อบรมสมาธิในงานครบรอบวันมรณภาพท่านพ่อลี : หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท



พระอาจารย์เจี๊ยะ จุนโท
วัดป่าภูริทัตตปฏิปทาราม
อ.สามโคก จ.ปทุมธานี

แสดงพระธรรมเทศนาอบรมสมาธิในงานรำลึกวันมรณภาพของ “พระอาจารย์ลี ธัมมธโร”
วันที่ ๒๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๕

...

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ
นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต, อะระหะโต, สัมมาสัมพุทธัสสะ


บุญกรรมเป็นที่พึ่งของสัตวโลกทั้งหลาย
อย่างวันนี้เป็นต้น พวกพุทธบริษัททั้งหลายได้เข้ามามีเจตนาวิรัติ
จะมาแสวงหาบุญกุศลที่จะเกื้อกูลหัวใจของเราให้บริสุทธิ์สบาย  
มันก็สมกันกับว่า เราได้ตั้งใจบำเพ็ญละความชั่ว
ละกิจการบ้านเรือนของเราทุกๆ ประเภท
เข้ามาบำเพ็ญรักษาศีล ๕ ศีล ๘ แล้วก็บำเพ็ญทำใจให้สงบตัวนั้น

อันแนวทางอันนี้ มันเป็นแนวทางที่จะให้เกิดความสงบ
เพราะเรามองดูในโลกยิ่งทุกวันนี้ ผู้คนมากเข้าเท่าไร
ความวุ่นวาย ทั้งรถทั้งรามันจะไปไหนมาไหน
ก็เต็มไปด้วยความขัดข้องวุ่นวายนานาประการ

แต่ทีนี้สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งภายนอก
ส่วนใจของเรานี่สิ..ไม่ค่อยมีคนดูแลรักษา
ไม่ค่อยมีคนปฏิบัติ ปล่อยให้ตามยถากรรม
ศีลก็ไม่มี สมาธิก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี

มีนักเลงเหล้า นักเลงสุรา นักเลงเที่ยวกลางคืน
อย่างนี้มีแต่สิ่งหายนะเข้ามาประจำใจของเราทุกๆคน
และความเดือดร้อนวุ่นวาย  

โลกมันไม่วุ่นวาย มนุษย์เรานี่
เป็นผู้ที่ทำให้มันเกิดความวุ่นวายขึ้นมา

เพราะเกิดจากมนุษย์ ปล้นฆ่าฟันรันแทง
ก็เกิดจากมนุษย์ไม่ใช่อาวุธยุทโธปกรณ์นั้นมาฆ่ากันได้
เพราะเกิดจากหัวใจมนุษย์เราเนี่ย

เพราะฉะนั้นอย่างวันนี้พวกเรามาสร้างบุญสร้างกุศล
ให้เกิดขึ้นมีกับๆ ตน ก็ได้พารักษาศีล เจริญภาวนา

การเจริญภาวนานี้เป็นสิ่งสำคัญ
เพราะว่าใจนั้นเราไม่เคยดูแลไม่เคยรักษา
เหมือนอย่างบ้านมันสกปรกโสมม เปื้อนไปด้วยฝุ่นละอองทุกประการ
ไม่เคยเช็ดไม่เคยถูเลย เพราะฉะนั้นการที่จะขัดเกลาให้สะอาด
หมดจดลงไปนั้นก็ต้องใช้เวลาเป็นหลายๆชั่วโมง
หรือเป็นเวลาหลายๆ วันอย่างนี้
ใจเราก็เหมือนกัน เข้ามารักษาศีล ๕ แล้วก็ทำสมาธิ
ไม่ใช่วันสองวันจะทำได้ทันทีอย่างนั้น
ก็ต้องมีความอุตสาหะ วิริยะ มีขันติ  
พากเพียรให้แข็งแรงอย่างนั้นจึงจะเกิดสมาธิได้


ถ้าเราทำเหลาะๆ แหละ มันก็ไม่ได้สักอย่าง
เหมือนอย่างที่เราจะเช็ดบ้านเช็ดเรือนก็เหมือนกัน
ถูนู่นถูนี่ดีแล้ว มันก็ไม่เรียบร้อย ความสะอาดหมดจดก็ไม่เกิดขึ้น
หัวใจของมนุษย์ยิ่งเป็นสิ่งที่ลำบาก ปราบยาก
เพราะฉะนั้นอย่างครูบาอาจารย์สอน ท่านพ่อสอนมาเนี่ย (ท่านพ่อลี ธัมมธโร)
เป็นเวลาตั้งหลายสิบปีมาอยู่ที่วัดอโศการามนี้ ตั้งแต่สองพันสี่ร้อยกว่า..เก้าสิบแปดมั้ง
จนกระทั่งมามรณภาพลงไปสองห้าร้อยสอง ก็เป็นเวลาหลายปีอยู่
มามองดูอุบาสกอุบาสิกาก็อย่าไปว่าเถอะเพราะเป็นผู้ครองเรือน
มันเป็นสิ่งที่ยากการที่จะมาทำสมาธิเจริญกรรมฐาน
ให้ได้เกิดสมาธิปัญญาจริงๆ แล้วเป็นสิ่งที่ยาก
แม้แต่พระเราก็ยังหายาก เป็นอย่างนั้น


ความไม่เด็ดเดี่ยว ความไม่เอาจริงเอาจังมันก็เป็นสิ่งที่ยาก
สิ่งอันใดที่จะทำลงไปแล้วก็ต้องให้มีความเด็ดเดี่ยว ความจริงจัง
เพราะฉะนั้นการภาวนานี่เป็นสิ่งสำคัญ แต่พูดกันมันเป็นสิ่งที่พูดยาก
เพราะบางคนอ้างตำรับตำราแต่หัวใจไม่เป็น
บางคนมันทำด้วยหัวใจมันไม่มีตำรา อย่างนี้ก็มี..ต่างกัน

เพราะฉะนั้นสิ่งที่พูดบางสิ่งบางอย่างมันก็ขัดหูกัน
บางทีก็จะวางมวยกันก็มี (หลวงปู่หัวเราะ) ฆราวาสน่ะมันเป็นอย่างนั้น
เพราะฉะนั้นการทำใจเราก็ดูเราเอง ครูอาจารย์จะสอนสักขนาดไหน
ถ้าเราไม่มีความเข้มแข็ง ไม่มีความเด็ดเดี่ยวแล้วมันก็จะ "สมาธิ" ก็จะไม่เกิดขึ้น

สมาธิทำอย่างไร..อย่างครูบาอาจารย์ท่านก็สอนให้บริกรรม "พุทโธ"
อย่างนี้เป็นต้น...อย่าง "ครูบาอาจารย์มั่น" อย่างนี้
ให้บริกรรมพุทโธนั่นล่ะตัวสำคัญ
แล้วก็มีบางหมู่บางคณะ
ก็เอา "อานาปา" เข้ามา ถ้าว่าเดี๋ยวก็มันจะขัดกันนะ
เพราะฉะนั้นสิ่งอันใดที่เราทำมาประมาณสักสิบห้าวันหรือเจ็ดวัน
เราก็ต้องสังเกต เราทำอานาปามาสามปีเจ็ดปีสิบปีเป็นยังไงทำสมาธิ
ทำพุทโธสิบปีห้าปีเป็นอย่างไร มันต่างกันขนาดไหน ก็ต้องมาชั่งดู
นี่นะแล้วอันใดที่เกิดประโยชน์ อันใดทำให้ใจสงบ
อันใดทำให้เกิดความรู้ความฉลาดตัวนี้ต้องเอามาชั่งดู
ความเจริญของใจ ดับกิเลสได้ขนาดไหน นี่ตัวนี้เป็นสิ่งสำคัญ


เพราะฉะนั้นการปฏิบัติพระพุทธศาสนานี่มีหลักการ
คือต้องทำใจให้เกิดความสงบเท่านั้น นั่นล่ะเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

ถ้าใจไม่สงบแล้ว ไปคิดอันใดมันก็ไม่ได้จะแจ้ง เหมือนอย่างบุคคล,
เปรียบเหมือนอย่างบุคคลถูเรือน มีผ้าผืนหนึ่ง ก็ตั้งใจถูทุกแผ่นกระดาน
ไม่มีข้ามเลย ทุกร่อง ทุกกระเบียดนิ้วถูอย่างนั้นจนกระทั่งบ้านเรือนหลังนั้นเสร็จ
บ้านนั้นก็ต้องสะอาด แต่มีบางคนเช็ดแล้วข้ามไปสองแผ่นสามแผ่น
บางทีห้าแผ่นหกแผ่น เดี๋ยวเดียวเสร็จ บ้านจะสะอาดไหมล่ะ
มันก็ไม่สะอาด..เออ มันต่างกัน เนี่ยเพราะฉะนั้นการทำใจนี่ก็เหมือนกัน
สิ่งอันใดถ้าเราลองกระทำดู แม้จะบริกรรมพุทโธก็เหมือนกัน
หรือจะทำอานาปาอย่างนี้ อันใดที่เกิดผลดี ต่างกันอย่างไรก็ต้องเอามาชั่งดู

เราทำมาตั้งสองปีสามปีสี่ปีห้าปี สิบปีก็ยังเก่า  เท่าอย่างเก่าอยู่
มันก็ต้องคิดเปลี่ยนแปลง เหมือนอย่างบุคคลที่หาเงิน หาท่านี้ไม่ได้ก็ต้องไปหาท่าอื่น
หาท่าอื่นถ้ามันรวยขึ้นมาอย่างนี้มันก็ต้องเอาอย่างอื่น  
จะเอาแต่ท่าเดียวก็จนตายไม่มีข้าวจะกินนี่เป็นงั้น

เพราะฉะนั้นการภาวนาก็เหมือนกัน เราก็จำเป็นจะต้องชั่งใจ
เราเข้ามาอยู่วัด ๑๐ วัน ๓ วัน ๗ วันหรือเดือนสามเดือนอย่างนี้  
เราภาวนาแล้วมันเกิดความสงบขนาดไหน ใจอยู่ได้เป็นเวลานานเท่าไร
สิบนาทียี่สิบนาทีหรือครึ่งชั่วโมง หรือสองชั่วโมง สามชั่วโมง
มันสงบได้โดยไม่มีความคิดนึกปรุงแต่งในขณะนั้น
อย่างนั้นจึงเรียกว่าเป็น "สมาธิ"  ใจเป็นสมาธิสองชั่วโมง ไม่คิดเลยอย่างนั้น
ความง่วงเหงาหาวนอน ความสัปหงกสัปเงยก็ไม่มี  เที่ยงตรงอย่างนั้น
นั่งอยู่อย่างนั้นเลย นั่นจึงเรียกว่า สมาธิแท้


เมื่อเราทำสมาธิอย่างนั้นได้เกิดความสงบแล้วเราก็อย่าไปเสวยความสุขมาก
ท่านจึงเรียกว่า ติดสุข-สุขเวทนา  เมื่อเข้าไปเสวยสุขเวทนามากเข้าแล้ว
มันก็จะเกิด "โกสัชชะ*"ตามมาคือ ความเกียจคร้าน

ขณะที่ใจสบายอย่างนั้น ยิ่งสบายมากเท่าไรมันยิ่งเกิดความเกียจคร้าน
ใจอันนี้มันให้เกิดกิเลสขึ้นมาเอง ความเกียจคร้าน..ไม่อยากนึก ไม่อยากนึก
ไม่อยากทำอะไรทั้งหมด  นั่งดูเฉยๆๆอยู่อย่างนั้น นั่นสมาธิเกิดโกสัชชะ ความเกียจคร้าน
เมื่อโกสัชชะเกิดขึ้นแล้ว "ถีนมิทธะ" ความง่วงเหงาหาวนอนมันจะตามเข้ามาโดยที่เราไม่รู้ตัว
พอมากเข้า มากเข้า ประเดี๋ยวก็ง่วงนอน..สมาธิเสีย นี่พอสมาธิเสียก็ต้องไปเจริญใหม่
นี่ต้องแก้ตรงนี้ให้ตก  การบำเพ็ญอยู่ตรงนี้สำคัญที่สุด


พอได้สมาธิแล้วเราก็ต้องไปพิจารณาขันธ์ ๕ มีตา  หู จมูก ลิ้น กาย ของเรานี่
อะไรเป็นเรา..ถามใจลงไป ไหนตัวเรา แข้งขามือตีน หูตาจมูกลิ้นกาย
แล้วก็ถามลงไปไหนตัวเรา  พระพุทธเจ้าแสดงว่า เนมะมะ เนตังมะมะ นี่ไม่ใช่เรา
ถามปัญญจวัคคีย์ รูปัง อนิจจัง ไม่เที่ยง เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณไม่เที่ยง เหล่านี้ไม่ใช่ตัวตน
แล้วเราก็ต้องเอาคำสอนตัวนี้มาพินิจพิจารณาบ้าง เมื่อใจสงบแล้ว
ถามไปว่า..ตา ..ไหนๆตาเรา แล้วมันก็ดูกลับไปอีกทีหนึ่ง ก็ถามว่า
ตาเรา ก็แสดงว่าตาเรามันไม่ได้ก็ต้องกลับมา "ใครเป็นคนไปว่า ตาเรา" มันไปจากไหน
ตัวนั้นน่ะเป็นตัวสำคัญ ตัวที่มันบอกว่า ตา และตัวที่รู้ตามไปน่ะ ใครเป็นคนว่า ตา ตัวนั้น

มันเป็นตัว "ทัสสนะ" ตัวนั้นน่ะตัวสำคัญ ต้องจับไอตัวนั้นไอตัวสำคัญ



*โกสัชชะ ความเกียจคร้าน ได้แก่ การปล่อยจิต ความเพิ่มพูนการปล่อยจิต
ไปในกายทุจริต  วจีทุจริต มโนทุจริต หรือในกามคุณ ๕  หรือความไม่เคารพ      
ความทำโดยไม่ติดต่อ  ความทำโดยไม่มั่นคง   ความประพฤติย่อหย่อน    
ความทอดทิ้งฉันทะ   ความทอดทิ้งธุระ   ความไม่เสพให้มาก ความไม่ทำให้เจริญ      
ความไม่ทำให้มาก ความไม่ตั้งมั่น  ความไม่ประกอบเนือง ๆ   ความประมาทในการเจริญกุศล
ธรรมทั้งหลาย  นี้เรียกว่า โกสัชชะ ความเกียจคร้าน.      

ส่วนธรรมที่ตรงกันข้ามกับโกสัชชะ  คือ วิริยะ

ที่มา : พระอภิธรรมปิฎก วิภังค์ เล่ม ๒ ภาค ๒ - หน้าที่ ๘๐๑





เพราะฉะนั้นการค้นคว้าพินิจพิจารณา นี่เป็นหลักการใช้ปัญญาค้นคว้า
แม้เราจะค้นคว้าพิจารณาขันธ์ ๕ ลงไปอย่างนี้ ใจนั้นมันก็ต้องนึกไป
ตามส่วนอวัยวะต่างๆนานาของร่างกายตัวนี้ แล้วเมื่อมันพิจารณาลงไปหมดแล้วยังมีอะไร

แล้วตัวสุดท้าย ใครว่า ..ไม่มีอะไร  เออ..คำว่า "ไม่มีอะไร" มาจากไหนล่ะ
เออเราสังเกตดูสิ  ไหน..ใครว่า "ไม่มี"  เวลาที่จิตมันลงไปแล้เวทำไมว่าไม่มี
แล้ว"ใครรู้"ล่ะ ตัวของเรา ใครมันรู้  แล้ว "สิ่งที่มันรู้..จริงรึเปล่า?" มันต้องถามกลับคืนมาอีกที

นี่ตัวนี้  การบำเพ็ญก็ต้องอาศัยการสังเกตพินิจพิจารณา ท่านว่า ให้ใช้"ปัญญา"ค้นคว้า
ค้นแล้วเปรียบเหมือนอย่างคนที่ตัดไม้ มาตัดไม้ เลื่อยไม้ขาดแล้ว เราอย่าไปแบกไม้อยู่
หรืออย่าไปแบกเลื่อยอยู่ ไปแบกขวานอยู่แบกมีดอยู่ ถือมีดกำมีดอยู่
เราก็ต้องรู้จัก "วางมีด  วางเลื่อย วางขวาน" อันนี้..ตัวเราก็ไม่ได้ติดมีดติดขวาน

มือเราก็ไม่ติดมีดติดขวาน นั่น..แล้วทีนี้มันยังเหลืออะไร มันต้องดูเข้ามาที่ใจเราตัวนั้น
ที่มันปล่อยวางอันนั้นน่ะ  มันไม่มีอะไร นั่นตัวนั้นเป็นตัวสำคัญ  

เพราะฉะนั้นการปฏิบัติมันก็ต้องมีทั้ง "การเข้าไปสงบ" ทั้ง "การเข้ามาพินิจพิจารณา"
แต่ว่าถึงหลักการที่สำคัญจริงแล้ว เราพินิจพิจารณากายไปอย่างนี้
ลักษณะของปัญญาที่มันดีมันจะต้องพิจารณาไปได้ตลอดรอดฝั่ง  
ในขณะที่ดีจริงอย่างนั้นแล้วนิวรณ์ทั้งหมดไม่มีเข้ามา นิวรณ์อดีตอนาคตไม่มีทั้งหมด
ชั่วโมงหนึ่งมันก็ไม่เข้า สองชั่วโมงมันก็ไม่เข้านะอย่างนั้น..อย่างนั้นจึงเรียกว่าเป็น "ปัญญา"


ค้นอยู่อย่างนั้น นั่นล่ะ แล้วจะว่ามันดีหรือไม่ดีมันก็ต้องเป็นของ "ปัจจัตตัง"
เพราะฉะนั้นเราก็ต้องพยายาม อย่าไปเสวยความสุข ติดนิ่งอยู่อย่างนั้นมันไม่ได้
สมาธิ นั่นมันเป็น "สมาธิ"  มันไม่ใช่ลักษณะของ "ปัญญา"
นานเข้า ๆ เท่าไรก็ยิ่งขี้เกียจขี้คร้าน ความสัปหงกสัปเงย ง่วงเหงาก็ตามเข้ามาตลอดเวลา
สมาธิมันก็ไม่เกิด สมาธิมันก็เสื่อมหมด ถ้าพูดอย่างนี้คล้ายๆด่ากันนะ
ก็อยากให้หลวงตาเทศน์ก็ต้องบอกสอนหน่อยก็ต้องเป็นงั้น  สอนให้รู้สึกตัว
เราเป็นลูกศิษย์ครูบาอาจารย์เดียวกันก็ต้องเตือนกัน
เพราะสิ่งอันใดที่มันบกพร่อง  สิ่งใดที่มันจะเกิดความเจริญรุ่งเรือง  
ไม่ใช่สิ่งที่ดีแล้วติให้มันชั่วลง  มันเป็นอย่างนั้น
  

หน้าที่เทศน์ก็เทศน์เพื่อเหตุเพื่อผลเพื่อความเจริญรุ่งเรือง
เพื่อเป็นบุญกุศลของโยมและผู้เทศน์ด้วยมันเป็นอย่างนั้น  
เพราะฉะนั้นจึงว่า การบำเพ็ญเนี่ยตัวนี้เราบำเพ็ญกันมาตั้งนมนาน
ท่านพ่อ(ท่านพ่อลี ธมฺมธโร)สอนจนกระทั่งเสียไปในชีวิตแล้ว
ก็มีกุลบุตรผู้สืบต่อมาเป็นอย่างนั้น  ท่านเจ้าคุณ..เวลานี้ท่านเจ้าคุณก็แก่ลงแล้ว
เดี๋ยวก็จะกลับบ้านไปอีกองค์อีก(หลวงปู่หัวเราะ) เดี๋ยวก็ต้องทำศพอีก
เดี๋ยวท่าน ( นามไม่ชัด)เห็นฮืดๆๆอยู่..มันจะกลับบ้านทั้งนั้นแหละ
หลวงตาก็จะเอาเหมือนกัน (หลวงปู่หัวเราะ)

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่