกับเพื่อนเก่า จะพร้อมใจกันมาที่พิพิธภัณธ์สัตว์น้ำ บางทีมันอาจแทนถึงห้วงความคิดของผึ้งที่หวังว่าจะได้คลี่คลายเรื่องราวทั้งหมดให้จบสิ้น สัญญาที่ให้ไว้ระหว่างกันจะได้สำเร็จ

ผลพวงจาก “การไม่เผชิญหน้ากับความจริง” ของทั้งคู่ มันยิ่งทำให้บาดแผลที่เกิดขึ้นที่ยิ่งถูกบาดลึกลงไปอีก สังเกตได้จากธารน้ำตาของผึ้งในงานแต่งของตัวเองกับพี่แมน (แปลว่าผู้ใหญ่) และฉากที่เธอไม่กล้ากดลบภาพเธอที่ถ่ายกับบอย ส่วนบอยก็เลือกคบกับผู้หญิงที่รูปร่างลักษณะคล้ายกับผึ้ง ชีวิตของพวกเขาดำเนินต่อไปอย่างค้างค้าง คาคา

ความสัมพันธ์ระหว่างผึ้งและบอยไม่ได้ถูกรบกวนเพียงเพราะเหตุการณ์เมื่อแปดปีก่อนที่พ่อของผึ้ง (ที่เป็นทหาร) ต้องพาเธอย้ายโรงเรียนหรือครั้งนี้ที่ผึ้งแต่งงานกับพี่แมน แต่ปัญหาหลักเลยก็คือทั้งคู่ทำได้ “แค่คิดถึง” อดีต แต่ไม่ได้พยายามจะลงมือแก้ไขอะไรต่อมิอะไรให้ดีขึ้นเลย



เราเคยดูหนังของหนังของคุณคงเดชแค่สองเรื่อง แต่เขาก็ถ่ายทอดเนื้อหาที่จะว่าไป มันเป็นสิ่งที่ทุกคนก็ไม่กล้าจะยกขึ้นมาถกเถียงพูดคุย ได้แยบยลและน่าสนใจเสมอ รายละเอียดมากมายในหนังถูกออกแบบมาให้ชวนตีความ นับตั้งแต่ชื่อของตัวละคร ตุ๊กตาบนหิ้งพระ ไปจนถึงภาพที่ตั้งอยู่ในอยู่ในเงาหน้าพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ

พฤติกรรมของคนในยุคนี้ที่พยายามย้อนเอาแฟชั่นในยุคก่อนมาเล่นใหม่ มันช่างยอกย้อน และน่าหัวร่อสิ้นเพราะโดยส่วนมากมันมักจะเป็นการย้อนรอยที่ตื้นเขิน การมีสไตล์ที่ดูเก่าเพื่อความเท่ที่ฉาบฉวย พวกเขากลับไปเอามาแค่แฟชั่น ก็แค่เท่านั้นเอง

เราให้ความสำคัญกับเหตุการณ์หรือประสบการณ์ที่ควรค่าแก่การจดจำน้อยเกินไปหรือไม่ เราสนใจแต่กระแสสังคมที่ไหลผ่านเราไปซึ่งมันไม่เคยช่วยชำระล้างจิตใจอะไรเราเลย เราทิ้งอดีต สุมกองเอาไว้ แล้วเดินต่อไป แต่มันไม่เคยไปไหนเลย มันไม่ได้ถูกทำลายไป มันไม่มีวันหมดอายุ

หนังเรื่องนี้จึงเท่ากับการ Snap ความทรงจำของคนชนชั้นกลางร่วมสมัยที่เพิ่งจบมหาลัยฯ มา และกำลังเริ่มทำงาน เอาไว้ (ตรงนี้ทำให้นึกถึงหนังของบุนเยล) ช่วงวัยนี้เองที่กำลังมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ ความยาวหนังกว่าหนึ่งร้อยนาทีจึงเป็นช่วงเวลาที่เขาหรือเธอได้มีโอกาสย้อนอดีต (อย่างจริงๆ จังๆ) ทบทวนถึงสิ่งที่ผ่านมา หรือแม้กระทั่งย้ำเตือนถึงบางสิ่งที่เรามองข้ามไป

นี่เป็นหนังไทยที่เราดูแล้วเศร้า พอๆกับตอนดูหนังของคุณเจ้ย

เรายังต้องเวียนวนในตู้ปลาอีกนานเท่าไร

ร่วมพูดคุยเกี่ยวกับภาพยนตร์ทางเฟสได้เลยนะครับ https://www.facebook.com/survival.king
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่